ธุดงค์ และ การฝัน

 
นิรมิต
วันที่  25 ก.พ. 2556
หมายเลข  22533
อ่าน  2,492

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

อยากขอเรียนถามว่า คำว่า ธุดงค์ หรือ ธุดงควัตร ตามความเป็นจริงแล้ว หมายถึงอย่างไร มีปฏิปทาอย่างไร อย่างไรจึงชื่อว่าธุดงค์ แล้วธุดงค์ในครั้งโน้น และธุดงค์ในสมัยนี้ เหมือนหรือต่างกันโดยประการอย่างไรบ้างครับ

อีกคำถามคือ อยากทราบว่า เหตุไรพระอรหันต์ จึงไม่สามารถฝันด้วยมหากิริยาจิตได้ครับ?

กราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธุดงค์ คือ ข้อปฏิบัติละเอียด เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อความมักน้อยสันโดษ มี ๑๓ ข้อ ซึ่งภิกษุสามารถรักษาได้ครบ ว่าด้วยเรื่องต่างๆ เช่น บิณฑบาต จีวร เสนาสนะ และ อิริยาบถ เป็นต้น สำหรับภิกษุณี สามเณร สามเณรี และคฤหัสถ์ สามารถรักษาได้บางข้อ ลดไปตามลำดับ เช่น ที่คฤหัสถ์รักษาได้ก็มี ทานมื้อเดียว ทานอาสนะเดียว ภาชนะเดียว เป็นต้น (การเดินป่าไม่ปรากฏในธุดงค์ ๑๓) ทั้งหมดเป็นความประพฤติด้วยความเห็นประโยชน์ของการเป็นผู้อยู่ขัดเกลากิเลส ที่จะประพฤติด้วยอัธยาศัย ตัดความยุ่งยาก ดิ้นรนแสวงหาที่ทำให้เสียเวลา หรือประโยชน์อื่นไป

จากคำถามที่ว่า มีปฏิปทาอย่างไร อย่างไรจึงชื่อว่าธุดงค์ ธุดงค์ มี ๑๓ ข้อดังนี้ ครับ

๑. การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คือ การใช้แต่ผ้าเก่าที่คนเขาทิ้งเอาไว้ ตามกองขยะบ้าง ข้างถนนบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง นำผ้าเหล่านั้นมาซัก ย้อมสี เย็บต่อกันจนเป็นผืนใหญ่ แล้วนำมาใช้ งดเว้นจากการใช้ผ้าใหม่ทุกชนิด

๒. การถือผ้า ๓ ผืน (ไตรจีวร) เป็นวัตร คือการใช้ผ้าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น อันได้แก่ สบง (ผ้านุ่ง) จีวร สังฆาฏิ

๓. การถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือ การบริโภคอาหารเฉพาะที่ได้มาจากการรับบิณฑบาตเท่านั้น ไม่บริโภคอาหารที่คนเขานิมนต์ไปฉันตามบ้าน

๔. ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร คือ จะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยคนจน ไม่เลือกว่าอาหารดีไม่ดี มีใครใส่บาตรก็รับไปตามลำดับ ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจไป

๕. ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร คือ ในแต่ละวันจะบริโภคอาหารเพียงครั้งเดียว เมื่อนั่งแล้วก็ฉันจนเสร็จ หลังจากนั้นก็จะไม่บริโภคอาหารอะไรอีกเลยนอกจากน้ำดื่ม

๖. ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร คือจะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น เพื่อไม่ให้ติดในรสชาดของอาหาร

๗. ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือ เมื่อรับอาหารมามากพอแล้ว ตัดสินใจว่าจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้ว หลังจากนั้นถึงแม้มีใครนำอะไรมาถวายเพิ่มอีก ก็จะไม่รับอะไรเพิ่มอีกเลย ถึงแม้อาหารนั้นจะถูกใจเพียงใดก็ตาม

๘. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร คือ จะอยู่อาศัยเฉพาะในป่าเท่านั้น จะไม่อยู่ในหมู่บ้านเล ย เพื่อไม่ให้ความพลุกพล่านวุ่นวายของเมืองรบกวนการปฏิบัติ หรือ เพื่อป้องกันการพอกพูนของกิเลส

