พุทธพาณิชย์ กับ ธรรมพาณิชย์ ?...

 
Pure.
วันที่  16 ก.พ. 2556
หมายเลข  22496
อ่าน  2,106

ทำไม ณ ปัจจุบันพระ ไม่ว่าพระผู้ใหญ่หรือพระวัดบ้านนอกธรรมดาๆ ก็มุ่งแต่สิ่งก่อสร้างกันเป็นส่วนมาก และนำวัตถุก่อสร้างเหล่านั้นมาโอ้อวดในระหว่างกัน? สิ่งก่อสร้างย่อมใช้เงินเป็นจำนวนมากๆ ดังนั้นพระเหล่านั้นจึงมีวิธีการหาเงินมาใช้โดยวิธีที่แตกต่างกันในเชิงพุทธพาณิชย์ ผิดหรือไม่อย่างไร? ไปเห็นวัดใหญ่น้อยมาก็หลายที่ พูดตามตรงเสียดายเงินในสิ่งก่อสร้างไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ทำไว้เพื่อตัวกูหรือไร? พระที่มีชีวิตเป็นอยู่โดยธรรม และ แสดงธรรมต่อประชาชน พร้อมได้รับปัจจัยจากประชาชนนั้นมีอยู่มากหรือน้อยถ้าเปรียบกับพุทธพาณิชย์? อาจารย์ลองวิเคราะห์สังคมของพระภิกษุในปัจจุบันให้เป็นธรรมทานหน่อยครับ? อนุโมทนาขอบคุณครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 16 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บรรพชิตจริงๆ คือ ผู้สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติพร้อมทั้งวงศาคณาญาติ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ข้อความตอนหนึ่งที่ท่านอาจาย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวไว้ น่าพิจารณาทีเดียวว่า

พระคุณเจ้า คือ เพศบรรพชิต คงไม่มีใครเรียกคฤหัสถ์ว่าพระคุณเจ้า, คฤหัสถ์ย่อมกราบไหว้ในคุณความดีของบรรพชิตที่มีศรัทธาสละอาคารบ้านเรือนออกบวช ซึ่งเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย ขัดเกลากิเลส แต่ถ้าบรรพชิตไม่มีคุณความดี คฤหัสถ์ก็คงจะกราบเพียงผ้ากาสาวพัสตร์ ระลึกถึงพระภิกษุสาวกในอดีต มีพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น

อ้างอิงจาก ...ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๗๖

เพราะไม่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ คล้อยไปตามกิเลส ไม่เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส เป็นผู้ประมาทมัวเมา ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้กระทำในสิ่งผิดๆ ไม่ถูกต้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศใดก็ตาม เมื่อเห็นความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของผู้อื่น ก็ต้องย้อนกลับมาที่ตัวเองว่า ตัวเองยังมีส่วนที่ไม่ดีอีกมากเหมือนกันที่จะได้ขัดเกลา ซึ่งจะต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ก็จะไม่สามารถรู้ตัวเองได้ว่ามากไปด้วยกิเลสอกุศลมากเพียงใด

กุศลเป็นกุศล ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตาม และโดยปกติก็เกิดขึ้นบ่อยมากในชีวิตประจำวัน ตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล, บุคคลที่เป็นคนไม่ดี ทำในสิ่งที่ไม่ดีมากมาย ก็เพราะเขาสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น เมื่อเสพคุ้นกับความไม่ดีมากขึ้นๆ ย่อมมีโอกาสที่จะคล้อยตามในสิ่งที่ไม่ดีได้มาก สัตว์โลกมีกรรมเป็นของตน เป็นไปตามการสะสม ใครทำกรรมอะไรไว้ ก็ย่อมจะได้รับผลของกรรมนั้น เมื่อศึกษาธรรมเข้าใจตามความเป็นจริงอย่างนี้ ก็จะไม่เกิดความไม่พอใจ ความโกรธ เมื่อได้ทราบหรือพบเห็นการกระทำที่ไม่ดีของบุคคลเหล่านั้น เพราะเหตุว่าการกระทำของบุคคลอื่นไม่เป็นประมาณ ที่สำคัญ คือ รักษาใจของตนเองไม่ให้เป็นกุศลประการต่างๆ ดังนั้น การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกนั้น จึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละกุศลและเจริญกุศลยิ่งขึ้น เพราะในที่สุดแล้ว ทุกคนก็จะละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น ประโยชน์ที่ควรได้ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง คือ ฟังพระธรรมให้เข้าใจและน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม นี้แหละคือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด เรื่องของคนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่นจริงๆ ครับ

