พระทักขิไณยบุคคล

 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่  17 มี.ค. 2556
หมายเลข  22638
อ่าน  3,175

จากพระสูตรที่ได้มีการสนทนาเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมานี้

ข้อความโดยสรุปโดยอาจารย์คำปั่น

มาฆสูตร

(ว่าด้วยผู้ที่บูชาประสบบุญมาก)

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ มาฆมาณพ ได้เข้าไปเฝ้าและกราบทูลถามพระองค์ว่า ตนเองเป็นคฤหัสถ์ เมื่อแสวงหาโภคทรัพย์มาโดยชอบธรรมแล้ว ก็ได้มีการถวายทานแด่ปฏิคาหก (ผู้รับ) ๑ องค์บ้าง ๒ องค์บ้าง ๓ องค์บ้าง เป็นต้น เมื่อถวายอยู่อย่างนี้ บูชาอยู่อย่างนี้ จะประสบบุญมากหรือไม่

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เมื่อมีความประพฤติเป็นไปอย่างนั้น ย่อมประสบบุญมาก ต่อจากนั้น มาฆมาณพได้กราบทูลถามพระองค์ต่อไปว่า คฤหัสถ์ผู้ต้องการบุญ ผู้มุ่งบุญ ให้ข้าวน้ำ บูชาแก่ชนเหล่าอื่นในโลกนี้ การบูชาจะพึงบริสุทธิ์ได้อย่างไร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า คฤหัสถ์ผู้ต้องการบุญ ผู้มุ่งบุญ ให้ข้าวน้ำ บูชาแก่ชนเหล่าอื่นในโลกนี้ ก็พึงบูชาพระทักขิเณยยบุคคล ผู้ละกิเลสทั้งหลายได้แล้ว

(ตามข้อความที่ปรากฏในพระสูตร)


ขออนุญาตเรียนสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระทักขิเณยยบุคคลครับ

เนื่องจากพระทักขิเณยยบุคคลในพระสูตรนี้ท่านกล่าวถึงคุณสมบัติอันเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งปุถุชนไม่สามารถที่จะล่วงรู้ได้เลยว่าเป็นใครบ้าง (ซึ่งไม่ใช่การดูอิริยาบถภายนอก ดูอัฐิธาตุต่างๆ ซึ่งมิได้กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเลย)

ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า ปุถุชน อาจพิจารณาได้จาก "วาจาสัจจะ" ของท่านเหล่านั้น หากการกล่าวของท่านเป็น "คำจริง คำตรง เป็นวาจาสัจจ์" ย่อมพิจารณาได้เสมือนว่าเป็นพระทักขิเณยยบุคคล

มีคำถามว่า ปัจจุบัน มีการยกคำกล่าวของพระพุทธองค์ขึ้นแสดงทั่วไป ยกพุทธวจนขึ้นกล่าว ขึ้นแสดง ท่องจำจนขึ้นใจ บางคราวมีการสนทนากันโดยยกพระสูตรขึ้นแสดงต่อกัน ดังนี้ จะกล่าวได้หรือไม่ว่า ผู้ยกพุทธวจนขึ้นกล่าวเนืองๆ นั้น อยู่ในข่ายของผู้ที่มีวาจาสัจจะ อันเสมือนพระทักขิเณยยบุคคลได้หรือไม่ หรือ ต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างไรอีกหรือไม่ ครับ

