วิธีการนั่งสมาธิอย่างไหนถึงเรียกว่าปฎิบัติได้ถูกทาง

 
paula
วันที่  25 ม.ค. 2556
หมายเลข  22389
อ่าน  2,744

ดิฉันนั่งสมาธิทุกวันในช่วงค่ำ แต่ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ปฎิบัตินั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะเมื่อก่อนเคยไปปฎิบัติธรรมตามสถานที่ต่างๆ แต่ละที่ก็จะสอนไม่เหมือนกัน แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ดิฉันก็นำมาประยุกต์ใช้ โดยเมื่อเริ่มนั่งก็จะบริกรรม ไปพร้อมกับดูลมหายใจแล้วก็สังเกตร่างกาย ไปพร้อมกัน เช่นหายใจสั้น ยาว ท้องยุบ ท้องพอง พิจารณาร่างกายไปเรื่อยๆ แต่ยังคงบริกรรมอยู่ แม้จะมี ความคิด เหตุการณ์ต่างๆ แทรกมาเป็นระยะ ก็จะไปพิจารณาว่าจิตไปอยู่้ตรงนั้น แล้วดึงกลับมาอีกบริกรรม อีก อยากจะถามว่า การที่เราจะพิจารณาร่างกายไป พร้อมบริกรรม กับการที่เราจะบริกรรมไปพร้อมกับการกำหนดหรือสร้างนิมิต แทนการพิจารณาร่างกายนั้นอย่างนี้เรียกว่าผิดทางหรือเปล่าค่ะ เพราะถ้าเรา จดจ่อกับสิ่งที่เราสร้างขึ้น เหมือนรู้สึกว่าจะอยู่ได้นานกว่าเราพิจารณาทาง ร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่เคยมีพระอาจารย์ท่านบอกว่าสิ่งที่เรากำหนดนั้น ไม่มีอยู่จริง เพียงเราสร้างขึ้นมา การนั่งวิปัสสนากรรมฐานควรจะพิจารณา ตามสภาพความจริง จึงเกิดความสงสัยว่า ผลลัพธ์นั้นต่างกันหรือเปล่าค่ะ แล้วควรจะปฎิบัติแบบไหนค่ะ

ขออนุโมทนา่ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ม.ค. 2556

เชิญสหายธรรมร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บรรพต
วันที่ 25 ม.ค. 2556

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางปฏิบัติ ที่จะอบรมเจริญปัญญา เพื่อให้รู้แจ้ง อริยสัจจธรรม ตามความเป็นจริงว่า มีหนทางเดียวคือ การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฏฐิ เป็นมรรคแรกในอริยมรรค เพราะฉะนั้น ควรให้ความสำคัญกับสัมมาทิฎฐิ เป็นอันดับแรกครับ

สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก หรือปัญญา สัมมาทิฏฐิ จะมีได้ก็ ด้วยการศึกษา โดยการฟังธรรม อ่านธรรมพิจารณาธรรม ด้วยความรอบคอบ ด้วย ความเคารพ ด้วยความอดทน ด้วยความเข้าใจ เป็นต้นครับ อย่าเพิ่งคิดว่าจะไปปฏิบัติ ควรศึกษาให้เข้าใจก่อนครับ เช่น ศึกษาให้ทราบว่า ธรรมคืออะไร ชีวิตคืออะไร ปัญญาคืออะไร ทุกข์คืออะไร เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ ธรรม เป็นอย่างไร เราปฏิบัติหรืออะไรปฏิบัติ เป็นต้น ถ้ามีความเข้าใจถูก เห็นถูก ก็จะปฏิบัติถูก

