กุศลกรรม-อกุศลกรรม (บุญ-บาป) ผลคือวิบากกรรม ?

 
Pure.
วันที่  21 ก.พ. 2556
หมายเลข  22526
อ่าน  22,328

-บุญและบาปถ้ากระทำแล้วทั้งหนักและเบาผลคือวิบากกรรมใช่หรือไม่?

-วิบากกรรมที่ได้รับจะมาในรูปแบบไหนบ้าง?

-การรับวิบากกรรมจะมีในชาตินี้หรือชาติหน้า?

-พอจะมีวิธีใดบ้างที่จะรู้และได้เตรียมตัวรับวิบากกรรมนั้นๆ ?

-การที่จะทำให้วิบากกรรมเบาบางลงได้นั้นมีหรือไม่?

-อาจารย์เคยพูดว่ากรรมใดใครก่อผู้นั้นต้องรับ นั่นคือวิบากกรรมหรือไม่?

-ผมเห็นผู้คนทุกวันนี้ต่างก็วิ่งแก้กรรม หนีกรรม ล้างกรรม แก้ชง มันเป็นไปได้หรือไม่?

ขอรบกวนอาจารย์แค่นี้ก่อนครับ อนุโมทนาบุญ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-บุญและบาปถ้ากระทำแล้วทั้งหนักและเบาผลคือวิบากกรรมใช่หรือไม่? และ

- วิบากกรรมที่ได้รับจะมาในรูปแบบไหนบ้าง?

บุญหรือกุศลเป็นสภาพธรรที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ดี อันมีสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย และขณะนั้น ก็ไม่มีอกุศลที่เป็นโลภะโทสะและโมหะ เกิดขึ้นเลยในขณะที่เป็นบุญครับ

บุญเป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรกด้วยอำนาจของอกุศลธรรม) ขณะที่เป็นบุญ ขณะนั้นจิตสะอาดจากอกุศล คือ โลภะ โทสะ และโมหะ บุญหรือสภาพจิตที่ดี ที่เป็นกุศล มีหลายประการตามระดับและลักษณะของบุญครับ

บาป คือ สภาพธรรมที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลธรรม นำมาซึ่งสิ่งที่มีโทษ เป็นทุกข์

บุญและบาป ที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม เมื่อทำแล้ว เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ย่อมเกิดวิบาก คือ เกิดผลของกรรม ซึ่งผลของกรรม ของกุศลกรรมและอกุศลกรรม ที่เป็นบุญและบาป คือ รูปและนาม ที่เป็นจิต เจตสิก ยกตัวอย่างเช่น การให้ทานที่เป็นกุศลกรรม กรรมนี้เมื่อให้ผล ย่อมทำให้เกิดปฏิสนธิจิต คือ เกิดในสุคติภูมิ เช่น เกิดเป็นมนุษย์ ปฏิสนธิจิตที่เกิดขึ้น ที่สมมติเรียกว่าเกิด ก็เป็น จิต เจตสิก ปฏิ สนธิจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยจึงเป็นวิบาก ที่เป็นผลของกรรมจากการกระทำกุศลกรรม มีการให้ทาน ไม่ใช่มีเพียงแต่นามเท่านั้น ผลของกรรมที่เป็นกุศลกรรม ก็ทำให้เกิดรูปด้วย คือ มีรูป ที่เป็น ตา หู จมูก ลิ้น กายในขณะนั้นที่เกิดพร้อมกับนาม

สรุปได้ว่า กุศลกรรมที่เป็นบุญ และ อกุศลกรรมที่เป็นบาป สามารถให้ผลของกรรมที่เป็นรูปและนาม ที่เป็น จิต เจตสิก ได้ เมื่อมีรูปนามตั้งเกิดขึ้น ที่เกิดจากกรรมที่ได้ทำมา ก็ทำให้บัญญัติเรียกว่า เกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นสัตว์เดรัจ ฉาน ครับ

ขณะที่เป็นวิบาก ผลของกรรมในชีวิตประจำวัน คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ก็เพราะเกิดจากการทำบุญ และ การทำบาป เมื่อบุญให้ผล ก็ทำให้เกิดวิบาก ผลของกรรม คือ เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี เป็นต้น แต่ถ้าบาปให้ผล ก็ทำให้ได้เห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี เป็นต้น ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

-การรับวิบากกรรมจะมีในชาตินี้หรือชาติหน้า?