เพื่อการบูชาที่ถูกต้องแท้จริงตรงตามพระสูตรนี้ และพระสูตรอื่นๆ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมมีความละเอียดลึกซึ้ง ก็จะต้องเข้าใจธรรมทีละคำ ครับ ซึ่ง คำว่า ทักขิเณยยบุคคล หมายถึง บุคคลที่สมควรได้รับไทยธรรม คือ วัตถุที่ให้ ด้วยเชื่อกรรมและผลของกรรม จึงให้ในบุคคลที่ประกอบด้วยคุณธรรม มีศีล เป็นต้น ซึ่งโดยนัยสูงสุด คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวกทั้งหลาย เพราะประกอบด้วยคุณธรรม มี ศีลเป็นต้น อันควรแก่การให้ เพราะเป็นเนื้อนาบุญชั้นเลิศ ที่ทำให้ทักษิณาของที่ให้ มีผลมาก ครับ นี่คือ ทักขิเณยยบุคคล โดยนัยสูงสุด แต่ยังมีความละเอียดที่ว่า ทักขิเณยยบุคคล คือ บุคคลที่ควรแก่การให้ของ ให้ไทยธรรม เพราะประกอบด้วยคุณธรรม ก็มีลดหลั่นลงไปอีก เพราะหากว่า บุคคลนั้นประกอบด้วยคุณธรรม มีศีล แม้เป็นปุถุชน แต่เป็นกัลยาณปุถุชน บุคคลนั้น ก็สมกับของบูชา ต้อนรับ ควรให้เพราะประกอบด้วยคุณธรรม ก็จัดว่าเป็นทักขิเณยยบุคคลได้

สมดังในมงคลสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงมงคลข้อหนึ่งว่า การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นมงคล ซึ่งถ้าไม่ละเอียดก็คิดว่า บุคคลที่ควรบูชา หมายเฉพาะ พระพุทธะเจ้า พระอริยสาวก เท่านั้น แต่ บุคคลที่ควรบูชา มีทั้งระดับสูงสุด และ ไล่ลงมา คือ ทั้งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวก รวมทั้ง บิดา มารดา ครู อาจารย์ พี่ชาย เป็นต้น เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นบุคคลที่ควรบูชาด้วยไทยธรรม วัตถุต่างๆ ด้วย

ดังนั้นโดยนัยเดียวกัน ทักขิเณยยบุคคลก็มีทั้งระดับสูงสุดและรองลงมา ทั้งแม้ผู้ศึกษาพระพะธรรม เป็นกัลยาณปุถุชน ที่ประกอบด้วยคุณความดี มีความเห็นถูก และ แสดงพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ก็เป็นบุคคลที่ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่การให้ของบูชาคุณ เพราะประกอบด้วยคุณธรรมตามสมควรเช่นกัน ครับ

ส่วนคำว่า วาจาสัจจะ คือ วาจา หรือ คำกล่าว ที่เป็นสัจจะ ความจริง นั่นคือ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นวาจาสัจจะ ซึ่ง สิ่งที่ประเสริฐ ๕ อย่าง หาได้ยากในโลก ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า ดูก่อนเจ้าลิจฉวี ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ หาได้ยากในโลก รัตนะ ๕ เป็นไฉน? คือ

พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑

บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ๑

บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว ๑

บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑

กตัญญูกตเวทีบุคคล ๑


ดังนั้น ใครก็ตามที่กล่าวพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างถูกต้อง ย่อมเป็นบุคคลเป็นรัตนะที่หาได้ยาก แต่ละเอียดลงไป เมื่อจะเป็นบุคคลที่เป็นทักขิเณยยบุคคล หรือไม่ก็สำคัญที่คุณธรรมของบุคคลนั้น คือ มีความเข้าใจถูกในพระพุทธพจน์นั้นด้วย ไม่ใช่เพียงอ่านตาม กล่าวตามพระพุทธพจน์ที่เป็นวาจาสัจจะ แล้วบุคคลนั้นจะเป็นทักขิเณยยบุคคล บุคคลที่สมควรกับการให้ เพราะประกอบด้วยคุณธรรม

เพราะฉะนั้น สำคัญที่คุณธรรมภายในจิตใจของบุคคลที่กล่าววาจาสัจจะว่า เป็นผู้มีคุณธรรม คือ มีศีล มีปัญญา ด้วย ก็ชื่อว่า เป็นทักขิเณยยบุคคล แม้ไม่ถึงความเป็นพระอริยบุคคล แต่ มีความเข้าใจพระธรรมด้วยความเห็นถูก มีศีล และ กล่าวธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างถูกต้อง อธิบายได้ตรงตามสัจจะความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ชื่อว่า เป็นทักขิเณยยบุคคล เพราะประกอบด้วยคุณธรรมที่สมควร และ กล่าวสัจจะ ความจริง ครับ

