ความเป็นของไม่งาม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอนจาก
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 480
คำว่า
"ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงมาพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามอยู่ในกายนี้"
ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเที่ยวไปตลอดชมพูทวีปทั้งสิ้น
โดยที่สุดก็ยังได้เสด็จไปที่อยู่ของภิกษุ ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง
ทรงแสดงอานิสงส์อย่างนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจที่อบรมด้วยความสำคัญ
ในของที่ไม่งามมากอยู่ จิตย่อมหดหู่ ครอบงำ ถอยกลับ ไม่เหยียดออก
ความวางเฉย หรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่พร้อม
จากความถึงพร้อมด้วยเมถุนธรรม.
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจที่อบรมด้วยความสำคัญ
ในของที่ไม่งามมากอยู่ จิตย่อมหดหู่ ครอบงำ ถอยกลับ ไม่เหยียดออก
ความวางเฉย หรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่พร้อม
จากความอยากในรส ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อภิกษุผู้มีใจที่อบรมแล้วด้วยความสำคัญว่า
ไม่น่ายินดียิ่งในโลกทั้งปวงมากอยู่ จิตย่อมสลดหดหู่ ถอยกลับ ไม่เหยียดออก
ความวางเฉย หรือความเป็นของปฏิกูล
ย่อมตั้งอยู่พร้อมในจิตที่ประกอบด้วยความโลภ.
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยความสำคัญว่าไม่เที่ยงมากอยู่
จิตย่อมสลดหดหู่ ถอยกลับ ไม่เหยียดออก ความวางเฉย
หรือความเป็นของปฏิกูล
ย่อมตั้งอยู่พร้อมในความโลภ ในลาภและสักการะ
แล้วตรัสกัมมัฏฐาน ๔ เหล่านี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ จงมาพิจารณา
เห็นเป็นของไม่งาม เป็นผู้มีความสำคัญในความปฏิกูลในอาหาร
เป็นผู้มีความสำคัญในความไม่ยินดียิ่งในโลกทั้งปวง
เป็นผู้ตามพิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยง ในสังขารทั้งปวงในกายอยู่.
ภิกษุแม้เหล่านั้น ทำกรรมในกัมมัฏฐานทั้ง ๔ เหล่านี้. ให้อาสวะทั้งหมดสิ้นไป
ดำรงอยู่ในความเป็นพระอรหันต์.
กัมมัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ให้
ราคะ โทสะ และ โมหะสงบ กำจัดราคะ โทสะ และโมหะ ได้แน่นอนแล.