สภาวะจิต ?

 
Pure.
วันที่  5 มี.ค. 2556
หมายเลข  22578
อ่าน  3,213

ขอถามอาจารย์ดังต่อไปนี้ครับ...? ด้วยความเคารพครับ...

+การนั่งภาวนากำหนดจิตให้สงบจากนิวรณ์ทั้ง๕ ใช่ไหมครับ?

+ที่ทำนั้นเป็นวิปัสสนากัมมัฎฐานครับ คือสติปัฎฐาน๔ ต้องมีสติกำหนดทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา?

+จิตที่เป็นเอกัคคตาเป็นอย่างไรครับ?

+เวลาสภาวะจิตเข้าสู่ความสงบ_สุข_เย็น_แต่ความคิดมันแล่นเป็นเหตุเป็นผล ประมวลผลอย่างน่าทึ่ง เพราะเหตุใด?

+ที่เป็นอย่างนั้นในญาน๑๖ เป็นอย่างไรครับ?

+เพราะทุกวันนี้สภาวะที่เป็นอยู่ก็แล้วแต่ความเป็นไปแบบโลกๆ ครับ ทุกข์ครับ แต่ใจก็ปล่อยๆ ครับเพราะเหตุใด?

อนุโมทนาบุญครับ....


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 5 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

+การนั่งภาวนากำหนดจิตทำให้สงบจากนิวรณ์ทั้ง๕ ใช่ไหมครับ

ภาวนาไม่ใช่เรื่องทำ หรือ ไม่ใช่การไปนั่งกำหนดอะไรด้วยความเป็นตัวตน ติดข้อง ต้องการ ถ้าไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่มีทางที่จะสงบจากนิวรณ์อันเป็นกิเลสอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตไม่ให้เป็นกุศลได้เลย มีแต่จะสะสมกิเลสและความไม่รู้เพิ่มยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นภาวนาตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแล้ว เป็นเรื่องของการอบรมความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญา ทั้งสองอย่างนี้ถึงจะเป็นไปเพื่อความสงบจากนิวรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การอบรมเจริญปัญญาที่เป็นวิปัสสนาภาวนา สูงสุดแล้วสามารถดับนิวรณ์ได้อย่างหมดสิ้น

+ที่ทำนั้นเป็นวิปัสสนากัมมัฎฐานครับ คือ สติปัฎฐาน๔ ต้องมีสติกำหนดทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา?

อย่างที่เรียนในตอนต้นแล้วว่า ถ้าไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความเป็นตัวตน จดจ้องต้องการ ย่อมไม่ใช่ภาวนาทั้งสองอย่างที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ไม่เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานที่เป็นสติปัฏฐานเลย เพราะสติปัฏฐานจะขาดความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ไม่ได้เลย เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็ย่อมเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ได้ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เกิดขึ้นด้วยความต้องการ

+จิตที่เป็นเอกัคคตา เป็นอย่างไรครับ?

จิตเป็นธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ จิตไม่ใช่เจตสิก ดังนั้น ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นจะไม่ปราศจากเอกัคคตาเจตสิกเลย ซึ่งเอกัคคตาเจตสิกนั้น ทำกิจตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตรู้

+เวลาสภาวะจิตเข้าสู่ความสงบ_สุข_เย็น_แต่ความคิดมันแล่นเป็นเหตุเป็นผลประมวลผลอย่างน่าทึ่งเพราะเหตุใด?

ความสงบ ต้องเป็นเรื่องของกุศลธรรมทั้งหมด ขณะนั้นเบาสบายไม่หนักด้วยอกุศลใดๆ เลย

+ที่เป็นอย่างนั้นในญาน๑๖ เป็นอย่างไรครับ?

ความเข้าใจในขั้นต้นยังไม่มี ก็ยังห่างไกลจากวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ที่เป็นปัญญาที่เห็นแจ่มแจ้งอย่างสิ้นเชิง จึงขอให้เริ่มต้นฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะถ้ากล่าวถึงวิปัสสนาญาณ ๑๖ แล้ว หมายความรวมถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ดับกิเลสตามลำดับขั้นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไกลมาก

+เพราะทุกวันนี้สภาวะที่เป็นอยู่ก็แล้วแต่ความเป็นไปแบบโลกๆ ครับ ทุกข์ครับ แต่ใจก็ปล่อยๆ ครับ เพราะเหตุใด?

ทุกขณะไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง แม้จะกล่าวว่า ชีวิตแบบโลกๆ ก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมนั่นเอง ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาให้สภาพธรรมเกิดหรือไม่เกิดได้ เพราะธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย จึงสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ขณะใดที่เข้าใจถูก เห็นถูก ก็เป็นการขัดเกลาความไม่รู้และความสงสัยไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

+การนั่งภาวนากำหนดจิตให้สงบจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ใช่ไหมครับ?

