การห้ามจิตมีลักษณะอย่างไร
ขอเรียนถามผู้รู้เพื่อความเข้าใจในข้อความจากหนังสือเก็บไว้ในหทัย หน้า175 ที่ว่า คิดที่จะห้ามจิตก็ผิดแล้ว ลืมความเป็นอนัตตาของธรรม
* ลักษณะการห้ามจิตเป็นอย่างไร ถ้าในระหว่างที่คิดไม่ดี พยายามปรับความคิดในทางที่ดีขึ้น เป็นการห้ามจิตหรือไม่ อย่างไร และเหตุใดการคิดที่จะห้ามจิตจึงเป็นสิ่งที่ผิดคะ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจพื้นฐานที่สำคัญ คือ คำว่า อนัตตา ที่หมายถึง ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาให้สภาพธรรมอะไรที่จะเกิดหรือไม่เกิดด้วยตัวเราที่จะพยายาม เพราะ ในความเป็นจริง ไม่มีตัวเรา เป็นแต่เพียงธรรมที่ทำหน้าที่ ดังนั้น จึงไม่มีเราที่จะพยายาม จะห้าม หรือ ไม่ห้าม ทำหน้าที่แทนธรรม เพราะธรรมทั้งหลาย จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยประการต่างๆ จึงเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพียงความต้องการ หรือ เพียงความพยายามที่เป็นวิริยะ หรือ สภาพธรรมที่จงใจ ตั้งใจ ที่เป็นเจตนาเจตสิก เท่านั้น
จิตที่เกิดขึ้น จะเป็นจิตที่ดี หรือ จิตที่ไม่ดี ที่เกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยประการต่างๆ จึงเกิดขึ้นได้ แม้จิตที่เป็นอกุศลที่จะเกิด ก็เป็นหน้าที่ของธรรมที่มีเหตุปัจจัยที่จะต้องเกิด ไม่มีเรา ไม่มีตัวตนที่จะห้ามได้ คือ ไม่มีเราที่จะไปห้ามจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้อกุศลที่จะเกิดขึ้น เมื่อเหตุพร้อมแล้ว อกุศลจิตก็ต้องเกิด
ทุกคนอยากเป็นคนดี รู้ว่าความโกรธไม่ดี แต่ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม จิตที่เป็นโทสะก็เกิดขึ้นได้ ไม่มีใครห้าม แต่เป็นธรรมที่ทำหน้าที่ อันแสดงถึงความเป็นอนัตตา ทุกคนก็ชื่นชมคุณความดี และ อยากให้มีปัญญาเกิด แต่ ปัญญาจะเกิด ไม่ได้เกิดเพราะความพยายาม หรือ ตั้งใจ จงใจให้เกิด เพราะ ปัญญาก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงจะเกิดขึ้น กุศลจิตก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมกุศลจิตก็เกิด ปัญญาก็เกิด โดยไม่ได้บังคับ เพราะ เป็นหน้าที่ของธรรม และ เป็นอนัตตาจริงๆ ครับ
ท่านพระสารีบุตร ท่านไม่ทราบเลยว่า จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันในเมื่อได้ฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิ แต่เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมได้ฟังธรรม กุศลจิตก็เกิด ไม่มีใครจะไปห้ามไม่ให้ปัญญาของท่านไม่เกิด หรือ ไม่ให้บรรลุธรรมไม่ได้เลย แม้แต่ตัวท่านเอง แต่เพราะเหตุปัจจัยพร้อมแล้ว เป็นหน้าที่ของธรรมที่ถึงพร้อม ท่านพระสารีบุตรก็ต้องมีปัญญาเกิด บรรลุธรรม
ท่านพระเทวทัตไม่รู้มาก่อนเลยว่าจะเกิดความโกรธมากเมื่อถูกพระพุทธเจ้าเตือน แต่ เมื่อพระพุทเจ้าตักเตือน ก็เกิดความโกรธ ความโกรธเกิดแล้ว ไม่มีใครห้ามจิตไม่ให้เกิดอกุศลจิต เพราะอกุศลจิตเกิดก็เกิดตามเหตุปัจจัยของสภาพธรรม ตามการสะสมของจิตแต่ละบุคคล และ ก็ไม่สามารถห้ามจิตที่จะเกิดอกุศลต่อได้ที่จะผูกอาฆาตกับพระพุทธเจ้า อันแสดงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่ห้ามจิตไม่ได้เลย ครับ
ไม่มีใครห้ามจิตได้ เพราะ เป็นแต่เพียงธรรม และ เป็นอนัตตา ห้ามไม่ให้ได้ยินก็ไม่ได้เมื่อจะต้องได้ยิน ห้ามจิตไม่ให้เกิด และไม่ให้ดับไม่ได้สักขณะ เพราะไม่มีเรามีแต่ธรรม
ดังนั้น เมื่อ อกุศลจิตเกิดแล้ว กุศลจิตเกิดแล้ว จะห้ามจิตก็ผิดแล้ว เพราะไม่เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมที่ทำหน้าที่ ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน (อนัตตา) ที่จะไปห้ามจิต ห้ามเหตุปัจจัยของสภาพธรรมให้เป็นไป ลืมความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม คือ ลืมว่า มีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา เมื่อมีแต่ธรรมก็เป็นธรรมที่ทำหน้าที่ ไม่มีเราที่จะไปห้ามจิตอะไรได้ครับ และจากคำถามที่ว่าลักษณะการห้ามจิตเป็นอย่างไร ถ้าในระหว่างที่คิดไม่ดี พยายามปรับความคิดในทางที่ดีขึ้น เป็นการห้ามจิตหรือไม่ อย่างไร และเหตุใดการคิดที่จะห้ามจิตจึงเป็นสิ่งที่ผิดคะ
