การทำใจคืออะไร ?

 
Pure.
วันที่  6 ก.พ. 2556
หมายเลข  22449
อ่าน  3,320

ทำไมนักการเมืองถึงตีบทแตกยิ่งกว่าดารา จึงทำให้ชาวบ้านต้องทำใจ ต้องการคำอธิบายนักการเมือง? โดยธรรมะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในชีวิตประจำวัน คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคลเลย ดังนั้น ทำใจ คือ อะไร ในสัจจะความจริง คือ ใจที่ทำหน้าที่ คือ จิตที่เกิดทำหน้าที่ เป็นสภาพรู้ และ มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งมีเจตสิกเกิดขึ้นหลายๆ ประเภท ดังนั้นจึงเป็นสภาพธรรมที่ทำหน้าที่ ใจทำหน้าที่ เจตสิกทำหน้าที่ ไม่มีเราทำใจ มีแต่ใจที่ทำ เจตสิกที่ทำ สภาพธรรมที่ทำหน้าที่ ครับ

แต่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตก็มีหลากหลายประเภท ทำให้จิตที่เกิดขึ้นมีหลายประเภท จิตที่ดี ก็เพราะมีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย จิตที่ไมดี เช่น อกุศลจิต มีโลภะ โทสะ โมหะ ก็เพราะมีเจตสิกที่ไม่ดี คือ อกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ดังนั้น การทำใจตามที่เราเข้าใจกัน ในภาษาชาวบ้าน คือ ยอมรับเหตุการณ์นั้นโดยไม่คัดค้านอะไร ต้องทำใจ ซึ่งทำใจด้วยอกุศล อันนี้ตามความหมายของคนทั่วไป เข้าใจกันว่า ทำใจคืออะไร

แต่ในทางธรรม ทำใจ ตามที่กล่าวแล้ว คือ ธรรมทำหน้าที่ ใจที่ทำหน้าที่ เจตสิกทำหน้าที่ และจิต เจตสิกมีหลากหลาย มีทั้งจิตที่ดี จิตไม่ดี เจตสิกที่ดี เจตสิกที่ไม่ดี

ดังนั้น การทำใจก็คือ ใจที่เกิดขึ้นพร้อมเจตสิก การทำใจจึงกล่าวได้ว่า เป็นกุศลจิต อกุศลจิต ที่เกิดขึ้น คือ ทำใจ ดังนั้น จะทำใจด้วยจิตที่เป็นอกุศล หรือ จะทำใจด้วยจิตที่เป็นกุศล

สัตว์โลกที่เกิดมา ก็ยังเป็นผู้หนาด้วยกิเลส ที่ยังเป็นปุถุชน จึงเป็นธรรมดาเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็ สามารถเกิดกิเลสประการต่างๆ ได้เป็นธรรมดา ทั้งอิจฉา ริษยา มายา ที่เป็นความหลอกลวง และกิเลสอื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ที่ดีและไม่ดีในชีวิตประจำวัน จึงไม่มีใคร ไม่มีนักการเมืองที่หลอกลวง ที่เกิดอกุศลจิต แต่เป็นจิต เจตสิกที่เกิดขึ้น เป็นอกุศลจิต ไม่มีเรา ไม่มีใครอยู่ในอกุศลจิตนั้น เป็นไปตามการสะสม ดังนั้น การทำใจ เมื่อพบเห็นอกุศลของผู้อื่น ก็ทำใจด้วย อกุศลจิต และ กุศลจิต

การทำใจด้วยอกุศลจิต คือ เกิดความไม่ชอบในอกุศลจิตของผู้อื่น เพราะไม่เข้าใจความจริง แต่ ไม่สามารถจะทำอะไรได้ ก็ทำใจ แต่ก็เกิดอกุศลจิตไม่ชอบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

การทำใจด้วยกุศลจิต คือ เข้าใจความจริงด้วยปัญญา โดยการพิจารณาถูกต้อง โดยนัยต่างๆ โดยการเห็นความเป็นผู้น่าสงสารที่ผู้นั้นทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ควรเห็นใจ สงสารบุคคลนั้นที่ทำอกุ ศล เพราะเขาจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น บางทีเราเห็นคนที่ถูกทำร้าย ว่าร้าย หรือ บาดเจ็บ เราก็สงสารคนนั้น แต่ลืมไปว่า เขาทำเหตุที่ไม่ดี จึงต้องทำอย่างนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะสงสารในขณะที่บุคคลนั้นทำบาป แทนที่จะสงสารตอนที่ได้รับผลของกรรม นี่ก็เป็นการพิจารณาที่ถูกต้อง เกิดกุศลจิต เมตตา สงสาร ในขณะที่ผู้อื่นทำอกุศล หรือ รับรู้ว่าเขาทำอกุศลอยู่ ก็เป็นการทำใจ ใจที่ทำหน้า ที่ด้วยกุศลจิต

อีกประการหนึ่ง ความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็เป็นเพียงอกุศลจิต ไม่มีใคร ไม่มีสัตว์บุคคล ที่หลอกลวงเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นไป ดังนั้น จะโกรธใคร ไม่ชอบใคร และ จะโกรธ เกลียดสภาพธรรมที่ไม่ดี ที่เป็นแต่เพียงสภาพธรรมได้อย่างไร เพราะ มีเพียงแต่ธาตุ ธรรมเท่านั้น ก็เป็นการทำใจ คือ ใจที่ทำหน้าที่ด้วยการคิดที่ถูก ที่เป็นกุศลจิตประกอบด้วยปัญญา

