สัตว์ในภพภูมิอื่นสามารถบรรลุเป็นเป็นพระอริยบุคคลได้หรือไม่
นอกจากภพภูมิมนุษย์แล้ว สัตว์ในภพภูมิอื่นสามารถปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับต่างๆ ได้หรือไม่ครับ เคยได้ยินว่าในภพภูมิสวรรค์ พรหม หรืออรูปพรหม ชั้นไหนไม่แน่ใจครับ! สามารถรอเพื่อบรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นต่างๆ ได้ครับ จริงหรือไม่ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สัตว์เหล่าใดที่สะสมปัญญา และ เกิดในภพภูมิที่สามารถบรรลุธรรมได้ คือ มนุษย์ เทวดา และ พรหม ก็สามารถบรรลุธรรมได้ เมื่อได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะมีปัญญาสะสมมา ซึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระธรรมให้กับเทวดา พรหม ได้บรรลุธรรมมากมาย เพราะสัตว์เหล่านั้นก็สะสมปัญญามา ครับ
ครั้งที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก ที่ป่าอิสิปัตนมฤคทายวัน ให้กับพระปัญจวัคคีย์ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุธรรมเป็นคนแรก แต่ก็มีผู้บรรลุตามในครั้งนั้นด้วยที่ฟังพระธรรมร่วมกัน คือ พรหมบุคคล จำนวนหนึ่งร้อยแปดสิบล้าน ก็บรรลุธรรม อันเป็นการแสดงว่า ผู้ใดที่สะสมปัญญามาและ เกิดในภพภูมิที่สามารถบรรลุธรรมได้ เมื่อได้ฟังพระธรรมก็ได้บรรลุธรรม
ครั้งเมื่อสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมหาสมัยสูตร อันเป็นการประชุมครั้งใหญ่ของเทวดา พระ พุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมจบ เทวดาที่มารับฟังพระธรรม บรรลุเป็นพระอรหันต์แสนโกฏิหรือล้านล้านองค์ ที่ได้บรรลุธรรมขั้นอื่น นับประมาณไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ภพภูมิอื่นก็สามารถบรรลุธรรมได้ หากได้สะสมปัญญา และ เกิดพร้อมด้วยมีปัญญา ไม่มีกรรมเป็นเครื่องกั้น เมื่อได้รับฟังพระธรรมก็บรรลุธรรม ครับ
ส่วนภพภูมิอื่นที่บรรลุธรรมไม่ได้ คือ อบายภูมิ 4 มี สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย และ พรหมที่เป็นอสัญญสัตตาพรหม และ อรูปพรหมที่ยังเป็นปุถุชนก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ครับ
ดังนั้น เมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์ ปัจจุบันมีพระธรรมอยู่ ก็ควรศึกษา อบรมปัญญา ปัญญาที่สะสมไปในแต่ละขณะ ย่อมเกื้อกูลต่อไปในอนาคต ที่เมื่อได้เกิดในภพภูมิอื่น มีเทวดา และพรหมก็สามารถอบรมปัญญา และบรรลุธรรมได้ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ตั้งแต่ตรัสรู้จนกระทั่งถึงปรินิพพาน ก็เพื่อให้พุทธบริษัทเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อจะได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อจะได้ ขัดเกลากิเลสอกุศลให้ลดน้อยลง จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคลได้, พระอริยบุคคล ตรงกันข้ามกับปุถุชนอย่างสิ้นเชิง สำหรับชีวิตของปุถุชน มีกิเลสมากมายนานาประการที่ยังไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย เพราะการที่จะดับกิเลสได้จริงๆ จะต้องเป็นการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล เท่านั้น จึงจะสามารถดับกิเลสได้
ดังนั้น สำหรับปุถุชนผู้ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลส อยู่ในโลกของความมืดมิด ด้วยอำนาจของอวิชชา มานานแสนนาน จึงควรอย่างยิ่งที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป เพื่อวันหนึ่งข้างหน้าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด การบรรลุธรรม จึงเป็นเรื่องของปัญญาอย่างแท้จริง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ในสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบ ภิกษุ คฤหัสน์ เทวดา และ พรหมได้บรรลุธรรมมากมาย ค่ะ
ขอเรียนถามครับ ... จากข้อความ พรหมที่เป็น อสัญญสัตตาพรหม และอรูปพรหมที่ยังเป็นปุถุชนก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ หมายถึงไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้ แม้ว่าเคยสั่งสมบารมีมามากแล้วก็ตามใช่ไหมครับ
ขอความละเอียดถึงจิตเจตสิก เช่นการไม่สามารถเกิดญาณต่างๆ ได้ หรือจิตไม่สามารถรับรู้เสียงได้หรือคิดนึกไม่ได้ หรือเพราะเหตุใดครับ...
เรียน ความเห็นที่ 7 ครับ
พรหมที่เป็นอสัญญสัตตาพรหม มีแต่รูปอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีนามเลย เมื่อมีแต่รูป ก็ไม่สามารถเกิดปัญญาได้ เพราะ ไม่สามารถเกิดนามธรรมที่เป็นจิต เจตสิก แม้จะเคยสะสมปัญญามาในอดีตชาติก็ตาม ครับ ส่วนพรหมที่เป็นอรูปพรหม มีแต่นาม ไม่มีรูป หากยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ไม่สามารถอบรมปัญญาจนบรรลุธรรมได้ เพราะ เมื่อไม่มีรูปให้รู้ ปัญญาก็ไม่สามารถรู้ทั่วได้ ครับ เพราะต้องรู้ทั่วทั้งนามและรูป ตามความเป็นจริง ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าทุกๆ พระองค์ด้วยเศียรเกล้า
อนุโมทนาทุกๆ ท่านครับ
พรหมสุทธาวาส จิตเป็นพระอริยะทั้งสิ้น
ขออนุโมทนา
ปุถุชนกับสังโยชน์เป็นสิ่งคู่กัน คำปุถุชนหมายถึงการเรียกบุคคลทั่วไปที่ยังมีกิเลสมีสังโยชน์เป็นเครื่องร้อยรัด แต่ปุถุชนก็มีหลายระดับ มีทั้งมามืดไปมืด มามืดไปสว่าง เป็นต้น
อสัญญีสัตตา มักเป็นจิตที่มีการยึดเวทนาเป็นอารมณ์ เมื่อเข้าสู่ภาวะพรหมด้วยอำนาจฌาณที่มีอยู่เพราะเหตุที่จิตยึดเอาภาวะ"ไร้สัญญา"เป็นอารมณ์จึงปฏิสนธิในภพนี้ สิ่งที่ต่างกันระหว่างสุทธาวาสกับอสัญญีสัตตาก็คือ"การหน่วงพระนิพพานเป็นอารมณ์"
ขออนุโมทนา