การรับผลของกรรม เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากได้ แต่ก็แล้วแต่กรรมที่ทำและเหตุปัจจัยอื่นๆ เช่น คติ สถานที่เกิด อุปธิ รูปร่างหน้าตา กาลเวลาที่เกิดในสมัยใด และ ปโยคะ ความเพียรที่เป็นไปในทางทีดีหรือไม่ดี ย่อมมีผลต่อการให้ผลของกรรม ว่าจะให้ชาตินี้ ชาติหน้า หรือ ชาติถัดๆ ไป

ดังนั้น การให้ผลของกรรม ขึ้นอยู่กับประเภทของกรรม และเหตุปัจจัยอื่นๆ ตามที่กล่าวมา ซึ่งในขณะที่ทำกรรม มีจิตที่เรียกว่าชวนจิต 7 ขณะ จิตขณะที่ 1 จะให้ผลในชาตินี้ ชวนจิตขณะที่ 7 ให้ผลในชาติหน้า ชวนจิตขณะที่ 2-6 ให้ผลในชาติถัดๆ ไป

ส่วนประเภทของกรรม กรรมที่เป็นกรรมหนัก มีอนันตริยกรรม มีการฆ่าบิดา มารดา เป็นต้น ย่อมให้ผลในชาติหน้า และ ถ้าเป็นฝ่ายกุศลกรรม ที่เป็นกรรมหนัก เช่น เจริญฌาน ไม่เสื่อม ย่อมให้ผลเกิดในพรหมโลกในชาติหน้าเช่นกัน ครับ

ส่วนกรรมอื่นๆ ก็ให้ผลตามสมควร อาจจะเป็นชาตินี้ ชาติหน้า และ ชาติถัดๆ ไปก็ได้ ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

-พอจะมีวิธีใดบ้างที่จะรู้และได้เตรียมตัวรับวิบากกรรมนั้นๆ ?

ไม่มีใครรู้ได้ว่า ผลของกรรมที่เป็นวิบากจะให้ผลเมื่อไหร่ ตอนไหน อย่างไร แม้ แต่ต่อไป จะเห็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ได้ยินเสียงที่ดีหรือไม่ดี ที่เป็นวิบากผลของกรรมในชีวิตประจำวัน ก็ไม่มีใครรู้ได้ ดังนั้นไม่มีใครห้ามวิบาก แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถห้ามวิบากของพระองค์ได้ และแม้หากรู้จริงแต่ไม่มีปัญญา ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ในการรู้นั้นเลย แต่สิ่งที่สำคัญ ที่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม คือ ให้เข้าใจความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะการเข้าใจความจริง หมายถึงปัญญาที่เกิด และปัญญาที่เกิดนั้น จะละกิเลส ที่เป็นหตุให้ทำบาปกรรมต่างๆ อันเป็นเหตุให้ได้รับวิบาก

หนทางที่ถูกต้อง คือ เข้าใจวิบาก คือ สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะดี หรือไม่ดี เช่น เห็น ได้ยิน ในขณะนี้ ว่าความจริง คือ ธรรมไม่ใช่เรา การเข้าใจเช่นนี้ ย่อมละความไม่รู้และละกิเลส และละต้นเหตุให้เกิดวิบาก ครับ

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อได้ศึกษา ก็จะทำให้เข้าใจความจริงและ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และ อบรมเหตุให้ถูกต้อง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

-การที่จะทำให้วิบากกรรมเบาบางลงได้นั้นมีหรือไม่?

การจะทำให้วิบากรรมให้เบาบางลงนั้นเป็นไปได้ แต่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย เช่น การทำกุศลกรรมที่มีกำลัง แต่เหตุเหล่านี้ ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรม จึงไม่สาม ารถที่จะบังคับให้เกิดขึ้นได้ตามใจชอบ หนทางที่ถูก เริ่มจากเดี๋ยวนี้ ที่จะสำเหนียกในการศึกษาอบรมปัญญามากขึ้น เพราะปัญญาที่เกิดขึ้น จะเป็นเครื่องนำทางให้เจริญกุศล และ ละเว้นสิ่งที่ไม่ดีทาง กาย วาจา ใจ มากขึ้น อันเป็นเหตุให้ทำบาปน้อยลง และได้รับผลของกรรมที่ไม่ดีน้อยลงด้วย ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

-อาจารย์เคยพูดว่ากรรมใดใครก่อผู้นั้นต้องรับ นั่นคือวิบากกรรมหรือไม่?

