พ่อแม่จะทำยังไงกับลูกก็ได้ ?
พ่อแม่คือผู้ให้กำเนิด มีผู้กล่าวว่า พ่อแม่จะทำยังไงกับลูกก็ได้? แบบนี้เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องหรือไม่
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทุกอย่าง จะต้องกลับมาที่สภาพธรรมเสมอว่าเป็นอย่างไร พ่อ แม่ บิดา มารดา บุตร ภรรยา ล้วนแล้วแต่สมมติขึ้นจากสิ่งที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเสมอกัน โดย สภาพธรรม ซึ่ง ความดี สิ่งที่ดีงาม ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น และ ความไม่ดี ความชั่ว ก็ไม่พ้นจากการเกิดขึ้นเป็นไปของจิต เจตสิกอีกเช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิกของใครก็ตามที่สมมติว่าเป็นบิดา มารดา หากจิตนั้น เป็นกุศลแล้ว ขณะนั้นถูกต้อง สมควร ไม่ว่าจะเกิดกับบิดา มารดา และหากจิตขณะนั้น เป็นจิตที่ไม่ดี เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าจะเกิดกับบิดา มารดา หรือเกิดกับบุตร ก็ไม่สมควร ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ครับ ดังนั้น จึงกลับมาที่คำถามที่ว่า
พ่อแม่จะทำยังไงกับลูกก็ได้
ตามที่กล่าวแล้ว ว่า มีแต่สภาพธรรมที่ทำหน้าที่เกิดขึ้นเป็นไป ดังนั้น การจะทำ อะไรก็ตาม ก็ไม่พ้นจากการกระทำทางกาย วาจาและใจ และ การกระทำทางกาย วาจา ใจ ก็ต้องเกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ของ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น คำว่า พ่อแม่จะทำยังไง ก็คือ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นของบิดา มารดาในขณะนั้นว่าเป็นจิตอะไร ดังนั้น หากเป็นจิตที่ดีงามที่กระทำต่อบุตร ในขณะนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำ กับบุตร แต่ หากเป็นจิตที่ไม่ดีงาม เป็นอกุศลจิตที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ ย่อมไม่สมควรทำกับบุตร และ กับใคร เพราะ อกุศลธรรมย่อมนำมาซึ่งโทษประการต่างๆ ดังนั้น หน้าที่ที่บิดา มารดา ควรกระทำ ก็กระทำตามฐานะ ความเหมาะสม และ ตั้งอยู่ในกุศลธรรมเป็น สำคัญ บิดา มารดา จึงไม่ใช่จะทำอะไรกับบุตรก็ได้ แต่ ทำอะไรก็ได้ ในทางถูกต้อง ในกุศลธรรม ครับ
ผู้เป็นบุตร หน้าที่ของบุคตร คือ เคารพเชื่อฟังมารดา บิดา แต่ไม่ได้หมายความ ถึงทุกเรื่อง เรื่องใดที่พิจารณาด้วยปัญญาของตนแล้ว ไม่ถูกต้องเป็นอกุศล ก็ไม่ กระทำตามในสิ่งนั้น แต่เรื่องใดที่ถูกต้อง เป็นกุศล ก็กระทำตามนั้น
และ จากคำถามที่ว่า พ่อแม่ทำอะไรกับลูก ไม่ว่าเรื่องใด ลูกไม่มีสิทธิ์จะใช้คำพูด หรือการกระทำอะไรเลยใช่ไหม เป็นบาป หรือเปล่า
