ลักษณะของเจตสิก

 
นิรมิต
วันที่  13 มี.ค. 2556
หมายเลข  22614
อ่าน  1,652

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

ขออนุญาตกราบเรียนถามความสงสัยดังนี้ครับ

คือมีความสงสัยในเรื่องของเจตสิกว่า ทิฏฐิเจตสิกและปัญญาเจตสิก ลักษณะจริงๆ คืออันไหนครับ ถ้ากล่าวต่อไปดังนี้

ถ้าเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ขณะนั้น บัญญัติธรรมโดยความเป็นเรื่องราวของความเห็นผิด เป็นบัญญัติอารมณ์ของจิต คือเป็นเพียงอารมณ์ที่จิตหมายรู้ หรือเป็นลักษณะตรงๆ ของตัวทิฏฐิเจตสิกครับ

เช่นเดียวกับปัญญาเจตสิกในกุศลญาณสัมปยุตต์ ในขั้นการฟัง การพิจารณาเข้าใจขณะนั้น เรื่องราวของสภาพธรรมะที่กำลังพิจารณาเข้าใจ โดยความเป็นเรื่องราวที่เป็นบัญญัติของสภาพธรรมะ ให้เข้าใจในเรื่องสภาพธรรมะ เป็นเพียงอารมณ์ที่จิตรู้หรือเป็นตัวปัญญาเจตสิกครับ

ที่สงสัยอย่างนี้เพราะเหตุว่า จากกระทู้ที่แล้ว ที่เคยได้ถามเรื่องการอ่านนิยายแฟนตาซี ก็มีเรื่องราวของความเห็นผิดมาเป็นอารมณ์ของจิต แต่ไม่มีทิฏฐิเจตสิกประกอบด้วยก็ได้ แปลว่า ตัวบัญญัติที่เป็นเรื่องราวของความเห็นผิด ไม่น่าจะใช่ลักษณะของทิฏฐิเจตสิกใช่ไหมครับ โดยนัยเดียวกับปัญญาเจตสิก ถ้าเพียงคิดในเรื่องของสภาพธรรม คิดไปๆ ไม่ได้เชื่อ อย่างพวกมิจฉาทิฏฐิ ได้ยินได้ฟังพระธรรม มีการคิดเรื่องราวสภาพธรรมะ แต่ไม่เข้าใจ ไม่เชื่อตามนั้น แล้วก็ไม่สนใจไม่น้อมพิจารณา หรืออย่างในจิตอื่นๆ อย่างโมหมูลจิต วิจิกิจฉา ลักษณะสงสัยในสภาพธรรม ก็มีเรื่องราวบัญญัติธรรมของสภาพธรรมเป็นอารมณ์ แต่ตัววิจิกิจฉาทำกิจสงสัย โดยมีเรื่องราวของสภาพธรรมเป็นอารมณ์ให้สงสัย เรื่องราวของสภาพธรรมก็ไม่ใช่วิจิกิจฉา แม้โทสะ ที่โกรธเคืองต่างๆ ก็มีเรื่องราวบัญญัติเป็นอารมณ์ว่าโกรธเคืองในลักษณะบัญญัตินั้นๆ เช่น ไม่ชอบเรื่องเศร้า พอได้ยินได้ฟังบัญญัติเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องเศร้าๆ ก็อาศัยเรื่องราวเศร้าๆ เป็นอารมณ์ แล้วก็เศร้า ขณะนั้น เศร้าก็คือโทสะ ไม่ใช่เรื่องราวเศร้าๆ เป็นโทสเจตสิก จึงให้สงสัยว่า ถ้าเช่นนั้น ลักษณะใด คือทิฏฐิเจตสิก ลักษณะใด คือปัญญาเจตสิกในจิตทั้งสองประเภทครับ

กราบขอบพระคุณครับ


มีอีกคำถามอยากจะขออนุญาตกราบเรียนถามรวมในกระทู้เดียวเลยนะครับ

ผู้ที่มีปรกติหลงลืม หรือไม่ค่อยเข้าใจในอรรถ ที่ทางโลกอาจจะเรียกว่าคนสมองช้า หรือป้ำๆ เป๋อๆ คือเป็นผู้เข้าใจในเหตุในผลยากในเรื่องทางโลก ในบัญญัติเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นเหตุเป็นผลสืบเนื่องกัน อย่างเช่น ถามอะไรให้คิดที่เป็นปัญหาเชาว์ แม้ง่ายๆ ก็คิดไม่ออก แต่ไม่ถึงกับขนาดโง่เง่าหรือเป็นคนไม่สมประกอบ จักมีโอกาสฟังธรรมแล้วบรรลุธรรมได้ไหม แล้วไม่ทราบว่า พอจะมีพระอริยบุคคลท่านใดที่มีลักษณะคล้ายๆ ดังนี้ บรรลุธรรมปรากฏในครั้งพุทธกาลบ้างหรือไม่ครับ