เมื่อมีการทำกรรม ก็ต้องมีผลของกรรมที่เป็นวิบาก ซึ่งตามที่กล่าวแล้ว ผลของกรรม ก็มีทั้งนามที่เป็น จิต เจตสิก และ รูปด้วย ดังนั้น กรรมใดใครก่อ ที่เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ผู้นั้นต้องได้รับกรรม ได้รับกรรม คือ ได้รับผลของกรรม ที่เป็น จิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้น ครับ สัตว์ทั้งหลาย จึงมีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทาย าทของกรรม

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

-ผมเห็นผู้คนทุกวันนี้ต่างก็วิ่งแก้กรรม หนีกรรม ล้างกรรม แก้ชง มันเป็นไปได้หรือไม่?

ประเด็นการแก้กรรม สิ่งเหล่านี้มีได้ เพราะอาศัยความไม่รู้ เมื่อไม่รู้ย่อมเกิดโลภะ ความยินดี พอใจ ติดข้อง ในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดี เมื่อยินดแล้ว ย่อมหวงแหน ไม่อยากเสียสิ่งเหล่านี้ไป และอยากได้มาซึ่งสิ่งที่ดีๆ อีก ไม่รู้จบ

เพราะฉะนั้น จึงหาวิธีอะไรก็ได้ ที่สำคัญว่า จะนำมาซึ่งสิ่งที่ดีๆ และ ไม่นำมาซึ่งสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น จึงมีความคิดที่ไม่ถูกต้อง คือ การแก้กรรม เพื่อที่จะทำให้ไม่ต้องได้รับสิ่งที่ไม่ดีจากสิ่งที่ได้กระทำลงไป

เมื่อยังไม่รู้จักแม้แต่คำว่า กรรม คือ อะไร ก็ไม่สามารถที่จะไปแก้ในสิ่งที่ไม่รู้ และ เมื่อทำด้วยความไม่รู้ด้วยกิเลส แทนที่จะแก้กรรม ขณะนั้นก็ก่อกรรมใหม่ คือ กรรมที่ทำด้วยความเห็นผิด เพราะกรรม คือ เจตนาเจตสิก ที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศลจิตอกุศล จิตขณะที่ทำกรรม คือ เกิดกุศลกรรมทางกาย วาจาและใจ แต่เป็นกรรมดี ส่วนขณะที่อกุศลกรรมเกิดทางกาย วาจาและใจ ก็เป็นกรรมที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น การกระทำทางกาย วาจาและใจ ด้วยความเห็นผิดที่แก้กรรม ก็เพิ่มอกุศลกรรม เพิ่มขยะในใจ ไม่สามารถที่จะแก้กรรมได้ กลับเพิ่มอกุศลกรรมไว้ในจิตใจ อันจะเป็นปัจจัยให้ทำบาป และ ได้รับผลไม่ดีต่อไปในอนาคตด้วย ครับ

ไม่มีใครแก้กรรม หนีไปจากกรรมที่ได้ทำมาได้ ตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิด เปรียบเหมือนสุนัขล่าเนื้อที่วิ่งไล่ตาม ทันเมื่อใดก็กัดเมื่อนั้น กรรมที่ได้ทำแล้ว เมื่อถึงเวลาให้ผลก็สามารถให้ได้ ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่า ควรที่จะแก้ที่ปลายเหตุ คือ กรรมที่ได้ทำแล้ว ซึ่งไม่สามารถแก้ได้ หรือ ควรที่จะแก้ที่ต้นเหตุ คือ เหตุให้มีการทำอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่กลัวกรรมไม่ดีก็ไม่ควรทำสิ่งที่ไม่ดี แต่การจะไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีได้ก็ต้อง ไม่มีกิเลส อันเป็นต้นเหตุของทุกข์ทั้งปวง

แทนที่จะแก้กรรม ก็แก้ที่ต้นเหตุ คือ กิเลสที่ทำให้เกิดกรรม มีการทำอกุศลกรรม ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถหลีกหนีกรรมที่พระพุทธองค์เคยทำไว้ในอดีตชาติได้ แต่พระองค์ทรงตรัสรู้ความจริงและดับกิเลส ทำให้ไม่ต้องมารับกรรมอีก อันเป็นวิธีที่แก้กรรมที่ถูกต้อง เพราะจะไม่มีการทำกรรมอีก เมื่อไม่มีกรรมก็ไม่ต้องทำกรรม เมื่อไม่มีการทำกรรมก็ไม่ต้องมาแก้กรรม ซึ่งการแก้กรรม ก็ต้องแก้ด้วยปัญญา ด้วยการสางรกชัฎ คือ กิเลส ด้วยปัญญาที่อบรมอย่างยาวนานจนหมดสิ้น ครับ ขออนุโมทนา