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ditt
วันที่ 26 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ต้องขออนุญาตเรียนคุณ Paula ด้วยความจริงใจอย่างยิ่ง ... เรื่องของการปฏิบัติ นั้นเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่สนใจที่จะทำ (โดยที่ไม่ได้ฟัง และ/หรือศึกษาพระธรรมที่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงอย่างละเอียดและลึกซึ้ง) จึงเป็น บุคคลที่ "เชื่อง่าย" โดยเสมือนมีความเข้าใจว่าต้อง "ทำ" อะไร และเพื่ออะไร (ซึ่ง เป็นความติดข้องต้องการ) ... ที่สำคัญไม่เคยคิดที่จะเทียบเคียงสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา จากบุคคลอื่นที่เชื่อมั่นและศรัทธา (ซึ่งบุคคลดังกล่าวต่างเป็นเพียงผู้อ่านสาส์นจากพระราชาเท่านั้น) ดังนั้นเราควรจะเป็นบุคคลที่ "ว่าง่าย" คือต้องพิจารณา ไตร่ตรองสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ศึกษาเทียบเคียงว่าถูกต้อง สอดคล้อง เป็นไปในทิศทาง ตรงตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้หรือไม่? เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ตรง ไม่สอดคล้อง ก็ควรเป็นผู้ตรงพร้อมที่จะสละความ "ไม่รู้ ความเข้าใจผิด ความเห็นผิด" และสะสม เข้าใจให้ตรงและถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ... ซึ่งคุณ Paula สามารถหาคำตอบที่ สงสัยดังกล่าว และในประเด็นอื่นๆ ได้ในเวปไซด์ของมูลนิธิฯ โดยเฉพาะที่กระดาน สนทนานี่แหละจะทำให้คุณพบคำตอบได้อย่างแน่นอน โดยค่อยๆ พิจารณาอย่าง ละเอียดจะเกิดประโยชน์อย่างมากมาย แต่ที่สำคัญต้องเป็น "ผู้ตรง" คือ ผิด คือ ผิด / ถูก คือ ถูก

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Endeavor
วันที่ 26 ม.ค. 2556

ก่อนอื่นควรต้องมีความชัดเจนในวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายก่อนว่า คุณ paula ปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ซึ่งจะได้พิจารณาว่าข้อปฏิบัติใดเป็นหนทางที่ถูกและข้อปฏิบัติ ใดเป็นหนทางที่ผิด

การเจริญวิปัสสนา คือการเจริญสติและปัญญาในมรรคมีองค์ ๘ จนกิเลสดับสนิทโดย ลำดับ แต่การเจริญสมาธิเพื่อให้จิตจดจ่ออยู่กับเพียงอารมณ์ที่ต้องการ หรือนิมิตที่ สร้างขึ้น มิใช่จุดมุ่งหมายของการเจริญวิปัสสนา และไม่สามารถดับอนุสัยกิเลสใดๆ ได้เลย เพราะไม่ช่วยให้เกิดความรู้ชัด รู้ทั่วในสภาพธรรมทั้งปวงที่ปรากฏทั้ง ๖ ทวาร

การเจริญวิปัสสนา เป็นการปฏิบัติให้รู้แจ้งสภาพธรรมทั้งปวงที่ปรากฏตาม ปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่ากำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือ คิดนึกสิ่งใด สติก็สามารถระลึก และปัญญาสามารถพิจารณาลักษณะของสภาพธรรม เหล่านั้นที่ปรากฏ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน จุดประสงค์คือความเข้าใจ และรู้ชัดลักษณะของธรรมะทั้งหลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มิใช่การบังคับ ข่มจิตด้วยความ ไม่เข้าใจและความไม่รู้

การปฏิบัติที่ถูกต้อง จึงต้องอาศัยความเพียรที่จะฟังหรือศึกษา แล้วพิจารณา สภาพธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วทั้งสิ้น

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 26 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นที่สุด ก็ควรตั้งต้นด้วยความเข้าใจจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไป ตามลำดับ ไม่ควรตั้งต้นด้วยการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้หรือด้วยความเป็นตัวตน มี ความจดจ้องต้องการ เพราะทั้งหมดนั้น เป็นไปกับด้วยความไม่รู้ เมื่อตั้งต้นด้วยความ ไม่รู้แล้ว ผลก็คือ สะสมความไม่รู้ให้มีมากขึ้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง แสดงไว้ดีแล้วเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องป้องกันความเข้าใจผิดความเห็นผิด เมื่อได้ศึกษา ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำ

แม้แต่คำว่า สมาธิ ก็ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าได้ศึกษาแล้วจะเข้าใจว่า สมาธิ มีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ

ถ้ามีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ที่จะปฏิบัติผิด ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะได้ เข้าใจอย่างถูกต้องแล้วนั่นเอง ดังนั้น จึงสำคัญอยู่ที่การค่อยๆ เข้าใจไปทีละเล็ก ทีละน้อย จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ปัญญา เป็นพืชที่โตช้าซึ่งจะต้องอาศัยความอดทน ความเพียรที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไป เพราะผู้ที่เป็นสาวกต้องได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ฟังพระ ธรรมแล้ว ไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นิรมิต
วันที่ 26 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยนะครับ ก่อนอื่นอยากขอให้คุณ Paula พิจารณาก่อน ว่า ที่จะนั่งสมาธินั้น เพื่อประโยชน์อะไร? ทำไมจึงอยากนั่งสมาธิ และ เข้าใจว่าการนั่ง สมาธินั้น คืออะไร?

