มีคำถามจาก อภัพพสูตร ครับ

 
ผู้ยังไม่พ้น
วันที่  20 มี.ค. 2556
หมายเลข  22653
อ่าน  1,123

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละ ชาติ ชรา มรณะ ได้ ๓ ประการเป็นไฉน? คือ ราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละ ชาติ ชรา มรณะได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละ ราคะ โทสะ โมหะได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้วก็ไม่อาจละ ราคะ โทสะ โมหะ ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ การกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย ๑ การเสพทางผิด ๑ ความหดหู่แห่งจิต ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล ก็ไม่อาจละ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละ การกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย การเสพทางผิด ความหดหู่แห่งจิตได้ ๓ ประการเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้มีสติหลงลืม ๑ ความไม่มีสัมปชัญญะ ๑ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละการกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย การเสพทางผิด ความหดหู่แห่งจิตได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละ ความเป็นผู้มีสติหลงลืม ความไม่มีสัมปชัญญะ ความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้ ๓ ประการเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ๑ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ๑ ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดี ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละ ความเป็นผู้มีสติหลงลืม ความไม่มีสัมปชัญญะ ความฟุ้ง ซ่านแห่งจิตได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละ ความเป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีได้ ๓ ประการเป็นไฉน? คือความฟุ้งซ่าน ๑ ความไม่สำรวม ๑ ความทุศีล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละ ความเป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละ ความฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม ความทุศีลได้ ๓ ประการเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ๑ ความเกียจคร้าน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละความฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม ความทุศีลได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละ ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ความเกียจคร้านได้ ๓ ประการเป็นไฉน? คือ ความไม่เอื้อเฟื้อ ๑ ความเป็นผู้ว่ายาก ๑ ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ความเกียจคร้านได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้วก็ไม่อาจละ ความไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ว่ายากความเป็นผู้มีมิตรชั่วได้ ๓ ประการเป็นไฉน? คือ ความไม่มีหิริ ๑ ความไม่มีโอตตัปปะ ๑ ความประมาท ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละ ความไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ว่ายาก ความเป็นผู้มีมิตรชั่วได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่มีความละอาย ไม่มีความเกรงกลัว เป็นผู้ประมาท ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ว่ายาก ความเป็นผู้มีมิตรชั่วได้ บุคคลเป็นผู้มีมิตรชั่ว ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ความเกียจคร้านได้ บุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน ก็ไม่อาจละความฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม ความทุศีลได้ บุคคลเป็นผู้ทุศีล ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีได้ บุคคลเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดี ก็ไม่อาจละความเป็นผู้มีสติหลงลืม ความไม่มีสัมปชัญญะ ความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้บุคคลเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ก็ไม่อาจละความกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย การเสพทางผิด ความหดหู่แห่งจิตได้ บุคคลเป็นผู้มีจิตหดหู่ ก็ไม่อาจละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ บุคคลเป็นผู้มีวิจิกิจฉา ก็ไม่อาจละราคะ โทสะ โมหะได้ บุคคลไม่ละราคะโทสะ โมหะแล้ว ก็ไม่อาจละชาติ ชรา มรณะได้ จากพระสูตรดังกล่าวขอถามเพิ่มเติมดังนี้ครับ

1. "การเสพทางผิด" คืออะไรครับ ขอตัวอย่างหรือขอพระสูตรด้วยครับ

2. "การทำไว้ในใจด้วยอุบายไม่แยบคาย" การทำในใจด้วยอุบายแยบคาย หมายถึงการคิดเตรียมใจไว้หรือเปล่าครับ หรือว่าอย่างไร ขอตัวอย่างอธิบายด้วยครับ

3. ด้านบนๆ จะมีบางข้อคล้ายกัน คือ "ความฟุ้งซ่าน" กับคำว่า "ความฟุ้งซ่านแห่งจิต" ขอช่วยขยายความ และแสดงความแตกต่างด้วยครับ

4. ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์หมายความว่าอย่างไรครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. "การเสพทางผิด" คืออะไรครับ ขอตัวอย่างหรือขอพระสูตรด้วยครับ

