ตักบาตรด้วยข้าวสารได้ไหมครับ
เนื่องจากผมมีความเข้าใจว่า พระรับไม่ได้ เพราะเป็นธัญญาหาร ที่ยังไม่ได้ผ่านการปรุง จึงลองค้นหาดูในอินเทอร์เน็ต กลับพบบทความหนึ่ง ที่บอกว่า รับได้ ดังข้อความที่จะขอกล่าวไป ดังนี้ "เนื่องจากมีบางท่านตั้งข้อสังเกต รวมถึงบอกกล่าวว่า การตักบาตรอาหารแห้ง ในวันเทโวโรหณะนั้น พระรับข้าวสารไม่ได้ เป็นการผิดจากข้อจุลศีล แล้วก็อ้างศีลข้อหนึ่ง ในจุลศีล ที่ว่า "อามกธญฺญมปฏิคฺคหณา ปฏิวิรโต โหติ พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ" คนเขียนบทความนี้ เขาแย้งว่า "คำว่า ธัญญาหารดิบ ไม่ได้หมายถึง ข้าวสาร"
สาเหตุ ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า คำว่า ธัญญาหารดิบนั้น หมายถึง ธัญญชาติ ๗ ชนิด ที่พระภิกษุไม่พึงรับ ซึ่งในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ตอนอธิบายจุลศีล ท่านให้คำอธิบายของคำว่า "รับธัญญาหารดิบ" เอาไว้ดังนี้ ว่า จากการรับธัญชาติดิบทั้ง ๗ อย่าง กล่าวคือ ๑. ข้าวสาลี ๒. ข้าวเปลือก ๓. ข้าวเหนียว (ข้าวเปลือกที่เป็นข้าวเหนียว) ๔. ข้าวละมาน ๕. ข้าวฟ่าง ๖. ลูกเดือย ๗. หญ้ากับแก้
พออ่านจบ ทำให้เกิดความสงสัยว่า แท้จริงแล้ว ข้าวสาร เป็นธัญญหารดิบที่จัดไว้ในจุลศีลหรือไม่ อ้างอิง ที่มาบทความ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=chohoakasuki&date=09-10-2011&group=2&gblog=5
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การให้ทานที่ดีและเหมาะสม และสมควรกับแต่ละเพศ ย่อมเอื้ออำนวยที่จะทำให้ผู้รับ ไม่เกิดโทษกับผู้รับ และก็เป็นการทำบุญที่ประณีตด้วย ซึ่งประเด็นการถวายข้าวสาร หรืออาหารแห้งกับพระภิกษุ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำสำหรับคฤหัสถ์ แม้ว่าพระท่านจะสามารถรับของแห้งได้ ในบางคราว แม้ไม่ผิดพระวินัย แต่ผู้ที่ให้ย่อมเป็นผู้ที่จะฉลาด ที่พิจารณาและศึกษาพระวินัยตามความเป็นจริงว่า ของที่ให้กับพระภิกษุ มีอาหาร เป็นต้นนั้น ควรเป็นอาหารที่ปรุงสำเร็จ ด้วยเหตุผลที่ว่า พระภิกษุมีข้อบัญญัติในการห้ามทำอาหารด้วยตนเอง มีการหุงต้ม เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีการให้ข้าวสาร ย่อมจะเอื้อที่จะทำให้ท่านผิดพระวินัยได้ ในข้อหุงต้มอาหารด้วยตนเอง
อีกประเด็นหนึ่ง พระวินัยบัญญัติ ห้ามภิกษุเก็บอาหารไว้ค้างคืน เป็นต้น เว้นจากการสะสมซึ่งอาหารแห้ง ก็เอื้อต่อการต้องเก็บไว้ ทำให้ท่านจะต้องอาบัติ ผิดพระวินัยได้ครับ
อีกประการหนึ่ง ประโยชน์ของการถวายอาหารพระภิกษุ ไม่ใช่เพียงนึกถึงตนเองที่จะต้องการได้บุญ แต่ควรนึกถึงประโยชน์ของผู้รับเป็นสำคัญ คือ พระภิกษุ สามารถจะฉันอาหารได้ทันที ไม่ใช่จะต้องเก็บอาหารไว้ หรือไปทำอาหารนั้นจึงฉันได้ เพราะฉะนั้นก็ควรถวายอาหารที่สามารถฉันได้ทันที ที่ปรุงสำเร็จแล้วครับ
การให้ทาน จึงควรเป็นผู้ฉลาด ที่จะพิจารณาเหตุผลในการให้ โดยมีการศึกษาพระวินัย ก็จะทำให้รักษาพระศาสนาเพราะรักษาพระภิกษุท่านที่จะทำให้ท่านรักษาพระวินัยได้ถูกต้อง ครับ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 488
๗. ปฐมสัปปุริสสูตร
[๑๒๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ให้ของสะอาด ๑ ให้ของประณีต ๑ ให้ตามกาล ๑ ให้ของสมควร ๑ เลือกให้ ๑ ให้เนืองนิตย์ ๑ เมื่อให้จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้แล.
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
อยากทราบอีกครับว่า แท้จริงแล้ว ข้าวสาร เป็นธัญญพืชดิบหรือเปล่าครับ ตามอรรถกถา และพระไตรปิฎก แต่เข้าใจแล้วครับว่า ข้าวสาร ไม่ควรถวายแก่สมณะ เพราะลำบากในการรักษาพระวินัย
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สิ่งสำคัญที่สุด การเจริญกุศลในเรื่องของการให้ทาน เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองและเป็นประโยชน์ต่อผู้รับ ซึ่งของที่จะให้ก็ต้องเหมาะสมกับเพศของผู้รับด้วย บุคคลที่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ย่อมสามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด แล้วน้อมที่จะกระทำเฉพาะในส่วนที่ถูกต้อง และเว้นในสิ่งที่ผิด ที่ไม่สมควร ครับ
ทั้งหมดนั้นก็ต้องมาจากการได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง คฤหัสถ์ผู้ฉลาดย่อมกระทำในสิ่งที่จะไม่เป็นเหตุให้พระภิกษุท่านต้องอาบัติ เพราะได้เข้าใจและกระทำอย่างถูกต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เรียน ความเห็นที่ 3 ครับ
ธัญญาหารดิบ ไม่หมายรวมข้าวสาร แต่มุ่งหมายถึงข้าวเปลือกที่ยังไม่ได้ขัดสี ครับ
ขออนุโมทนาอาจารย์ประเชิญ ที่อธิบายให้เข้าใจ ครับ