ถ้านั่งสมาธิเพราะต้องการความสงบ กระผมเคยได้ฟังเทปบรรยายธรรม ซึ่งท่าน อาจารย์สุจินต์ฯ ได้กล่าวไว้ว่าหากจะนั่ง เพื่อความสงบ ไม่จำเป็นต้องนั่ง ขณะใดที่ กุศลจิตเกิด ได้แก่มีการคิดจะให้ทาน มีการคิดจะวิรัติทุจริต หรือรักษาศีล มีการระลึก รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เจริญปัญญา มีการฟังธรรม ขณะนั้นสงบ สงบโดยลักษณะของจิตที่เป็นกุศลจิต มีลักษณะสงบ สงบจากอกุศลธรรมทั้งปวง เพราะเป็นธรรมะฝ่ายตรงข้าม

ส่วนนี้เป็นความคิดเห็นของกระผมเอง ผมคิดว่า หากมีการ ไปทำ ไปนั่งสมาธิ โดยคิดว่า อยากจะสงบ ขณะนั้นก็ไม่สงบแล้วครับ เพราะการ "อยาก" ที่จะสงบ คือ ลักษณะของกิเลส ได้แก่โลภะ หรือความอยาก ความติดข้องต้องการนั่งเอง และพอ นั่งสมาธิไปได้สักพัก มีอาการเบากาย มีสุขเกิด ก็ติดในสุขนั้น เป็นการนั่งด้วยโลภะ คือ เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่การทำ สมถกรรมฐาน ที่แท้จริง ซึ่งต้องเป็น กุศลจิต ประกอบด้วยปัญญา ที่สามารถแยกกุศลจิต ออกจากอกุศลจิตได้ แล้วสามารถยังกุศลจิตนั้นเหล่าให้เกิดับสืบต่อกันนานๆ ได้ จนสงบ ระงับนิวรณ์ เป็น ฌาณขั้นต่างๆ

ถ้าหากนั่งกรรมฐาน ตามๆ กันโดยที่ไม่รู้ ว่าขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็น อกุศล พอมีอะไรเกิดขึ้นในขณะที่นั่ง เช่นตัวโยกตัวโคลง หรือเห็นสีต่างๆ มีอาการ "ตกใจ" หรือ "ดีใจ" บ้างหรือเปล่า หากมี แล้วไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร ไม่รู้ว่าเป็น กุศล หรือเป็นอกุศล แยกกุศลกับอกุศลไม่ได้ จะเป็นกุศลจิตประกอบด้วยปัญญา ไม่ไ่ด้เลย และก็คือจะสงบจนเป็นฌาณจิตด้วยอาการอย่างนั้น ก็ย่อมไม่ใช่ฐานะที่ ควรจะเป็นได้ ซึ่งหากนั่งผิด แล้วเข้าใจว่าถูก ติดข้องในสุขที่เกิดด้วยโลภะ แล้ว เข้าใจว่าสงบจนเป็นฌาณขั้นต่างๆ ก็เป็นความเห็นผิดน่ะครับ เป็นการสั่งสม ความเห็นผิด เป็นการสะสมกิเลส ย่อมไม่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ และเพื่อ"สงบ" จากกิเลส หรืออกุศลธรรมได้เลย

สมดั่งที่ท่านอาจารย์สุจินต์ฯได้เคยกล่าวไว้ว่า ควรกลัวว่าจะปฏิบัติผิด มากกว่า จะไปปฏิบัติ โดยที่ไม่มีความรู้แม้เบื้องต้นโดยละเอียดว่า นั่งสมาธิคืออะไร นั่ง ทำไม นั่งเพื่ออะไร

หากว่าคุณ Paula นั่งเพราะเข้าใจว่า นี่คือ วิปัสสนากรรมฐาน ตามความเป็น จริงแล้ว วิปัสสนา ไม่ใช่การต้องไปนั่ง หรือไปทำ ให้จิตสงบถึงขั้นนั้นขั้นนี้ อย่าง นั้นคือ สมถกรรมฐาน มิใช่วิปัสสนา

