นิกายกัลยาณีสีมา
นิกายกัลยาณีสีมา คืออะไรครับ เผอิญได้สนทนากับท่านผู้รู้ท่านหนึ่งเรื่องธรรมยุตนิกาย เขาบอกว่า การก่อตั้งธรรมยุติไม่ใช่สังฆเภท แต่เป็นการสืบทอดมาจากนิกายกัลยาณีสีมาของมอญ
ผมจึงสงสัยว่า จริงหรือไม่ครับ แล้วทำไม สืบทอดมาจากนิกายกัลยาณีสีมาถึงไม่เรียกนิกายกัลยาณีสีมาในไทยครับ
ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
นิกายกัลยาณี มาจากสมัยกษัตริย์พม่า ได้เห็นพระภิกษุสงฆ์ของตน ไม่เคร่งครัด จึงได้ส่งไปบวชใหม่ ที่ประเทศศรีลังกา และ กลับมาที่ประเทศพม่า และ มีการบวชใหม่ทั้งหมด และ ประพฤติเคร่งครัดเหมาะสม ซึ่งภิกษุที่ไปบวชใหม่ ไปบวชที่ศรีลังกา ณ แม่น้ำ กัลยาณี จึงเรียกว่า นิกายกัลยาณีสีมา ครับ
พอในสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็มีการอุปสมบทในคณะสงฆ์รามัญของนิกายกัลยาณี ได้มีข้อวัตรปฏิบัติที่งาม จึงได้ตั้งนิกายธรรมยุต อันมีความหมายว่า ผู้ประกอบด้วยธรรมหรือชอบด้วยธรรม ซึ่งได้ชื่อในภายหลัง ครับ ดังนั้น ที่ไม่เรียกว่า นิกายกัลยาณี ดังแต่ก่อน เพราะแล้วแต่ชนรุ่นหลัง จะเห็นเหมาะสมว่าอย่างไร เพราะที่เรียกว่าธรรมยุต ด้วยเหตุว่า เพราะได้เห็นการประพฤติปฏฺบัติที่ดีงาม ประกอบด้วยธรรมของพระภิกษุ ผู้คนจึงตั้งชื่อใหม่ว่า ธรรมยุต ครับ
ในความเป็นจริงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เพราะเป็นสัจจะความจริงเช่น สภาพเห็นเป็นความจริงเป็นธรรม ไม่ว่าใคร บุคคลใด นิกายไหน การเห็นก็เป็นธรรม เปลี่ยนแปลง กุศล อกุศล เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสิ่งที่เป็นสัจจะไม่เปลี่ยนแปลง การแบ่งเป็นนิกาย เป็นลัทธิแสดงให้เห็นถึง ความเข้าใจผิดในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ศึกษาธรรม
ในปัจจุบัน ควรเป็นผู้ละเอียดด้วยการศึกษาธรรม ด้วยความเป็นผู้ตรงและละเอียดรอบคอบยึดพระธรรมเป็นสำคัญ ก็ย่อมสามารถเข้าถึงความจริง โดยไม่ได้แบ่งไปตามนิกายไหนเลย หากปัญญาเจริญ ความเห็นถูกเกิดขึ้น จะไม่มีการแบ่งนิกาย เพราะพระธรรมเป็นสัจจะ ความจริงหนึ่งเดียวครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ
ขอบพระคุณมากเลยครับ ได้ความรู้ดีจริงๆ ครับ
อนุโมทนาบุญกับธรรมทานด้วยนะครับ สาธุ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ ไม่ทราบว่าธรรมยุตนี้ ในสมัยนี้ มีการถือข้อวัตรอะไร แตกต่างจากเถรวาทปรกติอย่างไร หรือไม่ครับ? หรือเหมือนกัน และการแตกแยกนิกายกันนั้น ผู้ที่ตั้งต้นแตกแยกนิกายออกมา ชื่อว่าทำสังฆเภทหรือไม่อย่างไรครับ?
