เจตนาซึ่งเป็นกรรม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพ
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 103
พระโมคคลีบุตรติสสเถระอ้างพระพุทธพจน์เล่าอดีตนิทาน
ลำดับนั้น พระเถระ (ถวายวิสัชนา) ให้พระราชาทรงเข้าพระทัยเนื้อความนี้ด้วยพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ ดังนี้. เพื่อแสดงเนื้อความนั้นนั่นแล พระเถระจึงนำติดติรชาดกมา (เป็นอุทาหรณ์) ดังต่อไปนี้
ขอถวายพระพร มหาบพิตร ในอดีตกาล นกกระทาชื่อ ทีปกะเรียน ถามพระดาบสว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นกเป็นอันมาก เข้าใจว่า ญาติของพวกเราถูกจับอยู่แล้ว จึงพากันมา นายพรานอาศัยข้าพเจ้า (นกต่อ) ย่อมถูกต้องกรรม เมื่อนายพรานอาศัยข้าพเจ้าทำบาปนั้น ใจข้าพเจ้าย่อมสงสัยว่า (บาปนั้นจะมีแก่ข้าพเจ้า หรือหนอ)
พระดาบส ตอบว่า ก็ท่านมีความคิด (อย่างนี้) หรือว่า ขอนกทั้งหลายเหล่านี้มา เพราะเสียง และเพราะเห็นรูปของเราแล้วจงถูกแร้วหรือจงถูกฆ่า
นกกระทา เรียนว่า ไม่มี ท่านผู้เจริญ
ลำดับนั้น ดาบสจึงให้นกกระทานั้นเข้าใจยินยอมว่า ถ้าท่านไม่มีความคิดไซร้ บาปก็ไม่มี แท้จริง กรรมย่อมถูกต้องบุคคลผู้คิดอยู่เท่านั้น หาถูกต้องบุคคลผู้ไม่คิดไม่ ถ้าใจของท่าน ไม่ประทุษร้าย (ในการทำความชั่ว) ไซร้ กรรมที่นายพรานอาศัยท่านกระทำ ก็ไม่ถูกต้องท่าน บาปก็ไม่ติดเปื้อนท่าน ผู้มีความขวนขวายน้อย ผู้เจริญ (คือบริสุทธิ์)
[เล่มที่ 75] อภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 272
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ (และคำว่า) ดูก่อนอานนท์ จริงอยู่เมื่อกายมีอยู่ ความสุขและทุกข์อันเป็นภายใน ย่อมเกิดขึ้น เพราะกายสัญเจตนาเป็นเหตุ (เพราะความจงใจทางกายเป็นเหตุ)
ดูก่อน อานนท์ หรือเมื่อวาจามีอยู่ ความสุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะวจีสัญเจตนาเป็นเหตุ ดูก่อน อานนท์ หรือว่าเมื่อใจมีอยู่ ความสุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมเกิดขึ้นเพราะมโนสัญเจตนาเป็นเหตุ (และคำว่า) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายสัญเจตนา ๓ อย่าง เป็นกายกรรมฝ่ายอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก วจีสัญเจตนา ๔ อย่าง เป็นวจีกรรมฝ่ายอกุศล ฯลฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มโนสัญเจตนา ๓ อย่าง เป็นมโนกรรมฝ่ายกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก (และคำว่า) ดูก่อน อานนท์ ถ้าโมฆบุรุษ ชื่อว่า สมิทธิ นี้ ถูกปาฏลิบุตรปริพาชกถามอย่างนี้ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านปาฏลิบุตร ท่านกระทำกรรมเนื่องด้วยสัญเจตนา ย่อมเสวยสุขเนื่องด้วยสุขเวทนา ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ฯลฯ
ขออนุโมทนา ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบนมัสการพระคุณเจ้า ที่เคารพ ครับ
ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงเรื่องกรรมไว้เป็นจำนวนมาก ทรงแสดงว่า กรรม คือ เจตนา ความจงใจ ความตั้งใจ ขณะใดที่ตั้งใจทำชั่ว ขณะนั้นเป็นอกุศลกรรม ขณะใดที่ตั้งใจกระทำความดี ขณะนั้นเป็นกุศลกรรม ดังนั้น กรรมจึงมีจริง
กรรม คือ การกระทำ เป็นความจงใจ ความตั้งใจกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ เจตนาเจตสิก เจตนาที่เกิดร่วมกับกุศลจิตและอกุศลจิต เมื่อสำเร็จเป็นกรรม ย่อมให้ผลตามโอกาสอันควร เมื่อไม่ถึงโอกาสอันควร จึงยังไม่ให้ผล คนที่ทำไม่ดี เมื่อกรรมไม่ดีนั้นให้ผลย่อมได้รับผลที่ไม่ดีตามเหตุ
แต่เนื่องจากแต่ละบุคคลในสังสารวัฏฏ์ มีการกระทำกรรม ทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดีไว้มากมาย กรรมที่ทำไว้แล้วทุกขณะไม่มีการสูญหายไปไหน เมื่อถึงโอกาสอันควรย่อมให้ผลตามควรแก่เหตุที่ได้กระทำไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงควรอย่างยิ่งที่จะสะสม แต่กรรมที่ดีเท่านั้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เจตนาเจตสิก เกิดกับจิตทั้ง ๔ ชาติ คือ ชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก ชาติกิริยา ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุญาตเจ้าของกระทู้ค่ะ
ขอรบกวนถามท่านผู้รู้อีกสักนิดนะคะ
เจตนาเจตสิก ที่เกิดร่วมกับ กิริยาจิต เราจะถือว่า เจตนานั้นเป็นกรรม ด้วยหรือไม่คะ