ความสงสัยเกี่ยวกับนามครับ

 
นิรมิต
วันที่  31 ม.ค. 2556
หมายเลข  22422
อ่าน  1,172

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

มีข้อสงสัยเกี่ยวกับนามอยากจะขอเรียนถาม 3 ข้อครับ

1. ลักษณะของโทสะ ไม่ใช่โทมนัสเวทนา ใช่ไหมครับ แล้วต่างกันด้วยลักษณะอย่างไร? เพราะตามที่เข้าใจ เวทนาก็เป็นเวทนา โทสะก็เป็นโทสะ เหมือนโลภะก็เป็นโลภะ เป็นลักษณะ ติดข้อง ต้องการ ไม่ละทิ้งอารมณ์ ส่วนโสมนัสกับอุเบกขาที่เกิดกับโลภะก็เป็นแค่เวทนา สุข กับ เฉยๆ แต่เพราะโทสะมีเวทนาเดียว และ โทมนัสเวทนานั้นนั่นแหละ มันบีบคั้นอยู่แล้ว เลยราวเสมือนกับว่า โทสะ และ โทมนัสเวทนา เป็นลักษณะอย่างเดียวกัน หรืออย่างไรครับ?

2. โทสะทั้งหมด เกิดเพราะโลภะเป็นปัจจัยใช่ไหม แล้วโทสะที่ไม่ได้เกิดเพราะไม่ได้สิ่งที่รักสิ่งที่ปรารถนา แต่เกิดขึ้นมาเองเมื่อประสบอารมณ์ที่ไม่ละเอียด ไม่ประณีต เช่นกลัวงู พอเห็นงูก็กลัวทันที อันนี้เพราะอะไรครับ เป็นเพราะโลภะที่เป็นอนุสัยกิเลส เป็นปัจจัยหรือเปล่า

3. เวลาเห็นอะไรแล้ว ชอบ หรือ ไม่ชอบ เมื่อดับไปแล้ว แม้ดับไปนานแล้ว ก็ยังมีการคิดนึก คิดถึง อารมณ์นั้นที่เคยเกิด แต่เคยได้ทราบว่า การคิดนึกถึง คิดถึงตรึกไปถึงอารมณ์อะไรๆ เป็นเพราะโลภะ ด้วยเพราะว่า ถ้าไม่ข้องในอารมณ์นั้นจะนึกถึงไหม แต่แม้กระนั้นก็ยังมีการนึกถึงอารมณ์ที่ไม่น่าข้อง ไม่น่าพอใจได้อยู่ และแม้พระอรหันต์ ก็ยังมีการนึกต่างๆ หรือแท้จริง การนึกถึงอารมณ์ต่างๆ เป็นลักษณะของวิตกเจตสิก ที่ตรึก ไปในสัญญาของอารมณ์ที่ดับไปแล้ว ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอะไร จะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ กุศล ปัญญา หรือแม้ลักษณะของรูปต่างๆ แต่เมื่อวิตกเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจ ตรึกไปในสัญญาของอารมณ์นั้นๆ ก็เกิดพร้อมกับโลภะ โทสะ โมหะ หรือกุศล หรือปัญญา หรือกิริยาของพระอรหันต์ ก็ได้ โดยการที่นึกถึงอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เพราะวิตกเจตสิกทำกิจตรึก ไม่ใช่ว่าโลภะทำกิจตรึก แต่เพราะโลภะเป็นเหตุได้ หรือ โทสะเป็นเหตุก็ได้ หรือโมหะ กุศล ปัญญา อื่นๆ ก็เป็นเหตุให้วิตกเกิดตรึกได้ ไม่ใช่เฉพาะโลภะเท่านั้น?แล้วจะพูดได้ไหมว่า สัญญาเจตสิก เป็นปัจจัยให้มีวิตกเจตสิก

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ลักษณะของโทสะ ไม่ใช่โทมนัสเวทนา ใช่ไหมครับ แล้วต่างกันด้วยลักษณะอย่างไร? เพราะตามที่เข้าใจ เวทนาก็เป็นเวทนา โทสะก็เป็นโทสะ เหมือนโลภะก็เป็นโลภะเป็นลักษณะ ติดข้อง ต้องการ ไม่ละทิ้งอารมณ์ ส่วนโสมนัสกับอุเบกขาที่เกิดกับโลภะก็เป็นแค่เวทนา สุขกับเฉยๆ แต่เพราะโทสะมีเวทนาเดียว และโทมนัสเวทนานั้นนั่นแหละมันบีบคั้นอยู่แล้ว เลยราวเสมือนกับว่า โทสะ และโทมนัสเวทนา เป็นลักษณะอย่างเดียวกัน หรืออย่างไรครับ?

โทสะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกที่มีลักษณะขุ่นเคืองใจ เช่น ขณะที่เกิดความโกรธ ก็มีลักษณะขุ่นเคืองใจในขณะนั้น แต่โทสะที่เกิดไม่ได้ทำหน้าที่รู้สึกไม่สบายใจ แต่เวทนา คือ ความรู้สึกที่เกิดร่วมด้วย คือ โทมนัสเวทนา เมื่อเกิดขึ้นทำหน้าที่รู้สึกไม่สบายใจ ไม่ได้ทำหน้าที่ ขุ่นเคืองใจในขณะนั้น ดังนั้น เราจะต้องแยกระหว่างความรู้สึกกับสภาพธรรมที่เป็นโทสะ ที่มีลักษณะขุ่นเคืองใจในขณะนั้น เพียงแต่ว่าที่ยังแยกไม่ได้เพราะเหตุว่า สภาพธรรมทั้งสองเกิดร่วมกัน คือ โทสเจตสิกเกิดร่วมกับเวทนาเจตสิกที่เป็นโทมนัสเวทนา จึงทำให้ปรากฎลักษณะสภาพธรรมทั้งสองอย่าง คือ ทั้งขุ่นเคืองใจและความรูัสึกไม่สบายใจในขณะจิตเดียว ซึ่งการจะแยกได้ก็ต้องเป็นปัญญาระดับสูง คือ เกิดสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมในแต่ละอย่าง ทั้งเวทนาเจตสิกและโทสเจตสิก จึงจะสามารถแยกความต่างกันของสภาพธรรมทั้งสองอย่างที่เกิดร่วมกัน พร้อมกันในขณะนั้นได้ ครับ

หากเราพิจารณาให้ละเอียด จะเห็นความจริงของสภาพธรรมทั้งสองอย่างว่าต่างกัน แม้เกิดร่วมกัน ขณะที่เสียใจมากๆ แสดงถึงลักษณะของ โทมนัสเวทนาที่รู้สึกไม่สบายใจมากๆ แต่ก็มีโทสะเจต สิกเกิดร่วมด้วย ที่เป็นลักษณะขุ่นเคืองใจ แต่ไม่ชัด มีกำลังเท่าโทมนัสเวทนา และในขณะที่เกิดความโกรธผู้อื่นมากๆ ลักษณะขุ่นเคืองใจมีกำลัง แต่ขณะนั้นก็มีเวทนาเจตสิกที่เป็นโทมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วยอยู่แล้ว ซึ่งขณะที่โกรธมากๆ ก็มีความรู้สึกไม่สบายใจในขณะนั้น ครับ

แต่อย่างไรก็ดี การจะแยกก็ต้องเป็นปัญญาระดับสูงขั้นสติปัฏฐานตามที่กล่าวมาข้างต้น ครับ

2. โทสะทั้งหมด เกิดเพราะโลภะเป็นปัจจัยใช่ไหม แล้วโทสะที่ไม่ได้เกิดเพราะไม่ได้สิ่งที่รักสิ่งที่ปราร ถนา แต่เกิดขึ้นมาเองเมื่อประสบอารมณ์ที่ไม่ละเอียด ไม่ประณีต เช่น กลัวงู พอเห็นงูก็กลัวทันที อันนี้เพราะอะไรครับ เป็นเพราะโลภะที่เป็นอนุสัยกิเลสเป็นปัจจัยหรือเปล่า

การเกิดขึ้นของสภาพธรรมอาศัยหลายๆ ปัจจัย แม้การเกิดขึ้นของโทสะ ก็มีปัจจัยหลายๆ ปัจจัยเช่นกัน ซึ่งแม้แต่การเกิดขึ้นของโทสะ ในการไม่ชอบสิ่งที่น่ากลัว ก็อาศัยปัจจัยหลายอย่าง แม้แต่โลภะก็เป็นปัจจัยในเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า หากไม่เคยติดข้องยินดีในสิ่งที่ดี ที่สวยงาม ก็จะไม่พอใจในสิ่งที่ไม่สวยงามเลย ดังนั้น เพราะ อาศัยโลภะที่เคยเกิดติดข้องในรูปที่ดี ในเสียงที่ดี เมื่อได้พบรูปที่ไม่ดี ไม่ประณีต ก็เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะได้ เพราะไม่ชอบในรูปที่ไม่ดี อันเกิดจากเคยติดข้องในรูปที่ดีมาก่อน โลภะจึงเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะได้ในเรื่องนี้ และอีกปัจจัยหนึ่ง ก็เพราะอาศัยกิเลสที่เป็นปฏิฆา นุสัย ที่เป็นโทสะเองที่เคยสะสมมา เมื่อเห็นรูปที่ไม่ดีก็เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะได้เป็นธรรมดา ครับ