ขอบพระคุณครับ
เรียน ความเห็นที่ 3 ครับ
สำหรับธรรมยุตก็เป็นนิกายที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไข และ ประพฤติตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมา มีการประพฤติไม่ถูกต้อง จึงมีการศึกษาพระธรรม และ น้อมประพฤติปฏิบัติตาม ข้อที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ และ ไม่ทำข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ จึงกล่าวได้ว่า เป็นเถรวาท ที่ประพฤติตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ส่วนผู้ใดจะกล่าวว่าตนเป็น มหานิกาย หรือธรรมยุต ก็ไม่ได้อยู่ที่การกล่าวอ้าง ขึ้นอยู่กับความประพฤติของภิกษุแต่ละรูปเป็นสำคัญ ครับ
การที่แยกออกมาเป็นนิกาย ขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นสำคัญ หากเจตนาเพื่อให้พระศาสนาดรงอยู่อย่างถูกต้อง แยกออกมาจากคณะที่กลุ่มที่ประพฤติผิดไม่ตรงตามพระวินัย ก็ไม่ชื่อว่าสังฆเภท และ ไม่ได้มีเจตนาให้สงฆ์แตกกันแต่ประการใด แต่หากมีเจตนาให้สงฆ์แตกกัน โดยแยกออกมา อันนี้เป็นสังฆเภท ครับ
ขออนุโมทนา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใดเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา แล้วประทับนั่งบนอาสนที่ปูลาดไว้ ครั้นประทับนั่งแล้ว รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักหมั่นประชุมกันเนืองๆ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และจักพร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่สงฆ์พึงกระทำ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้แล้ว จักไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทาน ประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ตามที่ได้บัญญัติไว้แล้ว อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และ จักเชื่อฟัง ถ้อยคำของท่านเหล่านั้นอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่ลุอำนาจแก่ตัณหา อันจะก่อให้เกิดภพใหม่ ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๖. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้ยินดีในเสนาสนะป่า อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๗. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งสติไว้ในภายในว่า ไฉนหนอ เพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รักที่ยังมิได้มา พึงมาเถิด และที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นผาสุก ดังนี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด หมู่ภิกษุพึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกายมหาวรรค หน้าที่ ๖๘/๒๖๑ ข้อที่ ๗๐
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ตะโพน ชื่ออานกะของพวกกษัตริย์ผู้มีพระนามว่าทสารหะได้มีแล้ว เมื่อตะโพนแตก พวกทสารหะได้ตอกลิ่มอื่นลงไป สมัยต่อมาโครงเก่าของตะโพนชื่ออานกะก็หายไป ยังเหลือแต่โครงลิ่ม แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุในอนาคตกาล เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึกมีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรมอยู่ จักไม่ปรารถนาฟัง จักไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้ และ จักไม่สำคัญธรรมเหล่านั้นว่าควรเล่าเรียน ควรศึกษา แต่ว่าเมื่อเขากล่าวพระสูตรอันนักปราชญ์รจนาไว้ อันนักปราชญ์ร้อยกรองไว้ มีอักษรอันวิจิตร เป็นของภายนอก เป็นสาวกภาษิต (อรรถกถา) อยู่ จักปรารถนาฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเรียน ควรศึกษา ฯ
[๖๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระสูตรเหล่านั้น ที่ตถาคตกล่าวแล้วอันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรม จักอันตรธานฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้วอันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรมอยู่ พวกเราจักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้นว่า ควรเรียน ควรศึกษา ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๖พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค หน้าที่ ๒๗๐/๒๘๘ ข้อที่ ๖๗๓ - ๖๗๖
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระพุทธศาสนา เป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างแท้จริง เป็นการป้องกันความเห็นผิด เป็นการป้องกันการคิดธรรมเองเพราะพระองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้ว นั่นเอง ผู้ศึกษาจะต้องมีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษา คือ ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ พระพุทธศาสนาทำให้ผู้ศึกษาได้รับประโยชน์ทุกระดับขั้น ตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริย บุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสได้ ตามลำดับ ถ้ามีความจริงใจจริงๆ ก็จะต้องศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ พระธรรมเป็นประโยชน์ทุกกาลสมัย แต่จะเป็นประโยชน์เฉพาะสำหรับบุค คลผู้ที่เห็นประโยชน์ของความเข้าใจธรรม มีศรัทธาที่จะฟัง เท่านั้น ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่บุคคลนอกนี้ ซึ่งควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...