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ในเรื่อง แก้กรรม ดังนี้ ครับ

จากการสนทนาธรรม ที่ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

ท่านอาจารย์สุจินต์ได้ถามผู้ถามเรื่องการแก้กรรมว่า กรรมแก้ได้อย่างไร อาห ารที่ทานไปแล้ว ใครอิ่ม ใครทานคนนั้นก็อิ่ม เขาก็บอกว่าแก้กรรมโดยการสวดมน ต์ ท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นคนไทยไม่มีบาปเลย แค่สวดมนต์ก็แก้กรรมได้ ท่านอาจารย์ถามต่อว่า ใครให้แก้กรรม เขาเป็นใครที่จะให้คนนี้แก้กรรม เป็นไปได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นทุกคนหมดกรรมกันหมด ต้องโทษคนที่ทำตาม ที่ไปเชื่อเขาเอง แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงประชวร ท่านพระโมคคัลลนะถูกทุบ..... แล้วใครเป็นคนให้แก้กรรม

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

-บุญและบาปถ้ากระทำแล้วทั้งหนักและเบาผลคือวิบากกรรมใช่หรือไม่?

กรรมที่ทำสำเร็จแล้ว ทั้งที่เป็นกุศลกรรม (บุญ) และอกุศลกรรม (บาป) ตราบใดที่ยังมีการเกิด อันเนื่องมาจากการที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่สามารถดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น ก็ย่อมเป็นเหตุให้ผล คือวิบากเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อศึกษาพระธรรมไปตามลำดับก็จะเข้าใจว่า กรรมดี ให้ผลที่ดี น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ ส่วนกรรมที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลกรรม หรือ ที่เป็นบาปนั้น ก็ให้ผลเป็นผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว คือ วิบากจิตและเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

-วิบากกรรมที่ได้รับจะมาในรูปแบบไหนบ้าง?

การได้รับผลของกรรมหรือที่เรียกว่าวิบากนั้น มีทั้งกุศลวิบาก (ที่เป็นผลของกุศลกรรม) และมีทั้งที่เป็นอกุศลวิบาก (ที่เป็นผลของอกุศลกรรม) ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย ขณะที่ได้เห็นในสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ไพเราะ ได้กลิ่นที่ดี ได้ลิ้มรสที่ดี ได้ถูกต้องกระทบสัมผัสในสิ่งที่ดี นี้เป็นผลของกุศลกรรม ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว ก็ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายที่ไม่ดี โดยไม่มีใครทำให้เลย ซึ่งหลากหลายมาก ตามควรแก่กรรมที่ได้กระทำแล้ว ถ้าพูดถึงจิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ เป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมใด ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเกิดในอบายภูมิเป็นผลของอกุศลกรรม

-การรับวิบากกรรมจะมีในชาตินี้หรือชาติหน้า?

กรรมที่ได้กระทำมาแล้วมีมากมาย ทั้งที่เป็นอกุศลกรรมและกุศลกรรม ตราบใดที่ยังไม่สิ้นสุดการเกิด ยังมีเหตุที่จะทำให้ได้รับผลของกรรม ทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไปด้วย

-พอจะมีวิธีใดบ้างที่จะรู้และได้เตรียมตัวรับวิบากกรรมนั้นๆ ?

เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องอุปก าระเกื้อกูลที่ดี ทำให้ได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อได้รับผลของกุศลกรรมก็จะไม่มัวเมา ในทางตรงกันข้าม ถ้าได้รับผลของอกุศลกรรม ก็เข้าใจถูก เห็นว่า เป็นเพราะกรรมของตนเองที่ได้กระทำมาแล้วถึงคราวให้ผล ก็จะไม่โทษคนอื่น ไม่โกรธ ไม่เศร้าโศกเสียใจ ซึ่งจะแตกต่างไปจากขณะที่ไม่ได้เข้าใจพระธรรมอย่างแน่นอน การเตรียมตัวก็คือ ควรที่จะได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจ

-การที่จะทำให้วิบากกรรมเบาบางลงได้นั้นมีหรือไม่?

