ปรายนสูตร ใครอ่านแล้วเข้าใจบ้าง

 
เชียงคำ
วันที่  28 ธ.ค. 2555
หมายเลข  22251
อ่าน  2,463

พระไตรปิฎก เล่มที่ 22

๗. ปรายนสูตร

[๓๓๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ก็สมัยนั้น เมื่อภิกษุผู้เถระหลายรูปกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต นั่งประชุมกันอยู่ที่โรงกลม ได้เกิดการสนทนากันขึ้นในระหว่างว่า

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในปัญหาของเมตเตยยมาณพ ในปรายนสูตรว่า ผู้ใดทราบส่วนสุดทั้งสองด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ผู้นั้นก้าวล่วงเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้แล้ว ดังนี้ฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ส่วนสุดที่ ๑ เป็นไฉนหนอ ส่วนสุดที่ ๒ เป็นไฉน อะไรเป็นส่วนท่ามกลาง อะไรเป็นเครื่องร้อยรัดฯ เมื่อสนทนากันอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดขึ้นแห่งผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับแห่งผัสสะเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดผัสสะและเหตุเกิดขึ้นแห่งผัสสะนั้น เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียวฯ

เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย อดีตเป็นส่วนสุดที่ ๑ อนาคตเป็นส่วนสุดที่ ๒ ปัจจุบันเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดอดีต อนาคต และปัจจุบันนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียวฯ

เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย สุขเวทนาเป็นส่วนสุดที่ ๑ ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดที่ ๒ อทุกขมสุขเวทนาเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนานั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียวฯ

เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย นามเป็นส่วนสุดที่ ๑ รูปเป็นส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณเป็นส่วน ท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัด นาม รูป และวิญญาณนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียวฯ

เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดที่ ๑ อายตนะภายนอก ๖ เป็น
ส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ และวิญญาณนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียวฯ เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย สักกายะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดสักกายะเป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับสักกายะเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัดสักกายะ เหตุเกิดสักกายะ และความดับสักกายะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียวฯ เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว

ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พวกเราทั้งปวงเทียวได้พยากรณ์ตามปฏิภาณของตนๆ มาเถิด เราทั้งหลายจักพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วจักกราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่พวกเรา โดยประการใด เราทั้งหลายจักทรงจำข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นไว้โดยประการนั้น ภิกษุผู้เถระทั้งหลายรับคำของภิกษุนั้นแล้ว ครั้งนั้น ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลการที่สนทนาปราศรัยทั้งหมดนั้นแด่พระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำของใครหนอเป็นสุภาษิต พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำของเธอทั้งปวงเป็นสุภาษิตโดยปริยาย อนึ่ง เราหมายเอาข้อความที่กล่าวไว้ในปัญหาของเมตเตยยมาณพ ในปรายนสูตรว่า ผู้ใดทราบส่วนสุดทั้ง ๒ ด้วยปัญญา แล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นมหาบุรุษ ผู้นั้นก้าวล่วงเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้แล้ว ดังนี้ฯ

เธอทั้งหลายจงฟังข้อความนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับผัสสะเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดผัสสะ เหตุเกิดผัสสะ และความดับผัสสะนั้นไว้เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียวฯ

จบสูตรที่ ๗


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลาย ได้สนทนากันถึงปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปัญหาของเมตเตยยมาณพ ในปรายนวรรคว่า “ผู้ใด ทราบส่วนสุดทั้งสอง ด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ผู้นั้นก้าวล่วงเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้แล้วดังนี้” เมื่อถามกันว่าอะไรเป็นส่วนสุดที่ ๑ อะไรเป็นส่วนสุดที่ ๒ อะไรเป็นส่วนท่ามกลางและอะไรเป็นเครื่องร้อยรัด, ภิกษุ ๖ รูป ได้ตอบตามลำดับดังนี้ (รูปที่ ๑) ผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดขึ้นแห่งผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับแห่งผัสสะ เป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด (ร้อยรัดผัสสะและเหตุเกิดขึ้นแห่งผัสสะ) เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ จึงเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ (รูปที่ ๒) อดีตเป็นส่วนสุดที่ ๑ อนาคตเป็นส่วนสุดที่ ๒ ปัจจุบันเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด (ร้อยรัดอดีต อนาคต และปัจจุบัน) ... (รูปที่ ๓) สุขเวทนาเป็นส่วนสุดที่ ๑ ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดที่ ๒ อทุกขมสุขเวทนาเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด (ร้อยรัดเวทนาทั้งสาม) ... (รูปที่ ๔) นาม เป็นส่วนสุดที่ ๑ รูป เป็นส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณ เป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด (ร้อยรัดนาม รูป และ วิญญาณ) ... (รูปที่ ๕) อายตนะภายใน เป็นส่วนสุดที่ ๑ อายตนะภายนอก เป็นส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด (ร้อยรัดอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ) ... (รูปที่ ๖) สักกายะ เป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดแห่งสักกายะเป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับแห่งสักกายะ เป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด (ร้อยรัดสักกายะ และ เหตุเกิดแห่งสักกายะ)

