การเรียนรู้ธรรมะแบบจับงูพิษ

 
natural
วันที่  24 มี.ค. 2556
หมายเลข  22672
อ่าน  2,054

เรียนถามท่านวิทยากร การเรียนรู้ธรรมะแบบจับงูพิษ เป็นอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 24 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ในการศึกษาธรรมนั้น ต้องเป็นผู้ตั้งจิตไว้ชอบ คือ ศึกษาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อละคลายความไม่รู้ และเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันด้วย ถ้าหากตั้งจิตไว้ผิดในการศึกษาธรรม คือ ศึกษาเพื่อเพิ่มกิเลส เพิ่มมานะ (ความสำคัญตน) ศึกษาเพื่อเก่ง เพื่อรู้มากๆ แล้วนำไปข่มบุคคลอื่น การศึกษาธรรมแบบนี้ไม่เป็นประโยชน์เลย มีแต่จะทำให้เกิดโทษ และบุคคลผู้ศึกษาธรรมแบบนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า เป็นโมฆบุรุษ คือ บุรุษผู้ว่างเปล่า เป็นบุคคลผู้ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการศึกษาพระธรรมเลย ซึ่งเปรียบเหมือนกับการจับงูพิษข้างหาง ซึ่งเป็นการจับที่ไม่ดี มีแต่จะแว้งกัดตนเอง ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานหรืออาจถึงกับสิ้นชีวิตได้

การศึกษาที่ถูกต้อง ต้องเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก สะสมปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น เป็นการศึกษาเพื่อสละซึ่งกิเลส ส่วนการศึกษาเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งพระธรรมคำสอน เพื่อประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง เป็นการศึกษาของพระอรหันต์ทั้งหลาย

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ปริยัติ ๓ อย่าง

บุรุษเปล่า...ผู้แสวงหางูพิษ

ศึกษาพระธรรมผิดเปรียบเสมือนการจับงูพิษที่ข้างหาง ในความเป็นจริงสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น กิเลสย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่อยู่เป็นประจำ และเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็วตามการสั่งสมมาของแต่ละบุคคล แต่การที่กิเลสจะค่อยๆ เบาบางลงจนกระทั่งถึงขั้นที่จะดับได้เด็ดขาดนั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปอย่างรวดเร็วในทันทีทันใด ฟังธรรม ศึกษาธรรมวันนี้แล้วจะทำให้กิเลสหมดสิ้นไปเลยนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปตามลำดับขั้น ซึ่งต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา กิเลส เป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อได้เหตุได้ปัจจัย เป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา กิเลสที่มีมาก ถ้าหากว่าไม่ได้อาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันแล้ว ย่อมไม่มีทางที่จะดับได้ เมื่อยังละไม่ได้ สำหรับผู้ได้อบรมเจริญปัญญาแล้ว ย่อมรู้ถึงความเป็นอกุศลธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา พร้อมทั้งเห็นโทษของอกุศลธรรมว่าให้ผลเป็นทุกข์ และที่สำคัญ กิเลสอกุศลจะค่อยๆ เบาบางลง และกุศลธรรมจะค่อยๆ เจริญขึ้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ ดังนั้น จึงต้องฟัง ต้องศึกษาพระธรรมต่อไป ด้วยความอดทน ไม่ท้อถอย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 24 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การจับงูพิษที่ถูกต้อง คือ จับงูพิษที่หัว เพราะ งูพิษย่อมไม่กัดเอา แต่การจับงูพิษที่ผิด ย่อมมีโทษ คือ การจับงูพิษที่หาง งูนั้นย่อมแว้งกัดได้เป็นธรรมดา และ ผู้นั้นย่อมถึงความทุกข์ปางตาย เพราะ อาศัยการจับงูพิษที่หาง ที่เป็นการจับผิดวิธี

การศึกษาพระธรรมก็เช่นกัน หากศึกษาด้วยจุดประสงค์ที่ผิด ย่อมมีโทษกับผู้ที่ศึกษาอย่างมาก คือ นำมาซึ่งโทษ คือ ความเจริญขึ้นของอกุศลธรรมประการต่างๆ ดังนั้น การศึกษาธรรม ด้วยจุดประสงค์ เพื่อต้องการลาภ สักการะ สรรเสริญ หรือ เพื่อเป็นการโต้แย้ง เพื่อการเอาชนะ ย่อมทำให้อกุศลเจริญ เพราะ ตั้งจิตไว้ผิด

เมื่อกุศลเจริญขึ้น ก็ย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมประการต่างๆ อันอาศัยการศึกษาธรรมที่ไม่ถูกต้อง ครับ