ในสมัยพุทธกาล ก็มีการที่บุคคลกล่าวพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ไม่ประพฤติปฎิบัติตามเลย ไม่มีศีล กล่าวธรรม สัจจะความจริง เพียงเพื่อลาภ สักการะ มีท่านพระโลฬุทายีเถระ ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตร เป็นต้น ก็ถูกพระพุทธเจ้าตักเตือน เพราะกล่าวธรรม แต่ไม่มีคุณธรรม เพราะฉะนั้น แม้กล่าวสัจจะความจริงอยู่ แต่เมื่อไม่มีคุณธรรมภายใน กล่าวเพื่อเหตุอื่น ก็ไม่ใช่ทักขิเณยยบุคคล ครับ ส่วนบุคคลที่กล่าวสัจจะความจริง และ มีคุณธรรมด้วย ย่อมชื่อว่าเป็นทักขิเณยยบุคคล เพราะความเป็นกัลยาณปุถุชนที่มีความเห็นถูก และ มีคุณธรรม ครับ

ซึ่งในพระไตรปิฎกยังแสดงความละเอียดอีกครับว่า แม้ใครจะกล่าวธรรม ก็สามารถบูชา ระลึกถึงธรรม โดยไม่ได้มุ่งที่ตัวผู้กล่าวเป็นสำคัญ การบูชาพระธรรมอีกประการหนึ่ง เมื่อมีพราหมณ์ผู้หนึ่งต้องการบูชาพระธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอจงให้ปัจจัยที่สมควรกับอานนท์ เพราะเหตุว่าเธอเป็นดั่งเช่นคลังพระธรรม เมื่อให้อานนท์แล้วก็ชื่อว่าบูชาพระธรรม เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่กล่าวธรรมดีแล้ว และ ประกอบด้วยคุณธรรมด้วย ก็สามารถให้ไทยธรรม วัตถุสิ่งของ กับบุคคลนั้น เป็นทักขิเณยยบุคคลที่สมควรแก่การให้ด้วย ก็ชื่อว่าเป็นการบูชาพระธรรมได้ ครับ ด้วยจิตที่บูชาพระธรรม โดยให้ผู้ที่แสดงพระธรรมถูกต้อง

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 18 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Patikul
วันที่ 18 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 18 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระทักขิเณยยบุคคลเป็นผู้ควรรับซึ่งทักษิณาทาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระทักขิเณยยบุคคลสูงสุด พระองค์ทรงแสดงว่า พระเสขะกับพระอเสขะ เป็นพระทักขิเณยยบุคคล สำหรับกัลยาณปุถุชน เป็นคนดี มีคุณธรรม ก็ย่อมถึงการสงเคราะห์ว่าเป็นทักขิเณยยบุคคล ด้วย

ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่า แต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ก็มีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม สะสมมาดี ก็มีความประพฤติเป็นไปที่ดีงาม มีการอบรมเจริญปัญญา ได้รับประโยชน์จากพระธรรมไปตามลำดับ สูงสุดจนถึงความเป็นพระอรหันต์ ถ้าสะสมมาไม่ดี ก็มีความประพฤติเป็นไปตามกำลังของกิเลสที่สะสมมา ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป บุคคลประเภทหลังนี้ แม้จะได้ฟังพระธรรม แต่ถ้าจุดประสงค์ไม่ถูกต้องในการฟัง ในการศึกษา ไม่ได้ศึกษาเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ก็ย่อมผิดตั้งแต่ต้น

ที่จะเป็นประโยชน์จริงๆ แล้ว คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง และเมื่อได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็เกื้อกูลผู้อื่นเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามกำลังปัญญาของตน ด้วยการกล่าวคำจริงที่เป็นวาจาสัจจะ เป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้นั้น ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ เป็นต้น แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ การมีโอกาสได้เกื้อกูลกันและกันให้ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงของธรรม เป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง ครับ

...ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 18 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 18 มี.ค. 2556

ทักขิเณยยบุคคล หมายถึง คนที่มีคุณธรรม คนที่มีศีล การให้ทานกับคนที่มีคุณธรรม มีศีล มีผลมาก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 19 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 17 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