อกุศลของคนอื่น ก็เป็นธรรมดา ที่จะต้องเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย แม้แต่ตนเอง ที่ยังไม่ได้ดับกิเลส ก็มีอกุศลที่เกิดได้เช่นเดียวกัน ไม่ต่างกัน เสมอกันโดยธรรม ดังนั้น แทนที่จะทำใจด้วยอกุศล ที่ไม่ชอบ แต่ทำอะไรไม่ได้ ก็กลับมาพิจารณาว่า แม้ขณะที่อกุศลจิตของตนเองเกิด ทำใจกับอกุศลจิตของตน เองไหม ที่จะเห็นโทษของอกุศลจิตของตนเอง และ ขัดเกลากิเลสที่เกิดขึ้นของตนเองเป็นสำคัญ การพิจารณาด้วยความเห็นถูก จะขัดเกลากิเลสตนเอง ที่จะต้องเกิดกิเลสดังเช่นคนอื่น ก็จะได้รับประโยชน์ เพราะจะนำมาซึ่งการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเพิ่มขึ้น ก็เป็นการทำใจ ใจที่ทำหน้าที่ด้วยกุศลจิต ประโยชน์ คือ การเจริญขึ้นของกุศลธรรมของตนเองเป็นสำคัญ ครับ

การทำใจด้วยกุศลจิตอีกประการหนึ่ง คือ การเห็นอกุศลของผู้อื่น เพื่อน้อมเข้ามาในตนว่า ตนเองก็ยังมี และ ขัดเกลากิเลสตนเองเป็นสำคัญ และ มองหาคุณความดีของบุคคลนั้น แม้เพียงเล็กน้อยก็ควรชื่นชม ก็เกิดกุศลจิต แทน อกุศลจิตที่จะไม่ชอบในอกุศลจิตของผู้อื่น ครับ

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น และเกิดใจที่ทำหรือทำใจด้วยกุศลบ่อยขึ้น เมื่อพบเจอเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน แม้แต่เมื่อเห็นอกุศลของผู้อื่น ก็เข้าใจความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมและเป็นธรรมดา และหันกลับมาขัดเกลากิเลสตนเอง การทำใจด้วยกุศล จึงต้องเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลและปัญญาด้วยการศึกษาพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 6 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรที่จะได้พิจารณาว่า “เราไม่ได้ตกนรกเพราะความไม่ดีของคนอื่น แต่เราจะตกนรกเพราะความไม่ดีของเราเอง” ไม่มีประโยชน์ที่เดือดร้อนไปกับอกุศลของคนอื่น เป็นความจริงที่ว่า แต่ละบุคคลมีการสะสมมาที่แตกต่างกัน ความคิด การกระทำ และคำพูด จึงแตกต่างกันออกไปตามการสะสม มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคลเลย มีแต่ความเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ นาม ธรรม กับ รูปรรม เท่านั้น ถ้ามีการไตร่ตรองพิจารณา เข้าใจในเหตุในผลของธรรมจริงๆ ก็จะมีความเข้าใจ มีความเห็นใจ แล้วมีเมตตาในบุคคลนั้นๆ ซึ่งประพฤติไม่ดีได้ แทนที่จะรีบโกรธ แทนที่จะรีบไม่พอใจอย่างรุนแรง ก็ควรที่จะคิดพิจารณาว่า การที่บุคคลเหล่านั้น เป็นผู้มีพฤติกรรมที่ไม่ดีอย่างนั้นได้ ต้องมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น เมื่อเขาเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็ควรที่จะเข้าใจเห็น ใจ ถึงการสะสมของแต่ละบุคคล ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าความโกรธ ความไม่พอใจ เป็นแน่ แต่ถ้าโกรธขึ้นมาคราใด ก็ขอให้ทราบว่า ไม่เข้าใจคนเหล่านั้นและไม่เห็นใจเขาด้วย จึงได้โกรธเขา และไม่ควรลืมกิจของตน ก็คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมกุศลต่อไป เพราะฉะนั้น พระธรรมจึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับทุกกาลสมัยอย่างแท้จริง และจะเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลผู้น้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ เท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 6 ก.พ. 2556

อกุศลของใครก็ของคนนั้น ไม่ก้าวก่ายอกุศลของคนอื่น ไม่ว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด การทำใจ คือ การยอมรับกับความจริงที่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามกรรม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 7 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นิรมิต
วันที่ 8 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 9 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"บุคคลทั่วไปมักจะสงสารบุคคลที่ได้รับอกุศลวิบากแล้ว (ผล) แต่บุคคลที่ศึกษาพระธรรมควรที่จะมีเมตตากับบุคคลที่กำลังทำอกุศลกรรมอยู่ (เหตุ) "เหตุย่อมสมควรแก่ผล"

"บุคคลที่กระทำกรรมไม่ดี (เหตุ) ก็ควรที่จะเมตตากับบุคคลนั้นให้มาก"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nopwong
วันที่ 9 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนา

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Pure.
วันที่ 10 ก.พ. 2556

ขอบพระคุณอาจารย์ พร้อมทั้งอนุโมทนาบุญด้วยครับ แม้แต่นักการเมืองปัญญาชน คนของชาติก็ยังไม่รับรู้ด้วยใจของตนเอง เฮอ ! กรรมของชาติ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
orawan.c
วันที่ 12 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