วิปัสสนาจริงๆ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ หรือ การ มีสติ เกิดระลึกสภาพธรรมที่มีอยู่ ตามปรกติ ตามความเป็นจริง จนสติ และปัญญา แก่กล้า สามารถที่จะรู้แจ้งอริย สัจจธรรม ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ตั้งแต่ พระโสดาบัน จนถึงพระอรหันต์ ได้แก่ การเกิดสติ ระลึกรู้ สภาพธรรมที่มีจริง ในขณะนี้ ในชีวิตประจำวัน ทุกๆ ขณะ อะไรมี เป็นสภาพที่มีจริง ก็ระลึกสภาพนั้น โดยความเป็นสภาพธรรมะจริงๆ จนไถ่ถอนสัตว์ บุคคล ตัวตน ออกจากจิตได้ คือ จนกว่าจะประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง จริงๆ ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมะ อย่างหนึ่งๆ ที่ไม่เที่ยง เกิดดับ และไม่ใช่ตัวตน เช่น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ตลอดจนถึง การคิดนึกทางใจและสิ่งที่ปรากฏทั้งหมด ที่จิตรู้ได้ ว่าเป็นแต่เพียง สภาพธรรมะ ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับ มีลักษณะอย่างนั้นๆ ของแต่ละสภาพธรรม เช่น การเห็น มีลักษณะเดียว คือ ลักษณะ เห็น อาการเห็น ไม่ใช่ลักษณะได้ยิน ส่วนการได้ยิน ก็มีลักษณะเดียว คือการได้ยิน ไม่ใช่การเห็น

เพราะฉะนั้นอยากขอเรียนคุณ Paula สอบถามตัวเองอีกทีหนึ่งว่า ต้องการจะนั่งสมาธิ เพราะเหตุใด และเข้าใจว่าการนั่งสมาธินั้นเพื่อประโยชน์อย่างไร และขอแนะนำดั่งเช่น ท่านวิทยากรและมิตรธรรมท่านอื่นๆ ว่า ควรฟังพระธรรม สะสมปัญญา เพื่อ ความเข้าใจถูก เห็นถูก สะสมสัมมาทิฏฐิ เพื่อประโยชน์ในการเข้าใจพระธรรม เกิด ปัญญาดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท จะเป็นประโยชน์กว่า การทำสมถกรรมฐาน ที่แม้จะสามารถทำฌาณจิตให้เกิด สงบ จนถึงฌาณจิตขึ้นต่างๆ ได้ แต่ก็ไม่อาจจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ได้น่ะครับ ถ้าไม่ได้สะสมปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ตามความเป็นจริง จนไถ่ถอนความเห็นผิดว่าธรรม เป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน ได้นะครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 27 ม.ค. 2556

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wittawat
วันที่ 28 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

เรียนท่านเจ้าของกระทู้ครับ

ขอตอบตามกำลังความเข้าใจสั้นๆ นะครับ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์คือความเข้าใจของผู้ฟังธรรม การกระทำต่างๆ นั้นทั้งหมดทุกอย่างที่ไม่ประกอบด้วยความเข้าใจ ก็ต้องไม่สอดคล้อง กับประโยชน์ที่ทรงมุ่งแสดงธรรม เพราะฉะนั้นแทนที่จะถามว่าทำอย่างนี้อย่างนั้นถูกไหม เปลี่ยนเป็นเริ่มที่จะฟังธรรม เพื่อเข้าใจจุดประสงค์ที่ทรงแสดง ความเข้าใจนั้นเองจะตอบ คำถามของท่านทั้งหมดทุกประการ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สุภัทรา
วันที่ 28 ม.ค. 2556

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

อนุโมทนาทุกท่านขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paula
วันที่ 28 ม.ค. 2556

ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมแสดงความคิดเห็น ดิฉันได้อ่่านข้อความของทุกท่าน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเราเองเป็นผู้เิริ่มจากความไม่รู้และไม่เข้าใจ การปฎิบัติที่ ได้ทำอยู่ทุกวันนั้น มีสาเหตุมาจากความเบื่อหน่ายในความทุกข์ และความสุข สลับ กันไปมา ไม่จบ จึงเริ่มจากมองตัวเราเองก่อน สาเหตุของทุกข์ พร้อมกับการนำ คำสอนของพระพุทธองค์ แต่ด้วยความที่ยังมีกิเลส จึงมักจะสับสนกับสิ่งที่ทำ มัก สงสัึยลังเล แต่พร้อมกันนี้ก็ยังคงมองว่าทุกสิ่งมันเป็นไปตามกรรม ดิฉันเองไม่มี ความรู้ทางนี้อย่างละเอียด อ่านข้อความของบางท่านครั้งแรกยังคงมองไม่ออก ต้องปริ้นใส่กระดาษเอากลับมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางท่านก็เข้าใจได้เลย แม้ การเริ่มปฎิบัติจะมาจากความไม่รู้ มีท้อบ้าง แต่ก็ยังคงกลับมาปฏิบัติต่อไป อย่างน้อยก็คงเป็นการสะสมต่อไป

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
นิรมิต
วันที่ 28 ม.ค. 2556

กราบอนุโมทนาครับ

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยอีกครั้งนะครับ

เรียนคุณ paula

ตัวผมเองก็ไม่ได้มีความรู้ทางธรรมมากมายอะไรนัก แต่ตัว กระผมก็เคยผ่านช่วงที่เริ่มด้วยความไม่เข้าใจ และเริ่มที่จะไป "นั่งปฏิบัติ" แบบ คุณ paula ครับ มีการนั่งสมาธิทุกวัน นั่งบริกรรมพุทธ-โธๆ ยุบหนอ-พองหนอๆ อะไรๆ ที่ได้รับรู้มา ก็เอามาลองปฏิบัติ แต่ทั้งหมดนั้น พอได้มาศึกษาธรรมจริงๆ ได้มาเรียนถาม ปัญหาธรรมกับท่านผู้รู้ ได้ฟังธรรมบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่ท่านมีความรู้มาก จึงได้ทราบว่า ที่เคยๆ ปฏิบัติ ที่คิดว่า หนทางนี้แหละถูกแน่ๆ หรือถ้าไม่ถูก ถ้าไม่ ย่อท้อ ปฏิบัตินั่งๆ ๆ มันต่อไป เดี๋ยวมันก็ถูก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ปัญญาเลยครับ และเมื่อไม่เข้าใจ ก็ไม่มีวันที่จะถูกได้เลยครับ

เพราะเหตุว่าธรรมะ ลึกซึ้ง ละเอียด ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่เป็นปุถุชน จะคลำทางเอง โดยไม่มีคำชี้แนะของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่วิสัยของปุถุชนที่จะ เดินสุ่มสี่สุ่มห้า เอาโน่นนิดเอานี่หน่อยมาผสมผสาน แล้วก็คิดว่า เด๋วก็คงถูกเอง ตรงนี้เป็นไปไมไ่ด้เลยครับ เพราะไม่ใช่วิสัยของปุถุชน วิสัยของเราจะรู้แจ้งอริย สัจจธรรม ดับกิเลส ถึงฝั่งพระนิพพาน ด้วยการเดาเอาเอง ไม่ได้เลยครับ และ บุคคลในยุคนี้ ไม่ใช่ผู้มีปัญญามากแบบในครั้งพุทธกาล ที่เพียงฟังธรรมะ สั้นๆ นิดหน่อย จากพระพุทธองค์ แล้วก็สามารถที่จะคลำทางถูก เข้าใจธรรม รู้อรรถแจ่มแจ้ง จนบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้

แต่บุคคลในยุคนี้ คือเราๆ ทุกคนในยุคสมัยนี้ เป็นผู้ไม่ยิ่งด้วยปัญญาแบบคน ในครั้งพุทธกาล เราทุกคนเป็นผู้ต้องศึกษามาก ต้องฟังมาก ต้องพิจารณามาก ต้องละเอียด รอบคอบ สั่งสมปัญญาด้วยการฟัง เพราะคำว่า "สาวก" ในการเป็น พุทธบริษัท หรือพุทธสาวก "สาวก" นี้ แปลว่า "ผู้ฟัง" เพราะฉะนั้น จะไปปฏิบัติ โดยไม่ฟังธรรมะ ไม่เข้าใจธรรมะโดยถ่องแท้ ก็ย่อมจะต้องปฏิบัติผิด เดินทางผิด เพราะขาดความเข้าใจพระธรรมโดยละเอียด

