เรียนถามตามบทกลอน

 
pornchai.s
วันที่  13 ม.ค. 2556
หมายเลข  22322
อ่าน  1,905

เมื่อทำดีไม่ได้ใจเศร้าหมอง

ราคะครองจิตกระสันด้วยตัณหา

ดั่งศรพิษปักสนิทติดอุรา

ย่อมนำพาฤทัยหม่นทุกข์ล้นใจ

พุทธองค์ทรงแสดงแสงสว่าง

ชี้หนทางอริยะสัจจะให้

เพื่อสัตว์โลกพ้นโศกวิโยคภัย

ดับสิ้นไฟและสงสารนิพพานเอย

เรียนถาม -ราคะ -กระสัน -ตัณหา (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) -อริยสัจจ์ -วิโยค -ภัย (โดยนัยต่างๆ ) -สงสาร (สังสารวัฎฎะ) -ไฟ (โดยนัยต่างๆ) -นิพพาน จะทำ Link แปะไว้ก็ได้ครับ ทั้งนี้เพื่อเป็นความรู้ และเพื่อเป็นข้อมูลนำไปลงบอร์ดกลุ่ม "ทำดีและศึกษาพระธรรม" และ บอร์ดกลุ่ม "วาจาสัจจะ" ในแอปปลิเคชั่น LINE (ใช้งานบน สมาร์ทโฟน และแทปเล็ตของสมาชิกในกลุ่ม) ครับ

อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านมา ณ ที่นี้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-ราคะ

ราคะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง คือ โลภเจตสิก ที่ทำหน้าที่ติดข้อง ยินดีพอใจ ซึ่งในความเป็นจริงของสภาพธรรม ในแต่ละสภาพธรรม มีความแตกต่างกัน ตามกำลัง หรือ ระดับของสภาพธรรมที่แตกต่างกันด้วย แม้แต่ ระดับของโลภะ คือ ความติดข้องก็มีความแตกต่างกันไป ตามกำลังของความติดข้อง อย่างเช่น การที่เกิดความติดข้อง โลภะขึ้นมาครั้งเดียว ไม่มีกำลัง ก็เรียกว่า ความเพลิดเพลิน ที่เป็น นันทิ แต่ เมื่อโลภะเกิดขึ้นบ่อยๆ ในอารมณ์นั้น กล่าวง่ายๆ คือ ติดข้องมากๆ ในสิ่งใด ก็เป็นโลภะที่มีกำลังก็เรียกว่า นันทิราคะ ความกำหนัด ด้วยความเพลิดเพลิน

คำว่า ราคะ จึงหมายถึง ความกำหนัด ติดข้องที่มีกำลังมาก แต่ไม่ได้หมายถึง ราคะที่จะต้องเป็นไปในเรื่องของกาม อย่างชาวโลกเข้าใจ แต่ ราคะ สามารถใช้ได้กับสิ่งใดก็ตามที่ติดข้องในสิ่งนั้น มากๆ บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ สัตว์ต่างๆ ที่ติดข้องมากๆ เกิดติดข้องในอารมณ์นั้นบ่อยๆ ก็ชื่อว่าเกิด ราคะในสิ่งนั้น ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

โลภะ ตัณหา ราคะ [ธรรมสังคณี]

-กระสัน

กระสัน คือ สภาพธรรมที่ไม่ยินดีในกุศลธรรม แต่ ยินดีในอกุศลธรรม เช่น พระภิกษุกระสันอยากสึก ความหมายคือ พระภิกษุไม่ยินดีในการประพฤติที่จะครองเพศบรรพชิตอีกต่อไป แต่เป็นผู้ยินดีในกามคุณ ต้องการที่จะสึกไปเป็นเพศฆราวาส ครับ

-ตัณหา (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา)

ตัณหา คือ สภาพธรรมที่ยินดี พอใจ ติดข้อง ดังนั้นความเป็นจริง ตัณหา ก็คือโลภะนั่นเองครับ อันเป็นชื่อหนึ่งของโลภะ และแม้แต่เรื่อง ตัณหา หรือ โลภะที่เป็นความติดข้อง ต้องการ ยินดี ก็มีหลากหลายนัย ตามลักษณะ ความติดข้อง คือ ต้องมีสิ่งที่ให้ติดข้อง สิ่งที่ให้ติดข้องมีหลายอย่าง หลายประการ เพราะฉะนั้นตัณหา จึงหลายอย่าง บางครั้งพระองค์แสดง ถึงตัณหา ๓ อย่าง บางครั้งแสดง ตัณหา ๖ หรือตัณหา ๑๘ หรือ ตัณหา ๑๐๘ ก็เพื่อเข้าใจถึงความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นตัณหา คือ ความยินดี พอใจติดข้องในสิ่งต่างๆ ที่มีมากมายนั่นเองครับ

