นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ มีความต่างกันอย่างไร
นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ คือ ความเห็นผิดที่ดิ่งแก้ไขไม่ได้ ได้แก่
๑. อกิริยทิฏฐิ เห็นว่า ไม่เป็นอันทำ ปฏิเสธการกระทำดี ทำชั่ว และปฏิเสธผลว่าไม่มี
๒. อเหตุกทิฏฐิ เห็นว่าทุกสิ่งไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เป็นไปเอง
๓. นัตถิกทิฏฐิ เห็นว่า ไม่มีบุญ ไม่มีบาป ปฏิเสธทั้งเหตุและผล
ทั้ง ๓ ต่างกันเพียงชื่อ โดยอรรถเหมือนกัน โปรดอ่านคำอธิบายในอรรถกถา
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 389
บรรดาครูทั้ง ๖ นั้น ปูรณะชี้แจงว่า เมื่อทำบาปก็ไม่เป็นอันทำชื่อว่า ย่อมปฏิเสธกรรม. อชิตะชี้แจงว่า เพราะกายแตกสัตว์ย่อมขาดสูญ ชื่อว่า ปฏิเสธวิบาก. มักขลิชี้แจงว่า ไม่มีเหตุ ชื่อว่า ปฏิเสธทั้งกรรมและวิบากทั้ง ๒. ในข้อนั้น แม้เมื่อปฏิเสธกรรม ก็ชื่อว่าปฏิเสธวิบากด้วย. แม้เมื่อ ปฏิเสธวิบาก ก็ชื่อว่าปฏิเสธกรรมด้วย. ดังนั้นเจ้าลัทธิแม้ทั้งหมดนั้น ว่าโดยอรรถ ก็คือปฏิเสธทั้งกรรมและวิบากของกรรมทั้ง ๒ ย่อมเป็นอเหตุกวาทะด้วย เป็นอกิริยวาทะด้วย เป็นนัตถิกวาทะด้วย.