การอาฆาตแค้น

 
lovedhamma
วันที่  31 ม.ค. 2556
หมายเลข  22423
อ่าน  10,021

การอาฆาตแค้นเป็นบาปมั้ยครับ แล้วถ้าเรามีความโกรธแค้นตอนที่จะเสียชีวิตจะพาเราลงอบายภูมิ (นรก) จริงหรือไม่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 1 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การกระทำอะไรก็ตาม ที่จะเป็นบาปหรือไม่เป็นบาปนั้น ต้องพิจารณาว่า บาปคืออะไร? บาป คือ สภาพจิตที่เป็นอกุศล เป็นอกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่งาม ให้ผลเป็นทุกข์ ขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นขณะนั้นเป็นบาป อกุศลจิตที่เกิดขึ้นย่อมเป็นไปตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล ถ้าหากว่ามีการล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรม เบียดเบียนผู้อื่น เป็นอกุศลกรรมบถที่ครบองค์ ย่อมเป็นอกุศลที่มีกำลัง บาปย่อมมีแก่ผู้กระทำเท่านั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำ

เมื่อกล่าวโดยกว้างๆ แล้ว บาปโดยทั่วไป หมายถึง การกระทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น แต่บางขณะแม้ว่าจิตเป็นอกุศล ก็ไม่ใช้คำว่าทำบาป เช่น ความยินดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส ที่ดีที่น่าพอใจ เป็นอกุศลธรรมที่สะสม แต่ไม่ก่อให้เกิดวิบาก แต่เมื่อสะสมมากขึ้นๆ ก็เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมบถประการต่างๆ ได้ นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ตนเองโดยส่วนเดียวเท่านั้น

จากประเด็นคำถาม ควรที่จะได้เข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความอาฆาต ความไม่พอใจ ความโกรธ ความพยาบาท ความเคียดแค้น ความขุ่นใจ ก็เป็นสภาพความเป็นจริงของโทสะ ทั้งหมด ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แน่นอนว่าผู้ที่ยังไม่ใช่พระอนาคามี ยังต้องมีความโกรธ เพราะเหตุว่า ยังมีเชื้อของความโกรธที่ยังไม่ได้ดับอย่างเด็ดขาด, บางบุคคลเป็นผู้มีอัธยาศัยดี มีความประพฤติดี น่ารัก เกือบจะดูเหมือนว่าไม่เห็นโกรธ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อยังไม่ใช่พระอนาคา มีบุคคลต้องโกรธแน่ แม้ว่าจะไม่มาก เป็นเพียงความขุ่นใจ ไม่พอใจ เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งมีมากในชีวิตประจำวัน เวลาเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็ยากที่จะไม่เกิดความขุ่นใจ อย่างนี้ก็เป็นลักษณะของโทสะเช่นเดียวกัน

ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดก็จะเห็นได้ว่า เพียงแค่ขุ่นใจนิดเดียว ก็รู้สึกตัวได้ว่า นั่นคือลักษณะของความโกรธแล้ว แม้จะไม่มากถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตทั้งทางกายและทางวาจา

ขณะที่อกุศลจิตเกิด จะบอกว่าดีไม่ได้ ความจริงย่อมเป็นความจริง อกุศลย่อมไม่ดี ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องเป็นผู้มีความละเอียดและเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกคนที่ไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ยังต้องโกรธอยู่ โกรธแล้วก็ดับไป แต่ถ้าเพียงโกรธแล้วก็ดับไป ไม่คิดที่จะโกรธซ้ำอีก ก็ย่อมจะดีกว่าการผูกโกรธ ผูกอาฆาต ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ก็จะไม่เป็นความคิดโกรธแบบไม่จบ คิดอีกแล้วก็โกรธอีกจนกระทั่งไม่ลืม เวลาที่โกรธแล้วไม่ลืม สังขารขันธ์ก็จะปรุงแต่งต่อไปอีก ถึงกับเป็นความพยาบาท เป็นความแค้นเคืองที่คิดจะประทุษร้าย ปองร้ายผู้อื่น เป็นการกระทำบาป สร้างเหตุที่ไม่ดีกับตนเอง

ไม่มีใครรู้ได้ว่าความตายจะมาถึงตนเมื่อใด ควรสะสมอะไรไว้ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะไม่รู้ว่า จุติจิตจะเกิดเมื่อใด ถ้าอกุศลจิตเกิดก่อนตาย ย่อมเป็นผู้มีทุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า คือ เกิดในอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว

ดังนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงเตือนให้พุทธบริษัทหมั่นเจริญกุศลทุกประการ ให้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตประจำวัน แต่ละบุคคลมีเวลาเหลือน้อยเต็มทีแล้วที่จะอยู่ในโลกนี้ และที่สำคัญ โอกาสที่ได้เกิดเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนานั้นเป็นช่วงเวลาที่หาได้ยากอย่างยิ่ง จึงไม่ควรที่จะล่วงเลยขณะอันมีค่าเหล่านี้ไป ควรอย่างยิ่งที่จะได้สะสมความดี และฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ต่อไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อกุศลเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ซึ่งเราสามารถเรียกว่าบาปก็ได้ แต่อกุศลมีหลายระดับ บาปจึงมีหลายระดับด้วย บาปที่เพียงเกิดขึ้นในจิตใจแต่ไม่ล่วงออกมาทางกายวาจา ก็เป็นเพียงอกุศลจิต ไม่ได้ให้ผลของกรรมที่จะทำให้ตกนรก เป็นต้น แต่อกุศลจิตที่มีกำลังที่ล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา จนครบกรรมบถ เช่น อาฆาตแล้วก็ฆ่าผู้อื่น อาฆาตแล้วก็ลักขโมยของๆ เขา อันนี้เป็นบาปที่จะทำให้ตกนรกได้ ครับ เพราะเป็นอกุศลที่มีกำลัง แต่ถ้าพิจารณาให้ละเอียดลงไปในขณะที่ใกล้ตาย ที่เป็นชวนวิถีจิตสุดท้าย พระพุทธเจ้าตรัสว่า หากจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้ แสดงว่า ขณะจิตสุด ท้าย หากเกิดอกุศลจิต ก็สามารถทำให้เกิดในอบายภูมิได้ ครับ ที่เรียกว่า อาสัณณกรรม กรรมที่ใกล้ตาย แม้จะทำกุศลกรรมมามากในชาตินั้น แต่หากเกิดจิตเศร้าหมอง เกิดจิตอาฆาตที่เป็นโทสะในขณะจิตสุดท้าย ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิได้ เพราะเป็นปัจจัยให้อกุศลกรรมอื่นๆ มาให้ผล เนื่องด้วยจิตขณะสุดท้ายศร้าหมองด้วยอกุศล ครับ

เปรียบเหมือน โคแก่ที่อยู่หน้าประตูคอก เมื่อเปิดคอก ย่อมออกมาก่อน แม้ตนเองจะมีกำลังน้อย แต่ด้วยเหตุที่ตนอยู่ใกล้ปากประตูจึงได้ออกมาก่อน ครับ จิตเศร้าหมองขณะสุดท้ายที่เกิดขึ้น แม้มีกำลังไม่มาก เกิดอาฆาตในขณะจิตสุดท้าย แต่ก็เป็นปัจจัยให้ไปนรกได้ ครับ

ที่สำคัญธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย แม้แต่จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นต่อไป ก็ไม่มีใครรู้ได้ แม้แต่ตอนที่จะใกล้ตายก็เช่นกัน ไม่มีใครที่จะรู้ได้ และ ไม่มีใครจะบังคับจิตขณะสุดท้ายได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย เพียงแต่ว่า ปัจจุบันควรสะสมคุณความดี และ ปัญญาในชีวิตที่เหลือน้อย ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น ก็แล้วแต่ เพียงปัจจุบันทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำดีย่อมได้ผลดี แต่เมื่อไหร่นั้นไม่มีใครทราบ แต่สิ่งที่ได้แน่ๆ ในขณะนั้น คือ อุปนิสัยที่ดีงามที่จะทำดีต่อไป ไม่ว่าเกิดในชาติไหน และ สะสมปัญญาต่อไปจนถึงการดับกิเลสได้ในที่สุด พ้นจากความทุกข์ เพราะพ้นจากความตายครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 1 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 1 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เข้าใจ
วันที่ 3 ก.พ. 2556

อ่านตอบกระทู้จาก อ.คำปั่น อ.ผเดิม แล้วจิตน้อมไปในกุศลดีครับ กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 9 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 21 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