เวลานอนหลับฝันนั้น ก่อกรรม สร้างกรรม ได้หรือไม่ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สภาพธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไปได้ ความเข้าใจพระธรรมก็ต้องค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว
ขณะที่กำลังฝัน ไม่พ้นไปจากนามธรรม คือ จิตและเจตสิกที่ฝัน และขณะที่ฝันต้องไม่ใช่ขณะที่หลับสนิท เพราะถ้าเป็นขณะที่หลับสนิทจิตเป็นภวังค์ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ จิตไม่ได้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใดทางหนึ่งใน ๖ ทาง จึงไม่ฝัน เพราะในขณะที่ฝัน ต้องเป็นวิถีจิต (จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ใน ๖ ทาง) แต่ไม่ใช่วิถีจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เป็นวิถีจิตทางใจ เท่านั้นที่ฝัน เป็นกุศลบ้างเป็นอกุศลบ้างตามการสะสม ซึ่งขณะที่กำลังฝันนั้นเป็นการคิดนึกถึงเรื่องบัญญัติของสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้กลิ่น เป็นต้นนั่นเอง ในขณะที่ฝัน จิต เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่มีเราที่ฝัน ซึ่งเป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเท่านั้น ส่วนเรื่องราวที่ฝันไม่มีจริง
ควรที่จะได้เข้าใจว่า ขณะที่หลับสนิทจะไม่ฝัน เพราะขณะที่หลับสนิทนั้นเป็นภวังคจิต จิตเกิดขึ้นดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ เป็นการรับผลของกรรม เพราะเป็นวิบากจิต แต่ถ้าเกิดฝันขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่วิบากจิตแล้ว ไม่ใช่การรับผลของกรรมแต่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ที่ฝัน เป็นการสะสมกุศลหรืออกุศลต่อไป ซึ่งก็แล้วแต่กำลังของกุศลหรืออกุศลในขณะนั้น ว่าจะมีมากแค่ไหน เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ ซึ่งถ้ามีกำลังก็สามารถที่จะเป็นเหตุให้เกิดวิบากในภายหน้าได้ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลยจริงๆ ตราบใดที่ยังมีกิเลสก็ยังต้องฝัน ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย จากการที่เห็น เคยได้ยิน เคยจำได้ ก็ทำให้ฝัน ซึ่งเป็นความคิดนึกทางใจ เป็นไปด้วยอำนาจของกุศลบ้างอกุศลบ้าง บุคคลที่ไม่ฝันเลยคือพระอรหันต์ เพราะดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ไม่มีทั้งกุศลและอกุศลเกิดขึ้นอีกเลย ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ควรเข้าใจครับว่า สิ่งที่มีจริงคือสภาพธรรมที่เป็นามธรรมและรูปธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ขณะฝันก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมเช่นกัน ขณะฝัน ขณะนั้นก็เป็นจิต จิตที่คิดนึกในเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นอาศัย สัญญา ความจำ จำในสิ่งต่างๆ และเมื่อมีความจำ ก็มีการคิดนึกในสิ่งที่จำมาในชีวิตประจำวันหรือในอดีตที่เคยเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งกระทบสัมผัส และเมื่อมีการเห็น ได้ยินสิ่งต่างๆ ในอดีตแล้ว ขณะนั้นก็ต้องมีการจำด้วย จำในสิ่งต่างๆ ที่ๆ ได้เห็น ได้ยิน และก็มีการคิดนึกถึงเรื่องที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้จำมาครับ เพราะฉะนั้น ขณะที่ฝันก็เป็นการคิดนึก คือจิตที่คิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เคยเห็น เคยได้ยินมา เป็นต้น
จากคำถามที่ว่า
ช่วงที่ฝันไปเรื่อยๆ ... ก่อเกิดกรรม ได้หรือไม่
- ซึ่งขณะที่ฝัน คือจิตที่คิดทางมโนทวารซึ่งก็เป็นกุศลจิตบ้างอกุศลจิตบ้าง ซึ่งไม่เป็นกรรม โดยนัยที่เป็นกรรมบถที่จะทำให้มีผล คือเกิดวิบากทำให้ไปอบายภูมิหรือเกิดในสวรรค์ เพราะ กุศลจิต อกุศลจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่ฝัน ยกตัวอย่างเช่น ฝันว่าให้ทาน เกิดกุศลจิตในขณะนั้น แต่ไม่เป็นกรรมที่เป็นกรรมบถที่จะทำให้เกิดผลคือความสุข เกิดในสวรรค์ เพราะ ในความเป็นจริงไม่ได้มีวัตถุที่จะให้จริงๆ เพียงคิดนึกว่าได้ให้ทาน ไม่ได้มีผู้รับจริงๆ เพียงแต่คิดนึกว่าได้ให้กับผู้รับ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเพียงการคิดนึกว่าได้ให้ทาน เป็นกุศลจิต สะสมเป็นอุปนิสัยที่จะให้ แต่ไม่เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดผลเป็นวิบากครับ
โดยนัยตรงกันข้ามในฝ่ายอกุศล เช่น ฝันว่าฆ่าสัตว์ ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต แต่ไม่ได้เป็นอกุศลกรรมที่จะทำให้มีการให้ผล ทำให้เกิดวิบาก มีการตกนรก เพราะไม่ได้ฆ่าสัตว์จริงๆ เพราะไม่ได้มีสัตว์จริงๆ ให้ฆ่าในขณะนั้น แต่เป็นเพียงความคิดนึกว่าได้ฆ่าสัตว์ครับ
สรุปได้ว่า ความฝันที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิตที่เกิดขึ้น ไม่เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดวิบาก เกิดผลของกรรม ตามเหตุผลที่กล่าวมา
ขออนุโมทนา ครับ
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 643
ข้อความบางตอน ...
ชื่อว่าการนอนหลับของบุคคล เพราะความเกลื่อนกล่นแล้วด้วยกุศลจิตเป็นต้นซึ่งเป็นไปรวดเร็วบ่อยๆ อันใดก็ฉันนั้น. การข้ามไปจากภวังค์บ่อยๆ เพราะความเป็นไปของการหลับอันใด การประกอบด้วยการหลับนั้น ย่อมเห็นสุบินเพราะเหตุนั้น การฝันนี้ย่อมเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นอัพยากตะบ้าง. ในการฝันเหล่านั้น เมื่อบุคคลฝันว่าทำการไหว้พระเจดีย์ การฟังธรรม การแสดงธรรมเป็นต้น ย่อมเป็นกุศล เมื่อฝันว่าทำปาณาติบาต เป็นต้น ย่อมเป็นอกุศล พ้นจากจิตทั้งสองนี้ ในขณะแห่งอาวัชชนะและตทารัมมณะ พึงทราบว่าเป็นอัพยากตะ. แม้ในเวลาที่กล่าวว่า สิ่งนี้เราเห็นแล้ว สิ่งนี้เราได้ยินแล้ว สิ่งที่ปรากฏแล้วนั่นแหละ ก็เป็นอัพยากตะเช่นกัน ...
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่น, อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