สำหรับประเด็นคำถามเรื่อง วิภวตัณหานั้นก็มาจากการแบ่ง ตัณหา เป็น ๓ ประการคือ

1. กามตัณหา

2. ภวตัณหา

3. วิภวตัณหา

กามตัณหา หมายถึง ความยินดี พอใจติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสที่มีในชีวิตประจำวัน เช่น เห็นสิ่งใดแล้วก็ชอบ เพียงแค่นี้ก็เป็นกามตัณหาแล้ว ครับ ได้ยินเสียง ก็ติดข้อง แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นกามตัณหาอีกเช่นกัน ดังนั้น จึงมีกามตัณหาเป็นปกติในชีวิตประจำวันโดยส่วนมาก ครับ

ภวตัณหา คือ ความยินดี พอใจ โลภเจตสิกที่ติดข้องยินดีในการเกิดขึ้นของนามรูป ยินดีในความมีชีวิตอยู่ หรือ หมายถึง โลภเจตสิกที่เจือด้วยสัสสตทิฏฐิ คือมีความเห็นผิดยึดถือว่าเที่ยง คือ ยินดีพอใจ ในความเห็นผิดว่า ตายแล้วต้องเกิด มีสัตว์บุคคลที่เกิดต่อไปในภพหน้า (สัสสตทิฏฐิ) เห็นว่าโลกเที่ยง เคยเกิดเป็นสัตว์หรือบุคคลเช่นไร เมื่อตายไปแล้ว ก็จะเกิดเป็นบุคคลเช่นนั้นอีก ขณะที่มีความเห็นผิดเช่นนี้ ขณะนั้นต้องมีความยินดี พอใจเกิดร่วมด้วย ทีเป็นตัณหา หรือ โลภะ จึงเรียกว่า ภวตัณหา

วิภาตัณหา คือ โลภะ หรือความยินดีพอใจ ในความเห็นที่ผิดว่า ตายแล้วก็ไม่เกิดอีกจบกัน ขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) การที่ยินดีพอใจในความเห็นนั้น ขณะนั้นเป็นวิภวตัณหาเป็นความยินดีพอใจในความเห็นผิดนั้นที่สัตว์ตายแล้วไม่เกิดอีกนั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 13 ม.ค. 2556

-อริยสัจ ความหมายของอริยสัจจะ

1. ความจริงที่ประเสริฐ ชื่อว่า อริยสัจจะ

2. พระอริยะทั้งหลาย ย่อมแทงตลอดอริยสัจจะเหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อริยสัจจะ

3. ธรรมที่ทำให้ถึงความเป็น พระอริยะ ชื่อ อริยสัจ

4. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะอรรถว่า เป็นสัจจะของพระอริยะดังนี้บ้าง

5. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะความที่อริยสัจจะเหล่านั้น อันพระอริยะตรัสรู้แล้วบ้าง

๑. ทุกขอริยสัจ ความจริงอย่างประเสริฐ คือสภาพที่ทนได้ยาก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดดับ และทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ คือ จิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ ซึ่งเป็นโลกียธรรมทั้งหมด จิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ เป็นความจริงอย่างประเสริฐ เพราะผู้ที่ตรัสรู้ความจริง คือทุกขธรรมเหล่านี้แล้ว เป็นผู้เข้าถึงความประเสริฐ คือเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยเจ้า

๒.สมุทัยอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก เป็นความจริงอย่างประเสริฐคือเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหา หรือ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะติดข้อง ทำให้เพลิดเพลินในภพใหม่ เป็นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป เป็นโลกิยธรรม

๓.นิโรธอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ พระนิพพาน ความจริงอย่างประเสริฐ คือความดับทุกข์ หมายถึง พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ทั้งปวง เมื่อถึงการดับขันธปรินิพพานแล้ว จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก พระนิพพาน เป็นโลกุตตรธรรม

๔. มัคคอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ในมรรคจิตตุปบาททั้ง ๔ เป็นความจริงอย่างประเสริฐ คือหนทางดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดขึ้นเป็นมรรคสมังคี ทำกิจประหารกิเลสเป็นสมุจเฉท ทำให้บุคคลที่อบรมมรรคมีองค์ ๘ นั้นเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น