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 13 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของสภาพธรรมใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ความเห็นผิดเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม ส่วนปัญญาเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง ซึ่งมีหลายระดับขั้น ตั้งแต่ความเข้าใจถูกในขั้นฟังเรื่องความเป็นจริงของสภาพธรรม ความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ความเข้าใจที่เป็นไปกับการอบรมสมถภาวนาซึ่งเป็นความสงบของจิต และเป็นไปกับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกระทั่งสามารถดับกิเลสตามลำดับขั้น ไม่ใช่ว่า เมื่อไม่มีความเห็นผิดเกิดขึ้นในขณะนั้น ก็จะมีความเห็นถูก เพราะขณะนั้นอาจจะเป็นอกุศลหรือเป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ซึ่งก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แต่ละบุคคลมีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม ชีวิตส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรม และอีกส่วนหนึ่งเป็นการสะสมกรรมที่เป็นเหตุจะให้ผลในภายหน้า ถ้าไม่มีวิบากเป็นเครื่องกั้น กล่าวคือไม่ได้เกิดในอบายภูมิ พร้อมทั้งไม่ได้เกิดเป็นผู้ปฏิสนธิด้วยเหตุสอง และไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และเป็นผู้ไม่ได้กระทำอกกุศลกรรมที่เป็นอนันตริยกรรม เมื่ออบรมเจริญปัญญาถึงความสมบูรณ์พร้อมแล้ว ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้นได้

ควรพิจารณาตั้งแต่เบื้องต้นว่า ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง ทั้งอวัยวะร่างกาย ความป็นอยู่ แต่ไม่ได้สนใจที่จะฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา มีมากทีเดียว เมื่อไม่สนใจแล้วโอกาสที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้

การไม่รู้ในบัญญัติเรื่องราวที่ทางโลกสมมติกันขึ้น ไม่ใช่ความไม่รู้ที่เป็นอวิชชาหรือโมหะ เพราะเหตุว่าความไม่รู้ต้องเป็นความไม่รู้ในสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นปรมัตถธรรม กล่าวคือความไม่รู้ในอริยสัจจ์ ๔ ได้แก่ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และหนทางที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ดังนั้น การไม่รู้บัญญัติ เรื่องราวต่างๆ ที่ชาวโลกสมมติกันขึ้น จึงไม่เกี่ยวกับการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะถ้าสะสมอบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ เมื่อปัญญาถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อม ท่านก็สามามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะมุ่งไปที่การรู้ตัวจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ มีลักษณะให้รู้ได้ ในสมัยพุทธกาล พระจูฬปันถกะเรียนพระคาถาหนึ่งใช้เวลานานถึง ๔ เดือน ก็จำไม่ได้ ที่เรียนแล้วก็เลอะเลือน เพราะในอดีตในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะท่านบวชเป็นพระภิกษุ ได้ทำการเยาะเย้ยพระภิกษุที่โง่เขลารูปหนึ่งทำให้พระภิกษุรูปนั้นเกิดความอับอาย ละเลยการอบรมเจริญปัญญา แต่การสะสมก็มีสองส่วน ทั้งไม่ดีและดี เพราะท่านได้สะสมเหตุที่ดีมา ได้ฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ และในชาติสุดท้ายก็ได้คบกับกัลยาณมิตรสูงสุดคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นเหตุให้ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ถึงความเป็นพระอรหันต์

ที่ควรจะได้ใส่ใจคือ ไม่ขาดการฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 13 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในความเป็นจริงจะต้องเข้าใจว่า สภาพธรรมที่เกิดขึ้น อย่างใดอย่างหนึ่ง มีหลายเหตุปัจจัย และ มีสภาพธรรมหลายๆ อย่างกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ยกตัวอย่าง ขณะที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น เป็นอกุศลจิตที่เป็นโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด คือ มีทิฏฐิเจตสิก เกิดร่วมกับจิตที่เป็นโลภะและจะต้องมีอารมณ์ที่ถูกรู้ ซึ่งเป็นบัญญัติ เพราะฉะนั้นที่ไม่เปลี่ยน คือ จิต จะต้องทำหน้าที่อย่างเดียว คือ รู้เท่านั้น คือ รู้อารมณ์ นั้น คือ รู้บัญญัติ แต่จิตไม่ได้ทำหน้าที่เห็นผิด ไม่ได้มีความคิดเห็นใดๆ ส่วนบัญญัติที่เป็นอารมณ์ ก็ไม่ได้มีหน้าที่ที่มีความเห็นอะไรอีกเช่นกัน แต่ตัวที่มีความเห็นเกิดขึ้น โดยมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ความเห็นที่ผิดเกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นทิฏฐิเจตสิก ทิฏฐิเจตสิกจึงทำหน้าที่เห็นผิด ไม่ใช่จิต และ ไม่ใช่บัญญัติทำหน้าที่เห็นผิด ครับ ส่วน บัญญัติเรื่องราว ก็อาจมีเรื่องราวบัญญัติที่ถูกต้องเป็นอารมณ์ แต่ กลับมีความเห็นผิดในขณะนั้นก็ได้ เช่น เมื่อได้อ่านพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็มีเรื่องราวนั้นเป็นอารมณ์ แต่มีความเห็นผิดที่เข้าใจผิดก็ได้เป็นต้น

