ฌาน
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ฌานคือสภาพธรรมที่เพ่ง หรือ เผา ธรรมฝ่ายตรงกันข้าม ดังนั้นฌานจึงมีทั้งที่เป็นฝ่ายกุศล ที่เป็นการเพ่งหรือเผาธรรมที่เป็นข้าศึกคือกิเลสในขณะนั้นที่เป็นนิวรณ์ เป็นต้น โดยนัยตรงกันข้าม ฌานที่เป็นอกุศลก็มี ซึ่งขณะนั้นก็เผากุศลคุณความดี เพราะเป็นอกุศลในขณะนั้น ครับ ดังนั้นธรรมเป็นเรื่องละเอียด เมื่อไม่ศึกษา หรือฟังให้เข้าใจ ก็สำคัญสิ่งที่ทำ คิดว่าเป็นฌานแล้วจะต้องเป็นกุศล ซึ่งไม่เสมอไปหากเริ่มจากความเข้าใจผิดครับ ส่วนคำว่า องค์ฌาน หมายถึง สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงฌาน ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ที่เป็น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น นั่นก็คือ ฌานจิต ฌานจิตเป็นจิตที่ดีงาม เป็นทั้งกุศลจิต ที่เป็นโลกิยกุศลจิต และ โลกุตตระกุศลจิต และ กิริยาจิตที่เกิดกับพระอรหันต์ ดังนั้น ฌานจิต ก็ต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยในฌานจิตที่ประกอบเป็นฌานจิต เจตสิกที่เกิดนั้น เรียกว่าองค์ฌาน ซึ่งฌานจิตที่เป็นกุศลจิตที่เป็นโลกิยฌาน หมายถึง ฌานจิตที่ไม่ได้มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ แต่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ในขณะนั้น เรียกว่า โลกิยฌาน ซึ่งปฐมฌานที่เป็นโลกิยฌาน มี วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัตคตา เป็นองค์ฌานของปฐมฌานที่เป็นโลกิยฌาน ส่วนโลกุตตรฌาน คือ ฌานจิตที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะคำว่า โลกุตตระ คือ เหนือโลก
โลกคืออะไร โลก คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ คือ จิต เจตสิก ดังนั้น โลกุตตรฌานจะต้องมีสภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ คือ เว้นจาก จิต เจตสิก นั่นคือ พระนิพพานเป็นอารมณ์ จึงเรียกว่า โลกุตตรฌาน ซึ่งองค์ธรรมของฌานที่เป็นโลกิยกุศลฌาน และ โลกุตตรฌานเหมือนกัน ในฌานที่ระดับเดียวกัน เช่น ระดับปฐมฌานเหมือนกัน ต่างก็มีเจตสิกที่เป็นองค์ฌานเหมือนกัน คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา แต่ต่างกันที่อารมณ์ต่างกัน คือ โลกิยฌานที่เป็นกุศลฌาน มีสภาพธรรมที่เป็นบัญญัติเป็นอารมณ์เป็นต้น ส่วนโลกุตตรฌาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ครับ ขออธิบายเพิ่มเติม ฌาน ที่เป็นสภาพธรรมที่เผา เผาสภาพธรรมที่ตรงกันข้าม ซึ่งฌานก็มีฌานที่เป็นอกุศลฌานด้วย ก็มีองค์ฌานของอกุศลด้วย ก็คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตาเจตสิก เช่นเดียวกัน เหมือนกันกับกุศลฌานและโลกุตตรฌาน แต่ต่างกันตรงที่สภาพจิตที่ต่างกัน คือ เป็นอกุศลจิต และ การเผาก็เผากุศลไม่ให้เกิด แต่เกิดอกุศลแทน ครับ
พระธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียด แม้แต่เรื่องฌาน เพราะอธิบายโดยนัยต่างๆ ครับ ซึ่งโลกียฌานที่เป็นกุศลฌานก็เปรียบเหมือนก้อนหินทับหญ้า หญ้าก็ไม่งอกขึ้นแต่ไม่ตายตราบเท่าที่ก้อนหินทับอยู่ การเจริญสมถภาวนาที่ได้ฌานก็เช่นกัน สงบจากกิเลส ตราบเท่าที่อยู่ในฌาน แต่เชื้อของกิเลสไม่สามารถดับได้ เพราะไม่ใช่หนทางดับกิเลสครับ พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงที่เป็นอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นการเจริญสติปัฏฐาน 4 ที่เป็นการเจริญวิปัสสนา ซึ่งหนทางในการดับกิเลส คือ การระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เห็นถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ดังนั้นเป็นการเห็นลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่สมถภาวนาที่เป็นฌานในขณะนั้น เพ่งอารมณ์ ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตาของสภาพธรรมครับ ดังนั้นการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น ที่เป็นสติปัฏฐานเป็นหนทางในการดับกิเลส ครับ
