เรียนถามเรื่องความคิดครับ

 
ผู้ผ่านทาง
วันที่  26 มี.ค. 2556
หมายเลข  22681
อ่าน  1,063

เรียนถามเรื่องความคิดต่างๆ นาๆ ของเรา ไม่ว่าจะคิดดีหรือไม่ดี คิดถูกหรือคิดผิด การตัดสินใจทำอะไรต่างๆ เมื่อมีการพิจารณาว่าไม่ใช่เรา มาจากการสั่งสมของอุปนิสัย แต่ละคนต่างกันไป จึงอยากเรียนถามว่าการตัดสินใจทำอะไรต่างๆ หรือห้วงความคิดต่างๆ ที่มันเป็นไปเองนี้ เป็นเหตุหรือเป็นผลของกรรมครับ หรือไม่เกี่ยวกัน ขอรบกวนด้วยนะครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ในชีวิตประจำวัน พระพุทธเจ้าทรงแบ่งเป็น จิต มี ๔ ชาติ ๔ ประเภท คือ กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต สำหรับกุศลจิต คือ จิตที่ดีงาม อกุศลจิต คือ จิตที่ไม่ดี วิบากจิต คือ จิตที่เป็นผลของกรรม และ กิริยาจิต คือ จิตที่ไม่ใช่กุศลและอกุศลจิต มีจิตของพระอรหันต์เป็นต้น ซึ่งในจิต ๔ ประเภทนั้น แบ่งได้อีก ๒ อย่าง คือ ในส่วนที่เป็นเหตุและส่วนที่เป็นผลคือ เป็นผลของกรรม เป็นต้น กุศลจิต อกุศลจิต เป็นเหตุ ส่วนวิบากจิตเป็นผล คือ เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันของสัตว์โลกที่เป็นปุถุชน ก็มีการเกิดขึ้นของ จิต เจตสิก ในส่วนที่เป็นเหตุ คือ กุศลจิตและอกุศลจิต และในส่วนของผลที่เป็นวิบากจิต ที่เป็นผลของกรรมในขณะนี้ ซึ่งขณะใดที่เกิดจิตที่ดี มีการให้ทาน รักษาศีล การช่วยเหลือ เป็นมิตร มีเมตตา เป็นต้น จิตที่ดีงามที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นกุศลจิต เป็นเหตุที่ดี คือ นำมาซึ่งผลที่ดี นำมาซึ่งผลของกรรมที่เป็นวิบากจิตที่ดี แต่ขณะใดที่ทำบาป มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นเหตุที่ไม่ดี จะนำมาซึ่งผล คือ ผลของกรรมที่ไม่ดี และ ละเอียดลงไปอีกว่า ขณะที่เป็นเพียงกุศลจิต ยังไม่ถึงทำบาปทางกาย วาจา เช่น คิดที่จะให้ คิดที่จะช่วยเหลือ คิดเป็นมิตร เป็นต้น ขณะนั้น แม้ไม่สามารถทำให้เกิดผล แต่ก็สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดี ที่จะเป็นคนที่มีเมตตา มีนิสัยที่ดี มีนิสัยที่จะช่วยเหลือผู้อื่น มีนิสัยที่คิดจะให้ได้ง่าย เป็นต้น อันเกิดจากการคิดที่ดี และ ขณะที่คิดไม่ดี แต่ไม่ถึงกับทำอกุศลกรรม มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ขณะที่คิดโกรธในใจ คิดที่ชอบอาหารอร่อย เหล่านี้ เป็นอกุศลจิตที่จะสะสมเป็นอุปนิสัยที่จะทำให้โกรธง่ายขึ้น เป็นคนมักโกรธ เป็นคนติดข้องในรสอาหารง่ายขึ้น เพราะ อาศัยการเกิดอกุศลจิตประเภทต่างๆ คือ เกิดความคิดที่ไม่ดีต่างๆ

ส่วนผลของกรรมที่เป็นวิบากในชีวิตประจำวัน คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ซึ่งถ้าเป็นผลของกรรมที่ดี ก็เห็นสิ่งที่ดี ถ้าเป็นผลของกรรมที่ไม่ดี ก็เห็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นต้น นี่คือผลของกรรม ที่เป็นวิบากในชีวิตประจำวัน ที่กำลังมีในขณะนี้ ครับ

ดังนั้น จากคำถามที่ว่า เรียนถามว่าการตัดสินใจทำอะไรต่างๆ หรือห้วงความคิดต่างๆ ที่มันเป็นไปเองนี้เป็นเหตุ หรือเป็นผลของกรรมครับ หรือไม่เกี่ยวกัน

