เรียนถามเรื่อง อเหตุกบุคคล

 
นิรมิต
วันที่  3 มี.ค. 2556
หมายเลข  22573
อ่าน  1,979

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน ขออนุญาตกราบเรียนถามดังนี้ครับ จากที่มีปรากฏ เรื่องของสุคติอเหตุกบุคคล ที่ทรงแสดงไว้ ๑๐ จำพวกคือ

๑. ชจฺจนฺธ ตาบอด

๒. ชจฺจพธิร หูหนวก

๓. ชจฺจฆานก จมูกเสีย ไม่ได้กลิ่น เพราะไม่มีฆานปสาท

๔. ชจฺจมูค เป็นใบ้

๕. ชจฺจชฬ โง่เง่าผิดปกติ นับสิบก็ไม่ถูก

๖. ชจฺจุมฺมตฺตก เป็นบ้า

๗. ปณฺฑก พวกบัณเฑาะก์

๘. อุภโตพยญฺชนก ผู้ปรากฏเป็น ๒ เพศ

๙. นปุงฺสก ผู้ไม่ปรากฏเพศ

๑๐. มมฺม ผู้ติดอ่าง

อยากทราบว่า ปณฺฑก กับ นปุงฺสก ต่างกันอย่างไรครับ ในเมื่อทั้งสองก็ไม่มีภาวรูปเหมือนกัน แล้ว ตามที่ทรงแสดงไว้ ๑๐ ข้อนี้ ไม่ปรากฏจำพวกที่เป็นผู้พิการประเภทที่ไม่มีแขน ไม่มีขา หรือไม่มีอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งตั้งแต่เกิด หรืออื่นๆ นอกเหนือจากนี้ แปลว่า ผู้พิการที่ไม่มีแขน-ขา ตั้งแต่เกิด ไม่ถือเป็นอเหตุกบุคคลหรือครับ

กราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจครับว่า บัณเฑาะก์ มีหลายอย่าง ทั้งที่มีเพศปรากฎ และ ไม่มีเพศปรากฎ ครับ

๑.อาสิตตบัณเฑาะก์ คือ ชายที่มีกิจกรรมทางเพศกับชาย

๒.อุสุยยบัณเฑาะก์ คือ ชายที่ไม่ถึงกับมีกิจกรรมแต่พอใจที่จะดูกิจกรรมทางเพศโดยตัวเป็นชายแต่ก็ไปชอบใจในชายที่ดูอยู่นั้น

๓.โอปักกมิยบัณเฑาะก์ คือ บุคคลผู้ที่ถูกตอนไปแล้ว เช่น ขันที

๔.ปักขบัณเฑาะก์ คือ บุคคลบางคน ข้างแรมเกิดความกำหนัดยินดี กระวนกระวายด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรม เมื่อถึงข้างขึ้น ความกระวนกระวายนั้นก็หายไป

๕.นปุงสกับบัณเฑาะก์ คือ ผู้ที่ไม่มีเพศหญิงเพศชายไม่ปรากฏทั้ง ๒ เพศ มีแต่ช่องที่สำหรับถ่ายปัสสาวะเท่านั้น

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า ผู้ที่ไม่มีเพศ ก็จัดอยู่ในบัณเฑาะก์อีกประเภทหนึ่งด้วย เป็นอเหตุกสัตว์ และ บัณเฑาะก์บางประเภทก็จัดอยู่ในอเหตุกสัตว์ได้เช่นกัน ครับ ใน ๕ ประเภทนั้น

ดังนั้น บัณเฑาะก์ ไม่ได้หมายถึงจะต้องไม่มีภาวะรูป เพราะบัณเฑาะก์มีหลายประเภท มี ภาวะรูปได้ แต่ก็เป็นอเหตุกสัตว์ก็ได้ ครับ ส่วนนปุงฺสกไม่มีภาวะรูป และ เป็นบัณเฑาะห์ประเภทหนึ่ง ครับ

