กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่หลงลืม
พุทธวจน กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่หลงลืมอมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้น ไม่หลงลืม ฯ
ภิกษุทั้งหลาย !ชนเหล่าใด ไม่บริโภคกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่า ย่อมไม่บริโภคอมตะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใด บริโภคกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่า ย่อมบริโภคอมตะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใด ประมาทกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่า ประมาทอมตะ. ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใด ไม่ประมาทกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่า ไม่ประมาทอมตะ ดังนี้ แล.
มหาวาร. สํ ๑๙/๒๒๖-๒๒๗/๗๖๔–๗๖๖. เอก. อํ. ๒๐/๕๙/๒๓๕,๒๓๙.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กายคตาสติ คือ การเจริญอบรมปัญญา ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎที่เนื่องด้วยกาย ซึ่งกายคตาสติ เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง มีหลากหลายนัย ทั้งที่เป็นสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา กายคตาสติ โดยนัยสมถภาวนา คือ การระลึกรู้ และ พิจารณาด้วยปัญญา ในความจริงของร่างกายต่างๆ ในส่วนต่างๆ เช่น พิจารณาโดยความเป็นของน่าเกลียดสกปรก พิจารณาโดยความเป็นซากศพ การพิจารณาถูกต้องเช่นนี้ ทำให้ละคลายกิเลส มีความติดข้องในร่างกาย ได้ แต่เพียงชั่วคราว เพราะ ยังไม่สามารถระงับ ดับกิเลสได้จริง เพราะก็ยังมีความยึดถือว่า เป็นร่างกายของเราส่วนต่างๆ
กายคตาสติ โดยนัยวิปัสสนา คือ ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ที่เนื่องด้วยกาย เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว เหล่านี้เป็นการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นแข็ง เย็น ร้อน เป็นต้น ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เป็นการเจริญกายคตาสติ หรือ อีกชื่อหนึ่งของกายคตาสติ คือ กายยานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันสามารถทำให้ละความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์บุคคลได้ เพราะ รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ดังนั้นการเจริญสติปัฏฐาน ที่เป็นการระลึกรู้ทางกาย ที่เป็นกายยานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นกายคตาสติโดยนัยวิปัสสนาสามารถทำให้ละกิเลสได้จนหมดสิ้นได้จริงๆ เพราะสามารถละความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล และละกิเลสได้เป็นลำดับขั้น ครับ
กายคตาสติโดยนัยวิปัสสนา ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฎทางกาย ย่อมถึงอมตะ นิพพาน ดับกิเลสได้ในที่สุดครับ ซึ่งกว่าจะถึงตรงนั้น จะต้องอบรมปัญญา ตั้งแต่เบื้องต้น ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในเรื่องของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ครับ
ขอนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายในอดีต ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นนั้น ล้วนเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั้งนั้น และที่สำคัญ สติปัฏฐาน ไม่ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น มีถึง ๔ อย่าง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด เพราะธรรมที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะนั้น ก็คือ สิ่งที่มีจริงที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วไม่พ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรม
สำหรับในประเด็นของกายคตาสติ ที่จะทำให้ถึงความเป็นพระอริยบุคคลนั้น ต้องเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้น เพราะจะทำให้รู้แจ้งซึ่งอริยสัจจธรรม บรรลุเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับจนถึงพระอรหันต์ เป็นกายคตาสติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ [ไม่ใช่ที่เป็นสมถภาวนา เพราะสมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้ เพียงระงับไว้ได้เท่านั้น ไม่สามารถทำลายกิเลสใดๆ ได้เลย] แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเจริญกายคตาสติอย่างเดียวแล้วจะได้บรรลุ เพราะถ้ายังไม่มีการศึกษาให้เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมที่นอกเหนือไปจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (กายคตาสติ) ยังมีความไม่รู้และมีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ อยู่ ด้วยเหตุนี้ การที่จะขจัดความสงสัยความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้เพียงลักษณะของสภาพธรรมเพียงหมวดเดียวในสติปัฏฐาน ๔ เพราะถ้ารู้เพียงหมวดเดียว ก็แสดงว่ายังไม่รู้สภาพธรรม ในหมวดอื่นๆ ต้องเป็นผู้รู้ทั่วทั้งหมด ทั้งกาย เวทนา จิต และธรรม เมื่อเหตุย่อมสมควรแก่ผล ปัญญาเจริญสมบูรณ์พร้อม ก็ทำให้ผู้นั้นถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะบรรลุด้วยอะไร แต่ก่อนที่จะบรรลุได้นั้น ก็จะต้องเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันมาแล้วทั้งนั้น เพราะท่านเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ว่าทุกอย่างที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น เป็นที่ตั้งของสติ (สติปัฏฐาน) ทั้งสิ้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกและปัญญารู้ลักษณะใด โดยไม่จำกัดและไม่เจาะจง เพราะธรรมเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...