อธิบาย ธรรมทีละคำ ดังนี้ การเสพ หมายถึง การคบ การเกี่ยวข้อง หรือ การเกิดขึ้นของสภาพธรรมในจิตใจของตนเอง ชื่อว่า การเสพทางผิด คือ ทางที่เป็นอกุศลธรรม ที่เป็นทางที่เป็นมิจฉามรรค มีความเห็นผิด มีความคิดผิด มีวาจาที่ผิด จนถึง มีความตั้งมั่นที่ผิด หลุดพ้นผิด เป็นต้น ที่เป็นมิจฉามรรค เป็นทางที่ผิด รวมความว่า อกุศลธรรมทั้งหลาย อันมีความเห็นผิด เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นในจิตใจ ชื่อว่า ทางผิด เพราะฉะนั้นการเสพทางผิด จึงหมายถึง การคบกับผู้ที่มีความเห็นผิด มีความคิดที่ผิด และที่สำคัญที่สุด การเสพทางผิด คือ จิตใจของตนเองที่เกี่ยวข้อง คือ เกิดอกุศลจิตที่เป็นความเห็นผิด เกิดความคิดที่ผิด วาจาผิด ที่เป็นมิจฉามรรคในขณะนั้น ชื่อว่า กำลังเสพทางผิด ครับ และ การทำอกุศลกรรม คือ การทำบาป ประการต่างๆ ก็ชื่อ การเสพทางผิด ทางที่ถูก คือ การเสพทางที่ถูก คือ การเจริญสัมมามรรค อบรมปัญญา และ การทำกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ หรือ กุศลประการต่างๆ ชื่อว่า การเสพทางถูก ครับ

ดังข้อความในพระไตรปิฏกที่ว่า

[เล่มที่ 78] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 804

กุมมัคคเสวนา การเสพทางผิด เป็นไฉน

บรรดาบทเหล่านั้น ทางผิด เป็นไฉน มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ นี้เรียกว่า ทางผิด การเสพ การเสพเป็นนิตย์ การเสพด้วยดี การคบ การคบด้วยดี การชอบใจ ความชอบใจ ซึ่งทางผิดนี้ ความเป็นผู้โน้มน้าวไปตามทางผิดนี้ อันใด นี้เรียกว่า กุมมัคคเสวนา การเสพทางผิด.

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้าที่ 432

บทว่า กุมฺมคฺค ความว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ อันธพาลปุถุชน คนงมงายไม่มีความคิด ย่อมซ่องเสพทางผิดคือทิฏฐิ ๖๒ ประการฉันใด พระราชาของท่านไม่ควรซ่องเสพทางผิดฉันนั้น จงซ่องเสพเฉพาะกุศลกรรมบถ ๑๐ อันเป็นนิยยานิกธรรม ท่านควรกราบทูลพระองค์อย่างนี้.


2. "การทำไว้ในใจด้วยอุบายไม่แยบคาย" การทำในใจด้วยอุบายแยบคาย หมายถึง การคิดเตรียมใจไว้หรือเปล่าครับ หรือว่าอย่างไร ขอตัวอย่างอธิบายด้วยครับ

การทำไว้ในใจโดยแยบคาย หมายถึง โยนิโสมนสิการ คือ ขณะที่กุศลจิตเกิดขณะนั้น มีโยนิโสมนสิการ มีการใส่ใจด้วยดี ด้วยแยบคาย กุศลจิตจึงเกิด แต่ไม่ใช่การพยายามเตรียมใจ เพราะไม่มีใครคิดจะเตรียมใจล่วงหน้าได้ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ขณะที่ไม่ใส่โดยแยบคาย คือ ขณะที่อกุศลจิตเกิด เพราะ พิจารณาใส่ใจไม่ถูกต้อง จึงเกิดอกุศลจิต ครับ


3. ด้านบนๆ จะมีบางข้อคล้ายกัน คือ "ความฟุ้งซ่าน" กับคำว่า "ความฟุ้งซ่านแห่งจิต" ขอช่วยขยายความ และแสดงความแตกต่างด้วยครับ

จากที่ได้อ่านพระสูตรนี้ แสดงถึงความละเอียดในส่วนต้นจนถึงส่วนหยาบ ในตอนจะจบพระสูตร เช่น แสดงตั้งแต่เบื้องต้นว่า จะละชาติ ชรา มรณะได้อย่างไร และ ละโลภะ โทสะ โมหะ ได้อย่างไร จนตอนสุดท้ายของพระสุตร ที่แสดงส่วนหยาบว่า ไม่มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาปและมีมิตรชั่ว เพราะฉะนั้นความฟุ้งซ่านแห่งจิต กับ ความฟุ้งซ่าน ทั้งสองนี้ ย่อมแตกต่างโดยกำลังของอกุศล

ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ย่อมละเอียด กำลังแสดงถึง ขณะที่จิตฟุ้งซ่าน แม้อกุศลที่เป็นโลภะ ยินดีพอใจก็ฟุ้งซ่าน ขณะที่นั่งสมาธิ กำลังจดจ่ออยู่อารมณ์ใด แต่ปัญญาไม่รู้อารมณ์ แม้จะนิ่งอยู่ แต่ก็ฟุ้งซ่าน เพราะ เป็นอกุศลจิต กำลังฟุ้งซ่านแห่งจิต ส่วน ความฟุ้งซ่านในส่วนต่อมาหยาบกว่าที่แสดงถึงลักษณะที่กำลังคิดฟุ้งซ่านจริงๆ ที่คิดเป็นเรื่องราวต่างๆ วกไปวนมา อันแสดงถึงลักษณะของความฟุ้งซ่านที่มีกำลังกว่า ตามความเข้าใจที่ได้อ่าน ครับ

4. ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์หมายความว่าอย่างไรครับ

ก่อนอื่นก็อธิบายผู้ที่รู้ความประสงค์ก่อนครับว่า คือ อะไร การรู้ความประสงค์ คือ รู้ความต้องการของผู้อื่น เช่น เมื่อเห็นพระภิกษุเดินบิณฑบาต ผู้มีปัญญาใคร่ทำกุศล ย่อมรู้ความประสงค์ของผู้ขอ ที่ต้องการอาหาร ผู้ที่รู้ความประสงค์จึงให้อาหาร ทำบุญ ส่วนผู้ที่ไม่รู้ความประสงค์ คือ ไม่มีปัญญาพิจารณาว่า ผู้นี้ต้องการมาขอ ขอความช่วยเหลือ เมื่อไม่รู้ความประสงค์ ย่อมไม่ทำกุศล ไม่ทำบุญ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 21 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 21 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า อะไรคือทางที่ถูกที่ควร อะไรคือทางที่ผิด ย่อมไม่สามารถที่จะดำเนินไปทางที่ถูกได้เลย เมื่อกล่าวถึงทางแล้ว มี ๒ ทางใหญ่ๆ คือ ทางถูกกับทางผิด ถ้าเป็นทางถูก เป็นหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ก็ย่อมนำไปสู่ความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมทั้งหลาย ส่วนทางผิด เป็นทางที่ไม่นำไปสู่ความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลทั้งหลาย ได้แก่ ความเห็นผิด ซึ่งมีแต่จะทำให้ความเห็นผิดและอกุศลเกิดพอกพูนยิ่งขึ้น เช่น การทรมานตนให้ลำบาก เป็นต้น

-ถ้าเป็นกุศล ไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม จะถูกต้องแยบคาย เสมอ แต่ถ้าเป็นอกุศลแล้ว จะไม่แยบคาย เป็นอโยนิโสมนสิการ ในบางพระสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า การกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ก็มาจากการไม่ใส่ใจอย่างถูกต้องแยบคายนี้เอง

-ขณะที่เป็นอกุศลจะฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับขณะที่เป็นกุศลอย่างสิ้นเชิง ธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้

-ถ้าไม่ละเอียด ไม่ไตร่ตรองในเหตุในผล ก็ไม่สามารถที่จะเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้อื่นได้เลย ทั้งหมดเกี่ยวเนื่องมาจากความเป็นผู้ได้ฟังพระธรรรม ศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจ เพราะปัญญาจะเจริญขึ้นได้ก็ต้องอาศัยเหตุที่สำคัญดังกล่าว นี้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 21 มี.ค. 2556

การทำในใจโดยแยบคาย คือ การคิด การพูด การทำ ในทางกุศล ความฟุ้งซ่าน คือ คิดในทางที่เป็นอกุศล เช่น คิดถึงอนาคตว่าอะไรจะเกิดขึ้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 22 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 22 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
daris
วันที่ 23 มี.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 23 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
natural
วันที่ 24 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