พระอรหันต์สมถยานิก

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  10 มี.ค. 2556
หมายเลข  22599
อ่าน  4,272

พระอรหันต์ประเภทสมถยานิก แยกย่อยตามคุณสมบัติ คือ ผู้ได้วิชชา ๓ ผู้ได้อภิญญา ๖ และผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔

ขอเรียนถามว่า พระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ จะต้องได้ปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยเสมอไปหรือว่า ได้อภิญญา ๖ แต่อาจจะไม่ได้ปฏิสัมภิทา ๔ หรือได้ปฏิสัมภิทา ๔ แต่อาจจะไม่ได้อภิญญา ๖

ขอความกรุณาผู้รู้อธิบายเรื่องนี้ด้วยครับ

ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปฏิสัมภิทา หมายถึง ปัญญาแตกฉานในธรรม ๔ ได้แก่ ธรรม ๑ อรรถ ๑ นิรุตติ ๑ ปฏิภาณ ๑ ส่วนอภิญญาเป็นจิตที่มีความรู้พิเศษเกิดจากการอบรมฌานจิต ทั้งรูปฌาน และอรูปฌาน จนชำนาญ อภิญญา ๖ คือ ความรู้ยิ่ง ๖ อย่าง หมายถึง ความรู้อย่างยิ่งยวด ซึ่งเป็นผลพวงจากการอบรมสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ได้แก่ ...

๑. อิทธิวิญญาณ ความรู้ที่ทำให้แสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ได้ เช่น ดำไปในดิน เดินไปบนน้ำ หรือเหาะไปกลางอากาศ เป็นต้น

๒. ทิพยโสตญาณ ความรู้ที่ทำให้ได้ยินเสียงตามที่ต้องการได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นในที่ไกล ในที่ลับ หรือเสียงของเทวดาและอมนุษย์ทั้งหลาย

๓. เจโตปริยญาณ ความรู้ที่สามารถกำหนดรู้ใจของผู้อื่น ไม่ว่าจะคิดดีคิดชั่ว คิดเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม

๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้ที่ทำให้สามารถย้อนระลึกชาติได้ว่าเคยเกิดเป็นใครในชาติไหน แต่ละชาตินั้นได้ทำอะไรมาบ้าง มีญาติ พี่น้อง ตระกูล อาชีพเป็นอย่างไรบ้าง

๕. ทิพยจักษุญาณ ความรู้ที่ทำให้สามารถเห็นในสิ่งที่ต้องการเห็น ไม่ว่ารูปในที่กำบัง รูปหลังกำแพง รูปในภูเขา หรือรูปอันเป็นทิพย์ของเทวดา เป็นต้น

๖. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำให้อาสวกิเลสถึงความสิ้นไป

ปฏิสัมภิทา คือ ความรู้แตกฉานในธรรม ๔ อย่าง ได้แก่ ในเหตุ ๑ ในผล ๑ ในภาษา ๑ ในปฏิภาณ ๑ ซึ่งปุถุชนไม่มีปฏิสัมภิทา แต่พระอริยบุคคลเท่านั้นที่มีปฏิสัมภิทา

พระอริยบุคคลทุกขั้นมีปฏิสัมภิทาญาณ แม้พระโสดาบันก็มีครับ รวมทั้งพระอรหันต์สุกขวิปัสสก แต่ไม่บริบูรณ์เท่ากับพระอรหันต์ที่เป็นมหาสาวก สำหรับพระมหาสาวกทุกท่านมีปฏิสัมภิทาต่างกันได้ คือ มีปัญญาแตกฉานตามการสะสม เช่น ท่านพระสารีบุตรย่อมแตกฉานมากกว่ามหาสาวกท่านอื่นๆ ครับ ดังนั้น พระอริยบุคคลทุกขั้นมีปัญญาแตกฉานที่เป็นปฏิสัมภิทา แต่แตกต่างกันไป มีมาก มีน้อย ผู้ที่มีมากก็เรียกได้ว่าเป็นผู้มีปฏิสัมภิทา ๔ นั่นเองครับ ซึ่ง พระอรหันต์ ที่เป็นสุกขวิปัสสกดับกิเลสอย่างเดียว แต่ไม่ได้ฤทธิ์ แต่ท่านก็ต้องอบรมวิปัสสนาจนถึงขนาดดับกิเลสได้ ดังนั้น ท่านก็ต้องมีปัญญา แตกฉานบ้าง ในธรรม ในอรรถ บ้างครับ และ แม้พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ท่านก็ต้องประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมดับกิเลสได้บางส่วนและประจักษ์พระนิพพานด้วย เพราะฉะนั้น ท่านก็มีปฏิสัมภิทา ความแตกฉานในด้านต่างๆ ตามสมควร ดังเช่น พระอานนท์ เมื่อยังเป็นพระโสดาบัน ท่านก็เป็นผู้เลิศใน ๕ สถาน และ มีความแตกฉานในพระธรรมมาก ก็เป็นผู้มีปฏิสัมภิทาเช่นกัน แต่ตามสมควรกับความเป็นพระโสดาบัน ครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 20

อันธรรมดาว่าการเรียนพระพุทธพจน์แม้มากมายแล้วบรรลุปฏิสัมภิทา ย่อมไม่มีแก่ปุถุชน แต่พระอริยสาวกที่จะชื่อว่าไม่บรรลุปฏิสัมภิทานั้น ย่อมไม่มีเลย ซึ่งกลับมาที่คำถามที่ว่า

พระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ จะต้องได้ปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยเสมอไป หรือว่า ได้อภิญญา ๖ แต่อาจจะไม่ได้ปฏิสัมภิทา ๔ หรือได้ปฏิสัมภิทา ๔ แต่อาจจะไม่ได้อภิญญา ๖


ตามที่กล่าวแล้ว พระอริยสาวกทุกท่านได้ปฏิสัมภิทา มีความแตกฉาน แต่ผู้ที่แตกฉานมากๆ เพราะมีปัญญามาก จึงจะเรียกโดยสมบูรณ์ได้ว่า เป็นผู้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ แต่ พระอริยบุคคลอื่นๆ ก็ได้ปฏิสัมภิทาเช่นกัน แต่ ปัญญาไม่มีกำลัง ก็ยังไม่เรียกว่าได้ปฏิสัมภิทา ๔ ดังเช่น ท่านพระอานนท์ ท่านพระสารีบุตร เหล่านี้ มีปัญญามาก เป็นพระอรหันต์ที่ได้ปฏิสัมภิทา ๔ แต่ผู้ที่ได้อภิญญา ๖ ไม่จำเป็นจะต้องมีปัญญามากๆ ที่จะได้ปฏิสัมภิทา ๔ ที่มีปัญญามีกำลังจนแตกฉานในส่วนต่างๆ แต่ พระอรหันต์ทุกรูป ก็ชื่อว่า มีปฏิสัมภิทา ความแตกฉาน ตามกำลังปัญญาของตน แต่รูปใด จะได้ปฏิสัมภิทา ๔ แตกฉานมาก รูปนั้นก็มีกำลังปัญญามาก ครับ

ซึ่งในเรื่องของการอันตรธานของอธิคม การบรรลุธรรม ก็แสดงไว้ชัดเจนว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว การอันตรธานของการบรรลุก็เกิดขึ้น คือ ต่อไป ทีแรกก็มีพระอรหันต์ที่ได้ปฏิสัมภิทา ๔ แต่ต่อมา การบรรลุก็ค่อยๆ เสื่อม คือ ได้เพียงอภิญญา ๖ แต่ไม่ได้ปฏิสัมภิทา ๔ และต่อมาก็ไม่ได้อภิญญา ๖ แต่ได้เพียง วิชชา ๓ และ ภายหลังก็ไม่ได้แม้วิชชา ๓ ก็เป็นเพียงพระอรหันต์สุขวิปัสสก นี่แสดงว่า กำลังของปัญญาลดลง แม้จะเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่ปัญญาก็แตกต่างกันได้ ได้อภิญญา ๖ แต่ไม่ได้ปฏิสัมภิทา ๔ ก็มี ครับ

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 167

มรรค ๔ ผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ชื่อว่า อธิคม. อธิคมนั้น เมื่อเสื่อมย่อมเสื่อมไปตั้งแต่ปฏิสัมภิทา. จริงอยู่ นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๑,๐๐๐ ปีเท่านั้น ภิกษุไม่สามารถจะให้ปฏิสัมภิทาบังเกิดได้ ต่อแต่นั้นก็อภิญญา ๖. แต่นั้นเมื่อไม่สามารถทำอภิญญาให้บังเกิดได้ ย่อมทำวิชชา ๓ ให้บังเกิด. ครั้นกาลล่วงไปๆ เมื่อไม่สามารถจะทำวิชชา ๓ ให้บังเกิด ก็เป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก

โดยอุบายนี้เอง ก็เป็นพระอนาคามี พระสกทาคามี และพระโสดาบัน. เมื่อท่านเหล่านั้นยังทรงชีพอยู่ อธิคมชื่อว่ายังไม่เสื่อม อธิคมชื่อว่า ย่อมเสื่อมไปเพราะความสิ้นไปแห่งชีวิต ของพระอริยบุคคลผู้โสดาบันขั้นต่ำสุดดังกล่าวนี้ ชื่อว่าอันตรธานแห่งอธิคม.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 11 มี.ค. 2556

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 11 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 11 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง พระอริยบุคคลทุกระดับขั้นมีปฏิสัมภิทา ซึ่งเป็นปัญญาที่แตกฉานในด้านต่างๆ ตามสมควรแก่ภาวะของตนๆ และ ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจว่า พระอรหันต์ คือ ผู้ที่ห่างไกลแสนไกลจากกิเลส ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีเหลือ ไม่มีเหตุที่จะทำให้กิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย พระอรหันต์ก็มีทั้งผู้ที่ได้ฌานและไม่ได้ฌาน พระอรหันต์ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยที่ไม่ได้อบรมเจริญฌาน มีมากกว่าผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่ได้อบรมเจริญฌาน เวลาที่กล่าวถึง วิชชา ๓ และ อภิญญา ๖ นั้น ย่อมกล่าวถึงพระอรหันต์ ผู้ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่มีการอบรมเจริญฌานจนได้ฌานขั้นสูงสุดจนคล่องแคล่วชำนาญ ซึ่งจะแตกต่างไปจากพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ ซึ่งไม่ได้อบรมเจริญฌาน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ต้องเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาอย่างยิ่ง ปัญญาถึงความสมบูรณ์พร้อมจริงๆ จึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 11 มี.ค. 2556

พระอรหันต์ไม่จำเป็นจะต้องได้ปฏิสัมภิทา ๔ ทุกคน เพราะว่าแต่ละคนสะสมปัญญา บารมีมาไม่เท่ากัน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 12 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 18 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 26 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Witt
วันที่ 13 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