โดยนัยเดียวกัน ขณะที่ปัญญาเกิด ความเห็นถูกเกิดขึ้น ไม่ใช่มีเพียงปัญญาอย่างเดียวเท่านั้น มีจิตเกิดขึ้นด้วยพร้อมกัน เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา จิตทำหน้าที่รู้เท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่เห็นถูก และ เรื่องราวบัญญัติที่เป็นอารมณ์ของกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เรื่องราวนั้น ก็ไม่ได้ทำหน้าที่เห็นถูกตามความเป็นจริง แต่เป็นเพียงอารมณ์นั้น แต่ปัญญาแม้มีเรื่องราวใดก็ตาม แต่ขณะนั้นเห็นถูกก็ได้ ครับ

ดังนั้น ในจิตทั้งสองประเภท ที่เป็นจิตที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย และ จิตที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ขณะใดที่มีความเห็น เกิดความเห็นผิดขึ้น ขณะนั้นก็มีทิฏฐิเจตสิก ส่วนขณะใดที่มีความเห็นถูกเกิดขึ้น ขณะนั้นก็มีปัญญาเจตสิก โดยเรื่องราวอารมณ์ จะเป็นอย่างไร ไม่ได้สำคัญที่ความเห็นผิด หรือ ความเห็นถูกในขณะนั้น ครับ

ส่วนคำถามที่ว่า

ผู้ที่มีปรกติหลงลืม หรือ ไม่ค่อยเข้าใจในอรรถ ที่ทางโลกอาจจะเรียกว่าคนสมองช้า หรือป้ำๆ เป๋อๆ คือ เป็นผู้เข้าใจในเหตุในผลยาก ในเรื่องทางโลก ในบัญญัติเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นเหตุเป็นผลสืบเนื่องกัน อย่างเช่น ถามอะไรให้คิดที่เป็นปัญหาเชาว์ แม้ง่ายๆ ก็คิดไม่ออก แต่ไม่ถึงกับขนาดโง่เง่าหรือเป็นคนไม่สมประกอบ จักมีโอกาสฟังธรรมแล้วบรรลุธรรมได้ไหม

พระธรรมละเอียดลึกซึ้งมาก เพราะ เป็นนามธรรม เราไม่ทราบเลยว่า ทุกคนสะสมอะไรมาบ้าง นอกจากพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น คนที่ไม่รู้เรื่องในขณะนี้ ไม่ฉลาดในทางโลก ก็ด้วยหลายเหตุปัจจัย คือ ด้วยกรรมห้ามไม่ให้คิดออกในขณะนั้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง คือ กรรมที่ให้ผลในขณะปัจจุบัน และ กรรมที่ห้ามตั้งแต่แรกเกิด คือ ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เป็นอเหตุกบุคคล ไม่ประกอบด้วยเหตุ ไม่มีปัญญา ก็เพราะกรรมห้ามตั้งแต่เกิด ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้ไม่ฉลาด ดังนั้น พวกที่เกิดมาปฏิสนธิจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และ ไม่มีเหตุ อย่างไรก็ไม่บรรลุ ส่วนผู้ที่ปฏฺิสนธิจิตด้วย ๓ เหตุ คือ ประกอบด้วยปัญญา แต่ ถูกกรรม ที่เป็นอกุศลกรรม ห้ามไว้ในขณะปัจจุบันก็ยังไม่บรรลุในขณะนั้น เพราะ ปัญญายังไม่พร้อม ต่อเมื่อหมดอกุศกลรรมที่จะให้ผลเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็สามารถบรรลุธรรมได้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 14 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นิรมิต
วันที่ 14 มี.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
natural
วันที่ 14 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 16 มี.ค. 2556

จิตเป็นสภาพรู้ สิ่งที่จิตรู้เรียกว่าอารมณ์ เป็นรูปหรือนาม - ทั้งที่เป็นปรมัตถ์และบัญญัติบัญญัติ เป็นเพียง "อารมณ์" ของจิต บัญญัติเรื่องราวของความเห็นผิดก็เป็นเพียงอารมณ์ (สิ่งที่จิตรู้) แต่ไม่ใช่ความเห็นผิดที่เป็นทิฏฐิเจตสิก ส่วนความเห็นผิดอาจเกิดขึ้นหลังจากที่เสพเรื่องราวนั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการสะสมและโยนิโสมนสิการของผู้นั้นค่ะ

ในทำนองเดียวกัน เรื่องราวของสภาพธรรมเป็นบัญญัติอารมณ์ ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ปัญญาเจตสิกจะเกิดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการสะสมและโยนิโสมนสิการเช่นกันค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