ครั้นแล้ว จึงเข้าไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าคำของใครเป็นสุภาษิต พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า คำของทุกรูปเป็นสุภาษิตโดยปริยาย (ด้วยเหตุนั้นๆ , โดยอ้อม) ต่อจากนั้นพระองค์จึงได้ทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย อย่างนัยของภิกษุรูปที่ ๑ (ภิกษุรูปที่ ๑ ได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนั้น พระดำรัสของพระองค์ จึงเป็นคำสุภาษิตโดยตรง) .

ซึ่งจากข้อความโดยสรุปนั้น การจะทราบส่วนสุดของสภาพธรรมทั้งสองอย่างก็ด้วยปัญญา ซึ่งจะต้องเป็นปัญญาระดับสูง แต่จะต้องเริ่มด้วยการเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่ด้วยการคิดนึก แต่ การจะรู้ส่วนสุดข้างหนึ่ง มีผัสสะเป็นต้น ก็ต้องเป็นปัญญา ประจักษ์สภาพธรรมที่เป็นผัสสะที่กำลังปรากฎเกิดขึ้นในขณะนี้เป็นต้น เมื่อรู้ย่อมละ ละความไม่รู้ และ กิเลสที่เป็นเครื่องร้อยรัด คือ ตัณหาที่ยินดีพอใจในสภาพธรรมต่างๆ ได้ เพราะ ปัญญาเกิดรู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เชียงคำ
วันที่ 30 ธ.ค. 2555

สาธุๆ เป็นอย่างยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natural
วันที่ 31 ธ.ค. 2555

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wittawat
วันที่ 31 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ขอร่วมสนทนาตามกำลังความเข้าใจ

ตัณหาเป็นเครื่องทั้งร้อยทั้งรัดสภาพธรรมที่เกิดดับไว้แน่นไม่ให้ไปไหน ต่อกันไปเลยนะครับ ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่จะทราบได้ ที่มีธรรมที่กำลังมีจริง ณ ขณะนี้ต้องมีเหตุให้เกิดขึ้น ถ้าไม่มีตัณหา ก็ไม่มีกรรมที่กระทำไว้ในอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏทางตาขณะนี้เป็นต้น ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เช่น พระอรหันต์ผู้ดับตัณหาแล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกเลยก็ไม่มีเครื่องร้อยรัดสภาพธรรมที่จะเกิดขึ้นในภพถัดไป และสภาพธรรมที่ปรากฏมีจริง ณ ขณะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ รับรองคำกล่าวของพระเถระทั้งหลายในหลายนัย เป็นนัยของผัสสะบ้าง เวทนาทั้งหลายบ้าง อดีต ปัจจุบัน อนาคตบ้าง การเกิดขึ้นประชุมกันของอายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญญาณบ้าง เป็นต้น เพราะธรรมเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีผัสสะเกิดด้วย พระสูตรนี้ลึกซึ้ง และละเอียดมากๆ ครับ

และ ที่จะเข้าใจส่วนสุด ส่วนท่ามกลางที่พระเถระทั้งหลายแสดงไว้ทั้ง ๖ นัยได้ก็ต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้วละเอียดยิ่งขึ้น ขณะนี้ก็ยังไม่ได้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม ก็ยังไม่เข้าใจชัดในส่วนสุด และส่วนท่ามกลาง เช่น นัยของอายตนะก็ต้องมีการกระทบกันของจักขุปสาท ที่เป็นอายตนะภายในและวัณณรูปที่เป็นอายตนะภายนอก จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้นได้ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น ก็คือเข้าใจความจริงได้ตามกำลังที่เข้าใจ ก็คือ ต้องอาศัยการฟัง เช่นธรรมคืออะไร คือสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ได้ยิน เป็นต้น และเป็นผู้ที่ตรง และเป็นผู้ละเอียดยิ่งขึ้นที่ระลึกศึกษาความจริง ตามที่ทรงแสดงไว้ว่า ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียวฯ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 31 ธ.ค. 2555

การที่จะมีปัญญาถึงระดับนั้นต้องเป็นปัญญาของพระอริยบุคคลขึ้นไปค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 1 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