-วิโยค

วิโยค หมายถึง การจากไป พรากจากสิ่งนั้นไป เพราะฉะนั้นจากคำกลอนที่ว่าเพื่อสัตว์โลกพ้นโศกวิโยคภัย จึงหมายถึง พ้น หรือ ทำให้ พราก จาก ภัย ที่เป็นภัย คือ อกุศล กิเลสประการต่างๆ ครับ

-ภัย (โดยนัยต่างๆ )

ภัย หรือ ภย คือ สิ่งที่น่ากลัว และ สภาพธรรมที่นำมาซึ่งสิ่งที่น่ากลัว และไม่ปลอดภัย ซึ่งก็สามารถกล่าวโดยนัยสมมติและปรมัตถ์ ได้ดังนี้ที่มีหลากหลายนัย ครับ

ภัย ความเกิดก็เป็นภัย ความแก่ ความเจ็บและความตาย เป็นภัย เพราะนำมาซึ่งทุกข์ หากไม่มีการเกิดแล้ว ก็ไม่ต้องรับทุกข์อะไรเลย ดังนั้น แม้การเกิดก็เป็นภัยแล้ว เพราะนำมาซึ่งสิ่งที่น่ากลัว มีการได้รับทุกข์ประการต่างๆ ความแก่ก็เป็นทุกข์ เป็นภัยเป็นที่น่ากลัว ความเจ็บ และความตายก็โดยนัยเดียวกัน ครับ และเมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์ให้ลึกลงไปอีกครับว่า ภัย คืออะไร ภัยที่เป็นสิ่งที่น่ากลัว และนำมาซึ่งความน่ากลัว หากไม่มีกิเลส แล้ว จะมีการกระทำอกุศลกรรม หรือ ทำความชั่วได้หรือไม่ ไม่ได้เลยครับ เพราะฉะนั้น กิเลสเป็นภัยที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะเป็นเหตุที่แท้จริง ที่จะต้องได้รับทุกข์ประการต่างๆ เพราะเมื่อมีกิเลสก็มีการกระทำกรรมชั่ว ทำให้ต้องตกนรกได้ เพราะมีกิเลสนั่นเองที่เป็นภัยครับ ที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น ภัยที่น่ากลัว ไม่รู้เลยในขณะนี้ คือ ภัย คือ ความไม่รู้ ที่เป็นอวิชชา ที่ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนี้มีความไม่รู้อยู่ ก็ไม่รู้ว่าเป็นภัย เพราะมีอวิชชา จึงมีการทำบาป อกุศลประการต่างๆ และเมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็ทำให้เกิดตาย อยู่ร่ำไป นำมาซึ่ง ความเกิด แก่ เจ็บ ตายทีเป็นภัย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 13 ม.ค. 2556

สภาพธรรมที่เกิดดับก็เป็นภัย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ขณะนี้ก็มีภัย คือ สภาพ ธรรมทีเกิดดับ ขณะทีเกิดขึ้น เป็นภัยแล้ว เพราะจะนำมาซึ่่งสภาพธรรมต่างๆ เพราะยัง จะต้องมีสภาพธรรมทีเกิดดับ วนเวียนไปไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้วนเวียนไปที่จะต้องได้รับ ทุกข์ประการต่างๆ เพราะมีการสืบต่อของสภาพธรรมทีเกิดดับ ดังนั้น แม้สภาพธรรมที่ มีในขณะนี้ แม้ยังไม่ได้ทำชั่วอะไรเลย ก็เป็นภัยที่น่ากลัวแล้ว ซึ่งจะเห็นตามความเป็น จริงอย่างนี้ได้ ก็ต้องด้วยปัญญาระดับสูง ครับ

ที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงการทำความชั่วเป็นภัย พระพุทธองค์ยังแสดงแม้แต่การกระทำกุศลกรรม ก็เป็นภัย อีกเช่นกัน เพราะนำมาซึ่งการเกิด นำมาซึ่งการจะต้องได้รับ ทุกข์ประการต่างๆ เพราะมีการเกิด อันมีการกระทำกุศลกรรม เป็นปัจจัยครับ ซึ่งการจะ พ้นภัยที่น่ากลัวประการต่างๆ ก็ต้องละเหตุให้เกิดภัย คือ กิเลสและอวิชชาที่สะสม เมื่อ ไม่มีกิเลส ไม่มีอวิชชา ก็ไม่มีการกระทำกุศลกรรม อกุศลกรรม จึงไม่มีการเกิด ไม่ต้องรับ ทุกข์ประการต่างๆ ที่เป็นภัย เลย ครับ ซึ่งก็ต้องด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็ จะค่อยๆ ละภัยประการต่างๆ ที่เป็นกิเลสไปทีละน้อย จนดับภัยที่แท้จริงคือกิเลสได้ ทั้งหมด ก็หมดภัย ไม่มีภัยอีกเลย ครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