๙. ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร คือ จะพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้เท่านั้น งดเว้นจากการอยู่ในที่มีหลังคาที่สร้างขึ้นมามุงบัง

๑๐. ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร คือ จะอยู่แต่ในที่กลางแจ้งเท่านั้น จะไม่เข้าสู่ที่มุงบังใดๆ เลยแม้แต่โคนต้นไม้ เพื่อไม่ให้ติดในที่อยู่อาศัย

๑๑. ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร คือ จะงดเว้นจากที่พักอันสุขสบายทั้งหลาย แล้วไปอาศัยอยู่ในป่าช้า เพื่อจะได้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ประมาท

๑๒. ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร คือ เมื่อใครชี้ให้ไปพักที่ไหน หรือ จัดที่พักอย่างใดไว้ให้ ก็พักอาศัยในที่นั้นๆ โดยไม่เลือกว่าสะดวกสบาย หรือ ถูกใจหรือไม่ และเมื่อมีใครขอให้สละที่พักที่กำลังพักอาศัยอยู่นั้น ก็พร้อมจะสละได้ทันที

๑๓. ถือการนั่งเป็นวัตร คือจะงดเว้นอิริยาบถนอน จะอยู่ใน ๓ อิริยาบถเท่านั้น คือ ยืน เดิน นั่ง จะไม่เอนตัวลงให้หลังสัมผัสพื้นเลย ถ้าง่วงมากก็จะใช้การนั่งหลับเท่า นั้น เพื่อไม่ให้เพลิดเพลินในการนอน

การถือธุดงค์ เป็นไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ขัดเกลากิเลส ไม่ใช่เพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่ามักน้อย สันโดษ เป็นผู้ขัดเกลา จึงเป็นเรื่องของอัธยาศัย ไม่ใช่เรื่ิองที่จะต้องทำตาม และจากคำถามที่ว่า แล้วธุดงค์ในครั้งโน้นและธุดงค์ในสมัยนี้ เหมือนหรือต่างกันโดยประการอย่างไรบ้าง ธุดงค์ ไม่ว่าในสมัยไหน หากถูกต้องก็ต้องเป็นกุศลธรรม เป็นความดีที่เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส เพราะธุดงค์ ก็คือ สภาพธรรมที่ขัดเกลากิเลส เมื่อเป็นสภาพธรรมที่เป็นสภาพธรรมที่ดี ไม่ว่าสภาพธรรมที่ดีเกิดในยุคใด สมัยใด สภาพธรรมนั้นก็ไม่เปลี่ยนไปครับ เพียงแต่ว่าหากว่า บุคคล หรือ ผู้ที่มีความไม่รู้ มากไปด้วยอกุศล ย่อมอ้างชื่อธุดงค์ แต่จิตและข้อวัตรปฏิบัติย่อมไม่เป็นไปตามธุดงค์ เพราะจิตไม่เป็นธุดงค์ เพราะไม่ได้ขัดเกลากิเลสแต่เพิ่มกิเลส ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

