จิตที่มีพลังและเข้มแข็ง?

 
Pure.
วันที่  21 มี.ค. 2556
หมายเลข  22657
อ่าน  3,389

+มีวิธีใดบ้างทำให้จิตมีพลังและเข้มแข็ง?

+เพราะเหตุใดบุคคลที่ดูละครแล้วมีจิตใจที่อ่อนไหวไปตามเนื้อเรื่องนั้นๆ ?

+สภาวจิตที่ประกอบไปด้วยปัญญาเป็นไฉน?

อนุโมทนาบุญครับอาจารย์.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 มี.ค. 2556

+มีวิธีใดบ้างทำให้จิตมีพลังและเข้มแข็ง?

จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์เท่านั้น ไม่ได้ทำกิจอย่างอื่น จิตไม่เข้มแข็ง จิตไม่ได้มีพลัง แต่เมื่อจิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกมีหลายประเภท ทำให้มีจิตหลายประเภท จิตที่เข้มแข็ง โดยทางธรรม คือ จิตที่ไม่หวั่นไหวไปในอกุศลธรรม คือ จิตที่ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย และจิตจะไม่หวั่นไหวมากขึ้น มีกำลังมากเพราะมีปัญญา (สภาพธรรมที่มีความเห็นถูก) จึงทำให้เป็นพละ ไม่หวั่นไหวไปในสภาพธรรม เช่น ศรัทธาพละ สติพละ ปัญญาพละ ซึ่งเมื่อเจอเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน โดยมากก็เป็นอกุศลจิต ยินดีพอใจ หรือ โกรธ ไม่พอใจ ก็ทำให้หวั่นไหว จิตไม่มีกำลังไปในทางกุศล แต่เมื่อใดที่อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จนปัญญาเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น จิตมีกำลังด้วยปัญญาที่รู้ความจริง ไม่หวั่นไหวไปในอกุศล ไม่หวั่นไหวเพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น วิธีที่จะทำ ให้จิตไม่หวั่นไหว และ สภาพธรรมอื่นๆ เป็นพละมีกำลัง ก็ไม่มีวิธีอื่น นอกเสียจากการเจริญอบรมปัญญาด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมทำให้มีความหวั่นไหวในอกุศลธรรมในชีวิตประจำวันลดลงเป็นธรรมดา ครับ

+เพราะเหตุใดบุคคลที่ดูละครแล้วมีจิตใจที่อ่อนไหวไปตามเนื้อเรื่องนั้นๆ ?

การอ่อนไหวไปตามสภาพธรรมที่เห็น ได้ยิน เป็นต้น ที่สมมติว่าเป็นละคร หวั่นไหวไปในทางอกุศล ยินดี ติดข้อง และ เศร้าโศกเสียใจ เหตุมาจากกิเลสที่มีในจิตใจของปุถุชนที่มีมากมายหาประมาณไม่ได้ เมื่อเห็นและคิดนึกไปตามเรื่อราว ก็ทำให้หวั่นไหวตามกิเลสที่มีอยู่ได้เป็นธรรมดาครับ

+สภาวจิตที่ประกอบไปด้วยปัญญาเป็นไฉน

ปัญญา คือ สภาพธรรมที่เห็นถูกตามความเป็นจริง ปัญญาเป็นเจตสิกที่เป็นอโมหเจตสิก ที่เกิดร่วมกับจิต จิตที่ประกอบด้วยปัญญา คือ ขณะนั้นมีความเห็นถูกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สภาวะที่จิตมีปัญญา จึงเป็นขณะที่เมื่อใดมีความเห็นถูกตามความเป็นจริงโดยนัยต่างๆ เช่น เห็นถูกว่ามีกรรมและผลของกรรม เห็นถูกว่ามีแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เป็นต้น เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นสภาวจิตที่มีปัญญา เพราะมีความเห็นถูก เกิดขึ้น ครับ

ขอนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Pure.
วันที่ 22 มี.ค. 2556

ขอบคุณครับอาจารย์.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 22 มี.ค. 2556

ผู้ไม่หวั่นไหวหรือผู้คงที่คือพระอรหันต์ ปุถุชนเป็นผู้หนาด้วยกิเลสและอกุศลย่อมหวั่นไหวมากหรือน้อยขึ้นกับระดับของกิเลส การฟังธรรมจนเกิดปัญญาเป็นหนทางเดียวที่จะเป็นผู้มั่นคงไม่หวั่นไหว คำว่า เป็นผู้คงที่ ความว่า พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ โดยอาการ ๕ คือ เป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่าสละแล้ว เป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่าข้ามแล้ว เป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่าพ้นแล้ว เป็นผู้คงที่เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้นๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 22 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะไม่พ้นไปจากจิต มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความจริงเป็นอย่างนี้ การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และ เข้าใจพระธรรมจึงเป็นสาระสำคัญของชีวิตที่ได้เกิดมาในชาตินี้ ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้ความจริงในสิ่งที่กำลังปรากฎ รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืน บุคคลผู้มีปัญญาที่รู้ความจริง จึงไม่หวั่นไหวไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม พร้อมทั้งเป็นผู้ที่รู้ว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำอีกด้วย ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เพราะเหตุว่า ปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง จิตที่ปัญญาเกิดร่วมด้วยย่อมเป็นจิตที่มีกำลัง เพราะเป็นกำลังของธรรมฝ่ายดี มีปัญญาเป็นต้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควรยิ่งขึ้นคล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น

ปกติก็มีอกุศลเกิดขึ้นเป็นพื้นอยู่แล้ว เกิดขึ้นเป็นไปมากในชีวิตประจำวัน เพราะได้สะสมมาอย่างมากมายในสังสารวัฏฏ์ คงไม่ใช่เฉพาะการดูละครเท่านั้นที่อกุศลเกิดขึ้นเป็นไป หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล แม้ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็หวั่นไหวไปแล้วด้วยอำนาจของโลภะบ้าง โทสะบ้าง และทุกขณะที่อกุศลเกิดก็ไม่ปราศจากอวิชชาหรือโมหะเลย หนทางที่จะเข้าใจความจริง ตามความเป็นจริง ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ค่อยๆ ขัดเกลาความไม่รู้ ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา

ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก และเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ปัญญาเกิดร่วมกับจิตที่ดีงามเท่านั้นไม่เกิดร่วมกับจิตประเภทอื่น ขณะที่ปัญญาเกิด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ขณะที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ในบรรดาธรรมที่เกิดดับทั้งหลายนั้น ปัญญาประเสริฐสุด ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่เกื้อกูลได้ทุกระดับขั้น เพราะปัญญามีหลายขั้น ตั้งแต่ขั้นต้นจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ การอบรมเจริญปัญญา โดยเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจไปตามลำดับในชีวิตประจำวัน เป็นกุศลที่ไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อนและไม่ได้ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อนด้วย เพราะขณะที่เข้าใจเป็นกุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงามหาโทษใดๆ ไม่ได้เลย ครับ

…ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 22 มี.ค. 2556

หนทางเดียวคืออบรมเจริญกุศลที่เป็นอสังขาริกประกอบด้วยปัญญา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 23 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 25 มี.ค. 2556

กุศลที่เป็นสสังขาริกชื่อว่าหวั่นไหวหรือไม่คะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 18 พ.ค. 2556

เรียน ความคิดเห็นที่ 7 ครับ ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ได้หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศลใดๆ เลย ชั่วขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่กุศลจิตเกิด อกุศลใดก็จะเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย เพราะสภาพธรรมที่ทำให้หวั่นไหว คือ กิเลส มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nong
วันที่ 20 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