ภัยเวรที่แท้จริงคืออะไร [ภัยภายใน ... ตอนที่ ๑]

ภัยเวรที่แท้จริงคืออะไร [เห็นเป็นภัยหรือเปล่า ... ตอนที่ ๒]

ภัยเวรที่แท้จริงคืออะไร [ผู้ไม่เห็นภัยจึงก่อเวร ... ตอนที่ ๓ จบ]


-สงสาร (สังสารวัฎฎะ)

ตามความเข้าใจทั่วๆ ไป สังสารวัฏฏ์ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดวนเวียนอยู่ใน ภพภูมิต่างๆ หาเบื้องต้นเบื้องปลายไม่เจอ ... ซึ่งได้แต่เข้าใจเรื่องราวของสังสารวัฏฏ์ ไม่สามารถเข้าใจถึงสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งความหมายของสังสาระ สังสารวัฏฏ์ที่แท้จริง หมายถึง การท่องเที่ยว ซึ่งโดยสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ คือ ความเป็นไปของ สภาพธรรม คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เกิด ดับ สืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย เช่น จิตเกิด ดับแต่ละขณะเป็นสังสารวัฏฏ์ ขณะนี้เห็น เกิดแล้วดับแล้ว ไม่กลับมา ไม่ว่าจะทาง ตา ทางหู ... และทางใจ แต่ละขณะเกิดดับสืบต่อเป็นสังสารวัฏฏ์ ดังนั้น ขณะนี้ กำลังเป็นสังสารวัฏฏ์ คือ ขณะที่จิตเกิดขึ้นและดับไปทุกขณะ ครับ


-ไฟ (โดยนัยต่างๆ )

ไฟ จาก บทกลอน ดับสิ้นไฟ และ สงสาร เพือถึงพระนิพพาน ก็คือ ดับไฟ ที่เป็น เหตุให้เกิดสงสาร เวียนว่ายตายเกิด ไฟ คือ กิเลส ที่เป็น โลภะ และ ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งไฟ โดยนัยต่างๆ เชิญคลิกที่นี่ ครับ

ไฟ ๗ กอง [ปฐมอัคคิสูตร]

ไฟเสมอด้วยราคะ ย่อมไม่มี


-นิพพาน

นิพพานเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่สงบระงับเย็นสนิท

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

นิพพานปรมัตถ์

ธรรมชาติพระนิพพาน [ตติยนิพพานสูตร]

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pornchai.s
วันที่ 14 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และ อนุโมทนาครับ

_/I\_

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 14 ม.ค. 2556

ดีมากๆ เลยค่ะ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
daris
วันที่ 14 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 14 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 14 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-ราคะ (ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่พ้นไปจากขณะนี้เลย ติดข้องได้ทุกอย่าง เว้นโลกุตตรธรรมเท่านั้น)

-กระสัน (ความติดข้องต้องการ ไม่สงบด้วยอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป)

-ตัณหา (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) ความติดข้องในรูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกามตัณหา ความยินดีในภพ ความยินดีในฌาน ความยินดีที่ประกอบด้วยความเห็นว่าเที่ยงยั่งยืน เป็นภวตัณหา ความยินดีที่ประกอบด้วยความเห็นว่าขาดสูญ เป็นวิภวตัณหา

-อริยสัจจ์ (ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ ความจริงที่ทำให้ผู้รู้แจ้ง ถึงความเป็นพระอริยะ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค ทั้งหมดเป็นสภาพธรรม ที่มีจริง)

-วิโยค ความปราศจาก ความพราก ซึ่งจะต้องดูคำที่ประกอบด้วย จะได้เข้าใจ ว่าปราศจากอะไร เช่น วิโยคภัย ก็คือ ปราศจากภัย

-ภัย (โดยนัยต่างๆ) สิ่งที่นำมาซึ่งความน่ากลัว สิ่งที่น่ากลัว เป็นภัย มีหลายนัย ทั้งชาติ ชรา มรณะ เป็นภัย กิเลสประการต่างๆ เป็นภัยภายในที่น่ากลัว