คำถามที่ว่า และการเรียนรู้ในลักษณะอื่นๆ

การเรียนรู้ในลักษณะอื่นๆ ก็มีอีกหลายอย่างทั้งที่เป็นแบบถูกต้อง และ ไม่ถูกต้องซึ่งจะขอกล่าวในส่วนของการศึกษาเรียนรู้อย่างถูกต้อง คือ ศึกษาที่เป็นนิสสรณะ คือ ศึกษาเพื่อละ สละ ขัดเกลากิเลส เป็นการศึกษาพระธรรม ด้วยความเคารพในพระธรรม และ เกิดปัญญา เกิดกุศลธรรม ความเข้าใจพระธรรมอย่างถูกต้อง อันนำมาซึ่งปัญญา และขัดเกลากิเลสประการต่างๆ อันเป็นการศึกษาที่เป็นนิสสรณะ เป็นการศึกษาที่ละ สละ

การศึกษาเรียนรู้อย่างถูกต้องอีกประกรหนึ่ง คือ การศึกษาอย่างขุนคลัง คือ เป็นการศึกษาของพระอรหันต์ที่จะศึกษาเพื่อดำรงพระธรรมของพระพุทธศาสนาเอาไว้ ซึ่งแสดงถึง ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อบุคคลอื่น ครับ

ส่วนการศึกษาที่ไม่ถูกต้องอย่างอื่นในการเรียนรู้ที่ผิด คือ การศึกษาที่เป็นการศึกษาแบบ บ่นเพ้อธรรม คือ เป็นการศึกษาชื่อเรื่องราวของธรรมอย่างมากมาย แต่ไม่เข้าใจธรรมนั้น จึงบ่นเพ้อ กล่าวไปในสิ่งที่ตนไม่รู้ สำคัญว่ารู้ในสิ่งที่ไม่รู้ ก็เป็นการศึกษาผิด เพราะมุ่งจำเรื่องราว ไม่ได้สนใจที่ตัวสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ จึงบ่นเพ้อในสิ่งที่ตนยังไม่เข้าใจ แม้จะกล่าวคำธรรมก็ตาม ครับ

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่มที่ ๔๗ - หน้าที่ 270 บุคคล ไม่ทำให้แจ้งซึ่งธรรมแม้ ๒ อย่างด้วยปัญญาของตนแล้ว และไม่ใคร่ครวญเนื้อความแม้สักว่า คำว่า อนิจจัง คำว่า ทุกขัง และคำว่าอนัตตา ในสำนักของบุคคลผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ไม่รู้อยู่เพราะความที่ตนไม่รู้ได้ด้วยตนเอง และชื่อว่ายังข้ามความสงสัยไม่ได้ เพราะตนยังไม่ได้พิจารณาใคร่ครวญแล้ว อาจเพื่อจะทำบุคคลอื่นให้เพ่งเล็ง คือ ให้เพ่งพินิจได้อย่างไร ดังนี้ ในข้อนี้ ผู้ศึกษาพึงระลึกถึงสุตตบท มีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนจุนทะ ผู้นั้นแล ชื่อว่า บ่นเพ้ออยู่ด้วยตนเอง ดังนี้

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natural
วันที่ 24 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 24 มี.ค. 2556

ขอเรียนถามเพิ่มเติมว่าการเรียนรู้พระธรรมเพื่อความเข้าใจว่าทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นเพียงธรรมะ ใช่หรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 24 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เข้าใจ
วันที่ 25 มี.ค. 2556

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 25 มี.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

ถูกต้องครับ การศึกษาพระธรรม ไม่ว่าในเรื่องใด ประโยชน์ คือ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เพื่อละคลายจากความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล เพราะในพระไตรปิฎก และ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ล้วนแล้วแต่มาจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ และสัตว์โลก ก็มากไปด้วยความไม่รู้ และเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล การศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง คือ เมื่อได้ยินคำใด ไม่ลืมเสมอว่า กำลังแสดงความจริงในขณะนี้ แม้ในเรื่องอกุศล ก็เป็นการแสดงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เราที่เป็นอกุศล การเข้าใจว่าเป็นธรรม ปัญญาที่เข้าใจย่อมจะเห็นโทษของอกุศลอย่างถูกต้อง เพราะ เห็นโทษในความเห็นผิดว่า มีเราในการยึดถือว่าเป็นเราที่เป็นอกุศล

การศึกษาเพื่อเข้าใจตัวจริง เป็นประโยชน์สูงสุดในการศึกษาพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 25 มี.ค. 2556

การศึกษาพระธรรมแม้ขณะที่ฟังแล้วเกิดความเข้าใจ บางครั้งยังยินดีในความเข้าใจนั้น หรือเมื่อมีผู้ถามคำถามซึ่งเราเข้าใจแล้วยังเกิดมานะว่า เราเข้าใจแต่เขาไม่เข้าใจ ทั้งที่รู้ว่าอกุศลแม้เล็กน้อยสามารถสะสมจนมีกำลังล่วงออกมาเป็นวาจาที่ข่มผู้อื่นได้ ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนหนาด้วยกิเลส แม้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ศึกษาพระธรรม การศึกษาแบบจับงูพิษข้างหางไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวเลย จึงไม่ควรประมาทแม้อกุศลเพียงเล็กน้อย เห็นโทษแม้อกุศลเพียงเล็กน้อย ไม่ควรประมาทแม้อกุศลเพียงเล็กน้อย ขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 26 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
orawan.c
วันที่ 23 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