การให้ผลของกรรมไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และไม่สามารถรู้ได้ว่ากรรมใดจะให้ผลเมื่อใด ที่สำคัญที่สุดแล้ว คือ ทำดีทุกโอกาส ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม และควรที่จะได้เข้าใจว่าหน ทางที่จะเป็นไปเพื่อสิ้นกรรมและผลของกรรม ก็คือ การอบรมเจริญปัญญา ตามหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

-อาจารย์เคยพูดว่ากรรมใดใครก่อผู้นั้นต้องรับ นั่นคือวิบากกรรมหรือไม่?

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

"ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ถ้าจะพิจารณาจริงๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า รูปร่างหน้าตา ชีวิตความเป็นอยู่ จนกระทั่งการได้ลาภ การเสื่อมลาภ การได้ยศ การเสื่อมยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา ล้วนแต่เป็นผลซึ่งเกิดจากเหตุ คือ กรรมในอดีตที่แตกต่างกัน เพราะเหตุว่า เหตุในอดีตที่ต่างกัน ทำให้ผลในปัจจุบันต่างกัน ตั้งแต่เกิดจนกระ ทั่งสิ้นชีวิต และไม่ใช่เพียงการได้รับผลของกรรมในปัจจุบันเท่านั้นที่แตกต่างกัน แม้เหตุ คือ กรรมในปัจจุบัน ก็หลากหลายแตกต่างกัน ดีบ้าง ชั่วบ้าง มากน้อยตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นความวิจิตรของจิต เพราะการกระทำทุกอย่างที่ต่างกันนี้เอง จึงเป็นเหตุทำให้เกิดผลข้างหน้าแตกต่างกันออกไปด้วย ตามสมควรแก่กรรม"

โดยส่วนตัวแล้ว ข้อความต่อไปนี้ ประทับใจมาก เก็บไว้ในหทัย ครับ

อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว สำเร็จแล้ว จะแก้อย่างไร? แก้ไม่ได้เลย นอกจากสะสมกรรมดีต่อไป เพราะว่าเหตุดีต้องให้ผลที่ดี กรรมดีย่อมให้ผลที่ดี,

ทำอกุศลกรรมแล้วไปสะเดาะเคราะห์ อกุศลกรรมที่ทำแล้วจะไม่ให้ผลหรือย่างไร?

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๘

-ผมเห็นผู้คนทุกวันนี้ ต่างก็วิ่งแก้กรรม หนีกรรม ล้างกรรม แก้ชง มันเป็นไปได้หรือไม่?

เพราะไม่ได้เข้าใจพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็มีการชักช วนให้ไปทำอะไรด้วยความไม่รู้มากมาย และผู้ที่ถูกชวนก็ไม่รู้ ก็ไปทำตามๆ กันไปด้วยความไม่รู้ ตามความเป็นจริงแล้ว อกุศลกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว ไม่มีใครสาม ารถไปแก้หรือลบล้างได้ เกิดแล้ว สะสมแล้ว ถ้าถึงคราวที่กรรมจะให้ผล จะอยู่ที่ ไ หนก็ไม่พ้น ที่ดีที่สุดแล้ว คือ เราไม่สามารถจะไปย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ แต่ขณะนี้ สามารถเริ่มสะสมสิ่งที่ดีใหม่ได้ ตั้งต้นใหม่ด้วยกุศลธรรม และสิ่งที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ไม่ให้่หลงผิด ก็คือ ความเข้าใจพระธรรม ซึ่งจะทำให้มีความมั่นคงในความดี มั่นคงในกรรมและผลของกรรมยิ่งขึ้น ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 21 ก.พ. 2556

การแก้วิบากให้เบาบางก็ต้องทำกุศลบ่อยๆ ส่วนกรรมอะไรจะให้ผล ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Pure.
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอบคุณครับอาจารย์ เข้าใจว่าต้องทำกรรมดีให้มากไว้ ผลของอกุศลกรรมก็จะเบาบางลง เป็นเพราะกุศลกรรมมีกำลังมากกว่า...?

ขอเจริญในธรรมครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นิรมิต
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนา และขอกราบขอบพระคุณท่านวิทยากรเป็นอย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 22 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 22 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
j.jim
วันที่ 22 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
rrebs10576
วันที่ 24 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
orawan.c
วันที่ 6 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
one_someone
วันที่ 7 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