....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 16 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-ทำไม ณ ปัจจุบัน พระ ไม่ว่าพระผู้ใหญ่หรือพระวัดบ้านนอกธรรมดาๆ ก็มุ่งแต่สิ่งก่อสร้างกันเป็นส่วนมาก และนำวัตถุก่อสร้างเหล่านั้นมาโอ้อวดในระหว่างกัน?

เมื่อขาดความเข้าใจพระธรรม เพราะเหตุไม่ได้ศึกษาพระธรรม จึงทำให้มีความไม่รู้ เข้าใจผิด ตามอำนาจของกิเลส เมื่ออกุศลเจริญ กุศลธรรมเสื่อมไป กาย วาจา และใจ ก็ย่อมน้อมไปในทางอกุศล ในความติดข้อง ไม่ใช่หนทางละ ขัดเกลากิเลส จึงเป็นธรรมดาที่จะมีการสร้างศาสนวัตถุที่จะแข่งกัน อันเป็นไปเพื่อที่จะได้ลาภสักการะ ไม่ใช่เพื่อละกิเลส เพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรม อันเสื่อมไปตามกาลสมัย ที่ใกล้พระศาสนาจะอันตรธาน ซึ่งพระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองไม่ได้อยู่ที่การมีศาสนวัตถุมากมาย แต่อยู่ที่ความเข้าใจพระธรรมที่ใจแต่ละคนที่มีมาก ย่อมแสดงถึงความรุ่งเรืองของพระศาสนา

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

-สิ่งก่อสร้างย่อมใช้เงินเป็นจำนวนมากๆ ดังนั้นพระเหล่านั้นจึงมีวิธีการหาเงินมาใช้โดยวิธีที่แตกต่างกันในเชิงพุทธพาณิชย์ ผิดหรือไม่อย่างไร?

เพศบรรพชิตเป็นเพศที่ละ สละ ขัดเกลา แตกต่างจากคฤหัสถ์อย่างสิ้นเชิง เงินและทองสมควรกับคฤหัสถ์ ไม่สมควรกับบรรพชิต หน้าที่ของบรรพชิต จึงไม่ใช่การสร้างศาสนวัตถุและการเรี่ยไรเงิน หน้าที่ของพระภิกษุ มี 2 อย่าง คือ คันถธุระ คือ ศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และ วิปัสสนาธุระ การน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม อื่นจากนี้ไม่ใช่กิจของเพศบรรพชิต ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

-ไปเห็นวัดใหญ่น้อยมาก็หลายที่พูดตามตรง เสียดายเงินในสิ่งก่อสร้างไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ทำไว้เพื่อตัวกูหรือไร?

สิ่งใดสร้างเพื่อได้ ติดข้อง ก็เป็นการแสดงถึง ความยึดถือในตัวตน ในความเป็นเรา ยิ่งมาก เพราะยึดถือว่า มีเรา มีเขา จึงแสวงหา ลาภ สักการะ เพื่อตัวเรา มากขึ้น ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

-พระที่มีชีวิตเป็นอยู่โดยธรรมและแสดงธรรมต่อประชาชนพร้อมได้รับปัจจัยจากประชาชนนั้นมีอยู่มากหรือน้อยถ้าเปรียบกับพุทธพาณิชย์?

เป็นธรรมดาที่อกุศลย่อมมีมากกว่ากุศลเป็นธรรมดา ยิ่งถ้าเป็นยุคสมัยที่เสื่อมจากความเข้าใจพระธรรม ก็จะทำให้มีการประพฤติปฏิบัติผิดมากกว่าการปฏิบัติที่ถูก ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

-อาจารย์ลองวิเคราะห์สังคมของพระภิกษุในปัจจุบันให้เป็นธรรมทานหน่อยครับ?

