เมื่อบวชแล้ว (บวชตามประเพณี) เห็นประโยชน์ในเพศบรรพชิต พ่อแม่มาขอให้สึก...

 
ชะอมทอดกรอบ
วันที่  19 ม.ค. 2556
หมายเลข  22358
อ่าน  1,272

พ่อแม่มาขอให้สึกไปครองเรือน ทำงานทำการทางโลก แต่งงานมีครอบครัวให้ท่านอุ่นใจ แต่พระลูกชายไม่ยอมศึกเพราะมุ่งนิพพาน การทำแบบนี้พระลูกชายจะบาปไหมครับที่ทำให้พ่อ-แม่ผิดหวัง เป็นกังวล


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็น ครับ

ผู้ที่จะบวชเป็นบรรพชิต จะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตจริงๆ ซึ่งต้องสละอาคารบ้านเรือน ญาติสนิทมิตรสหาย รวมถึงสละทรัพย์สินต่างๆ ที่เคยมีอยู่ด้วย จึงจะเข้าสู่ภาวะของความเป็นบรรพชิตได้อย่างแท้จริง มีความจริงใจที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง นี้คือ จุดประสงค์ที่ถูกต้องในการบวช แต่ถ้าหากไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจพระธรรมวินัยตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างถูกต้องแล้ว ก็อาจจะเป็นเหตุให้กระทำผิด ล่วงละเมิดในสิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ ทำให้เป็นอาบัติ มีโทษ และถ้าไม่กระทำคืนให้เป็นปกติ ก็เป็นเครื่องกั้นในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และยิ่งถ้าหากว่ามรณภาพ (สิ้นชีวิต) ในเพศบรรพชิตขณะที่ยังเป็นอาบัติอยู่นั้น ย่อมมีอบายเป็นที่หวัง

การมีศรัทธา มุ่งที่จะบวชที่จะขัดเกลากิเลส เป็นที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง แม้บุพพารีมาขอร้องให้ลาสิกขา (สึก) ก็ไม่ยอมลาสิกขา เพราะมีศรัทธาที่จะอบรมเจริญปัญญาต่อไป อย่างนี้ไม่เป็นบาป เพราะไม่ได้กระทำอกุศลกรรมใดๆ เลย ถึงแม้ว่าพ่อแม่อาจจะเสียใจ ก็เป็นเรื่องของท่าน เป็นธรรม ดาสำหรับผู้ที่ยังมีความติดข้อง ที่ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เศร้าโศก เสียใจ เป็นธรรม ผู้ที่เป็นพระภิกษุ ก็สามารถกล่าวธรรม อธิบายให้ท่านได้เข้าใจได้ เท่าที่จะเป็นไปได้

และที่น่าพิจารณา คือ การที่จะเข้าใจธรรม การที่จะละคลายขัดเกลากิเลส ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคล ว่าจะเห็นประโยชน์ของพระธรรมมากน้อยแค่ไหน

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ ถ้ามีโอกาสได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา และน้อมประพฤติตามพระธรรม ไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในการสะสมความดีในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นชีวิตที่ไม่เปล่าประโยชน์อย่างแน่นอน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 20 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บาป คือ ขณะที่ทำอกุศลกรรม มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น และบาปที่เล็กน้อย คือ ขณะที่เป็นอกุศล มีความติดข้อง ความโกรธ กังวลใจ เป็นต้น และที่สำคัญ ความไม่บริสุทธิ์ หรือบาป อยู่ที่ใจของแต่ละคน ไม่มีใครสามารถทำให้ใจของใครบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ หรือบาปได้ นอกจากใจของผู้นั้นเอง เพราะฉะนั้นการกระทำของใครก็ตามที่ไม่ไดมีเจตนาที่จะตั้งใจให้ผู้อื่นเดือดร้อน คือ ไม่ได้มีเจตนาไม่ดี เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่บาป เพราะบาปไม่บาปสำคัญที่จิตของผู้นั้น และสำคัญที่เจตนาของผู้ที่กระทำว่ามีเจตนาดี หรือ ไม่ดี ครับ