ทุกคนมีสิทธิ์ เพราะทุกคนต่างก็มีจิต เจตสิก ที่ต่างจิต ต่างใจ บังคับกันไม่ได้เลย เพราะ เมื่อถึงเวลา ถึงเหตุการณ์นั้น ก็ไม่มีใครจะรู้ได้ว่า จะเกิดการกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่ดี หรือ ไม่ดี ที่ทำหน้าที่ของ จิต เจตสิกของเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นต่างคน ต่างมีสิทธิ์ที่ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เพราะเป็นสิทธิ์ หน้าที่ของ จิต เจตสิก ตาม การสะสม แต่ เมื่อเรากล่าวในสัจจะ ความจริงที่ถูกต้อง สิทธิ์ หน้าที่ที่ดี ก็ต้องเกิด จากกุศลจิต จิตที่ดีงาม ดังนั้น แม้การกระทำของบิดา มารดา บางครั้งก็ไม่ถูกต้อง เพราะ ต่างก็ยังเป็นผู้มีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น
ก็ควรพิจารณาให้ละเอียดว่า การกระทำ ด้วยกาย วาจาด้วยอกุศลที่บุตรพึงกระทำตอบ ขณะนั้น ย่อมเป็นสิทธิ์ หน้าที่ที่ไม่ควร ไม่ต้องกล่าวถึง มารดา บิดา ไม่ว่ากับใคร ก็ไม่ควรกระทำทั้งนั้น สมดังที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า บุคคลโกรธตอบ บุคคลผู้โกรธ บุคคลผู้โกรธตอบเลวกว่า เพราะ รู้ว่า ผู้อื่น กระทำไม่ดีแล้ว ตัวเองก็ยังทำไม่ดีอีก ครับ เพราะฉะนั้น เมื่อบิดา มารดา หรือ ใครก็ ตาม ทำในสิ่งที่ไม่ดี กับตนเอง หรือ อยู่ในฐานะที่เป็นบุตร ที่สมควร ที่ถูกต้อง ก็คือ ตั้งอยู่ในกุศลธรรม ก็คือ มีสิทธิ์ที่จะเกิด กุศลจิตได้ ไม่ว่าจะปรึกษาเรื่องอะไรที่ไม่ เข้าใจกัน ผู้เป็นบุตร ก็สามารถอธิบายให้ บิดา มารดา ให้เข้าใจด้วยเหตุผล ด้วย ความหวังดีได้ ด้วยกุศลจิตเป็นสำคัญ เพราะ หากด้วยอกุศลจิตก็ต่างมุ่งเอาชนะ เมื่อแก้ปัญหา ตอบโต้ด้วยอกุศล สิ่งที่จบลง คือ ความเจริญขึ้นของอกุศลทั้งสองฝ่าย ดังนั้น บุตร ก็มีสิทธิ์ที่จะสามารถพูด อธิบายเหตุผลในเรื่องต่างๆ ได้ ด้วยกุศลจิต เพราะ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สมควร มีสิทธิ์เสมอ หากเป็นกุศลจิต ครับ ดังนั้น บุตรจะ บาป หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับใจ กายและวาจาของบุตรเองที่มีต่อ บิดา มารดา ครับ
แต่หากบางเรื่อง เมื่อพิจารณาแล้ว พูดไปก็ไม่เป็นประโยชน์ ไม่สามารถทำให้ท่าน เข้าใจได้ ควรหรือไม่ ที่จะตอบโต้ด้วยอกุศลจิต หรือ คิดพิจารณาประโยชน์ที่สำคัญ คือ ใจของแต่ละคน ที่ควรจะเพิ่มอกุศลมากขึ้น หรือ ให้น้อยลง การนิ่งเงียบ อดทน ด้วยขันติ ไม่โต้ตอบ สมควรกว่า เพราะการไม่โต้ตอบ พูดไปมา ก็ไม่ทำให้เกิดปัญหา ไม่เกิดอกุศลเพิ่มขึ้น สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า การที่บุคคลไม่โกรธ บุคคล ผู้โกรธชื่อว่า รักษาประโยชน์ทั้สองฝ่าย คือ รักษาประโยชน์ คือ คุณความดีที่จะเสีย ไป จากการเจริญขึ้นของอกุศลทั้งสองฝ่าย ครับ และสิ่งที่น่าพิจารณาที่สุด ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงบทพระธรรมไว้อย่างไพเราะที่ว่า
[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓- หน้าที่ 610
เมื่อผู้ทำความผิดมีคุณ เราไม่ควรทำความโกรธในผู้มีคุณ. เมื่อไม่มีคุณควรแสดงความ สงสารเป็นพิเศษ.