ตามธรรมดาที่สังคมปัจจุบัน ในยุคที่ขาดความเข้าใจพระธรรม ย่อมเสื่อมไปมาก เป็นธรรมดาที่สำคัญ พุทธบริษัทไม่ใช่มีเพียงพระภิกษุเท่านั้น อุบาสกอุบาสิกา ก็เช่นกัน เป็นผู้สามารถที่จะรักษาพระศาสนาได้ โดยมีความเข้าใจถูกว่า เป็นธรรมดาของโลก ควรเห็นอกุศลของผู้อื่นเพื่อเข้าใจ และขัดเกลากิเลสของตนเอง และเห็นกุศลของผู้อื่นเพื่ออนุโมทนา อุบาสก อุบาสิกา จึงควรรักษาจิตของตน คือ รักษาด้วยการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ปัญญาที่เจริญขึ้น จะทำให้คิดถูก และ เข้าใจถูกในธรรม ขณะนั้นพระศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นในจิตใจของบุคคลนั้นเอง ส่วนผู้อื่นก็ไม่สามารถบังคับจิตใจของใครได้เลย ครับ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอจงเป็นทายาทเราโดยธรรมทายาท คือ ด้วยการศึกษา อบรมปัญญา มุ่งเพื่อความเข้าใจพระธรรม ขัดเกลากิเลสของตนเอง และ อย่าได้เป็นทายาทเรา โดยอามิสทายาท คือ อย่าได้อาศัยพระธรรมของเรา เพื่อลาภ สักการะ นี่สำหรับเตือนใจของเราเอง เมื่ออ่านก็น้อมเข้ามาในตน และ ทำหน้าที่ของตนเองต่อไป คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ ประโยชน์ คือ กุศลจิต เสียประโยชน์เมื่อเกิดอกุศลจิต มองอกุศลจิตคนอื่นด้วยกุศลจิต ด้วยความเข้าใจว่าแก้ไม่ได้ แต่แก้ที่ตนเอง และมองกุศลจิตของผู้อื่นด้วยที่จะประพฤติดังเช่นนั้นประโยชน์ตนเป็นสำคัญ เมื่อได้ประโยชน์ตนแล้ว คือ กุศลธรรม ความเข้าใจ ประโยชน์ผู้อื่นก็ย่อมได้ไม่มากก็น้อยในคนใกล้ตัว ที่ได้เห็น การกระทำทางกาย วาจา และใจ จากเราที่สมควร ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 16 ก.พ. 2556
ขอขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nopwong
วันที่ 16 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 17 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
daris
วันที่ 17 ก.พ. 2556

กราบขอบระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พงศ์ศิริ
วันที่ 18 ก.พ. 2556

น่าเสียดายที่พุทธพาณิชย์กำลังทำลายวัดที่มีพระดีๆ เพราะเวลานี้มองไม่เห็นว่าควรจะทำนุบำรุงวัดไหนดี เวลาได้รับซองทอดผ้าป่า กฐิน จากวัดต่างๆ ก็ไม่เกิดศรัทธา ได้แต่ทำแบบนึกในใจว่าขอให้เขานำไปใช้ในทางที่เหมาะสม กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้ดิฉันไม่ค่อยใส่บาตร ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า เวลาใส่บาตรก็ให้ระลึกถึงสงฆ์ที่เป็นพระอริยะ แต่ก็เห็นว่าของที่ใส่บาตรจนพระภิกษุที่บิณฑบาตต้องหอบหิ้วแทบไม่ไหวบางทีต้องกองไว้ที่หนึ่งก่อนแล้วให้เด็กวัดมาเก็บเอาไป แล้วไม่ทราบว่าอาหารที่ฉันไม่หมด ลูกศิษย์รับประทานไม่หมด คงต้องทิ้งขว้าง (โลกร้อนด้วย) แอบนึกอยู่เหมือนกันค่ะว่า เราจะมีเสบียงไว้ชาติใหม่หรือเปล่าหนอ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Boonyavee
วันที่ 18 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 19 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
rrebs10576
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Pure.
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอบคุณครับอาจารย์และเพื่อนๆ ที่เข้ามาอ่านและแสดงความคิดเห็นแชร์กันไปในหลายมุมมอง.

อนุโมทนาบุญครับ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