กฏแห่งแรงดึงดูด อธิบายแบบพระอภิธรรมได้ไหม
ดิฉันคิดว่าทุกๆ อย่างพระอภิธรรมสามารถอธิบายได้ทั้งหมด จึงใคร่ขอรบกวนอาจารย์และกัลยาณมิตรช่วยอธิบายเรื่องของจิตเจตสิก ที่พอจะอธิบายแนวคิดกฏแห่งแรงดึงดูดที่คนสมัยใหม่นิยมนำมาสอนกัน
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระอภิธรรมสามารถตอบคำถามได้ทุกคำถาม แต่คำตอบนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปสนับสนุนทฤษฎีให้อธิบายทฤษฎีนั้นเพิ่มเติม เพราะในความเป็นจริง พระอภิธรรมแสดงสัจจะความจริงต่างๆ ว่า ความจริงที่แท้จริงคืออะไร เพราะฉะนั้นก็ขอแสดงความจริงที่อธิบายทฤษฎีต่างๆ ของโลก ที่ไม่ใช่เพียงทฤษฎีนี้ โดยนัยอภิธรรมว่าคืออะไร
ทฤษฎีต่างๆ ที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้น ก็คือ ความคิดนึกที่เป็นวิตกเจตสิก ที่เกิดร่วมกับจิต กล่าวง่ายๆ คือ จิตที่คิดนึกเป็นไปตามการสะสมของแต่ละคน ก็ไม่พ้นจากอภิธรรม ที่เป็นความคิดนึกที่เป็นจิตเท่านั้น ส่วนเรื่องราวที่เป็นทฤษฎีต่างๆ ที่เป็นเรื่องแรงโน้มถ่วง เป็นต้น ก็เป็นเพียงบัญญัติ เรื่องราวจากสิ่งที่มีจริง คือ อาศัยการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้กระทบสัผมัส และ การคิดนึก ที่เป็นโลกทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ โลกจึงปรากฎให้เห็นเป็นสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องราวต่างๆ ดังนั้น ทฤษฎีที่เป็นเรื่องราว จึงเป็นบัญญัติเรื่องราว เพราะอาศัยสิ่งที่มีจริง คือ การคิดนึก การเห็น มีสิ่งที่ถูกเห็น ทำให้มีเรื่องราว เป็นทฤษฎีต่างๆ ได้ ครับ
จะเห็นนะครับว่า พระอภิธรรมสามารถอธิบายได้ทุกอย่าง แต่อธิบายตามสัจจะความจริง ซึ่งขัดแย้งกับทางโลกอย่างสิ้นเชิง ที่แสดงว่ามีแต่ธรรม ไม่มีเรื่องราวสิ่งต่างๆ มีแต่ธรรมที่มีจริง ที่ปรากฎแต่ละขณะ ดังนั้น การอธิบายอภิธรรมมีคำตอบทุกอย่าง แต่คำตอบนั้นไม่ได้เป็นการอธิบายทฤษฎีสนับสนุนทฤษฎีนั้น แต่อภิธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงกับสัตว์โลกที่สะสมปัญญาความเข้าใจมา เพื่อให้เห็นถูกว่า ความจริงคืออะไร และ สิ่งที่ควรสนใจมากที่สุด คือ การเข้าใจความจริง เพราะแม้ทฤษฎีทางโลกมีมากมาย แต่ก็ไม่ได้อธิบายตามความเป็นจริง เพราะยึดถือพื้นเดิมด้วยความเข้าใจผิดว่า มีโลก มีเรา มีสัตว์ บุคคล มีโลกใบนี้ มีแรงโน้มถ่วงในโลก แต่โลกจริงๆ คือ โลก ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ครับ
สิ่งที่ควรสนใจ คือ ความเข้าใจความจริง ซึ่งจะมีได้ด้วยการศึกษาพระธรรม ทฤษฎีเปลี่ยนแปลงได้ เพราะไม่ใช่สัจจะ พระธรรมที่เป็นสัจจะ เป็นความจริง ทุกยุค ทุกสมัย รอเวลาของปัญญาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สิ่งที่มีจริงสามารถพิสูจน์ได้ทุกขณะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ดีใจ เสียใจ ติดข้องยินดีพอใจ หงุดหงิด โกรธขุ่นเคือง ไม่พอใจ เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมทั้งหมด เมื่อไม่ได้ศึกษา ย่อมไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นธรรม เพราะแท้ที่จริงแล้ว ทุกขณะเป็นธรรม มีจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด ธรรมก็เป็นธรรม เป็นสัจจธรรม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ การศึกษาธรรมเป็นการศึกษาถึงสภาพธรรมที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เนื่องจากเราคุ้นเคยกับความเป็นตัวตน คุ้นเคยกับความเป็นเรา พร้อมทั้งได้สะสมความไม่รู้มาอย่างเนิ่นนาน จึงหลงยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา
ดังนั้น ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น จึงควรที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ ละความเห็นผิดในสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ในที่สุด ธรรมจึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาเป็นที่สุดเพราะจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด แทนที่จะคิดไปไกลถึงเรื่องอื่น ก็กลับเข้ามาศึกษาเพื่อให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
พระอภิธรรม หมายถึง ธรรมที่ละเอียด ยิ่งใหญ่ เป็นปัญญา ผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรมย่อมเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม เป็นอนัตตา ที่ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน ค่ะ
ในกฏแห่งแรงดึงดูด มีข้อนึงบอกว่า ถ้ากลัวสิ่งใด จะยิ่งดึงดูดสิ่งที่กลัวเข้ามาในชีวิต หรือไม่ก็ยิ่งทำให้เป็นไปตามที่กลัว อยากทราบว่าพระอภิธรรมมีอธิบายไว้หรือไม่คะว่าความกลัวอะไรบ่อยๆ จะยิ่งได้ยิ่งเจอในสิ่งที่กลัว
เรียนความเห็นที่ 5 ครับ
สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น การเห็นสิ่งที่ดี เห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินสิ่งที่ดี หรือไม่ดี เหล่านี้ ในสัจจะความจริง ในอภิธรรม คือ เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ซึ่งเกิดจากกรรมในอดีตที่ทำมาให้ผล ส่วนความกลัวเป็นอกุศลจิตที่เป็นโทสะ ซึ่งไม่ใช่เหตุที่ทำให้เกิดผลของกรรม หรือเกิดสิ่งที่ไม่ดีกับชีวิต ดังนั้นสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นกับชีวิต อยู่ที่กรรมในอดีตที่เป็นอกุศลกรรมให้ผล ไม่เกี่ยวข้องกับความกลัว เพราะความกลัวไม่ใช่เหตุที่เป็นอกุศลกรรมที่จะทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดี เพียงแต่ว่า บางกรณี เมื่อกลัวสิ่งใด และได้สิ่งนั้นในบางครั้ง ซึ่งปุถุชนผู้ไม่มีปัญญาย่อมสำคัญว่ามาจากความกลัวนั้นเองที่ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ดี แท้ที่จริงเกิดจากกรรมเก่าที่ได้ทำมาเป็นสำคัญ เพราะในบางครั้ง แม้ไม่กลัวสิ่งนั้น สิ่งที่ไม่ดีก็เกิดขึ้นได้กับชีวิต เพราะ อกุศลกรรมให้ผล แม้จะกลัวหรือไม่กลัวก็ตาม และ แม้กลัวสิ่งใด สิ่งนั้นก็ไม่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะ อกุศลกรรมไม่ให้ผล
ความคิดของปุถุชนที่คิดเอาเอง จึงต่างจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
การได้เห็นหรือได้ยินสิ่งใดที่ดีหรือไม่ดีเป็นผลของกรรม..ในพระอภิธรรม..ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน..ความกลัวเป็นเจตสิก (โทสเจตสิก) .. จิตเป็นสภาพรู้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ จิตมีกิจประการหนึ่งคือสะสมสันดาน เช่น เมื่อเกิดความกลัวก็จะสะสมไว้ในจิต.. ถ้ากลัวสิ่งใดแล้วไม่พิจารณาไตร่ตรองสภาพธรรมะตามความเป็นจริง เกิดความกลัวอีกก็จะสะสมไว้ในจิต เป็นกิเลสเพิ่มขึ้น ความกลัวน้อยๆ อาจไม่รู้ เมื่อกล้วมากขึ้นก็จะรู้ได้ เมื่อไม่ละความกลัว เจออีกก็กลัวอีก และพระธรรมสอนว่าไม่มีตัวตนสัตว์บุคคลที่จะกระทำสิ่งใด ที่ว่าความกลัวดึงดูดให้เจอสิ่งที่น่ากลัวจึงไม่ใช่ เพราะการเจอสิ่งที่น่ากลัวเป็นผลของอกุศลกรรม ส่วนความกลัวเป็นกิเลสที่เกิดจากการสะสมของจิต การศึกษาพระธรรมทำให้รู้จักความกลัวและการละ พระอรหันต์แม้เจอสิ่งที่น่ากลัวก็ไม่กลัวเพราะดับกิเลสได้หมดแล้ว