จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน (ถอดเทป)

 
umpai
วันที่  26 ม.ค. 2556
หมายเลข  22397
อ่าน  1,756

มีปัญหาที่น่าคิด เพราะเหตุว่า ชีวิตนี้ ถ้าจะพิจารณาก็จะเห็นได้ว่า ผ่านความตายไปทุกวันๆ แต่ละวันๆ หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ผ่านความตายไปแต่ละขณะๆ เพราะฉะนั้น การที่จะสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ก็คงจะใกล้เข้ามาทุกขณะ ที่แต่ละขณะผ่านไป และการที่จะเกิดในภพภูมิต่อไปนั้น ก็แล้วแต่กรรมหนึ่งจะเป็นปัจจัย ที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภพใหม่ ซึ่งก็เลือกไม่ได้ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมอะไรที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิไหนก็ตาม สภาพของจิตก็จะเป็นไปตามการสะสม

เพราะฉะนั้น ถ้าปัจจุบันชาตินี้ ยังรัก ยังโลภ ยังโกรธ ยังหลง ยังพยาบาท ยังริษยา ยังสำคัญตน มากน้อย อย่างไร ชาติหน้า เปลี่ยนไปได้ไหม? ก็จะต้องเหมือนอย่างนี้แหละ แต่ว่าจะมากขึ้น หรือว่าจะน้อยลง ก็ตามการสะสมของปัจจุบันชาติ ในแต่ละขณะนี่เอง เพราะฉะนั้น ทุกคนก็จะเห็นความสำคัญของแต่ละขณะในชีวิต ว่าจะเป็นประโยชน์เมื่อกุศลจิตเกิด และก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้น เมื่อสามารถที่จะรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น สำหรับในชาตินี้ ก่อนที่จะตาย…ก็น่าคิดว่า “อยากจะเป็นคนดี หรือว่า อยากจะเป็นพระโสดาบัน” ….. อยากจะเป็นคนดีทุกๆ วันเพิ่มขึ้น ด้วยการเจริญกุศลทุกประการ หรือว่าอยากจะเป็นพระโสดาบัน มีสิทธิที่จะคิดได้ทุกท่าน ถ้าคิดถูกก็เป็นปัญญา ถ้าคิดผิด ก็ไม่ใช่ปัญญา ....


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
umpai
วันที่ 26 ม.ค. 2556

เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า .... แม้แต่การที่จะเป็นคนดีจริงๆ ก็จะต้องประกอบด้วยปัญญา ถึงจะดีได้ ไม่ใช่ว่าใคร่จะเป็นคนดี หรือว่าอยากจะเป็นคนดีโดยปัญญาไม่เกิดแล้วก็จะเป็นได้ เพราะเหตุว่าคนที่จะเป็นคนดีได้จริงๆ ต้องเป็นคนที่รู้จักตัวเองว่าไม่ดีอย่างไร… เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มีกิเลส จะดีได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้และคิดว่าดีแล้ว ขณะนั้นก็จะเป็นคนดีจริงๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นคนดีได้จริงๆ ก็คือ ต้องดีถึงกับหมดกิเลส แต่ว่าเมื่อไม่สามารถที่จะดับกิเลสหรือหมดกิเลสได้ ก็จะต้องอบรมเจริญเหตุคือ ความดี ที่จะให้หมดกิเลสไปเรื่อยๆ จนกว่า ปัญญาจะดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่า การจะเป็นคนดีจริงๆ ก็คือ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา และก็ดับกิเลส มิฉะนั้นก็จะชื่อว่า ดีจริงๆ ไม่ได้ สำหรับผู้ที่รู้เหตุและผล ก็เข้าใจได้ว่า การเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น เป็นผล ไม่ใช่เป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าปราศจากเหตุ คือบารมีต่างๆ คุณความดีต่างๆ ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งขันติ สัจจะ วิริยะ อธิษฐาน ปัญญา เมตตา อุเบกขา เนกขัมมะ ก็จะเป็นพระโสดาบันได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า การเป็นพระโสดาบันเป็นผลของการอบรมเจริญความดีในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะสมบูรณ์พร้อมด้วยปัญญาเมื่อไหร่ ก็จะบรรลุผลคือเป็นพระโสดาบันเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น ชีวิตที่ยังเหลืออยู่ ก็เจริญเหตุที่จะทำให้บรรลุการเป็นพระโสดาบันข้างหน้า โดยการที่ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
umpai
วันที่ 26 ม.ค. 2556