-สงสาร (สังสารวัฎฎะ) สภาพธรรมที่เกิดดับเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย เป็นสังสารวัฏฏ์ ขณะนี้ แต่ละขณะ ก็เป็นสังสารวัฏฏ์

-ไฟ (โดยนัยต่างๆ) ไฟภายใน คือ กิเลส เผาไหม้สัตว์ให้เดือดร้อน เร่าร้อน เผาไหม้โดยไม่เลือกเวลาด้วย

-นิพพาน สภาพธรรมที่ดับทุกข์ ดับกิเลส ผู้ที่ประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ดับกิเลสตามลำดับขั้น ต้องเป็นพระอริยบุคคลเท่านั้น

"ศรพิษปักสนิทติดอุรา"

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงว่า กิเลสเปรียบเสมือนลูกศร ก็เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ปักอยู่ภายใน นำออกได้ยาก ถอนออกได้ยาก นั่นเอง โดยที่บางคนไม่เคยรู้เลยว่า ตนเองถูกปักด้วยลูกศรหลายต่อหลายดอกในแต่ละวัน ซึ่งเป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์และยังจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกนานแสนนาน

กิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเป็นลูกศรที่มองไม่เห็น เป็นกิเลสที่สะสมอยู่ภายในจิต ทุกคนกำลังพล่านไปด้วยลูกศรที่ปักอยู่ตามกำลังของกิเลส เมื่อถูกกิเลสเสียดแทงก็เต็มไปด้วย ทุกข์ต่างๆ มากมาย ตราบใดที่ยังไม่ได้ถอนลูกศรคือกิเลสออกได้ ความทุกข์ก็จะตามมาไม่รู้จบ ต้องทนทุกข์อยู่ในสังสารวัฏฏ์อีกต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีทางใดที่จะถอนลูกศรคือกิเลสออกได้ หนทางดังกล่าวนั้น มีอยู่จริง และมีหนทางเดียว เท่านั้น คือ การอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ค่อยๆ ละคลายกิเลสที่อยู่ภายในจนหมดสิ้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหนทางนั้น อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว แต่บุคคลใดจะเดินตามทางที่พระองค์ทรงแสดงไว้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นจริงๆ เพราะพระองค์ทรงเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น บุคคลผู้เดินตามหนทางนี้ มีโอกาสหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ส่วนผู้ที่ไม่เดินตามหนทางดังกล่าว มีแต่จะจมอยู่ในวัฏฏะต่อไป โทษใครก็ไม่ได้ ต้องโทษตัวเองเท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 14 ม.ค. 2556

ภัย ที่เป็นอันตราย คือภัยกิเลสที่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน นำมาซึ่งทุกข์ในปัจจุบัน และทุกข์ในอบายภูิมิข้างหน้า ที่จะดับภัยได้คืออบรมปัญญา อบรมกุศลทุกๆ ทาง เพื่อเป็นบารมีเป็นปัจจัยให้หมดกิเลส ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
maxnakub2
วันที่ 14 ม.ค. 2556

ทั้งนี้เพื่อเป็นความรู้ และเพื่อเป็นข้อมูล

นำไปลงบอร์ดกลุ่ม "ทำดีและศึกษาพระธรรม" และ บอร์ดกลุ่ม "วาจาสัจจะ" ในแอปปลิเคชั่น LINE (ใช้งานบน สมาร์ทโฟน และแทปเล็ตของสมาชิกในกลุ่ม) ครับ ผมอยากทราบว่า จะติดต่อได้ทางไหนบ้างครับ มี line * id ไหมครับ อยากจะเข้าร่วมกลุ่มต้องทำอย่างไรบ้างครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 14 ม.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 10 ครับ

สอบถามรายละเอียด ได้ที่เมลผู้ถามได้เลย ครับ ที่เมลนี้ pornchai2505@gmail.com

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 14 ม.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
pornchai.s
วันที่ 15 ม.ค. 2556

ได้เรียนถามคุณคำปั่นเพิ่มเติมแล้วครับ

กระสัน เป็นคำไทย มาจากคำบาลีว่า อุกกัณฐิตะ (อกุศลธรรมที่กลุ้มรุม และได้ตั้งขึ้นแล้ว)

ปล. เชิญคุณ maxnakub2 เข้ากลุ่มแล้วครับ id แอป Line ของผมคือ pornchaise ผู้สนใจขอแอดมาได้ครับ

อนุโมทนาในกุศลจิตของวิทยากร และสมาชิกทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
นิรมิต
วันที่ 15 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 15 ม.ค. 2556
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
kinder
วันที่ 16 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