- การพยายามปรับ ก็เป็นตัวตนที่จะไปปรับ ลืมว่าเป็นหน้าที่ของธรรม ที่จะทำหน้าที่เอง เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย อกุศลเกิดแล้ว ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะเกิดต่อ ก็ต้องเกิดต่อ ไม่มีใครจะห้ามไม่ให้เกิดได้ และ ไม่มีใครที่จะพยายามปรับเพราะ ขณะที่พยายาม ก็เป็นวิริยะที่เกิดพร้อมกับความต้องการที่เป็นโลภะอย่างละเอียด ที่จะพยายามปรับไม่ให้จิตเป็นอกุศล ซึ่งก็ไม่ตรงตามหลักความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งในความเป็นจริง ธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง จะปรับทำหน้าที่ของเขาเอง ผู้ที่สะสมปัญญา กุศลธรรมามาก สติและปัญญาย่อมเกิดได้เอง โดยไม่มีตัวเขาที่จะไปพยายามปรับ แต่ สติและปัญญาจะเกิดขึ้น ตามการสะสมที่มีกำลัง ทำให้เกิดปัญญาคิดถูกในขณะที่อกุศลเกิดได้ ครับ และ ผู้ที่สะสมปัญญาและคุณความดีมาไม่มาก แม้จะมีตัวตนที่จะพยายามปรับ แต่ ความจงใจ ต้องการก็ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ธรรมที่จะกั้น ละ อกุศลที่เกิดขึ้น แม้จะมีความพยายามปรับ ก็ไม่สามารถเป็นไปตามนั้นได้ อกุศลก็เกิดต่อไปได้เป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้น หนทางการดับกิเลสที่ถูกต้อง ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน คือ เข้าใจความเป็นไปของชีวิตให้ถูกต้องว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มีแต่ธรรมที่ทำหน้าที่จึงอยู่กับสภาพธรรมที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจว่า อกุศลจิตก็เกิดได้เป็นธรรม และสภาพธรรมอย่างอื่นก็เกิดเป็นธรรมดา อยู่ด้วยความเข้าใจว่า เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา แม้อกุศลก็เป็นแต่เพียงธรรม แทนที่จะพยายามไปละอกุศลไม่ให้เกิดต่อ ปรับจิตอย่างไรก็ดี ก็ควรกลับมาสู่ความเข้าใจถูกว่า ไม่ต้องไปห้ามจิตเลย แต่ เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วว่า เป็นแต่เพียงธรรม การที่จะไม่มีตัวตนที่จะไปพยายามห้าม ปรับจิตก็จะเบา เพราะไม่ได้มีความต้องการที่จะให้เป็นอย่างนั้น แล้วก็กลับมาที่การอบรมเหตุคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อันจะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เกิดสติและปัญญาในขณะที่สภาพธรรมใดเกิดว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา นี่ คือ หนทางการดับกิเลสที่ถูกต้อง ครับ เพราะ กิเลสที่จะต้องละเป็นอันดับแรก คือ ละความยึดถือว่าเป็นเราเป็นสัตว์ บุคคล ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น. ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับไม่ให้อะไรเกิดหรือไม่เกิดได้ แม้อกุศลจะเกิดก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย แม้กุศลจะเกิดก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นต้น สำคัญที่ความเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เป็นเรื่องเบาสบายไม่หนัก เพราะไม่มีการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมให้เข้าใจก็จะเป็นเหตุให้อกุศลเกิดพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าได้ฟังพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ทีละเล็กทีละน้อย ความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้เองจะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้กุศลเจริญขึ้น ถอยกลับจากอกุศล ทำให้มีความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ดียิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เราครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...