ส่วนคำถามที่ว่า ผู้พิการที่ไม่มีแขน-ขาตั้งแต่เกิด ไม่ถือเป็นอเหตุกบุคคลหรือครับ ในความเป็นจริง ก็จัดรวมอยู่ด้วยครับ สำหรับผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด เช่น เป็นคนง่อย พิการ เป็นต้น ที่ในพระสูตรเรียกว่าผู้ที่มืดมา คือ เพราะกรรมทำให้เป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิด ก็เป็นอเหตุกสัตว์ แม้จะไม่กล่าวไว้ในที่นี้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
นิรมิต
วันที่ 4 มี.ค. 2556

เรียนถามเพิ่มเติมครับ

แล้วอย่างผู้พิการที่ไม่ถึงกับพิการร้ายแรง อย่างเช่น มีนิ้วเกินมา 1 นิ้ว หรืออะไรใกล้ๆ เคียงกัน แบบนั้นจะถือรวมอยู่ไหมครับ

แล้วในกรณีของบัณเฑาะว์ เราก็ไม่ทราบได้เลยใช่ไหมครับ ว่าใครเป็นจำพวกที่เป็นอเหตุกสัตว์ เพราะบุคคลที่เป็นบัณเฑาะว์ อย่างเช่น อาสิตตบัณเฑาะก์ อุสุยยบัณเฑาะก์ ก็เป็นติเหตุกบุคคลได้ เพราะพระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามบรรพชา และ โอปักกมิยบัณเฑาะก์ก็ถูกตอนภายหลัง ตอนแรกก็มีทุกอย่างครบตามปรกติ

ตอนแรกเข้าใจว่า บัณเฑาะว์จำพวกแรก ๓ จำพวกไม่ใช่อเหตุกสัตว์ เฉพาะปักขบัณเฑาะว์และนปุงสกบัณเฑาะว์เท่านั้น เป็นอเหุตสัตว์ เช่นเดียวกันกับอุพภโตพยัญชนกบุคคล

สรุปคือ อาสิตตบัณเฑาะก์ อุสุยยบัณเฑาะก์ และ โอปักกมิยบัณเฑาะก์ ก็เป็นอเหตุสัตว์ก็ได้เหรอครับ

กราบขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 4 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริง และทรงแสดงสิ่งที่มีจริงเพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง เมื่อกล่าวถึงอเหตุกบุคคล ก็ต้องเข้าใจว่าหมายถึงผู้ปฎิสนธิโดยไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย ได้แก่ เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ อันเป็นผลของอกุศลกรรม และเกิดเป็นมนุษย์ผู้พิการ บ้าใบ้บอดหนวกตั้งแต่กำเนิด อันเป็นผลของกุศลกรรมอยางอ่อน ล้วนเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น และบุคคลเหล่านี่ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินั้นได้เลย เพราะมีวิบากเป็นเครื่องกั้น ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 4 มี.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ สาม ครับ

สำหรับในประเด็นในส่วนของความพิการ หากพิการตั้งแต่กำเนิด แต่การจะรู้ขีดจำกัดว่า พิการขนาดไหน แบบรายละเอียด เจาะลึกลงไปเท่าไหร่ คงเหลือวิสัยของผู้มีปัญญาน้อย นอกเสียจากพระพุทธเจ้าที่ทรงรู้เหตุ ทรงรู้ความละเอียดของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง พระองค์ย่อมทราบความละเอียด แม้แต่ลักษณะอย่างไหร่ที่พิการตั้งแต่กำเนิด และ อย่างไรพิการแบบไหนอย่างละเอียดเป็นอเหตุกสัตว์ ครับ ส่วนบัณเฑาะก์บางจำพวก ก็เป็นอเหตุกสัตว์ บางจำพวก ก็ไม่เป็น ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นิรมิต
วันที่ 5 มี.ค. 2556

กราบขอบพระคุณท่านวิทยากรเป็นอย่างสูง และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 8 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 26 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 26 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