จากพระคาถานี้ แสดงให้เห็นว่า เป็นการรักษาประโยชน์ คือ ใจของตนเองที่ คิดถูกว่า แม้ผู้ที่ทำผิด เป็นผู้มีคุณ ก็ควรไม่ทำความโกรธ อกุศล แต่ควรคิดในทาง กุศล และ แม้แต่ผู้ที่ทำผิด ไม่รู้จักกับเราเลย ไม่มีคุณอะไรกับเรา แทนที่จะโกรธ ก็ ควรสงสารผู้นั้นที่จะต้องได้รับบาปจากการะทำของเขาเอง ครับ
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ควรนิ่ง ในเหตุการณ์ที่ควรนิ่ง ด้วยกุศลจิต ที่คิดถูก ที่จะอดทน เพื่อประโยชน์รักษากุศลทั้งสองฝ่าย และควรพูดพอประมาณ อธิบายด้วยจิตที่เป็นกุศล เพื่อให้ผู้ใหญ่เข้าใจ ในเหตุผล ตามสมควร และ ผู้ใดจะบาปหรือไม่ สำคัญที่ใจของตน เองเป็นสำคัญ ว่าเป็นกุศล หรือ กุศลในขณะที่ำกระทำทางกาย วาจา
ต่างคนก็ต่างมีสิทธิ์คือ จิต เจตสิกที่เ่กิดขึ้นเป็นไปทำหน้าที่แต่ละขณะ การศึกษา พระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมทำให้คิดถูก ใช้สิทธิ์ คือ เกิดจิต เจตสิกที่ดี เกิดกุศลธรรมในเหตุการณ์ต่างๆ มากขึ้นในชีวิตประจำวัน ครับ
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่
ถ้าพ่อแม่มองเราในทางที่ผิด ควรทำอย่างไร
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเป็นจริงของธรรม ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ สิ่งที่เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ผิด จะเป็นสิ่งที่ถูก ไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เป็นกุศล ก็ย่อมเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดี จะ เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ไม่ได้ ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น
ตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจว่า มีแต่ธรรมเท่านั้น ที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่มีการรู้กันว่า เป็นคนดี หรือ เป็นคนไม่ดี ก็เพราะธรรมเกิดขึ้นเป็นไป เพราะมีกุศลเกิดขึ้น ก็เป็นคนดี ถ้าอกุศลเกิดขณะใด ขณะนั้น ก็ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
พระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ไม่มีแม้แต่บทเดียวที่สอนหรือสนับสนุน ส่งเสริมให้คนเกิดอกุศล แม้เพียงเล็กน้อย ไม่มีเลยจริงๆ มีแต่คำสอนที่เป็นไป เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม และปัญญาไปตามลำดับ จนกว่าจะสามรถดับกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีตามลำดับขั้น แม้แต่การอยู่ร่วมกันโดยฐานะหนึ่งฐานะใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงหน้าที่ที่แต่ละบุคคลควรประพฤติไว้อย่างครบถ้วน ขอยก ข้อความที่เกี่ยวกับผู้ที่เป็นมารดาบิดา และบุตรธิดา
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความได้ที่นี่ ครับ
หน้าที่ของบุตร กับ มารดาบิดา [ทีฆนิกาย สิงคาลกสูตร]
ผู้ที่เป็นบุตรธิดา ถ้ามีความกตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดา ย่อมเป็นการกระทำที่ดี เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิต และเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า แต่ถ้าประมาท มัวเมาไม่เลี้ยงดูท่าน หรือกระทำในสิ่งที่ไม่ดีต่อท่าน ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ตนเองเกิด ความเดือดร้อนใจในภายหลังได้ ถ้ามีปัญญาเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดีแล้ว ย่อมจะ ไม่ทำในสิ่งผิดๆ อย่างแน่นอน มีแต่จะกระำทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม คล้อยตามปัญญา ที่ค่อยๆ เจริญขึ้น
ตราบใดที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีส่วนที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลอยู่มาก ด้วยกันทั้งนั้น ก็ควรที่จะเห็นใจกัน เข้าใจกัน และมีทางใดที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล กันได้ ก็ควรที่จะเกื้อกูลกัน ช่วยเตือนกัน เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลา ปรับปรุงใน สิ่งที่ไม่ดี ให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ย่อมจะดีกว่า การโกรธ กัน การไม่พอใจกันอย่างแน่นอน แต่ถ้าโกรธขึ้นมาคราใด ก็ขอให้ทราบว่า ไม่เข้าใจ คนเหล่านั้นและไม่เห็นใจเขาด้วย จึงได้โกรธเขา ที่จะขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีได้ ก็ต้อง อาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ
พระธรรมเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับทุกกาลสมัยอย่างแท้จริงและจะเป็นประโยชน์ สำหรับบุคคลผู้น้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ เท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ปัญหาใดๆ ก็ไม่มีอย่างแน่นอน เป็นพ่อแม่ ก็เป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นบุตรธิดา ก็เป็น บุตรธิดาที่ดี เพราะมีความประพฤติคล้อยตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง แสดง ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ ถ้าพูดผิด ทำผิด เราเป็นเด็กก็สามารถให้เหตุผลได้ ในพระไตรปิฎกยังมี ตอนที่ท่านพระสารีบุตรนุ่งจีวรไม่เสมอกัน สามเณรก็บอกว่า อาจารย์ท่านนุ่งผ้าไม่เรียบร้อย พระสารีบุตร ไม่พูดอะไร ไปนุ่งให้เรียบร้อย และ กล่าวกับสามเณร ว่า นุ่งดีหรือยังอาจารย์ เด็กก็สามารถชี้แจงแนะนำได้ ค่ะ
ควรหมั่นระมัดระวัง และสำรวมการกระทำกาย วาจา ใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะแสดงออกกับใครก็ตาม
ขออนุโมทนาค่ะ