จิตเกิดดับ ไม่มี จริงไหมครับ
จิตเกิดดับ...ตามความหมายของอภิธรรม...หมายเอาอาการ
จิต..จิตประภัสสร..ล้วนเป็นสมมติบัญญัติ...ก็แล้วแต่ใครจะเอาบัญญัตินี้ไปแทนสภาวะตรงช่วงไหน...
"จิตอันนั้นที่มันรู้การเกิดดับ
แต่ว่ามันไม่ได้เกิดได้ดับกับเค้า. ..
มันเห็นความเกิดดับของสิ่งทั้งปวง
แต่ตัวมันเองไม่มีการเกิดดับ"
จิตไม่เกิดไม่ดับ...จิตในความหมายคือผู้รู้
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตร่วมสนทนาในประเด็นนี้ สำหรับข้อความที่สหายธรรมยกมานั้น ในเรื่องของจิต พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงจะต้องสอดคล้องกันทั้ง 3 ปิฎก ไม่เปลี่ยนแปลงเลย เพราะพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นสัจจะความจริง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เมื่อกล่าวถึงคำว่าจิต หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ และจิตเป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือ จะต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นๆ คือ เจตสิก จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิต จึงเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป มีเมื่อเกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดย่อมไม่มี เมื่อมีแล้ว ก็จะต้องเสื่อมและดับไปเป็นธรรมดา ครับ
จากคำกล่าวที่ว่า
"จิตอันนั้นที่มันรู้การเกิดดับ
แต่ว่ามันไม่ได้เกิดได้ดับกับเค้า. ..
มันเห็นความเกิดดับของสิ่งทั้งปวง
แต่ตัวมันเองไม่มีการเกิดดับ"
การรู้การเกิดดับไม่ใช่จิตที่รู้ความจริง แต่เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ที่เป็นอโมหเจตสิก ที่เป็นปัญญที่รู้การเกิดดับ จิตทำหน้าที่รู้อารมณ์ของสภาพธรรมนั้นเท่านั้น ที่กำลังเป็นอารมณ์อยู่ และ จิต ก็จะต้องเกิดดับ หากไม่เกิดดับก็จะไม่มีจิตอื่นๆ เกิดต่อได้เลย เพราะในความเป็นจริง ในชีวิตประจำวัน ก็คือ การเกิดขึ้นเป็นไปของจิตเจตสิกหลายๆ ประเภทมากมาย ทำให้มีการดำเนินชีวิตประจำวันต่างๆ สิ่งที่ไม่เกิดดับ คือ สภาพธรรมที่เป็นพระนิพพานครับ ดังนั้นจิตเกิดดับด้วย และ จิตก็เป็นสภาพรู้ด้วย ครับ
ดังนั้น ความเห็นว่า จิตไม่เกิดดับ จิตเที่ยง จึงเป็นความเห็นผิดประการหนึ่ง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง สำคัญว่า จิต คือ วิญญาณเที่ยง ยั่งยืน ครับ ขอยกข้อความที่แสดงถึงความเห็นผิดดังนี้
[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 28
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางพวกในโลกนี้ เป็นนักตรึก เป็นนักตรอง กล่าวแสดงปฏิภาณของตนตามที่ตรึกได้ ตามที่ตรองได้อย่างนี้ว่า สิ่งที่เรียกว่าตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี นี้ชื่อว่าอัตตา เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา. ส่วนสิ่งที่เรียกว่าจิต หรือ ใจ หรือ วิญญาณ นี้ชื่อว่าอัตตา เป็นของเที่ยง ยั่งยืน คงทน มีความไม่แปร ปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปอย่างนั้นทีเดียว. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะที่ ๔ ที่สมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้ว จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง.
--------------------------------------------------------
ดังนั้น การพิจารณาธรรมที่จะต้องสอดคล้องทั้ง 3 ปิฎก คือ เป็นผู้ละเอียดที่จะศึกษา ไม่ขัดแย้ง โดยการเข้าใจเหตุผลว่า สภาพธรรมที่เกิดดับ เกิดดับเพราะอะไร และสภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ เพราะอะไร ดังนั้นเมื่อเข้าใจดังนี้ จิต มีขึ้นได้ ก็แสดงว่าจะต้องเกิด ถ้าปรากฎขึ้นก็จะต้องเกิด หากไมปรากฎก็ไม่เกิด เพราฉะนั้น ขณะนี้กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นใคร แต่ในความเป็นจริง คือ เป็นจิต เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้น เมื่อกำลังเกิดอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็แสดงว่าจะต้องเกิด เมื่อเกิดก็ต้องดับไป แสดงว่า ไม่เที่ยง แต่ไม่ใช่ไม่เกิดไม่ดับ ครับ สาระที่ได้ จากการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ คือ ความเห็นถูก เข้าใจตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยและทีละขณะด้วย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่มีจิตเกิดพร้อมกันสองสามขณะ และจิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงไม่ยืนยืน ไม่มีจิตแม้แต่ขณะเดียวที่เกิดแล้วไม่ดับ เกิดแล้วต้องดับไปเป็นธรรมดา ทั้งนั้น
การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลอย่างแท้จริง ทำให้เข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้นว่า ทุกขณะมีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลไม่ได้เลยทีเดียว และหนทางที่จะเป็นไปเพื่อดับทุกข์ดับกิเลส จนกระทั่งไม่มีจิต ตลอดจนถึงสภาพธรรมอื่นๆ เกิดอีกเลย ก็คือการอบรมเจริญปัญญา ครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ...
จิตเกิดดับอยู่แล้วทุกขณะ ไม่เที่ยง ไม่มีจิตดวงไหนเกิดแล้วไม่ดับ แม้แต่จิตของพระอรหันต์ ก็ยังเกิดดับ จนจุติเกิดแล้วดับไป ก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดอีกค่ะ