ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่ ศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเรีย ๖ - ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  19 ก.พ. 2556
หมายเลข  22513
อ่าน  8,523

เมื่อวันที่ ๖ - ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม รองประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และ คณะฯ ได้เดินทางไปยังอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อไปเยี่ยมเยียนเด็กๆ และครอบครัว ที่ศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเรีย ที่ท่านเป็นผู้ให้การอุปการะมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ จนปัจจุบัน รวมถึงการนำเครื่องอุปโภค บริโภค ไปมอบแก่เด็ก และ ประชาชน รวมถึงการมอบอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น และ เป็นประโยชน์ เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้า อุปกรณ์ในการรับสัญญาณดาวเทียม เครื่องเสียงเพื่อการฝึกอบรม ฯลฯ แก่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ปกป้องผืนป่าตะวันตกด้วย

ทั้งนี้ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้เมตตาร่วมเดินทางไปกับคณะฯ พร้อมชาวสมาชิกชมรมบ้านธัมมะด้วย เป็นประจำทุกปี สำหรับข้าพเจ้า นี่เป็นครั้งแรกที่ได้รับโอกาสจากท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่ได้เมตตาให้ข้าพเจ้าร่วมเดินทางไปกับคณะฯในครั้งนี้ด้วย

ทุกท่านออกเดินทางพร้อมกันที่มูลนิธิฯ ด้วยรถตู้แสนสบายที่ท่านอาจารย์ดวงเดือนจัดให้ ขบวนรถตู้ ซึ่งถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิด มีจำนวนถึง ๖ คัน มีคันหนึ่งที่ถอดเบาะนั่งออกบางส่วน เพื่อใช้บรรทุกสิ่งของที่จะนำไปแจก และ ได้ทราบว่ามีรถกระบะที่บรรทุกสิ่งของเต็มคันรถ เดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้วอีกคันหนึ่ง รวมทั้งสิ้น ๗ คัน (ไม่รวมน้องโต ที่ขับรถไปเอง)

การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสังขละฯ มีระยะทางราว ๓๕๙ กิโลเมตร ใช้เวลาการเดินทางราวๆ ๕ ชั่วโมง คณะของเราแวะรับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านอาหารในแพเหนือเขื่อนแม่กลอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

จากนั้น ขบวนรถก็เดินทางต่อไปยังอำเภอสังขละบุรี โดยแวะเพียงปั๊มน้ำมันระหว่างทาง ราวๆ ๕ โมงเย็น คณะของเราก็เดินทางถึง พนธ์นที รีสอร์ท เป็นรีสอร์ทริมน้ำเกริงกระเวีย เหนือเขื่อนเขาแหลม ที่มีบรรยากาศงดงามมาก ที่พักสร้างด้วยไม้ ลดหลั่นไปตามเชิงเขา ลาดลงสู่ลำน้ำเกริงกระเวีย ที่บัดนี้กลายเป็นทะเลสาบเหนือเขื่อนเขาแหลม ที่มีความงดงาม และ มีเสน่ห์อย่างยิ่ง ดังท่านจะได้ชมภาพต่อๆ ไปนะครับ

เมื่อรถจอด ทุกท่านก็กุลีกุจอ ช่วยกันขนของคนละไม้คนละมือลงจากรถ ไปกองไว้ บริเวณที่รับประทานอาหาร เป็นที่ๆ ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจมาก ที่เห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล เห็นสายน้ำที่พริ้วไหว ดูสดชื่น มีเรือ แพ แล่นล่องในลำน้ำ ไปมา น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง

เพราะผลของกุศลกรรมในอดีตโดยแท้ ให้ได้เห็นสิ่งสวยงามเช่นนี้ ในสถานที่เรียบง่าย งดงาม ตระการตาอย่างนี้ แม้ว่าผลของกุศลที่ได้รับจะดับไปๆ ในทุกๆ ขณะ และ ความสุขจากการได้เห็น ก็กำลังหมดไปๆ ในทุกๆ ขณะก็ตาม แต่ก็ให้ได้คิด พิจารณาด้วยเช่นกันว่า จากการเป็นผู้ที่เคยสะสมกุศลมาในอดีต จึงเป็นปัจจัยให้ แม้ในปัจจุบัน ก็ยังเป็นผู้ที่มีปรกติ เจริญกุศล เมื่อโอกาสของการเจริญกุศล ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า บุคคลย่อมเห็นประโยชน์ ที่จะน้อมไปในกุศลทุกประการ

จึงเป็นผู้ที่รู้เหตุ และ ปัจจัย แม้ในขณะนี้เอง ที่การกระทำความดีต่างๆ คือ กุศลจิต กุศลเจตนาที่เกิดขึ้น กุศลกรรม คือ ความดีต่างๆ ที่เป็นไป และ กำลังเป็นอยู่นี้เอง ที่เป็นเหตุให้บุคคล ได้รับผล คือ กุศลวิบาก อันเป็นความสุข ที่บุคคลปรารถนา

จึงเป็นผู้ที่มั่นคงขึ้น ในการกระทำความดีทุกประการ อันจะเป็นบารมีที่ถึงพร้อมแก่บุคคล ด้วยปัญญา คือ ความเข้าใจถูก เห็นถูกว่า แม้ความดีทั้งหลาย ก็มิใช่เรา มิใช่ตัวตน มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล แต่เป็น "ธรรม" เท่านั้น ที่เกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุและปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่ใช่ตัวตนของใคร เป็นไปตามการสะสม ตามการอบรม ที่บุคคลได้สะสม อบรมไว้ เมื่อมีเหตุ มีปัจจัย ธรรมทั้งหลาย ก็เกิดขึ้นกระทำกิจ คือ หน้าที่ แล้วดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย แต่สะสมไว้ ในจิตที่เกิดดับต่อๆ กันไปนั่นเอง

ความดีนั้น ดีเท่าไหร่ก็ไม่พอ จนกว่าความดีเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา อบรมเจริญปัญญา จนกว่าสติปัฏฐาน เกิดระลึกรู้ ลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรม ขณะนั้น ความดี เป็นความดี ไม่ใช่เรา
..........
(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ครั้งที่ ๗๕)

ความรู้ ความเข้าใจ ธรรมะที่ถูกต้อง ตรงตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และ ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้เท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งแท้จริงแก่บุคคล ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ในพระธรรม ในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ จะเกิดมีได้ ก็ด้วยการ "ฟังพระธรรม" ที่ถูกต้อง ตามที่ได้ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้

"...การศึกษาพระธรรมของพระผู้มีพระภาคฯ เป็นไปเพื่อการละ มิได้ศึกษา เพื่อต้องการได้ ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น การฟังพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจสภาวธรรมทั้งหลาย ที่มีอยู่ในทุกๆ ขณะนี้เอง ว่า ที่แท้ทุกสิ่งป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา เมื่อฟังแล้วก็อย่านึกว่าเข้าใจแล้ว แต่ฟังอีกและฟังอีก บ่อยๆ เนืองๆ ทุกครั้งที่มีโอกาส..."
(คัดจากกระดาน ธรรมทัศนะ)

การฟังพระธรรม และ เข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง บ่อยๆ เนืองๆ เมื่อเริ่มเข้าใจ ความเข้าใจแม้เพียงน้อยนิดนั้นเอง จะเป็นพืชเชื้อ ให้ได้มั่นคงขึ้นในการฟัง ความศรัทธา ความเห็นประโยชน์ ในพระธรรมที่ถูกต้อง ในหนทางนี้ จึงสำคัญยิ่งแก่บุคคลหาไม่ ก็จักมีชีวิตที่เกิดมาด้วยผลของกุศลกรรมหนึ่ง แล้วก็เป็นเพียงผู้ที่ลุ่มหลง มัวเมา มีชีวิตที่ว่างเปล่าไปจนกว่าจะตาย หาสาระ แก่นสาร อันใดมิได้ น่าเสียดายอย่างยิ่ง

บริษัทที่สามัคคีกัน เป็นอย่างไร?ในบริษัทใด ภิกษุทั้งหลาย พร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกันไม่วิวาทกัน (กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) เป็นประหนึ่งว่านมประสมกับน้ำ มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุ (คือ สายตาของคนที่รักใคร่กัน) บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทที่สามัคคีกัน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตเล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 482 ปริสาสูตร

ข้าพเจ้ากล่าวกับผู้ใกล้ชิดอยู่เสมอๆ ถึงความเข้าใจกัน ความเกื้อกูลส่งเสริมกันและกัน การมีโอกาสได้พบกันในชาติที่ได้พบกับคำสอนที่ถูกต้อง ทั้งได้มีการศึกษาธรรมะ และ เผยแพร่พระธรรมร่วมกัน ตลอดจนถึง การมีโอกาสได้ร่วมกันเจริญกุศลทุกประการ ชาตินั้นย่อมเป็นชาติ คือ การเกิดที่ประเสริฐที่สุด มีค่าที่สุด ไม่มีสิ่งใดยิ่งไปกว่า วันเวลาผ่านไปอยู่ทุกๆ ขณะ ไม่มีใครรู้เลยว่า จะมีโอกาสในการทำความดีอีกนานเท่าใด และ ที่สำคัญ โอกาส คือ การฟัง การศึกษาธรรมะให้เข้าใจ จะสิ้นสุดลงไปเมื่อไหร่

จึงเป็นผู้ที่มีไมตรี คือ ความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน เกื้อกูลส่งเสริมกันและกัน ไม่เป็นผู้ที่แบ่งแยกเรา แยกเขา ด้วยว่าเราเขานั้น ความจริงแล้ว หามีไม่ มีแต่ชั่ว คือ อกุศลธรรม และ ดี คือ กุศลธรรม ที่เกิดขึ้น เป็นไปอยู่ทุกๆ ขณะ เมื่อได้ศึกษาธรรมแล้ว จึงเป็นผู้ที่น้อมไปในความดีทั้งหลาย และ เป็นผู้ที่ละคลาย จากความเห็นผิด เข้าใจผิด ในความเป็นตัวตน สัตว์บุคคล มั่นคงขึ้น ที่จะรู้ว่า ทุกสิ่ง เป็นแต่ธรรม ไม่ใช่เรา

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ศึกษาธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และ นำมาถ่ายทอด ด้วยความซื่อตรงอย่างยิ่ง โดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จึงเป็นผู้ที่มีความชื่นบานต่อกัน ให้อภัยกัน และ เป็นกำลังใจแก่กันและกัน ในการขัดเกลาความไม่รู้ คือ อวิชชา เป็นกำลังใจและเดินร่วมทางอันประเสริฐนี้ ด้วยกัน ท่ามกลางความเมตตา ความปรารถนาดี ในกันและกัน มีความเข้าใจในความเป็นปุถุชน คือ ผู้หนาไปด้วยกิเลส เช่นเดียวกัน เป็นผู้ที่เข้าใจกันและกัน ทั้งเข้าใจ ในความสะสมที่บุคคล มีมาต่างๆ กัน แต่มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ศึกษาและเข้าใจพระธรรม เพื่อขัดเกลากิเลส เหมือนๆ กัน ศิษย์ของพระตถาคต และ ท่านอาจารย์ จึงเป็นผู้ที่อาจหาญ ร่าเริง ในธรรม มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมกันเจริญกุศล คือ ความดีทุกประการ

ความดีทั้งหลายนี้เท่านั้น ที่จะกราบเท้าตอบแทน แด่ผู้มีพระคุณอันเอนก หาที่สุดมิได้ คือ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ผู้ที่ให้ความเมตตาอบรม ศิษย์ทุกคน โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ มาร่วม ๖๐ ปีแล้ว ทั้งยังเป็นผู้นำทุกๆ ท่าน เจริญกุศลทุกประการ โดยสม่ำเสมออีกด้วย

อันดับต่อไป ข้าพเจ้าขออนุญาต นำบทความเกี่ยวกับ " ความเป็นมาของศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเลีย " ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่ คุณศุภชัย พลทิพย์ ซึ่งเป็นคุณครูผู้เสียสละ ทำงานด้านการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส ท่านได้เขียนบันทึกนี้ไว้ เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ ที่บ้านสังขละบุรี มาลงเป็นประวัติ ของการเจริญกุศล ของท่านผู้มีอุปการะต่อพระศาสนาอย่างยิ่งท่านหนึ่ง ซึ่งท่านเป็นตัวอย่างอันดียิ่ง ของผู้ศึกษาพระธรรม และ เป็นผู้ที่เจริญกุศลทุกประการ คือ ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม พร้อมๆ ไปกับภาพถ่าย ของการเดินทางไปเจริญกุศลในครั้งนี้ด้วย ดังนี้ครับ

ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๔๗ ขณะที่ผู้เขียน สอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนบ้านเด็กป่า ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ผู้เขียน ร่วมกับเพื่อนชาวอังกฤษ ริเริ่มขึ้นมา เพื่อจัดการเรียนการสอน ให้กับเด็กด้อยโอกาส เนื่องจากขณะนั้น การจัดการศึกษาของรัฐฯ ยังไม่ได้ครอบคลุมถึง ทำให้เด็กเหล่านี้ ซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ ตามแนวตะเข็บชายแดน และ ในเมืองอุตสาหกรรม ที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ ตกอยู่ในสถานะที่ไม่ได้รับการศึกษา

เช้าวันหนึ่ง ขณะที่ผู้เขียนกำลังจะพาเด็กนักเรียน ไปเรียนการทำบ้านดิน กับ อาสาสมัครชาวไทย และ ต่างชาติ ที่บ้านเวียคะดี้ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสังขละบุรี ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ขณะที่กำลังรอรถสองแถวที่นัดหมายไว้มารับ คุณสุพจน์ (คุณพจน์ เจ้าของพนธ์นทีรีสอร์ท) ซึ่งเป็นเพื่อน โทรศัพท์มาหา บอกว่ามีลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯมีความประสงค์อยากไปเยี่ยมโรงเรียนที่ผมทำ ซึ่งคุณพจน์ก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ผมบอกกับคุณพจน์ว่า ผมไม่สะดวกในตอนนี้เนื่องจากกำลังจะขึ้นรถ พาเด็กไปเรียนการทำบ้านดิน

แต่คุณพจน์ก็ยังพยายามพูดจาให้เหตุผลต่างๆ นานา ให้ผมแวะไปพบกับลูกค้ากลุ่มนี้ ที่พนธ์นทีรีสอร์ท ให้ได้ จนสุดท้ายผมรับปาก ว่าจะแวะเข้าไปพบแล้วจะให้พี่วี (วีราวรรณ พลทิพย์) พี่สาว ซึ่งในขณะนั้นทำหน้าที่ดูแลเด็กที่ไม่สบาย ทั้งในโรงเรียน และ ตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นคนพาลูกค้าคุณสุพจน์มาเยี่ยมเด็กๆ ที่โรงเรียน

พอรถมา ผมจึงได้เดินทางไปพนธ์นทีรีสอร์ท พร้อมทั้งเด็กๆ ที่จะไปเรียนทำบ้านดิน เมื่อเดินทางมาถึง คุณพจน์จึงได้พามาแนะนำกับคณะของลูกค้า ที่บริเวณร้านอาหารของรีสอร์ท จำได้ว่า มีอยู่ประมาณ ๖ - ๗ ท่าน ซึ่งในกลุ่มท่านเหล่านั้น มีคุณดวงเดือน และ ท่านอาจารย์สุจินต์ รวมอยู่ด้วย

เมื่อพบกันจึงได้แนะนำตัว แล้วเรียนกับคณะฯว่า ผมเองไม่สะดวกที่จะพาไปโรงเรียน แต่จะให้พี่สาว เป็นคนพาไป ซึ่งได้โทรศัพท์นัดพี่สาวไว้แล้ว หากผู้เขียนจำไม่ผิด น่าจะเป็นคุณดวงเดือน ที่ผมแนะนำตัว เมื่อพี่สาวมาถึง จึงได้ลาคณะของคุณดวงเดือน เดินทางไปยังบ้านเวียงคะดี้ เพื่อพาเด็กไปเรียนทำบ้านดินตามแผน ตอนเย็น หลังกลับจากโรงเรียน จึงได้พบกับพี่วี พี่วีจึงได้ให้เบอร์โทรศัพท์ ของคุณดวงเดือน พร้อมกับบอกว่า คุณดวงเดือนฝากบอกมาว่า หากต้องการความช่วยเหลือเรื่องใด ให้โทรฯไปที่เบอร์นี้ ผมเก็บเบอร์โทรฯไว้ในกระเป๋าสตางค์ พร้อมทั้งได้จดบันทึกไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัว

หลังจากนั้น ๒ - ๓ วัน จึงเดินทางไปหาคุณพจน์ที่รีสอร์ท คุณพจน์ถามถึงเรื่องที่คณะคุณดวงเดือน ไปเยี่ยมที่โรงเรียน จึงเล่าให้พจน์ฟัง พร้อมกันนั้น ผมได้ทราบจากพจน์ว่า ความตั้งใจเดิมที ของคณะคุณดวงเดือน ประสงค์จะไปเยี่ยมเด็ก ที่บ้านอุ่นรัก ของดีดี้ ซึ่งเป็นหญิงชาวอิตาลี่ ที่เข้ามาทำบ้าน ให้เด็กกำพร้าและโรงเรียน ให้เด็กในมูลนิธิฯ ที่ตั้งขึ้นมา

บังเอิญ คุณพจน์ได้มีโอกาสคุยกับคุณดวงเดือน เลยเล่าเรื่องของผมให้ฟัง ซึ่งในขณะนั้น ผมได้ทำโรงเรียน น่าจะใช้คำว่า "ห้องเรียน" ดูจะเหมาะกว่า เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาง่ายๆ จากวัสดุที่หาได้ ในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ หญ้าแฝก เป็นต้น ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีประตู ไม่มีแม้ห้องน้ำ โดยการร่วมแรง ของผู้ปกครองเด็ก ที่อยากให้ลูก ได้เรียนภาษาไทย

บางวัน ตกบ่ายๆ ก็นั่งเรียนตามใต้ต้นไม้ ลมพัดมาเอื่อยๆ กำลังดี บางวัน ก็ย้ายไปวาดรูปตามริมน้ำ ร้อนก็เล่นน้ำคลายร้อน เรียนในห้องที่เป็นป่าใหญ่ มีต้นไม้และพืชผัก เป็นสื่อการเรียนการสอน ตกเย็นกลับบ้าน ยังมีผักที่เรียนในวันนั้น ให้แม่ต้มจิ้มน้ำพริก หรือไม่ก็ผัดกินกันอร่อยไปทั้งบ้าน ได้ความรู้ ทั้งผู้เรียนและผู้สอน บางครั้ง ผมก็เรียนรู้จากเด็ก บางครั้ง เราก็เรียนรู้จากคุณตาคุณยาย ที่มาช่วยสอน

โรงเรียนของเรา ไม่มีเครื่องแบบ เพราะเสื้อผ้าที่ดี ไม่ได้ช่วยให้เราเป็นคนดี หรือ คนเก่งได้เลย แต่กลับเป็นอุปสรรค ให้เด็กหลายร้อย หลายหมื่นคน ไม่สามารถเดินเข้าสู่โรงเรียนได้ เพียงเพราะ พ่อแม่ไม่สามารถหาเงินซื้อชุดนักเรียนให้ได้

โรงเรียนของเรา ไม่มีเวลาปิดเทอม เด็กอยากเรียน หรือพร้อมวันไหน ก็เดินเข้ามาเรียนได้ตลอด อาทิตย์หนึ่งจะมาเรียน ๔ วัน ช่วยพ่อแม่เผาถ่านขาย ๒ วัน ไม่มีใครดุ เพราะเรารู้ว่า บางครั้ง เรื่องปากท้องของเด็กๆ และครอบครัว สำคัญกว่าเรื่องใด ท้องไม่อิ่ม จะเอาสมาธิที่ไหนมาเรียน

อีกหน้าที่หนึ่งของผม คือตามเด็กเหล่านี้ไปที่บ้าน แล้วคุยกับผู้ปกครอง ดูสภาพครอบครัว เรื่องข้าว เรื่องงาน สิ่งใดพอช่วยแบ่งเบาได้ ต้องรีบทำ สิ่งไหนเกินกำลัง ก็ปรึกษาเพื่อนที่พอช่วยได้ ก็ช่วยกันไป ตอนนั้น ผมทำห้องเรียนเช่นนี้ ที่ หมู่บ้านโจ่ดีพื่อ ที่ ยโลงไกล่ย เตอปอง ไร่อ้อย และ ที่ วัดเตาถ่าน

จนมาปลายปี ๒๕๔๗ จึงได้เริ่มเข้าไปที่ วัดซองกาเลีย หลังจากที่มีชาวบ้านที่รู้ว่า ผมทำโรงเรียนให้เด็กๆ แล้วเห็นว่า ผมทำจริงๆ จึงมาพบ แล้วเล่าให้ฟังว่า ที่หมู่บ้านซองกาเลีย ยังมีเด็ก อีกจำนวนมาก ไม่ได้เรียนหนังสือ เนื่องจากพ่อแม่ ไม่ใช่คนไทย จึงไม่มีบัตร ลูกจึงเข้าเรียนไม่ได้ ผมจึงรับปากจะเข้าไปดู

หลังจากนั้น เมื่อผ่านไปสอนหนังสือที่วัดเตาถ่าน จึงได้ไปพบพระและชาวบ้าน ที่วัดซองกาเลีย ท่านเจ้าอาวาสยังพูดกับผมว่า จะเอาจริงหรือโยมชัย ก.ศ.น. (ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนสังขละบุรี) เคยมาสอน สุดท้าย มาสอนไม่นานแล้วก็ทิ้งเด็กๆ ไป ผมรับปากท่านว่า ผมจะทำ และ ถ้าหากทำแล้ว ผมจะไม่ทิ้งเด็กๆ

หลังจากนั้น ผมยังเดินทางเข้าออกหลายรอบ เพื่อสำรวจข้อมูลของเด็ก หาสถานที่ คุยกับหลวงพ่อและชาวบ้าน คิดหาแหล่งเงิน ที่จะมาต่อเติมอาคารที่มีอยู่ ซึ่งหลวงพ่อ อนุญาติให้ใช้ แต่ท่านเอง ก็ไม่มีกำลังที่จะทำให้

สุดท้าย มานึกถึงเบอร์โทรฯคุณดวงเดือนที่ให้ผมไว้ ผมเชื่อว่า หลายคนคิดเหมือนกันว่า หากเป็นไปได้ เราอยากเป็นผู้ให้ มากกว่าเป็นผู้ขอ หรือ เป็นผู้รับด้วย การเริ่มต้นของการขอ ต้องมีเหตุผลที่ดี เขาจะอึดอัดใจไหม? เขาจะเดือดร้อนเกินไปไหม? ควรเริ่มต้นพูดอย่างไร? ยิ่งไม่คุ้นเคย เห็นหน้าก็แว๊บเดียว ยิ่งลำบากใจ แต่สุดท้าย ก็ต้องลอง สำเร็จหรือไม่ ค่อยว่ากัน

ในที่สุด จึงได้โทรฯขอความช่วยเหลือจากคุณดวงเดือน ผมยังจำได้หลังจากเรียนให้คุณดวงเดือนทราบแล้ว คุณดวงเดือนให้ผมไปคิดค่าใช้จ่ายมา เมื่อได้แล้ว ให้โทรฯมาแจ้ง แล้วท่านจะช่วย เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากเสร็จจากการสอน ที่วัดเตาถ่าน ผมจึงแวะหาหลวงพ่อที่วัดซองกาเลีย รบกวนให้ท่านช่วยคิดค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงงานในการก่อสร้าง เพราะตอนนั้น โรงเรียนมีแต่หลังคาและพื้น จึงต้องทำฝา ใส่หน้าต่าง ประตู ทำพื้นใหม่ รวมเบ็ดเสร็จ ต้องใช้เงินทั้งหมด ๗๐,๐๐๐ บาท จึงกลับมาเรียนคุณดวงเดือน ท่านก็เมตตาโอนเงินให้

ผมนำเงินไปให้หลวงพ่อซื้อวัสดุก่อสร้าง หาช่างมาทำ ไปติดต่อนำเข้า หน้าต่าง ประตู พร้อมวงกบ จากพม่า โดยขอความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ทหาร เบื้องต้น เจ้าหน้าที่กลัวผมนำวัดมาแอบอ้าง ก็ต้องพามาดูสถานที่ก่อสร้างที่วัด ใช้เวลาหลังจากสอนนักเรียนที่วัดเตาถ่าน ตอนช่วงกลับ แวะมาดูงาน คุยกับหลวงพ่อ

จนในที่สุด โรงเรียนจึงเสร็จ และ เปิดสอนในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘ โดยมี ครูเสาร์วันดี ทะเกิงกุล (ครูลิโหล่) เป็นครูสอน มีเด็กนักเรียน ๖๔ คน ส่วนใหญ่ เป็นเด็กกะเหรี่ยง ที่เหลือ เป็นพม่าและมอญ ที่ผู้ปกครอง ไม่มีเอกสารใดๆ บนพื้นฐาน และ หลักการเดิม คือ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่มีวันปิดรับสมัครเข้าเรียน เด็กอยากเรียนวันไหน มาบอกครูได้ ไม่มีเครื่องแบบนักเรียน มีอาหารกลางวันให้ทานฟรี โดยเด็กนำข้าวมา หากไม่มี ก็เอาที่วัด ซึ่งหลวงพ่อท่านจะเมตตา ให้สามเณรเก็บไว้ให้

เพราะฉะนั้น ช่วงปีแรกผมไปเยี่ยม จึงพบเด็กบางคนมาโรงเรียนมีแต่เสื้อมา ไม่สวมกางเกง บางคนมีกางเกง แต่ไม่มีเสื้อ ผมจะแวะเข้าเยี่ยม อาทิตย์ละครั้ง ครูลิโหล่ จะเรียกผมว่าพี่ชัย ส่วนเด็กๆ จะเรียกผม ว่าครูพี่ชัย ฟังดูก็น่ารักดี

ศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเลีย ได้รับเงินช่วยค่าอาหารกลางวัน และ เงินค่าตอบแทนครูพี่เลี้ยง จากคุณดวงเดือน นับแต่วันก่อตั้ง จนถึงปัจจุบัน (ปีการศึกษา ๒๕๕๕) นับเป็นเวลา ๘ ปีแล้ว มีเด็กมากกว่า ๔๐๐ ชีวิต ที่เริ่มการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากที่นี่

นอกจากนี้ ทางคุณดวงเดือน ยังได้ให้ความช่วยเหลือ มอบโอกาสทางการศึกษา ให้แก่เด็ก ที่จบจากศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเลีย โดยการส่งเสียให้เรียนต่อ ในระดับประถมศึกษา โดยดูแลค่าใช้จ่ายในการศึกษาทุกๆ ด้าน พร้อมทั้งยังมอบค่าขนม ในการไปโรงเรียนทุกเดือน โดยคัดเลือกเด็กมาจากครอบครัวที่ยากจน แต่มีความประพฤติที่ดี ซึ่งในปัจจุบัน มีทั้งหมด ๖ คน เป็นเด็กชาย ๓ คน และ เด็กหญิง ๓ คน นับเป็นความโชคดี ที่เด็กๆ เหล่านี้ ได้พบคุณดวงเดือน ทำให้เริ่มมองเห็นอนาคต

นอกจากนี้ ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกๆ ปี คุณดวงเดือน และ คณะฯ โดยการนำของ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ยังได้ให้ความเมตตา เดินทางไกลจากกรุงเทพฯ เพื่อมาเยี่ยมเด็กๆ และครอบครัว รวมทั้งชาวบ้าน และ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ปฏิบัติหน้าที่ ปกป้องผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศเรา ในขณะนี้ ชาวบ้าน และ เด็กๆ บางคน ต้องเดินทางออกจากป่าล่วงหน้า โดยการเดินเท้าออกมา ต้องใช้เวลาเดินป่ามาหลายชั่วโมง

นอกจากมาเยี่ยมไถ่ถามสารทุกข์ ยังนำอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา ยารักษาโรค จากคุณหมอแสนใจดี (คุณหมอพัชรินทร์) เกลือ กะปิ น้ำตาล เสื้อผ้า สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน รวมทั้งของใช้ สำหรับเจ้าหน้าที่ เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้า กล้องดิจิตอลถ่ายรูป เป็นต้น

คุณดวงเดือน ยังเมตตาให้จัดอาหารกลางวัน ให้ผู้ที่เดินทางมาได้ทาน ซึ่งรายการอาหารจะประกอบด้วย ก๋วยเตี๋ยวรสเด็ด สูตรของหมู (ภรรยาผมเอง)

ไอศครีมกะทิแสนอร่อย ที่สอดไส้มาในขนมปังแสนนุ่ม

น้ำกระเจี๊ยบเย็นชุ่มคอ ดับกระหาย นอกจากนี้ยังมีขนมและผลไม้ ที่ทางคณะเตรียมมา ซึ่งในทุกๆ ปี คุณดวงเดือน มักจะย้ำกับผมเสมอว่า ให้ทุกๆ คนทานให้อิ่ม อย่าให้ขาด เหลือไม่เป็นไร ถือเป็นความห่วงใย ที่ปลุกให้ผม ต้องทำความดีให้มากยิ่งขึ้น

ก่อนเดินทางกลับ เด็กๆ จะจัดการแสดง และ ร้องเพลง เป็นการตอบแทนให้ทางคณะที่มาเยี่ยม ซึ่งนับเป็นช่วงเวลา ที่ทุกคนมีความสุข ก่อนลาจากกัน แล้วรอ ที่จะได้กลับมาพบกัน ในสถานที่เดิม นับเป็นความเมตตา เป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ ที่ทำให้หลายชีวิตของเด็ก มีโอกาส และ อนาคต ที่ดีขึ้น

จากที่เคยตื่นขึ้นมา แล้วไม่รู้ว่า ชีวิต จะดำเนินไปอย่างไร? วันนี้ พอตื่นมา กลับรู้ว่า จะขับเคลื่อนชีวิตไปอย่างไร มีกำลังใจ ที่ส่งผ่านความรัก ความห่วงใย ไม่กลัวที่จะล้ม เพราะรู้ว่า มีคนๆ หนึ่ง ที่จะคอยปลอบ และ ยื่นมือ มาฉุดเขา ให้ลุกขึ้นสู้

เด็กๆ หลายคน เคยโดดเดี่ยว แต่วันนี้ เขาเหล่านั้น รู้ว่า เขาไม่เดียวดาย ทั้งหมดนี้ คือ คุณประโยชน์ ของศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเลีย ที่เริ่มจาก คุณดวงเดือน ที่หยิบยื่นโอกาส แก่อีกหลายร้อย หลายพัน จะมีอนาคตที่ดีขึ้น

สำหรับผม ผมพูดกับตนเองและครอบครัวเสมอว่า " การได้พบคุณดวงเดือน บารมีธรรม นับเป็นมงคลของชีวิต " และ ให้ปณิธานกับตนเองว่า ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ จะทำความดี โดยการช่วยเหลือผู้อื่นเช่นนี้ จนกว่า นาฬิกาของชีวิต จะดับลง
.........
ศุภชัย พลทิพย์
เขียนที่บ้านสังขละบุรี วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕

อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการ ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก ๑สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน ๑ กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อนขจรทั่วไป ๑ ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์ ๑ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้แล

หลังจากเสร็จภารกิจแล้ว ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ได้พาชาวคณะฯทุกท่าน ไปรับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านอาหารริมลำน้ำซองกาเลีย ที่มีน้ำใสไหลเย็น ท่ามกลางบรรยากาศของขุนเขาที่ สดชื่น รื่นรมย์ ให้ความรู้สึกประทับใจว่า เมืองไทยน่าอยู่ เช่นเมืองสังขละบุรีนี้ ไม่ไปไม่รู้จริงๆ ครับ

ในตอนค่ำ ท่านอาจารย์ดวงเดือน ได้เชิญครอบครัวของเด็กๆ ที่อยู่ในอุปการะของท่าน ทั้งหมด มาร่วมรับประทานอาหารที่ พนธ์นทีรีสอร์ท

ซึ่งท่านได้สั่งให้ทางรีสอร์ท จัดเตรียมหมูกะทะ และ สุกี้ ไว้เป็นการพิเศษเพิ่มเติม เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

นอกเหนือไปจาก อาหารเย็นแสนอร่อย ที่ทางรีสอร์ท จัดไว้หลายชนิด มากมาย เพียงพอ ทุกมื้อ ไม่มีขาดตกบกพร่องเลย ครับ

หลังรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ท่านอาจารย์ดวงเดือน ได้มอบของที่ระลึก และ ทุนการศึกษา แก่ทุกครอบครัว ที่อยู่ในความอุปการะของท่าน

จากนั้น ท่านได้มีเมตตา เชิญทุกๆ ครอบครัว ถ่ายรูปกับท่าน เป็นที่ระลึก เป็นภาพแห่งความปลื้มปีติ ที่ได้เห็นครับ

ต่อจากนั้น เด็กๆ ก็เตรียมการแสดง มาแสดงให้คุณยายดวงเดือน และคณะฯ ได้ชม เด็กๆ น่ารักมากครับ ทั้งๆ ที่เขิน แต่ก็พยายามตั้งใจแสดงอย่างดี เด็กน้อยๆ บางคนเต้นเก่ง ทุกคนมีใบหน้าที่ใสซื่อ น่าเอ็นดู เป็นที่เมตตาของคุณยาย

ต่อจากนั้น ป้าเจร่า (พี่จิราภรณ์) คุณแอ๊ว (นภา) คุณสมบูรณ์ ก็ได้ชวนเด็กๆ เล่นเกมส์สนุกๆ นิดหน่อย เรียกเสียงหัวเราะจาก คุณลุง คุณป้า คุณยาย ได้อย่างดีเลยทีเดียวครับ

ในตอนท้าย คุณลุง คุณป้า คุณยาย ได้กรุณาแสดงเพลงฉ่อย โดยพี่นันท์ (พลตรีหญิงนันทา เกษหอม) ได้แสดงความสามารถพิเศษ แต่งและร้องให้ได้ฟังกันสดๆ ก่อนจากกันในค่ำคืนนั้น

และ จบรายการในค่ำคืนนี้ ด้วยภาพที่แสนประทับใจ จากเด็กๆ ที่ แสดงความรู้สึกที่มีต่อคุณยายดวงเดือน บารมีธรรม เป็นภาพที่น่ารัก น่าปลาบปลื้มใจมากครับ

สังคมคงจะสงบร่มเย็นขึ้น ถ้าทุกคนรู้จักคำว่า “พอ” แต่มนุษย์ปุถุชน ใครเลยจะละกิเลสได้ เพราะคำว่า ปุถุชน แปลว่า ผู้หนาแน่นด้วยกิเลส ในเมื่อยังละกิเลสไม่ได้ เราควรที่จะศึกษาพระธรรม เพื่อรู้จักลักษณะของกิเลสต่างๆ จะได้หมั่นคอยสำรวจจิตตนเอง เมื่อกิเลสเกิดขึ้น จะทำให้รู้จักตนเองตามที่เป็นจริง ว่ามีกิเลสมากแค่ไหน เมื่อใดมีปัญญามากขึ้น เห็นโทษภัยของกิเลสอย่างแท้จริง ปัญญานั่นเองจะทำหน้าที่ ละกิเลส การรู้จักกิเลสของตนเอง มีประโยชน์กว่าคอยจ้องจับผิดกิเลสของผู้อื่น เพราะจะเป็นเหตุให้สำรวมกาย วาจา ใจ ของตนให้เรียบร้อยดีงาม มีความประพฤติ หรือ แสดงออกที่ดี เป็นกุศลกรรมต่อไป
(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ครั้งที่ ๗๕)

ในตอนเช้าตรู่ ก่อนเดินทางกลับ หลายท่านได้ชักชวนกันเดินออกกำลังกาย ไปยังสะพานไม้ (สะพานมอญ) ที่สร้างจากศรัทธาของประชาชน ที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้ เป็นที่เที่ยวสำคัญของที่นี่ และ เป็นที่ๆ ทำให้ สังขละบุรี มีเสน่ห์อย่างที่ไม่มีที่ใดเทียบได้ มีความสวยงาม ท่ามกลางบรรยากาศ และทิวทัศน์ ที่เปลี่ยนไป ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะปรากฏภาพความงดงาม ต่างๆ กันไป ในแต่ละช่วงเวลา และ ในแต่ละวันด้วย

ก่อนกลับ ท่านอาจารย์ดวงเดือน ได้กรุณาถามข้าพเจ้าว่า เป็นอย่างไรบ้างคะ? คุณวันชัย ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านว่า ดีมากๆ ครับ ท่านถามว่า ปีหน้าจะมาอีกไหม? เชิญทุกท่าน ดูภาพทั้งหมดที่ผ่านมา และ ต่อๆ ไป แทนคำตอบนะครับ

ขออนุโมทนาคุณยุพิน สหายธรรมชาวกาญจนบุรี ผู้มีศรัทธาเดินทางมาเองจากกรุงเทพฯ เพื่อมาต้อนรับ และ ร่วมเจริญกุศล พร้อมทั้ง ฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์

ท่านผู้ให้ ก่อนเดินทางกลับ ท่านก็ยังให้ แม่ครัว แม่บ้าน เด็กๆ ทุกคนในรีสอร์ท ฯลฯ ล้วนได้รับความเมตตาจากท่าน ทั้งสิ้น

จุดประสงค์ของการเจริญกุศลในพระพุทธศาสนานั้น เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะมีกิเลสมาก จึงทำทุจริต ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เบียดเบียนกัน ทุกคนคงไม่อยากเป็นอย่างนั้น คงไม่อยากให้กิเลสของตนเอง แรงถึงขั้นกระทำกรรมเช่นนั้นลงไป ถ้าไม่เจริญกุศล กิเลสก็มีแต่จะหนาขึ้นทุกวัน เห็นสิ่งที่สวยก็ชอบ ได้ยินเสียงที่ดีก็พอใจ เท่าไหร่ก็ไม่พอ มีแต่ความปรารถนา มีแต่ความต้องการ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่เจริญกุศล ก็จะมีแต่เพิ่มกิเลส และ สะสมกุศลมากขึ้น ในวันหนึ่งๆ ลองพิจารณาดูว่ากุศลมาก หรือ กุศลมาก

ฉะนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะเจริญกุศลทางใด ก็ไม่ควรให้โอกาสนั้นผ่านไป เพราะ เมื่อกุศลไม่เกิดกุศลก็เกิด ฉะนั้น ผู้ที่เห็นภัยของกุศล จึงเจริญกุศล เพื่อละกุศล ให้เบาบางลง จะด้วยการเจริญกุศลทางหนึ่งทางใดก็ตาม
(ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ครั้งที่ ๗๕)

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการ ของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่วันชัย ภู่งาม และ ทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
raynu.p
วันที่ 19 ก.พ. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

กราบอนุโมทนาค่ะ

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kanchana.c
วันที่ 19 ก.พ. 2556

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตค่ะทั้งของอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม และน้องวันชัย ภู่งาม

ที่นำเรื่องและภาพที่ทำให้เกิดปีติในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 19 ก.พ. 2556

กราบอนุโมทนาในกุศลของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 19 ก.พ. 2556

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตอันเป็นทานบารมีของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม

ท่านอาจารย์สุจินต์ และคณะทุกๆ ท่าน ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย มา ณ กาลครั้งนี้ครับ

ได้เห็นภาพโดยละเอียดเสมือนได้ร่วมไปกับคณะด้วยเลยทีเดียวนะครับ

และที่สำคัญฝีมือการเก็บภาพเด็กๆ กิจกรรมทั้งหมด และความปลาบปลื้มของทุกๆ ท่าน

ทำให้มีความรู้สึกพลอยปิติยินดีไปกับเด็ก และทุกๆ ท่าน ในครั้งนี้เป็นอย่างมากจริงๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 20 ก.พ. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
panya13
วันที่ 20 ก.พ. 2556

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

กราบอนุโมทนาทานบารมีของอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม และขออนุโมทนา

ในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แก่นไม้หอม
วันที่ 20 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นััน

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Noparat
วันที่ 20 ก.พ. 2556

อาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ชื่อนี้ขอจดจำบูชาพระคุณ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kulwilai
วันที่ 20 ก.พ. 2556

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพ และกราบอนุโมทนาในกุศล

ทุกประการของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ขอขอบคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิต

ของคุณวันชัย และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 20 ก.พ. 2556

ถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในมหาทานแก่เพื่อนมนุษย์ที่หลบภัยจากบ้านเกิดมาอาศัยแผ่นดินไทยนับเป็นโชคดีมากที่ได้พบกัลยาณมิตรผู้เมตตาสูง..เช่นอ.ดวงเดือน บารมีธรรม..ฯ.ดิฉันสังเกตได้ว่าท่านอาจารย์มีความสุขในการให้ที่เปี่ยมด้วยเมตตาที่สูงมากขอกราบอนุโมทนาท่านและผู้มีส่วนในการเจริญกุศลทุกท่านคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
orawan.c
วันที่ 20 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย ภู่งาม และ ทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
jaturong
วันที่ 20 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
umpaikanit
วันที่ 20 ก.พ. 2556

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ ดิฉันไม่ค่อยได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม

กับทางมูลนิธิฯมากนัก แต่จะเข้ามาอ่านในเว็บไซด์บ่อยๆ ทุกครั้งที่เข้ามา

จะมีความอิ่มอกอิ่มใจและมีกำลังใจที่จะศึกษาธรรมะและเจริญกุศลต่อๆ ไปค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
rrebs10576
วันที่ 21 ก.พ. 2556

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ผิน
วันที่ 21 ก.พ. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
kinder
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
napachant
วันที่ 21 ก.พ. 2556

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านคะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
Jans
วันที่ 24 ก.พ. 2556

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย ภู่งาม และสหายธรรมทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
พรรณี
วันที่ 25 ก.พ. 2556

ขอกราบอนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
Guest
วันที่ 7 มี.ค. 2559

กราบขอพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
jirat wen
วันที่ 4 มี.ค. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