เรื่องของความดีนี่ก็มีมากมายหลายประการ ซึ่งถ้าทราบว่าความดีมีอะไรบ้างที่เป็นหลักใหญ่ๆ ที่ไม่ควรลืม ซึ่งท่านพระเถระในอดีตก็ได้กล่าวไว้ แม้ว่าท่านได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว ก็ควรที่จะได้เห็นประโยชน์ของคาถาที่พระอรหันต์ในอดีตได้กล่าวไว้ในอรรถกถา กุมาปุตตเถระคาถา ข้อ ๑๗๓ มีข้อความว่า ได้ยินว่า ท่านกุมาบุตรเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่าการฟังเป็นความดี ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี การอยู่โดยไม่ห่วงใย เป็นความดีทุกเมื่อ การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความดี การทำตามโอวาทโดยเคารพ เป็นความดี กิจ มีการฟัง เป็นต้นนี้ เป็นเครื่องสงบของผู้ไม่มีกังวล นี่คือจากชีวิตประจำวัน ไปสู่การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เริ่มจาก การฟังเป็นความดี ความประพฤติมักน้อย เป็นความดี การอยู่โดยไม่ห่วงใย เป็นความดีทุกเมื่อ ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปรกติเจริญสติปัฏฐาน ชีวิตประจำวันนี่ มีใครบ้างที่ไม่ห่วงใย ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือ บรรพชิต เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจ อรรถของพระอรหันต์ ก็จะต้องรู้ด้วยว่าคาถาที่ท่านกล่าว ไม่ใช่เพียงแต่อ่าน แล้วก็คิดว่าไม่มีอะไร แล้วก็วันหนึ่ง ก็จะเป็นพระอรหันต์ แต่ว่า ต้องเข้าใจถึงอรรถ ถึงเหตุที่จะให้บรรลุผลนั้นๆ ด้วย แม้แต่การที่จะอยู่โดยไม่ห่วงใย เป็นความดีทุกเมื่อ ถ้ายังเป็นตัวตน เป็นเรา ไม่ใช่เป็นชั่วขณะจิตเดียว ที่เกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไป เกิดขึ้นได้ยิน แล้วก็ดับไป เกิดขึ้นคิดนึก แล้วก็ดับไป เกิดขึ้นเป็นสุข เป็นทุกข์ แล้วก็ดับไป ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ทุกคนยังห่วงใย ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ก็มีเรื่องที่จะต้องห่วงใย ขณะที่จะไม่ห่วงใย ก็คือ ขณะที่สติปัฎฐานเกิด แล้วก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรม พิจารณาจนรู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นความดี การทำตามโอวาทโดยเคารพ เป็นความดี กิจมีการฟัง เป็นต้นนี้ เป็นเครื่องสงบของผู้ไม่มีกังวล เพราะฉะนั้นก็ เริ่มจากการฟังพระธรรม ซึ่งจะนำมาซึ่งความสงบอันแท้จริง ด้วยการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ อยู่ไปอย่างไรก่อนที่จะตายจากโลกนี้ คือทุกคนเกิดมาแล้วตายไม่ได้ ถ้ายังไม่ถึงเวลาที่จะตาย ใครจะทำให้ตายก็ตายไม่ได้ เพราะเหตุว่า จุติจิตเป็นผลของกรรม จุติจิตเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้นคนที่เกิดมาแล้วก็ต้องอยู่ไป แต่ว่า การอยู่ไป แต่ละวันๆ จะอยู่ไปอย่างไร ก่อนที่จะตายจากโลกนี้

ข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย นิทานคาถา วรรณา มีข้อความว่า ด้วยศัพท์ว่า ธัมมวิหาระ ในบทว่า ยถาธมฺมวิหาริโน นี้ ท่านแสดงถึงการถึงพร้อมด้วยการฟังพระสัทธรรม เพราะเว้นจากการฟังธรรมเสียแล้ว จะไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้นได้เลย เพราะฉะนั้นทุกท่านที่ได้ฟังพระธรรม ก็เพื่อประโยชน์ที่จะได้มีพระธรรมเป็นเครื่องอยู่ แต่ถ้าไม่ฟังพระธรรมแล้ว เว้นจากการฟังธรรมเสียแล้ว จะไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้นได้เลย ก็น่าจะพิจารณาได้ว่า ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม มีธรรมเป็นเครื่องอยู่หรือยัง และเมื่อได้ฟังแล้ว มีธรรมเป็นเครื่องอยู่หรือยัง ขณะใดที่อบรมเจริญปัญญา และเจริญกุศล ขณะนั้นก็มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ อาศัยจากการฟัง แล้วก็เข้าใจ แล้วก็เห็นประโยชน์