ควรเข้าใจความจริงว่า การนั่งสมาธิ กับ การภาวนา นั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อใช้คำว่า ภาวนา หมายถึง การเจริญอบรมให้มีขึ้นในสิ่งที่ยังไม่มี ส่วน สิ่งที่มีแล้วก็ให้เจริญมากขึ้น อะไรที่ควรมี ควรเจริญ ควรทำให้มาก นั่นคือ กุศลธรรม ซึ่งจะมีได้ก็ต้องมีปัญญา มีความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้น ภาวนา จึงเป็นเรื่องของปัญญาเป็นสำคัญ ถึงจะทำให้กุศลที่ยังไม่มีก็มีได้ และ กุศลที่มีแล้ว เจริญมากขึ้น ซึ่งภาวนาด้วยปัญญาก็ด้วย วิปัสสนาภาวนาและสมถภาวนา จะเป็นไปเพื่อความสงบจากกิเลส จากนิวรณ์เพราะกุศลธรรมเกิดขึ้นเจริญขึ้นในขณะนั้น ส่วน การนั่งสมาธิภาวนา ไม่ใช่การทำให้กุศลเกิดขึ้น ทำให้สงบ แต่ทำให้กิเลสเพิ่มขึ้น เพิ่มนิวรณ์ เพราะหลงว่า ขณะที่จดจ่อมีสมาธิ ขณะนั้นสงบ ทั้งที่จริงเป็นอกุศล ครับ

+ที่ทำนั้นเป็นวิปัสสนากัมมัฎฐานครับคือสติปัฎฐาน๔ ต้องมีสติกำหนดทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา?

สติปัฏฐาน คือ การเจริญอบรมปัญญา เพื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้โดยไม่มีเราที่กำหนด แต่เป็นธรรม คือ สติระลึกรู้ และปัญญารู้ความจริง โดยแล้วแต่ว่า สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ครับ

+จิตที่เป็นเอกัคคตาเป็นอย่างไรครับ?

เอกัคคตาเจตสิก คือ ความตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่น คือ มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และ ตั้งมั่นต่อเนื่องจนเป็นลักษณะของสมาธิ เป็นความตั้งมั่นของจิต ที่อาจเรียกว่า จิตเป็นเอกัคคตาในขณะนั้น ครับ แต่ความตั้งมั่นของจิต เป็นไปได้ทั้งกุศล และ อกุศล ครับ

+เวลาสภาวะจิตเข้าสู่ความสงบ_สุข_เย็น_แต่ความคิดมันแล่นเป็นเหตุเป็นผลประมวลผลอย่างน่าทึ่งเพราะเหตุใด?

จิตจะสงบต่อเมื่อไม่มีกิเลส และ แม้ขณะที่คิดในทางที่ถูก คิดถูก ขณะนั้น ก็ชื่อว่าจิตสงบ เพราะปราศจากกิเลส ดังนั้น จะต้องเข้าใจคำว่า จิตสงบให้ถูกต้อง ก็จะสามารถเข้าใจว่าคิดเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา แต่ ก็จะต้องเข้าใจถูกว่า คิดถูก หรือ คิดผิด ครับ

+ที่เป็นอย่างนั้นในญาน๑๖ เป็นอย่างไรครับ?

ญาน ๑๖ เป็นเรื่องของปัญญาระดับสูงที่เป็นวิปัสสนาญานในแต่ละขั้น ที่แทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างลึกซึ้งในแต่ละขั้น ซึ่งกว่าจะถึงตรงนั้น จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมอย่างยาวนาน และ เกิดสติปัฏฐานรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้อย่างบ่อยๆ เนืองๆ นับชาติไม่ได้ จนจะได้วิปัสสนาญานแต่ละขั้น ครับ จะเห็นว่ายาก ลึกซึ้ง ต้องอบรมเหตุเบื้องต้นเป็นสำคัญ คือ การฟังพระธรรม ครับ

+เพราะทุกวันนี้สภาวะที่เป็นอยู่ก็แล้วแต่ความเป็นไปแบบโลกๆ ครับ ทุกข์ครับ แต่ใจก็ปล่อยๆ ครับเพราะเหตุใด?

ทุกข์ก็เพราะมีกิเลส ไม่มีกิเลสก็ไม่ทุกข์ ส่วนการปล่อย ก็ปล่อยด้วยความคิดที่สะสมมา ที่จะไม่คิดอะไร แต่ขณะที่ปล่อย ขณะที่ทุกข์ ก็ไม่รู้เลยว่าเป็นธรรม ก็เป็นเราที่ทุกข์ เป็นเราที่ปล่อยไป หนทางที่ถูก คือ เข้าใจขั้นการฟังว่า ทุกข์ก็เป็นธรรม และ เป็นธรรมดา ควรอบรมเหตุ คือ การฟังพระธรรมเป็นสำคัญ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 6 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 6 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 26 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