ส่วนอกุศลจิตของผู้อื่น มีความทุกข์ใจ กังวลใจ เกิดจากกิเลสของผู้นั้นเป็นสำคัญ แม้จะมีเจต นาที่ดี แต่ทำให้ผู้อื่นทุกข์ใจก็ได้ ทุกข์ใจของผู้อื่นเพราะอะไร เพราะกิเลสที่สะสมมาในจิตใจของผู้นั้นเอง ผู้ที่มีเจตนาดี กล่าววาจาดี ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกใจของผู้อื่น ความไม่ถูกใจ อกุศลจิตก็เป็นของผู้นั้นเอง ครับ

สิ่งที่สำคัญ จึงควรแยกระหว่างเจตนาของผู้ที่กระทำ ว่าเจตนาดีหรือไม่ดี หากเจตนาดีแล้ว ก็ไม่เป็นบาปกับผู้นั้น แม้ผู้อื่นจะเป็นอกุศลอย่างไร ก็ไม่สามารถห้ามได้ และควรแยกระหว่างความถูกใจ กับความถูกต้อง ว่าการกระทำที่ถูกใจ ไม่จำเป็นจะต้องถูกต้อง แต่การกระทำที่ถูกต้อง แต่อาจไม่ถูกใจ ความถูกต้องที่เกิดจากเจตนาดีที่เป็นกุศลธรรม ลักษณะๆ ไม่เปลี่ยนแปลง คือ ไม่มีโทษ กับผู้ที่กระทำเอง ครับ

ขอยกตัวอย่าง ในสมัยพุทธกาล มีพราหมณ์ สามี ภรรยา สองท่าน ต้องการยกลูกสาว ชื่อ นาง มาคัณทิยา ที่งามมาก ให้กับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าปฏิเสธและตรัสธรรมว่า แม้นางตัณหา นางราคา นางอรดี เราไม่ยุ่งเกี่ยว จะกล่าวไปใยถึงบุตรสาวท่านที่เต็มไปด้วยสิ่งสกปรก แม้แต่เท้าเราก็ไม่อยากเกี่ยวข้อง พระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบ พราหมณ์สามี ภรรยา บรรลุเป็นพระอนาคามี แต่นาง มาคัณฑิยาฟังอยู่ เกิดโกรธแค้น ผูกอาฆาต เกิด บาปในใจ

จะเห็นนะครับว่า พระพุทธเจ้ามีเจตนาดี ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ คือ ให้พราหมณ์สามี ภรรยาบรรลุ แต่ผู้ที่ได้รับฟังอีกท่านกลับผูกโกรธ เกิดบาปในใจ เพราะใคร ไม่มีใครทำให้โกรธ เพราะมีแต่สภาพธรรมเป็นไป ดังนั้น กิเลสที่มีอยู่ในจิตใจต่างหากเป็นต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอกุศลแกิดการทำบาปประการต่างๆ ครับ


[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ 319

คันธารชาดก

[๑๐๔๕] ดูก่อนท่านวิเทหะ เรากล่าวธรรมะ ความจริง เราไม่ชอบธรรมความไม่จริง เมื่อ เรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ บาปก็ไม่เปรอะเปื้อนเรา

[๑๐๔๖] คนอื่นได้รับความแค้นเคือง เพราะคำ พูดอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าคำพูดนั้นจะมี ประโยชน์มาก บัณฑิตก็ไม่ควรพูด

[๑๐๔๗] ผู้ถูกตักเตือน จะแค้นเคืองหรือไม่แค้น เคืองก็ตามเถิด จะเขี่ยทิ้งเหมือนโปรยแกลบ ทิ้งก็ตาม เมื่อเขากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อ ว่าบาปย่อมไม่เปรอะเปื้อน.


[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔- หน้าที่ 506

๙. ติตติรชาดก

ว่าด้วยบาปที่เกิดจากความจงใจ

ดูก่อนปักษี ถ้าใจของท่านไม่น้อมไป เพื่อกรรมอันเป็นบาป บาปย่อมไม่แปด เปื้อนท่านผู้บริสุทธิ์ ไม่ขวนขวายกระทำบาปกรรม.

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ชะอมทอดกรอบ
วันที่ 28 ม.ค. 2556

ขอบคุณทุกความคิดเห็นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 15 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
lovedhamma
วันที่ 21 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