จากคำถามที่ว่าเหตุไร พระอรหันต์จึงไม่สามารถฝันด้วยมหากิริยาจิตได้ครับ

การฝันมีเหตุมาจากการมีอนุสัย มีกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ มหากิริยาจิตไม่มีอนุสัยกิเลสแล้ว จึงไ่ม่สามารถฝันได้ด้วยมหากิริยาจิต แต่ฝันได้ด้วยกุศลจิตและอกุศลจิตเท่านั้น เพราะกุศลจิตและอกุศลจิตยังมีอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องที่ยังไม่ได้ดับ และ ยังเพราะมีวิปลาสอยู่จึงทำให้ฝันได้ครับ แต่เมื่อไม่มีวิปลาสเลย วิปลาสก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดมหากิริยาจิต ฝันที่เกิดจากการมีวิปลาส จึงไม่สามารถฝันด้วยมหากิริยาจิตได้ ครับ ดังนั้น พระอรหันต์ไม่ได้ฝันด้วยกิริยาจิตที่เป็นโสภณจิต แต่ไม่ฝันเลย เพราะความฝันอาศัยการที่ยังละวิปลาสไม่ได้จึงมีความฝันขึ้น ครับ ซึ่งโดยความละเอียด แม้ความฝันจะเกิดทางมโนทวาร แต่ความฝันจะต้องอาศัยความวิปลาสที่ยังละไม่ได้ เกิดกุศลจิตและอกุศลจิต เปรียบเหมือนสังขาร คือ กรรมที่เป็นกุศล อกุศล จะมีได้เพราะอาศัยอวิชชาเป็นปัจจัย คือ มีความไม่รู้เป็นปัจจัย แม้คว ามฝันก็ต้องอาศัยความวิปลาสที่ยังละไม่ได้เกิดขึ้น พระอรหันต์แม้มีความคิดนึกทางมโนทวารที่เป็นกิริยาจิต แต่เพราะละวิปลาสได้หมดสิ้น กิริยาจิตจึงไม่ทำกิจให้เกิดความฝันทางมโนทวาร ซึ่งหากพิจารณาความจริงของความฝันไม่ใช่เกิดเพียงกุศลจิตใช่ไหม ครับ แต่เกิดอกุศลจิตเป็นส่วนมาก ดังนั้น จิตจะต้องเกิดดับสลับกันในขณะที่ฝัน เป็นกุศลจิต อกุศลจิต เป็นส่วนมาก ดังนั้น พระอรหันต์จึงไม่ฝัน ไม่มีการเกิดกุศลจิต หรือ เกิดกิริยาจิตสลับกับภวังคจิต หรือ อกุศลจิตเลย ด้วยเหตุผลที่ดับวิปลาสหมดแล้วนั่นเอง ครับ นี่คือ ความละเอียดของพระธรรม พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 102 ข้อความบางตอนจากอรรถกถา พระวินัย ... ก็แลความฝันทั้ง ๔ อย่างนี้นั้น พระเสขะและปุถุชนเท่านั้นย่อมฝัน เพราะยังละวิปลาสไม่ได้. พระอเสขะ (พระอรหันต์) ทั้งหลายย่อมไม่ฝัน เพราะท่านละวิปลาสได้แล้ว. ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
นิรมิต
วันที่ 25 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Pure.
วันที่ 25 ก.พ. 2556

อนุโมทนาจิตครับอาจารย์.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 25 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแ่ด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ธุดงค์ คือ องค์หรือข้อปฏิบัติละเอียด เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น เพื่อความมักน้อยสันโดษ ไม่ใช่การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่การเดินดง เดินป่า แต่อย่างใด ทั้งหมดเป็นความประพฤติด้วยความเห็นประโยชน์ของการเป็นผู้อยู่ขัดเกลากิเลส ที่จะประพฤติด้วยอัธยาศัยของแต่ละบุคคล โดยไม่มีการบังคับ ขึ้นอยู่กับการเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น ทั้งหมดนั้น จะขาดความเข้าใจถูกเห็นถูกไม่ได้เลย

พระอรหันต์ คือ ผู้ห่างไกลแสนไกลจากกิเลส ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย เมื่อกล่าวถึงขณะที่ฝันแล้ว ย่อมหมายถึงเฉพาะผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่เท่านั้น ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง พระอรหันต์ไม่มีกิเลสจึงไม่ฝัน ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตของพระอรหันต์เป็นอกุศลและกุศลได้เลย ซึ่งจะแตกต่างไปจากผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างสิ้นเชิง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ..

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 25 ก.พ. 2556

ธุดงค์ คือ ข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดมากกว่า ๒๒๗ ข้อ และต้องถืออย่างเคร่งครัด และ ขัดเกลาอย่างยิ่ง เช่น ฉันภาชนะเดียว ฉันมื้อเดียว นั่งตรงนี้ก็ไม่ลุกไปฉันที่อื่น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นิรมิต
วันที่ 25 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
natural
วันที่ 25 ก.พ. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Boonyavee
วันที่ 26 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 28 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ฐาณิญา
วันที่ 28 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
orawan.c
วันที่ 25 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