กรรมที่ห้ามมรรคผล กับ เรื่องของบุญคุณและคุณธรรม
กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน
ขอกราบเรียนถามคำถามดังนี้ครับ
1. หากว่าผู้ที่สะสมสัมมาทิฏฐิมามาก แต่เมื่อมิจฉาทิฏฐิได้เหตุได้ปัจจัยก็กำเริบ ทำให้ผู้นั้นกระทำกรรม อย่างกล่าวว่า มรรคผลนิพพานในพระศาสนานี้ไม่มี หรือ ขัดขวางการบรรลุมรรคผลของผู้อื่นด้วยความจงใจว่า ขอท่านผู้นี้อย่าได้บรรลุธรรม เลย กรรมนั้น จะส่งผลให้บุคคลนั้น ไกลออกจากพระนิพพาน ทำลายสัมมาทิฏฐิที่เคยสั่งสมมา จนกลายเป็นตอวัฏฏะ ไม่มีโอกาสพ้นจากวัฏฏะได้หรือไม่ครับ หรือเป็นคนละส่วนกัน แล้วจะมีโอกาสบรรลุธรรมภายหลังได้หรือไม่ครับ
2. บุญคุณ หรือคุณของผู้มีพระคุณ และคุณธรรมของพระอริยเจ้าต่างๆ นี่เป็นของที่ชื่อว่ามีอยู่ภายใน ก็คุณธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เมื่อจุติจากภพชาติหนึ่ง ไปสู่อีกภพชาติหนึ่ง คุณธรรมนั้นก็ติดตามไปด้วยไมไ่ด้หายไปไหน แต่ในกรณีของคุณของบิดามารดา พี่น้องชายพี่น้องหญิง เมื่อเปลี่ยนภพชาติแล้ว คุณเหล่านั้นถือว่าติดตามมาด้วยหรือไม่ ประการใด เพราะเหตุใดครับ
กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
1. หากว่าผู้ที่สะสมสัมมาทิฏฐิมามาก แต่เมื่อมิจฉาทิฏฐิได้เหตุได้ปัจจัยก็กำเริบ ทำให้ผู้นั้นกระทำกรรม อย่างกล่าวว่า มรรคผลนิพพานในพระศาสนานี้ไม่มี หรือ ขัดขวางการบรรลุมรรคผลของผู้อื่นด้วยความจงใจว่า ขอท่านผู้นี้อย่าได้บรรลุธรรมเลย กรรมนั้น จะส่งผลให้บุคคลนั้น ไกลออกจากพระนิพพาน ทำลายสัมมาทิฏฐิที่เคยสั่งสมมา จนกลายเป็นตอวัฏฏะ ไม่มีโอกาสพ้นจากวัฏฏะได้หรือไม่ครับ หรือเป็นคนละส่วนกัน แล้วจะมีโอกาสบรรลุธรรมภายหลังได้หรือไม่ครับ
- ความเห็นผิด มีจริง และ ความเห็นถูก ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ก็มีจริง สำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชน ยังไม่ได้ดับทิฏฐานุสัย ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดความเห็นผิดได้ เป็นธรรมดา ซึ่งผู้ที่สะสมความเห็นถูก สัมมาทิฏฐิ ก็จะต้องพิจารณาว่าสะสมมามากน้อยแค่ไหนเพียงไร หากสะสมมาน้อยมาก ปัญญายังไม่มีกำลังอะไรเลย เพียงแค่เข้าใจเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความเห็นผิดที่ยังไม่ได้ดับ เมื่อได้ฟังในสิ่งที่ผิด ย่อมจะเกิดความเห็นผิดได้เป็นธรรมดา ก็จะต้องพิจาณาให้ละเอียดลึกลงไปอีกว่า การเกิดความเห็นผิดนั้น เป็นความเห็นผิดระดับไหนอย่างไร ถ้าเป็นความเห็นผิดที่ไม่ได้ร้ายแรง เพียงแต่ สำคัญว่ามีสัตว์ บุคคล และแม้กล่าวร้ายพระอริยเจ้า กรรมนั้นย่อมห้ามสวรรค์ มรรคผล นิพพานได้ เพียงในชาตินั้น แต่ไม่ได้หมายถึงว่า จะต้องเป็นผู้มีความเห็นผิด และเป็นตอวัฏฏะ ที่ไม่สามารถจะออกจากวัฏฏะได้ เพราะความเห็นผิดที่เกิดขึ้น ไม่ได้ร้ายแรง มั่นคง มีกำลัง ดังเช่น ความเห็นผิดที่ดิ่ง แต่หากว่าเกิดความเห็นผิดที่มีกำลัง และ สะสมความเห็นผิดนั้นบ่อยๆ ที่เป็นความเห็นผิดที่ดิ่งร้ายแรง คือ ปฏิเสธกรรมและผลของกรรม กรรมดีไม่มี กรรมชั่วไม่มี ผลของการกระทำกรรมไม่มี เป็นต้น จนเป็นความเห็นผิดที่ดิ่ง ความเห็นผิดนี้ ย่อมกั้นสวรรค์มรรคผล นิพพานได้ และ เป็นตอวัฏฏะ นี่สำหรับผู้ที่สะสมความเห็นถูกมาน้อยมากย่อมเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเห็นผิดที่ดิ่งได้ ด้วยการคบคนผิด คบหากับคำสอนที่ผิด ครับ แต่ เพียงการด่าว่าร้ายพระอริยเจ้า หรือ กล่าวว่า มรรคผลในศาสนานี้ไม่มีเพราะความไม่เข้าใจ ไม่ถึงกับจะเป็นตอของวัฏฏะที่จะไม่ให้บรรลุเลย ครับ
ส่วนผู้ที่สะสมปัญญามากมาแล้ว แม้จะยังเป็นปุถุชน ก็ยังมีความเห็นผิดเกิดขึ้นได้บ้างเป็นธรรมดา แต่ไม่ถึงกับเป็นความเห็นผิดที่ร้ายแรง และ ดิ่ง ดังนั้น ความเห็นผิดที่ไม่ร้ายแรง ไม่ถึงกับกั้นสวรรค์ มรรคผล นิพพาน จนไม่มีโอกาสบรรลุธรรมได้เลย ในสังสารวัฏฏ์ แม้แต่พระโพธิสัตว์โชติปาละเกิดในพระศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะ เพราะความเป็นปุถุชนก็ยังเกิดความเห็นที่ไม่ถูก กล่าวตู่ว่า เป็นการยากที่จะได้โพธิญาณ เป็นต้น เพราะท่านเกิดในตระกูลพรหามณ์ที่เห็นผิด ทำให้เกิดอกุศลเหล่านี้ได้ แต่ก็ไม่ได้กั้นที่จะให้พระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพียงแต่กรรมนั้นก็เป็นปัจจัยให้ไปนรกได้ตามสมควร ครับ แต่ ความเห็นนั้น ไม่ใช่ ความเห็นร้ายแรงที่จะทำให้เป็นตอวัฏฏะ ครับ
2. บุญคุณ หรือคุณของผู้มีพระคุณ และคุณธรรมของพระอริยเจ้าต่างๆ นี่เป็นของ ที่ชื่อว่ามีอยู่ภายใน ก็คุณธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลายเมื่อจุติจากภพชาติหนึ่งไป สู่อีกภพชาติหนึ่ง คุณธรรมนั้นก็ติดตามไปด้วยไม่ไ่ด้หายไปไหน แต่ในกรณีของคุณของบิดามารดา พี่น้องชายพี่น้องหญิง เมื่อเปลี่ยนภพชาติแล้ว คุณเหล่านั้นถือว่า ติดตามมาด้วยหรือไม่ ประการใด เพราะเหตุใดครับ
- ต้องแยกระหว่าง ความมีพระคุณ กับ คุณความดี บิดามารดาเป็นผู้มีพระคุณ คือเลี้ยงดูเรามา เป็นต้น ก็เป็นผู้มีพระคุณ และ ก็มีคุณความดี ในการช่วยเหลืออนุเคราะห์บุตร ส่วนพระอริยเจ้าเป็นผู้มีคุณความดี คือ มีคุณความดีที่เป็นคุณธรรม ที่เกิดจากปัญญา ควรค่าแก่การบูชาประการต่างๆ เพราะความดีในตัวท่าน แม้จะไม่ได้ทำดี หรือ มีพระคุณกับตัวเราเลย เพราะ คุณความดี ก็ควรค่ากับการบูชา ไม่ว่าเกิดกับใคร ส่วนคุณความดีของบิดา มารดา ก็ควรบูชาในความเป็นผู้มีพระคุณกับบุตร และ คุณความดีของบิดา มารดา จะติดตัวไปหรือไม่นั้น ก็คือ การช่วยเหลือ อนุเคราะห์บุตร ย่อมสะสมเป็นอุปนิสัยของผู้นั้น ซึ่งชาติอื่นอาจะเกิดเป็นบุตรของเราก็ได้ แต่ ความดีก็สะสมต่อไปในจิตของผู้นั้น ส่วนของพระอริยเจ้าก็สะสมต่อไป ปัญญาก็สะสมต่อไป คุณความดีก็สะสมต่อไปเช่นกัน จึงแตกต่างกันที่ระดับของความดี เพียงแต่ว่า ผู้ที่รู้คุณ หากระลึกได้ ก็น้อมระลึกถึงคุณ และทำความดี อนุเคราะห์ผู้นั้น สมดังที่ มีพรหามณ์สามีภรรยา เป็นบิดามารดาของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติมาหลายชาติ พระองค์ก็ทรงอนุเคราะห์เขา ด้วยการให้เขาบรรลุ ตอบแทน คุณที่เคยเป็นบิดามารดากันในสังสารวัฏฏ์ แม้พระสารีบุตรก็อนุเคราะห์เปรต ที่เคยเป็นมารดาของท่าน ด้วยการทำบุญอุทิศให้ นี่ก็เป็นการระลึกถึงพระคุณ คือ เคยทำ คุณกันมา และ ก็กระทำตอบแทนตอบ คุณงามความดีก็เป็นของแต่ละคน ผู้ที่ระลึกถึงพระคุณได้ ก็เป็นคุณงามความดีของผู้นั้น ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เป็นความจริงที่ว่า บุคคลผู้ที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน โอกาสที่จะมีความเห็นผิดก็ย่อมสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ แล้วแต่ว่าจะมีมากหรือมีน้อย ความเห็นผิดนี้อันตรายมาก เป็นเหตุนำมาซึ่งอกุศลธรรมอย่างมากมาย เพราะเหตุว่าเมื่อมีความเห็นผิดแล้ว อะไรๆ ก็ผิดตามไปด้วย กล่าวคือ ความประพฤติทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็ผิดไปด้วยตามความเห็นที่ผิดนั่นเอง ซึ่งจะต้องเข้าใจว่าการสะสม มีทั้งดี ทั้งไม่ดี แม้ว่าจะมีกิเลสมาก สะสมความไม่รู้ ตลอดจนถึงความเห็นผิด ที่ไม่ใช่ความเห็นผิดที่ดี ก็ยังสามารถขัดเกลาละคลายด้วยกำลังของธรรมฝ่ายดีที่เป็นกุศลธรรมประกอบด้วยปัญญา จนกระทั่งสามารถดับอย่าง หมดสิ้นได้ในที่สุด
ทุกขณะไม่พ้นไปจากธรรม มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย แต่เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ซึ่งเป็นสัจจธรรม เป็นความจริง ความดีเป็นความดี เป็นสิ่งที่ควรชื่นชมสรรเสริญ ความชั่วเป็นความชั่ว เป็นสิ่งที่ไม่ดี ควรละเว้น ธรรมทั้ง ๒ ประการ ไม่ปะปนกันเลย เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ความดีมีคุณมีประโยชน์ ส่วนความชั่วแม้จะเล็กน้อย ก็ไม่มีประโยชน์เลย มีแต่โทษโดยส่วนเดียว
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา จึงเป็นเครื่องอุปการะ เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา อย่างแท้จริง เพื่อความเป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ให้รู้จักทำในสิ่งที่ควรทำ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ซึ่งจะเป็นเครื่องนำทางที่ดีในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลสืบต่อไป ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...