เพียรในอกุศล เป็นเหตุให้อกุศลกรรมในอดีตมาเบียดเบียน

 
ดรุณี
วันที่  22 มี.ค. 2556
หมายเลข  22660
อ่าน  1,246

อยากทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่คะ หากมีความเพียรในทางอกุศลบ่อยๆ เช่น โกรธบ่อยๆ พูดไม่ดีบ่อยๆ จะเป็นเหตุให้อกุศลกรรมในอดีตมาเบียดเบียนกุศลกรรมที่กำลังให้ผลในปัจจุบันและในทางตรงกันข้าม หากเพียรในกุศลบ่อยๆ เช่น เมตตาบ่อยๆ ฟังธรรมบ่อยๆ ให้ทานบ่อยๆ จะเป็นเหตุให้กุศลกรรมในอดีตมาเบียดเบียนอกุศลกรรมที่กำลังให้ผลในปัจจุบัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 22 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องกรรม และ การให้ผลของกรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง แต่ละคนแต่ละท่าน ก็ได้กระทำกรรมมามาก ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ในชาติที่ผ่านๆ มาก็ได้กระทำแล้ว กรรมที่ได้กระทำมาแล้วไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิต ถูกเก็บรักษาอย่างดีในจิต โดยที่ใครๆ ก็ไม่สามารถทำลายได้ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ก็ย่อมเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นเป็นไปได้ ถ้ามีความเพียรในการสะสมกุศลบ่อยๆ เนืองๆ ที่เป็นไปในเรื่องของทานบ้าง ศีลบ้าง การอบรมเจริญปัญญาบ้าง เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต โอกาสที่กรรมดีที่กระทำแล้วในอดีตจะให้ผล ก็ย่อมมีมาก ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผู้ประมาทมัวเมา มีความเพียรไปในการประกอบอกุศลกรรมประการต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น ก็ย่อมจะเอื้ออำนวยต่อการที่อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตมีโอกาสให้ผลได้ ซึ่งเพียรในที่นี้ มุ่งหมายถึงในขณะที่เป็นไปในการกระทำที่เป็นอกุศลกรรมกับกุศลกรรมเท่านั้น ที่ควรจะได้พิจารณาจริงๆ คือ ผลที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากเหตุทั้งนั้น ไม่มีใครบันดาลให้อะไรๆ เกิดขึ้นได้เลย เพราะเหตุว่า ผลที่ดีย่อมมาจากเหตุที่ดี คือ กุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ส่วนผลที่ไม่ดี ก็มาจากเหตุที่ไม่ดี คือ อกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้ว นั่นเอง ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทั้งสิ้น

เราไม่สามารถรู้ได้ว่า กรรมใดจะให้ผลเมื่อใด ที่ดีที่สุดแล้ว คือ เป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ประมาททั้งกำลังของอกุศล และ ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะกุศลธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง อกุศลธรรมเป็นที่พึ่งไม่ได้ มีแต่จะนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนโดยส่วนเดียวเท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 23 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรมใดให้ผลนั้น อาศัยเหตุปัจจัยหลายประการ ซึ่ง มี 4 ประการ คือ

คติ คือ ภพภูมิที่เกิด

อุปธิ คือ รูปร่างหน้าตา

กาล คือ กาลเวลาที่เกิด ว่าเกิดในสมัยที่ดี หรือ ไม่ดี

ปโยคะ ความเพียร ความเพียรที่เป็นไปในทางกุศล หรือ ทางอกุศล

ซึ่งสำหรับคติ ถ้าเกิดในภพภูมิที่ดี เช่น เกิดในสวรรค์ โอกาสที่อกุศลกรรมในอดีตจะมาให้ผลก็น้อยเพราะคติห้ามไว้ แต่ถ้าเกิดในนรก โอกาสที่อกุศลกรรมในอดีตก็มีโอกาสให้ผลเบียดเบียนกุศลกรรมที่ควรให้ผล

อุปธิ คือ รูปร่างหน้าตา ถ้าเกิดมาหน้าตาดี โอกาสที่กุศลกรรมจะให้ผลเบียดเบียนอกุศลกรรมก็เป็นไปได้สูงกว่า แต่ถ้ารูปร่างหน้าตาไม่ดี ก็มีโอกาสที่อกุศลกรรมให้ผลได้มากกว่า ครับ

กาล คือ หากเกิดในสมัยที่ข้าวยากหมากแพง ช่วงสงคราม โอกาสที่อกุศลกรรมให้ผลก็มากกว่า เป็นต้น ครับ

ส่วน ปโยคะ ความเพียร มุ่งหมายถึง ความเพียรที่เป็นไปในกุศลกรรม กับ ความเพียรที่เป็นไปในอกุศลกรรม ซึ่ง หากเป็นผู้ทำบุญ ทำกุศลบ่อยๆ ในบุญกิริยาวัตถุ 10 กุศลกรรมในปัจจุบันไม่ใช่กุศลกรรมในอดีตนะครับ ย่อมมีโอกาสเบียดเบียน หรือ ทำให้เบียดเบียนอกุศลกรรมในอดีตที่กำลังให้ผล ทำให้กุศลกรรมในอดีตให้ผลแทนได้ ครับ โดยนัยเดียวกัน ถ้าเป็นผู้ทำบาป ทำอกุศลกรรม เช่น ล่วงศีล 5 ทำอกุศลกรรมบถ 10 เป็นประจำ ก็ย่อมจะไปห้ามกุศลวิบากที่กำลังมีให้ หรือ ตัดรอนที่กำลังเกิดอยู่ และ อกุศลกรรมในอดีตให้ผลแทน นี่คือ ความละเอียดของกรรม ครับ

แต่ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยว่ากรรมใดให้ผล และ กรรมที่ทำ ที่เป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม มีกำลังมาก หรือ น้อยด้วย ครับ ซึ่งผู้ที่จะรู้รายละเอียดจริงๆ มีผู้เดียวคือ ผู้ที่เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น ครับ สำหรับเรา ก็เพียงพอรู้ว่า กรรมดีให้ผลดีกรรมชั่วให้ผลชั่ว ทำดีไม่ใช่เพียงหวังผลให้ได้ดี เพียงแต่ทำดีเพื่อเป็นนิสัย เป็นเสบียงต่อไปที่จะทำให้บรรลุธรรมในอนาคต เพราะกุศลจะทำมากเท่าไหร่ก็ไม่บริสุทธิ์ตราบใดที่ไม่มีปัญญา

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natural
วันที่ 24 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ดรุณี
วันที่ 26 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
swanjariya
วันที่ 8 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 10 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เรืองกิตติ์
วันที่ 26 ก.พ. 2557

อนุโมทนาในธมฺมทานํ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
j.jim
วันที่ 27 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
papon
วันที่ 1 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