อย่างที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้กล่าวไว้ ว่า เป็นพุทธบริษัท ศึกษาธรรมะ ต้อง ศึกษาโดยละเอียด จะเผินไม่ได้ คิดว่ารู้แค่นี้ พอแล้ว จะไปปฏิบัติ ข้อนั้น ไม่ได้เลยครับ ถ้ามีความคิดอย่างนี้ แปลว่ายังศึกษาไม่ละเอียด ยังเข้าใจ ไม่ละเอียด เมื่อความเข้าใจไม่ละเอียด ก็ย่อมที่จะเดินทางผิดได้ง่าย

ฉะนั้นแล้ว ก็อยากจะขอเรียนคุณ paula อีกครั้งว่า อย่างที่ท่านวิทยากรและ มิตรธรรมทุกๆ ท่านได้เรียนให้คุณ paula ทราบ ว่า ควรเริ่มด้วยการฟังธรรมะให้ "เข้าใจ" และธรรมะเป็นเรื่องละเอียด ไม่ใช่ว่ารู้ตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย แล้วจะ สามารถเอาไปประยุกต์ได้ โดยที่ไม่มีความรู้ถ่องแท้จริงๆ ว่า สมาธิ คืออะไร ปฏิบัติเพื่ออะไร ทางปฏิบัตินี้ นำผลให้ถึงอะไร

จากที่คุณ paula บอกว่า จะปฏิบัติต่อไป อย่างน้อยคงจะเป็นการสะสม ตรงนี้ อยากจะขอติงนิดนึงครับ ที่ว่าจะปฏิบัตินั้น จะปฏิบัติ อะไร?

ถ้าไม่มีความเข้าใจอะไร เริ่มด้วยความไม่รู้ จะไปปฏิบัติอะไรก็ไม่รู้ ปฏิบัติแล้วผล คืออะไรก็ไม่รู้ อย่างนี้ ไม่มีปัญญาประกอบด้วยเลยน่ะครับ ไม่สามารถแม้แต่จะอบรมจนเป็นสมาธิ จริงๆ ที่เรียกกันว่า "ฌาณจิต" หรือสมาธิที่แนบแน่น เป็นกุศล สงบจนระงับอกุศล ธรรมได้ เพราะ ฌาณจิต ต้องเริ่มด้วยปัญญา ที่แยกแยะกุศลจิต ออกจากอกุศลจิต ได้ และอบรมกุศลนั้นให้เกิดมากขึ้น มากขึ้น จนอกุศลไม่เกิดแทรก ซึ่งเป็นของยาก ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จะทำสมาธิจนสงบเป็นฌาณจิต จนมีอภิญญารู้โน่นนี่ รู้ใจคนอื่น รู้นรก รู้สวรรค์ อะไรๆ ที่ปฏิบัติกัน

แต่แม้จะทำสำเร็จ ทำสมาธิจนเป็นฌาณจิต มีอภิญญาต่างๆ เห็นนรก เห็นสวรรค์ ทายใจคนอื่น แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ ก็ไม่สามารถจะดับกิเลส พ้นทุกข์ ถึงฝั่ง พระนิพพานได้เลยครับ เพราะไม่ใช่แก่นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ในสมัยพุทธกาล ก็มีผู้ที่สามารถกระทำสมาธิ จนเป็นฌาณจิต จนมีอภิญญา แสดงฤทธิ์ เหาะเหินเดินอากาศ ต่างๆ ได้ แต่ ดับกิเลสไมไ่ด้ครับ เพราะไม่ใช่ ปัญญาขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง

แต่ปัญญาที่จะดับกิเลสได้นั้น ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม อบรมสัมมาทิฏฐิ หรือความเห็นถูก ค่อยๆ สั่งสมไปเรื่อยๆ เข้าใจพระธรรมมากขึ้น ปัญญาเจริญขึ้น ก็จะค่อยๆ เห็นประโยชน์ของสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ น่ะครับ และการปฏิบัติ การใช้ชีวิตประจำวัน ก็จะค่อยๆ เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร เพราะปัญญามีมากขึ้น และเมื่อถึงเวลาที่ปัญญามีมากขึ้นๆ ก็ย่อมจะสามารถบรรลุธรรม เป็นพระอริย บุคคล ดับกิเลสได้ตามฐานะ ด้วยปัญญาที่เริ่มจากการเข้าใจพระธรรมในขณะนี้ ที่มากขึ้นๆ น่ะครับ ที่ต้องอบรมต่อไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ

จึงอยากจะขอเรียนคุณ paula ให้เริ่มด้วยความเข้าใจก่อนนะครับ พระธรรมละเอียด ลึกซึ้ง ไม่ใช่ของคิดเองได้ ต้องศึกษา อบรม หนทางดับกิเลส ไม่ง่าย และมีทางเดียว คือ มรรคมีองค์ 8 การปฏิบัติหรือเดินทางอื่นนอกนั้น ที่ไม่ถูก ไม่ใช่ทางที่พระพุทธ องค์ทรงแสดง ย่อมไม่สามารถจะทำให้ดับกิเลสได้เลยครับ

และเมื่อเดินทางอื่น โดยที่ไม่เข้าใจ เช่นที่คุณ paula กล่าวว่า "แต่ก็ยังคงกลับมา ปฏิบัติต่อไป อย่างน้อยก็คงเป็นการสะสมต่อไป" ถ้าปฏิบัติในทางไม่ถูก ก็เป็น การสะสมกิเลส สะสมความไม่รู้ต่อไปน่ะครับ

เพราะฉะนั้น อยากให้เป็นผู้กลัวที่จะปฏิบัติผิด เพระาฉะนั้น เมื่อจะทำอะไร ก็ควร เรียนรู้หาข้อมูล ศึกษาให้ละเอียดเสียก่อน ว่าใช่ทางนี้หรือไม่ อย่างไร ดีกว่าจะ ไปปฏิบัติ แล้วก็ปฏิบัติผิด แล้วคิดว่าปฏิบัติถูก แบบนั้นจะไม่สามารถดับทุกข์ ได้เลยครับ

เพราะฉะนั้น อย่างที่ทุกท่านได้เรียนแล้วว่า ควรเริ่มด้วยความเข้าใจ คือการฟัง พระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ถูก ที่เป็นสัจจธรรมแท้ เพื่ออบรม ปัญญา สั่งสมความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ น่ะครับ

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
wittawat
วันที่ 28 ม.ค. 2556

เรียน ท่านเจ้าของกระทู้เพิ่มเติม ครับ

มีคำมากมายที่ท่านได้ยกขึ้นใช้ เช่น ปฏิบัติธรรม จิต นั่งสมาธิ บริกรรม นั่งวิปัสสนากรรมฐาน กำหนด พิจารณาสภาพความจริง ผล (เป็นเช่นไร?) เป็นต้น ขอกล่าวแนวทางคร่าวๆ นะครับ

เรียนทีละคำดีไหมครับ เริ่มที่คำว่า ธรรม คือ อะไร? ก่อนนะครับ แล้วจึงทราบว่า จิต สมาธิ คืออะไร? จึงทราบว่า ปฏิบัติ ซึ่งหมายถึง ถึงเฉพาะ นี่ครับ ถึงเฉพาะอะไร? ผล คืออะไร?

ทั้งหมดต้องประกอบด้วยความรู้ทั้งหมด ถ้าถามลึกๆ ลงไป ไม่มีความรู้อะไรเลย แต่อยากได้ทุกอย่าง แล้วทราบหรือไม่ว่าความอยากได้เป็นอะไร? และผลที่ต้องการได้มาด้วยความอยากหรือไม่? เมื่อแก้คำถามทั้งหลายที่ผมถามได้แล้ว จึงแก้ปัญหาของท่านเจ้าของกระทู้เองนะครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เข้าใจ
วันที่ 29 ม.ค. 2556

ไม่ง่ายเลยนะครับ ไม่สาธาณะกลับทุกๆ คนจริงๆ ความเป็นอนัตตาของพระธรรมตามการสะสมจริงๆ นะครับ

ขอกราบอนุโมทนากับทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paula
วันที่ 30 ม.ค. 2556

ขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง จากข้อความที่ได้สนทนาจากทุกท่าน ดิฉันน้อมรับ ด้วยความยินดี พร้อมที่จะนำไปปรับปรุง ตอนนี้ก็ฟังธรรมะจากซีดี พระอาจารย์ จึงเห็นว่าตัวเองคงต้องฟังให้มากกว่านี้ เพราะควรเริ่มต้นจากความถูกต้อง ไม่ใช่คลำหาทางเองจริงๆ ค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
เซจาน้อย
วันที่ 30 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนไม่มีเรา"

"ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งแทงตลอด"

"ขณะที่มีการลังเลสงสัยไม่แน่ใจขณะนั้นเป็นอกุศลครับ"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
peem
วันที่ 25 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