3. เวลาเห็นอะไรแล้วชอบ หรือ ไม่ชอบ เมื่อดับไปแล้ว แม้ดับไปนานแล้ว ก็ยังมีการคิดนึก คิดถึงอารมณ์นั้นที่เคยเกิด แต่เคยได้ทราบว่า การคิดนึกถึง คิดถึง ตรึกไปถึงอารมณ์อะไรๆ เป็นเพราะโลภะ ด้วยเพราะว่า ถ้าไม่ข้องในอารมณ์นั้น จะนึกถึงไหม แต่แม้กระนั้นก็ยังมีการนึกถึงอารมณ์ที่ไม่น่าข้อง ไม่น่าพอใจได้อยู่ และแม้พระอรหันต์ก็ยังมีการนึกต่างๆ หรือแท้จริง การนึกถึงอารมณ์ต่างๆ เป็นลักษณะของวิตกเจตสิกที่ตรึกไปในสัญญาของอารมณ์ที่ดับไปแล้ว ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอะไร จะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ กุศล ปัญญา หรือแม้ลักษณะของรูปต่างๆ แต่เมื่อวิตกเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจตรึกไปในสัญญาของอารมณ์นั้นๆ ก็เกิดพร้อมกับโลภะ โทสะ โมหะ หรือกุศลหรือปัญญา หรือกิริยาของพระอรหันต์ก็ได้ โดยการที่นึกถึงอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เพราะวิตกเจตสิกทำกิจตรึก ไม่ใช่ว่าโลภะทำกิจตรึก แต่เพราะโลภะเป็นเหตุได้ หรือโทสะเป็นเหตุก็ได้ หรือโมหะ กุศล ปัญญา อื่นๆ ก็เป็นเหตุให้วิตกเกิดตรึกได้ ไม่ใช่เฉพาะโลภะเท่านั้น แล้วจะพูดได้ไหมว่า สัญญาเจตสิก เป็นปัจจัยให้มีวิตกเจตสิก

การนึกคิดอาศัยสภาพธรรมหลายๆ อย่างจึงเกิดขึ้น ซึ่งการนึกคิด นึกคิดด้วยกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ เพราะอาศัยวิตกเจตสิกที่เกิดขึ้น ทำให้คิดนึกเป็นไปในเรื่องต่างๆ ด้วยจิตที่ต่างๆ กัน ซึ่งหากได้อ่านในพระไตรปิฎก ก็จะแสดงว่า มีการนึกคิดทั้งที่เป็น กามวิตก วิหิงสาวิตก และ พยาปาทะวิตก ที่เป็นความคิดในฝ่ายไม่ดี และในฝ่ายที่ดีก็ตรงกันข้าม คือ เนกขัมมะวิตก อวิหิงสาวิตกและ อพยาปาทะวิตก อะไรที่ทำให้คิดต่างกัน นั่นคือ ตามการสะสมในฝ่ายดี และ ไม่ดีมาต่างกัน และที่สำคัญ ทำไมถึงคิดต่างกัน เพราะอาศัยสัญญาจำเรื่องราวมาต่างๆ กัน เพราะเห็นรูปที่ต่างกัน อย่างเช่น เราเห็นญาติคนนี้ เราก็คิดถึงญาติได้ แต่คนอื่นที่ไม่เคยเห็นญาติเราก็ไม่สามารถที่จะนึกถึงญาติเราได้ นี่แสดงถึง อาศัยสัญญาที่แตกต่างกันในการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้กระทบสัมผัสที่ต่างกัน การต่างกันโดยธาตุ คือ สัญญาธาตุทำให้มีความคิดนึก ที่เป็นวิตกเจตสิกต่างกันด้วย ซึ่งผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้วครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
นิรมิต
วันที่ 1 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 1 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแ่ด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ย่อมเป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้ สภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ย่อมไม่ปะปนกัน อย่างเช่น โทสะ กับ โทมนัสเวทนา ถึงแม้ว่าจะเกิดร่วมกันทุกครั้ง แต่ก็เป็นธรรมคนละประเภทกัน โทสะ เป็นความโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ มีลักษณะดุร้าย ส่วนโทมนัสเวทนา เป็นความรู้สึกหรือเสวยอารณ์ที่ไม่ดีเป็นลักษณะ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ถ้าจะพิจารณาจริงๆ แล้ว ก็เข้าใจได้ว่า ธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ เพราะยังมีพืชเชื่อของความโกรธ ของความไม่พอใจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา หรือ แม้กระทั่งอารมณ์ที่น่าปรารถนา ก็เกิดโทสะได้ เพราะสะสมานั่นเอง ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้ ก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา โทสะ ก็เกิด ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างแท้จริง

การตรึกนึกคิดของบุคคลแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ตามการสะสม ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะส่วนที่ไม่ดีเท่านั้น การตรึกนึกคิดในทางที่เป็นกุศล ที่ไม่เป็นไปกับด้วยโลภะ และ โทสะ ก็มี เพราะเคยเห็น เคยจำในสิ่งนั้นๆ ความตรึกนึกคิดก็เกิดขึ้นเป็นไป สำหรับผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล การตรึกนึกคิดของท่านก็เป็นไปด้วยมหากิริยาจิต ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่างทีเดียว แสดงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 1 ก.พ. 2556

โลภะ ความติดข้องในกามคุณ เป็นเหตุให้เกิดโทสะก็ได้ เป็นเหตุให้ล่วงศีลทางกาย ทางวาจาก็ได้ เช่น คนที่มีความรัก ผิดหวังจากคนรัก.บางคนก็ฆ่าตัวตาย หรือฆ่าคนอื่น เป็นต้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ธนัตถ์กานต์
วันที่ 3 ก.พ. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