ขออนุโมทนา
แสดงว่าฌานจิตก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ ผมเคยเข้าใจว่ามีเพียงมรรคจิต ผลจิต และกามาวจรมหากุศลกับมหากิริยาเท่านั้นที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ขอบพระคุณครับ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ ในส่วนของอกุศลฌาณ ไม่ทราบว่า มีชวนวิถีกี่ขณะครับ? แล้ว เป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต ที่เป็นอกุศลฌาณครับ
ขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึงอย่างยิ่ง ทั้งโลกิยฌาน และ โลกุตตรฌาน, ถ้ามีการอบรมเจริญเพียงสมถภาวนา ไม่สามารถดับกิเลสได้ เพียงสามารถข่มกิเลสไว้ด้วยความสงบแห่งจิตเท่านั้น และผลของสมถภาวนา คือ การเกิดในพรหมโลก ยังไม่พ้นจากทุกข์ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป แต่ถ้ามีการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมสามารถถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้น ทำให้พ้นจากทุกข์ได้ในที่สุด แม้จะไม่ได้มีการอบรมเจริญฌานก็ตาม ที่กล่าวถึงโลกุตตรฌานจึงมุุ่งหมายถึงเฉพาะผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยที่มีการอบรมเจริญฌานด้วย เมื่อโลกุตตรจิตขั้นใด เกิดขึ้นพร้อมกับองค์ของฌานขั้นใด โดยมีฌานขั้นนั้นเป็นบาท ก็เป็นมัคคจิตและผลจิตที่เป็นโลกุตตรฌานขั้นนั้นๆ
แต่ถ้ากล่าวถึงอกุศลฌานแล้ว ย่อมไม่พ้นไปจากอกุศลทุกประการที่เกิดขึ้นเป็นไป ขณะที่อกุศลเกิดขึ้นเป็นไป ก็เผากุศล ทำให้กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้ เพราะองค์ธรรมที่เป็นองค์ฌาน ได้ แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ซึ่งเจตสิกเหล่านี้เกิดกับอกุศลจิต ก็ได้ เมื่อเกิดกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศล เป็นอกุศลฌาน เผาธรรมที่ตรงกันข้ามกัน คือ ไม่ทำให้กุศลธรรม เกิดขึ้นเป็นไป ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ตามที่คุณ gboy ได้เขียนในความเห็นที่ 2 ขออนุญาตแสดงความเห็นดังนี้ครับ
โลกุตตรฌาน ได้แก่ มรรคจิต 4 ผลจิต 4
ส่วนจิตที่สามารถมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้มีทั้งสิ้น 19 ดวง ได้แก่
1. มรรคจิต 4 ดวง (มีพระนิพพานเป็นอารมณ์โดยแน่นอน)
2. ผลจิต 4 ดวง (มีพระนิพพานเป็นอารมณ์โดยแน่นอน)
3. มหากุศล ญาณสัมปยุตตจิต 4 ดวง (ที่เกิดขึ้นในสันดานของอริยบุคคลเบื้องต่ำ 3)
4. มหากิริยา ญาณสัมปยุตตจิต 4 ดวง (ที่เกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์)
5. รูปาวจรปัญจมฌานกุศลอภิญญาจิต 1 ดวง (ที่เกิดขึ้นในสันดานของอริยบุคคลเบื้องต่ำ 3)
6. รูปาวจรปัญจมฌานกิริยาอภิญญาจิต 1 ดวง (ที่เกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์)
7. มโนทวาราวัชชนจิต 1 ดวง (ที่เกิดขึ้นในสันดานของพระอริยบุคคล โดยเป็นจิตดวงแรกในวิถีเดียว กันกับจิตที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ตามสมควร; เว้นจิตในข้อที่ 1 มรรคจิต เนื่องจากมโนทวาราวัชชนจิตในมรรควิถีจะมีพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์)
ดังนั้น ฌานจิตที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้ หากจะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่แล้วคือ
1. โลกุตตรฌาน ได้แก่ มรรคจิต 4 และ ผลจิต 4
2. โลกิยฌาน ได้แก่ รูปาวจรปัญจมฌานกุศลอภิญญาจิต 1 ดวงและ รูปาวจรปัญจมฌานกิริยาอภิญญาจิต 1 ดวง
ขอบพระคุณและอนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ 4 ครับ
สำหรับชวนวิถี ต้อง 7 ขณะเสมอ สำหรับขณะที่เป็นอกุศลจิต ที่ไม่ใช่ขณะที่สลบ ที่มี 6 ขณะ และ ไม่ใช่ ขณะที่เป็นชวนจิตสุดท้ายก่อนตายที่มี 5 ขณะ ซึ่งสำหรับขณะที่เป็นอกุศลฌาน คือ ขณะที่กำลังจดจ้องต้องการในขณะนั้น เพ่งในสภาพธรรมด้วยโลภะ จึงเป็นอกุศลฌานที่เป็นโลภมูลจิต ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา