จริงหรือ สามารถละอาสวะ ละสังโยชน์ 3 ได้ด้วยการมนสิการ
อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น ขออธิบายความด้วยครับ เพียงด้วยการคิด (มนสิการ) ก็ละสังโยชน์ได้จริงหรือไม่? ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจมนสิการให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นก่อน ครับ มนสิการเจตสิก คือ เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกๆ ประเภท ทำหน้าที่ใส่ใจในอารมณ์นั้น ซึ่งขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นก็มีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าเป็นอโยนิโสมนสิการ การใส่ใจโดยไม่แยบคาย ทำให้จิตเป็นอกุศล และ ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นก็มีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย โดยเป็นโยนิโสมนสิการ คือ ความใส่ใจโดยแยบคาย จึงทำให้จิตเป็นกุศล ซึ่งโยนิโสมนสิการ เป็นมนสิการเจตสิกไม่ใช่ปัญญา ที่เป็นความเห็นถูก แต่เพราะอาศัยการใส่ใจด้วยดี ทำจิตเป็นกุศล และเกื้อกูลต่อการเกิดปัญญาด้วย ครับ และ กุศลจิตทุกประเภท ย่อมจะมีมนสิการเจตสิกที่เป็นโยนิโสมนสิการ การใส่ใจด้วยดีในทุกๆ กุศลจิต และ ทุกๆ ระดับของจิตที่เป็นกุศล ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า มนสิการเจตสิกที่เป็นโยนิโสมนสิการ จะต้องมีหลายระดับด้วย เพราะกุศลจิตมีหลายระดับ กุศลจิตขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นภาวนา เป็นต้น
โยนิโสมนสิการที่เป็นมนสิการเจตสิก ก็มีทั้งระดับทาน ระดับศีล ระดับภาวนา มีการเจริญสติปัฏฐาน และ แม้ขณะที่เกิดโลกุตตรมรรคที่เป็นโลกุตตรกุศล ก็มีมนสิการเจตสิกที่เป็นโยนิโสมนสิการด้วย ครับ ขณะที่คิดถูกต้อง คิดพิจารณาธรรม จิตเป็นกุศลในขณะนั้น ก็มีมนสิการเจตสิกที่เป็นโยนิโสมนสิการ และ ก็มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ที่เป็นปัญญาขั้นคิดนึก และ โยนิโสมนสิการในขั้นคิดนึก คิดถูก ซึ่ง ปัญญา และ กุศลเพียงขั้นคิดนึก ที่พิจารณาโดยแยบคาย ไม่สามารถละกิเลสได้จริง เพียงแค่ค่อยๆ รู้ขึ้นเท่านั้น เพราะการจะดับกิเลสได้ จะต้องเป็นปัญญามนสิการ และ กุศลขั้นโลกุตตร ครับ
ดังนั้น มนสิการเจตสิก ไม่ใช่มีเพียงขั้นคิดนึกเท่านั้น เพราะตามที่กล่าวแล้วว่ามนสิการเจตสิกเกิดกับจิตที่เป็นกุศลจิตทุกระดับ แม้แต่โลกุตตรกุศล มนสิการเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย คือ เป็นโยนิโสมนสิการระดับโลกุตตระ ที่สามารถดับกิเลสได้ และ มนสิการที่เกิดกับการเจริญสติปัฏฐาน คือ ขณะที่ปัญญาเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น มีมนสิการที่เป็นโยนิโสมนสิการ และ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ซึ่งโยนิโสมนสิการที่เกิดกับสติปัฏฐาน ที่มีปัญญา จะค่อยๆ ละกิเลสไปทีละน้อย จนถึงโลกุตตรกุศลที่เป็นมรรคจิต มีโสดาปัตติมรรค ย่อมดับกิเลส คือ สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
ดังนั้น จากข้อความที่ว่า อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น คำว่า มนสิการ ในที่นี้ จึงหมายถึง มนสิการเจตสิก ที่เป็นโยนิโสมนสิการ ที่เกิดร่วมกับปัญญาในขั้นการเจริญสติปัฏฐาน ที่ขณะนั้น ไม่ได้คิดนึก ไม่ใช่ มนสิการโดยการคิด แต่มนสิการเจตสิกในขณะนั้น ทำหน้าที่ใส่ใจด้วยดีในอารมณ์นั้น เช่น ใส่ใจด้วยดีในสภาพธรรมที่กำลังเห็น ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา และอาศัยปัญญาที่รู้ความจริงๆ ที่เกิดร่วมกับมนสิการเจตสิก จึงค่อยๆ ละอาสวะกิเลสไปทีละน้อย จนละสังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ได้หมดสิ้น เมื่อถึงโลกุตตรมรรคได้ในที่สุด ครับ
ขออนุโมทนา
มีข้อความในพระสูตรที่ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งคุณซารายกขึ้นสนทนาน่าสนใจครับ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ หน้า ๓๔๗
๙. นาวาสูตร ว่าด้วยความสิ้น และไม่สิ้นไปแห่งอาสวะ [๒๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ถึงจะเกิดความปรารถนาว่า ไฉนหนอ จิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่นก็จริง. แต่ที่แท้จิตของเขาก็ไม่หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยืดมั่นได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะไม่ได้อบรมแล้ว. เพราะไม่ได้อบรมอะไร เพราะไม่ได้อบรมสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ (และ) มรรคมีองค์ ๘ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฟองไข่ ของแม่ไก่ ๘ ฟองบ้าง ๑๐ ฟองบ้าง ๑๒ ฟองบ้าง ที่แม่ไก่ไม่ได้นอนทับไม่ได้กก ไม่ได้ฟัก ถึงแม่ไก่นั้น จะเกิดความปรารถนาอย่างนี้ขึ้นว่าไฉนหนอ ลูกของเรา จะพึงใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปาก เจาะกะเปาะฟอง ออกมาโดยสวัสดี ก็จริงแล แต่ทว่า ไม่ควรที่ลูกไก่เหล่านั้นจะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปาก เจาะกะเปาะฟองออกมาโดยสวัสดี ได้. ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าฟองไข่ ของแม่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง แม่ไก่ไม่ได้นอนทับ ไม่ได้กกไม่ได้ฟักเลย ฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ได้ประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ถึงจะเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ จิตของเรา จะพึงพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ก็จริงแล แต่ที่แท้ จิตของเธอจะไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่นได้. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะไม่ได้อบรมแล้ว. เพราะไม่ได้อบรมอะไร เพราะไม่ได้อบรม สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และ มรรคมีองค์ ๘
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ถึงจะไม่เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ไฉนหนอจิตของเรา จะพึงพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่นก็จริงแลถึงกระนั้น จิตของเธอก็จะหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่นได้. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะได้อบรมแล้ว.เพราะได้อบรมอะไร เพราะได้อบรม สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และ มรรคมีองค์ ๘
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฟองไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ที่แม่ไก่นอนทับแล้ว กกแล้ว ฟักแล้ว ถึงแม้แม่ไก่นั้น จะไม่พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ลูกของเรา จึงจะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปาก ทำลายกะเปาะฟองออกมาโดยสวัสดี ก็จริงแล แต่ทว่าลูกไก่เหล่านั้น ควรจะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปาก ทำลายกะเปาะฟองออกมาโดยสวัสดี. ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะว่า ฟองไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง แม่ไก่ได้นอนทับ ได้กก ได้ฟักมาแล้วอย่างนั้น แม้ฉันใด.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ จิตของเรา จะพึงพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่นก็จริงแล แต่จิตของเธอก็จะพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่น. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะได้อบรมแล้ว. ถามว่า เพราะได้อบรมอะไร แก้ว่า เพราะได้อบรมสติปัฏาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ (และ) มรรคมีองค์ ๘
พระสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงอธิบายได้อย่างชัดเจนนะครับ ว่าการละอาสวะได้นั้น ต้องมีปัจจัยหลายประการที่ได้อบรมแล้วเพื่อเกื้อกูลให้ปัญญาเจริญขึ้น เพียงแต่ปรารถนาหรือมนสิการด้วยการคิด ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จำเป็นที่ต้องเข้าใจคำว่า มนสิการโดยแยบคาย ให้ถูกต้อง จริงดังที่อาจารย์ผเดิมอธิบายข้างต้น และทำความเข้าใจในพระสูตรอื่นๆ ที่ทรงชี้ให้เห็นถึงเหตุแห่งการละอาสวะร่วมด้วยครับ
ดังนั้น จึงตอบคำถามท่านเจ้าของกระทู้ที่ถามว่า เพียงด้วยการคิด (มนสิการ) ก็ละสังโยชน์ได้จริงหรือไม่ ได้ตามสมควรนะครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยครับ
สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริง สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม คือ จิตและเจตสิก เกิดพร้อมกัน ไม่ได้เกิดเพียงลำพังอย่างเดียว จิตก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกก็เกิดร่วมกับจิต ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ที่จะเป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้น ตั้งแต่พระโสดาบัน ซึ่งดับกิเลสได้ในระดับหนึ่ง จนกระทั่งถึงดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไป ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ จนกว่าปัญญาจะถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อม ซึ่งแน่นอนว่าไม่ขาดการใส่ใจด้วยดีในขณะนั้น ที่เป็นไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญา พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญา เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ตั้งแต่ต้นจนจบ จนกระทั่งสามารถออกไปจากสังสารวัฏฏ์ได้ ดังนั้น สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมก็ต้องเกิดร่วมกันตามสมควร เป็นไปตามความเป็นจริงของธรรม ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ถ้าดำเนินตามหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือ การอบรมเจริญปัญญา ในที่สุด ก็จะถึงความบริบูรณ์ของปัญญาที่สามารถดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ แต่ถ้าไปทางอื่นที่ไม่ใช่หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ มีแต่จะเพิ่มกิเลสให้หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ไม่ใช่ตัวตนที่จะพยายามมนสิการ เพราะเป็นอนัตตา ถ้าใส่ใจในอารมณ์ด้วยความเป็นตัวตน ไม่ใช่หนทางดับทุกข์ ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และ ขออนุโมทนากับทุกท่าน และผู้ร่วมเดินทาง ที่นำพระสุตตันตปิฎกฯ ที่พระพุทธองค์ทรงอุปมาเรื่อง ไก่ฟักไข่ กับเรื่องดังกล่าว ทำให้เห็นว่าผู้มีปัญญามาก ย่อมแสดงพระธรรม หรืออธิบายสิ่งที่ยากให้บุคคลอื่นได้มีโอกาสเข้าใจตามได้ (ถ้าบุุคลนั้นมีปัญญาพอจะรู้ตามได้)
ขออนุโมทนา