ข้อความอีกตอนหนึ่งมีว่า เมื่ออยู่ในประเทศที่ไม่สมควรก็ดี เว้นจากการคบหากับสัตบุรุษก็ดี คุณพิเศษเหล่านั้นจะมีไม่ได้เลย แสดงถึงการประกอบด้วยสมบัติ คือการฟังพระสัทธรรม ทุกท่านเห็นสมบัติของตัวเองจากการฟังพระสัทธรรมหรือยัง เป็นสมบัติที่แท้จริง ประเสริฐยิ่งกว่าสมบัติทั้งหลายที่มี ลองคิดถึงสมบัติทั้งหลายที่มี ไม่ว่าจะเป็นแก้วแหวน เงินทอง เพชรนิล จินดา บ้านช่อง เครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลาย สมบัติที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาสมบัติทั้งหลายที่มี จะได้แก่อะไร เพราะเหตุว่า เว้นจากการฟังพระธรรมเสียแล้ว การแทงตลอดซึ่งสัจจธรรมของพระสาวกทั้งหลายจะมีไม่ได้เลย ทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ได้ แต่การฟังพระธรรม การเข้าใจพระธรรม เป็นเหตุที่จะทำให้แทงตลอดสัจจธรรมได้ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
umpai
วันที่ 26 ม.ค. 2556

เรื่องของการฟังจะทำให้เข้าใจเหตุผลที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยละเอียด โดยเฉพาะในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน ที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะเหตุว่า ถ้าไม่พิจารณาเหตุผลจริงๆ ก็จะทำให้เข้าใจผิดและปฏิบัติผิดได้ เพราะเหตุว่าหลายท่านทีเดียวอยากจะปฏิบัติ ไม่ทราบทำไม? ทำไมไม่อยากจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม และการเข้าใจนั้นคือปัญญาที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น จนถึงขั้นที่เป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจเลย จะปฏิบัติได้อย่างไร และบางท่านก็บอกปฏิบัติเพื่อที่จะให้ถึงพระนิพพาน โดยที่ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย แล้ว จะถึงพระนิพพานได้อย่างไร ถ้าถามว่าพระนิพพานคืออะไร ก็ยังตอบไม่ได้ แต่คิดว่าถ้าไปนั่งสงบ เข้าใจว่าสงบ แล้วปัญญาก็จะเกิด แล้วก็จะรู้แจ้งนิพพานได้ นั่นก็เป็นเพราะเหตุว่า ไม่ได้เข้าใจว่า ปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นคืออย่างไร

ข้อความในอรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปฐมรูปารามสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า เจ้าลัทธิทั้งหมด มีความสำคัญว่า พวกเราจักบรรลุพระนิพพาน แต่พวกเขาย่อมไม่รู้แม้ว่า ชื่อว่านิพพาน คือสิ่งนี้ ซึ่งข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอจงรู้ธรรมที่รู้ได้ยาก คนพาลผู้หลงไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้ ความมืดย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่เห็นนิพพาน ย่อมมีแก่สัตบุรุษ เหมือนแสงสว่างย่อมมีแก่บุคคลผู้เห็น ชนทั้งหลายผู้แสวงหา ไม่ฉลาดในธรรม ถึงอยู่ใกล้ก็ไม่รู้แจ้งธรรมนี้ ผู้ที่ฟังพระธรรมเข้าใจแล้วก็ทราบได้ว่า ขณะนี้อะไรอยู่ใกล้ ที่จะรู้แจ้ง ที่จะประจักษ์ อริยสัจจธรรมกำลังเห็น ใกล้หรือไกล กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง กำลังได้ยินในขณะนี้ ใกล้หรือไกล กำลังคิดนึกในขณะนี้ใกล้หรือไกล เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้แจ้งธรรมที่อยู่ใกล้ คือ กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ ที่จักบรรลุพระนิพพานก็เป็นไปไม่ได้

ข้อความในอรรถกถาอธิบายต่อไปว่า ความมืดมนย่อมมีแก่ผู้ไม่เห็น เพราะถูกเครื่องกางกั้นคือ กิเลสหุ้มห่อ ร้อยรัดไว้ นี่ก็ไม่ใช่คนอื่นเลย..คือขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็คือความมืดมนย่อมมีแก่ผู้ไม่เห็น สภาพธรรมกำลังเกิดดับก็ไม่เห็น เพราะถูกเครื่องกางกั้น คือกิเลส ความไม่รู้ หุ้มห่อ ร้อยรัดไว้ เพราะฉะนั้น กว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎในขณะนี้ ก็ต้องอาศัยการฟัง และ ยังจะต้องเห็นโทษของความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วย ไม่ใช่เพียงแต่อยากจะถึงนิพพานหรือว่าอยากจะหมดกิเลส แต่ต้องรู้ว่าโทษของความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ทำให้ไม่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
umpai
วันที่ 26 ม.ค. 2556

การฟัง เป็นความดี

ความประพฤติมักน้อย เป็นความดี

การอยู่โดยไม่ห่วงใย เป็นความดีทุกเมื่อ

การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นความดี

การทำตามโอวาทโดยเคารพ เป็นความดี

กิจ มีการฟังเป็นต้นนี้เป็นเครื่องสงบของผู้ไม่มีกังวล

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 29 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธนัตถ์กานต์
วันที่ 29 ม.ค. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เข้าใจ
วันที่ 29 ม.ค. 2556

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิรมิต
วันที่ 11 มี.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 11 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 13 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
peem
วันที่ 12 มี.ค. 2563

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