วิญญาณาหาร ในอาหารปัจจัย

 
Thanapolb
วันที่  8 ม.ค. 2556
หมายเลข  22300
อ่าน  5,666

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๖ และขอเรียนถามอาจารย์คำปั่น หรือ อาจารย์ท่านอื่นที่ตอบกระทู้สนทนาครับ

วิญญาณาหารในอาหารปัจจัย จะหมายถึงเฉพาะปฏิสนธิวิญญาณเท่านั้น หรือ หมายถึงวิญญาณจิตทุกดวง ครับ

เท่าที่เคยอ่านตอบกระทู้จะหมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ แต่ถ้าดูในเอกสารทั่วไปที่พิมพ์เผยแพร่ ไม่ได้ระบุชัด บางทีก็บอกว่าถ้ากล่าวในความหมายปฏิจจสมุปบาท หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ ถ้าทั่วไปหมายถึงวิญญาณจิตทุกดวง เลยอยากทราบความกระจ่างขึ้นครับ

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อาหาร โดยศัพท์ หมายถึง นำมา คือ เป็นปัจจัยหรือนำมาซึ่งผล เพราะฉะนั้น สภาพธรรมอะไรก็ตามซึ่งนำมาซึ่งผล หมายถึง อาหาร อาหารจึงไม่ได้ หมายถึงอาหารที่เราบริโภคกันเท่านั้น แต่ อาหารมีความละอียด หลากหลายนัยดังนี้ ครับ

อาหาร มี ๔ ประเภท ดังนี้

1. กพฬิงการาหาร หมายถึง รูปอาหารที่เป็นคำๆ ที่เราบริโภคเข้าไป ส่วนที่จะเป็นประโยชน์หล่อเลี้ยงร่างกาย อาหารที่เป็นคำๆ นำมาซึ่งโอชารูป

2. ผัสสาหาร หมายถึง ผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นปัจจัยให้สัมปยุตธรรมเกิดขึ้น นำมาซึ่งเวทนา

3. มโนสัญเจตนาหาร หมายถึง กรรม ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ย่อมนำมาซึ่งปฏิสนธิวิญญาณ (การเกิด)

4. วิญญาณาหาร หมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณ ย่อมนำมาซึ่งนามรูป และอีกนัยหนึ่ง จิตอื่นๆ ที่นำมาซึ่งผล คือ นาม รูป หรือว่า นามหรือรูป อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่พ้นจากอาหารปัจจัยที่เป็นวิญญาณอาหารด้วย ครับ

จะเห็นนะครับว่า อาหารทั้ง ๔ นำมาซึ่งสภาพธรรมต่างๆ จึงเรียกว่าเป็นอาหาร ครับ

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทรงแสดงหลากหลายนัย และ ครอบคลุมสภาพธรรมโดยละเอียด ไม่มีส่วนเหลือเลย แม้แต่วิญญาณาหาร ก็ไม่ได้มุ่งหมายถึงปฏิสนธิจิตเท่านั้น จิตอื่นๆ ก็ชื่อว่า วิญญาณอาหารได้ด้วย เพราะก็นำมาซึ่งผล คือนำมาซึ่งนามรูปพร้อมกัน หรือ นามกับรูป อย่างใดอย่างหนึ่ง

อย่างในกรณีของวิญญาณที่เป็นปฏิสนธิจิตคงไม่สงสัย เพราะปฏิสนธิจิต นำมาซึ่งนาม คือ เจต สิกที่เกิดร่วมด้วย และรูปที่เป็นกัมมชรูปที่เกิดพร้อมกัน อันนี้เป็นความหมายที่เราเข้าใจกัน แต่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ครอบคลุมสภาพธรรมทุกอย่าง แม้จิตอื่นๆ ก็เป็นวิญญาอาหารด้วย คือ นำมาซึ่งนามรูป

ขอยกตัวอย่าง เช่น กุศลจิตที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งผล คือ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ที่เป็นนาม และนำมาซึ่งผล คือ รูปด้วยในขณะนั้น คือ จิตตชรูปในขณะนั้น แม้แต่จิตเห็น จิตได้ยิน ก็ไม่พ้นจากอาหารปัจจัยที่เป็นวิญญาณาหาร เพราะนำมาซึ่งนาม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แม้จะไม่มีรูปเกิด แต่มีนามเกิดร่วมด้วย ก็เป็นวิญญาณาหารเช่นกัน เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครอบ คลุมทุกอย่าง ละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งขอยกข้อความจากพระไตรปิฎกที่แสดงว่า จิตอื่นที่เป็นกุศลจิต กุศลวิญญาณเป็นวิญญาณอาหารด้วยครับ

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 410

ถามว่า ธรรมที่เหลือเหล่านั้นไม่เป็นปัจจัยของกันและกันหรือ หรือว่าไม่เป็นปัจจัยแก่รูปซึ่งมีธรรมนั้นเป็นสมุฏฐานหรือ ตอบว่า ไม่เป็นปัจจัยหามิได้ แต่ว่าธรรมเหล่านั้นย่อมเป็นปัจจัยอย่างนั้นก็ ได้ ย่อมเป็นโดยประการอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้น ครั้นเมื่อความเป็นปัจจัยแม้มีอยู่ ก็ย่อมเป็นปัจจัยเกินไปดังนั้น จึงตรัสว่า ธรรมเหล่านั้น ว่าเป็นอาหาร

ถามว่า ตรัสว่าอย่างไร ตอบว่า บรรดาอาหารเหล่านั้น ผัสสาหารเป็นปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลายที่จิตและเจตสิกเป็นปัจจัยเหล่านั้น และย่อมนำมาซึ่งเวทนา ๓ มโนสัญเจตนาหารย่อมเป็นปัจจัยแก่ธรรมเหล่านั้น และย่อมนำมาซึ่งภพ ๓ วิญญาณาหารย่อมเป็นปัจจัยแก่ธรรมเหล่านั้น และย่อมนำมาซึ่งปฏิสนธิ นามและรูป.

ถามว่า วิญญาณาหารนั้นเป็นวิบากอย่างเดียว ส่วนวิญญาณนี้เป็นกุศลวิญญาณ มิใช่หรือ

ตอบว่า เป็นกุศลวิญญาณแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น กุศลวิญญาณนั้น ท่านก็เรียกว่า วิญญาณาหารเหมือนกัน เพราะเป็นสภาพเหมือนกับวิปากวิญญาณาหารนั้น.

อีกย่างหนึ่ง ธรรมทั้ง ๓ เหล่านี้ ตรัสเรียกว่า อาหาร เพราะอรรถว่าเป็นธรรมอุปถัมภ์ จริงอยู่ ธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยโดยเป็นอุปถัมภกปัจจัยแก่สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย เหมือนกพฬิงการาหารเป็นปัจจัยแก่รูปกาย เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ พระองค์จึงตรัสว่า อรูปอาหารย่อมเป็นปัจจัยแก่สัมปยุตตธรรม และแก่รูปทั้งหลายที่มีอาหารนั้นเป็นสมุฏฐาน ด้วยอาหารปัจจัย

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 8 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 8 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อาหารทั้ง ๔ อย่าง นั้น เป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้ที่เกิดแล้ว และเป็นไปเพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ยังต้องมีการเกิดอยู่ (คือ ยังมีกิเลสอยู่) แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่ตราบใดก็ตามที่ยังมีการเกิด อันมีต้นตอมาจากการที่ยังมีอวิชชา ความไม่รู้อยู่ จึงยังต้องมีอาหาร ๔ อย่างนี้เกิดขึ้นเป็นไป มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

สภาพธรรมที่เป็นอาหารปัจจัยเลี้ยงดู ค้ำจุนธรรม ที่เกิดพร้อมกัน มี ๔ ประเภท คือ รูปอาหารอย่างหนึ่ง และ นามอาหาร ๓ ต่างก็เป็นปัจจัยโดยนำมาซึ่งผล ตามสมควรแก่สภาพธรรมนั้นๆ กล่าวคือ รูปอาหาร ก็นำมาซึ่งกลุ่มรูปที่มีโอชาเป็นที่ ๘ ผัสสาหาร อาหาร คือ ผัสสะ นำมาซึ่งเจตสิกธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย นำมาซึ่งจิต และ นำมาซึ่งรูปที่เกิดจากจิตในขณะนั้น เพราะถ้ากล่าวถึงเจตสิก ก็ต้องหมายรวมจิต และเมื่อกล่าวถึงจิต ก็ต้องหมายรวมเจตสิกด้วย มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือ มโนสัญเจตนา ก็คือ เจตนาเจตสิกนั่นเอง นำมาซึ่งภพทั้งหลาย เพราะมีการกระทำที่เป็นกรรมอันเป็นบุญบ้างเป็นบาปบ้าง จึงทำให้มีการเกิดในภพต่างๆ มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป และถ้ากล่าวถึงในขณะที่เกิดพร้อมกัน ก็นำมาซึ่งเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย นำมาซึ่งจิต และ รูปที่เกิดจากจิตตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ และ ประการสุดท้าย นามอาหารที่เป็นวิญญาณ คือ วิญญาณาหาร อาหาร คือ วิญญาณ ได้แก่ จิต ไม่ใช่เฉพาะปฏิสนธิจิตเท่านั้น หมายรวมถึงจิตทุกขณะ ทุกประเภท ในขณะที่จิตเกิดขึ้น นำมาซึ่งอะไร ก็นำมาซึ่งเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย นำมาซึ่งรูปที่เกิดจากจิต ตามควรแก่จิตประ เภทนั้นๆ เพราะยกเว้นปฏิสนธิจิต ทวิปัญจวิญญาณอรูปวิบาก และจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น ที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป (รูปที่เกิดจากจิต)

สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้น แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำ นาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนในสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้เลย เป็นการปฏิเสธความเป็นตัวตนสัตว์บุคคลอย่างสิ้นเชิง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 8 ม.ค. 2556

วิญญาณาหาร หมายถึง ปฏิสนธิสนจิต ๑๙ ดวง และจิตอื่นๆ เช่น อกุศลจิต กุศลจิต วิญญาณาหารเป็นจิตที่เกิดดับทุกขณะและเป็นปกติ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Boonyavee
วันที่ 10 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Thanapolb
วันที่ 11 ม.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 11 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
yanong89
วันที่ 7 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