ความคิดที่ตัดสินใจก็ไม่พ้นจากจิตเจตสิกที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นปุถุชน ก็คิดตัดสินใจด้วยกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ หากเป็นเพียงการคิดในใจที่คิดตัดสินใจที่ดี คิดที่จะช่วยเหลือ เป็นต้น ที่เป็นไปในทางกุศล ก็เป็นส่วนเหตุ คือ ไม่ใช่ส่วนที่เป็นผลของกรรม เพราะกุศลจิต อกุศลจิตเป็นเหตุ ความคิดก็เป็นกุศลจิตอกุศลจิต ดังนั้น คิดตัดสินใจดีเป็นเหตุ แต่ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นเหตุให้เกิดผลหรือไม่ หากตัดสินใจที่ดี เช่น ทำบุญ และ มีการทำบุญนั้น การตัดสินใจ ความคิดนั้น ก็นำมาซึ่งผล เพราะได้ทำกรรม คือ ทำบุญสำเร็จ แต่ ถ้าเพียง คิดตัดสินใจ แต่ยังไมได้ทำบุญนั้น ก็เป็นความคิดตัดสินใจที่เป็นเหตุ แต่สะสมเป็นอุปนิสัยที่จะตัดสินใจในทางที่ดีต่อไป คิดดีต่อไปครับ โดยนัยเดียวกัน ในทางอกุศล หากคิดตัดสินใจที่ไม่ดี คือ คิดด้วยอกุศลจิต คิดไม่ชอบคนอื่น คิดที่ติดข้อง เป็นต้นเหล่านี้ เป็นเหตุเช่นกัน แต่ ถ้าความคิดนั้น ยังไม่ถึงกับมีการที่จะทำบาป มีการฆ่าเพราะความไม่ชอบนั้น ลักขโมยเพราะติดข้องสิ่งนั้น หากยังไม่ได้ทำบาป ก็ชื่อว่า ความคิดนั้นยังไม่เป็นเหตุ ให้เกิดผลของกรรมที่จะได้รับวิบากที่ไม่ดี เพราะ ความคิด ตัดสินใจทำบาป แต่ถ้าเพียงคิดไม่ชอบคนอื่น แต่ยังไม่ได้ถึงทำบาป ที่มีกำลังตามที่กล่าวมา การคิดตัดสินใจที่ไม่ดีนั้นก็เป็นเหตุเช่นกัน แต่เป็นเหตุที่จะสะสมเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดี ที่จะทำให้เป็นผู้มักโกรธ เป็นต้นครับ ดังนั้น การคิด ตัดสินใจ ที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิต ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นฝ่ายเหตุตามที่กล่าวมา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 26 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 26 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมหรือกุศลธรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ปกติในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลส ยังถูกผูกมัดไว้ด้วยกิเลสประการต่างๆ จึงมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา และเกิดมากกว่ากุศลด้วย ตามความเป็นจริงอกุศลธรรมเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม ไม่นำประโยชน์อะไรๆ มาให้ใครเลย มีแต่จะนำทุกข์มาให้ในภายหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่จิตเป็นอกุศลย่อมเร่าร้อนเพราะอกุศลเจตสิกประการต่างๆ ที่เกิดร่วมด้วย และถ้ามีกำลังถึงขั้นล่วงเป็นอกุศลกรรมบถที่ครบองค์ ยิ่งเร่าร้อนมาก กล่าวได้ว่า เร่าร้อนทั้งในขณะที่ทำและในขณะที่ได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นๆ ด้วย อกุศลธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ไม่สมควรทั้งนั้น

ในทางตรงกันข้าม ขณะที่จิตเป็นกุศลนั้นย่อมผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เพราะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมได้เลย มีแต่สภาพธรรมฝ่ายดี เช่น ศรัทธา (สภาพธรรมที่เลื่อมใสในกุศล) สติ (สภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่ออกุศล) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย และถ้ามีความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดร่วมด้วย ก็เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ดังนั้น กุศลธรรม อันได้แก่ กุศลจิตและเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย นี้แหละคือ สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่สมควร ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ก็ดีทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด สถานที่ใด สิ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือ ความดี (กุศลธรรม) ท่านอุปติสสะ (พระสารีบุตร) และ โกลิตะ (พระมหาโมคคัลลานะ) ก่อนที่จะได้เข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ท่านเคยเป็นลูกศิษย์ของสัญชัยปริพาชก ท่านทั้งสองพิจารณาแล้วว่า คำสอนของอาจารย์ไม่ได้เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ เป็นคำสอนที่ไม่เป็นไปกับด้วยสาระ ก็ไม่ได้อยู่ในสำนักอีกต่อไป ไม่เลือกที่จะอยู่ในที่นั้นอีกต่อไป แต่เลือกที่จะออกแสวงหาหนทางที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น จนกระทั่งท่านทั้งสองได้เข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้

อุบาสิกาท่านหนึ่งในกรุงสาวัตถี ได้บำรุงอาชีวกคนหนึ่ง พอนางได้ยินชาวเมืองกล่าวสรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยประการต่างๆ ก็มีความประสงค์ที่จะได้ฟังพระธรรม จึงขออนุญาตอาชีวกเพื่อไปฟังพระธรรมที่วิหาร แต่อาชีวกก็ไม่ยอมให้ไป ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ เมื่ออาชีวกไม่ยอมให้ไปฟัง จึงมีความประสงค์ที่จะกราบอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเสวยภัตหารที่บ้านและจะได้ฟังพระธรรมจากพระองค์ในครั้งนี้ด้วย จนในที่สุดนางก็ได้ฟังพระธรรม เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง กล่าวชื่นชมสรรเสริญในพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง อาชีวกได้ยินคำสรรเสริญของนาง ออกมาด่าด้วยคำหยาบคาย ทำให้นางจิตใจฟุ้งซ่าน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสพระธรรมเทศนาว่า ไม่ควรทำคำอันหยาบคายของคนอื่นไว้ในใจ แต่ควรพิจารณาถึงกิจที่กระทำแล้วและยังไม่ได้กระทำของตนเองดีกว่า ผลจากการฟังพระธรรมในครั้งนี้ คือ ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน

จะเห็นได้ว่าอุบาสิกาท่านนี้เลือกที่จะได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ความดี (กุศลธรรม) เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายได้อย่างแท้จริง จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทั้งสิ้น ไม่มีตัวตนที่จะเลือกหรือไม่เลือก แต่กุศลธรรมจะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญาที่เห็นโทษของอกุศลธรรมและเห็นประโยชน์ของกุศลธรรม ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 26 มี.ค. 2556

คิดถูก หรือ คิดผิด คิดดี หรือ ไม่ดี ก็มาจากการสะสมในอดีตชาติ ซึ่งเป็นเหตุ ไม่ใช่ผลของกรรม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ผ่านทาง
วันที่ 27 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
natural
วันที่ 27 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 26 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