บุญกุศลแม้อยู่ที่บ้าน

 
ดรุณี
วันที่  26 มี.ค. 2556
หมายเลข  22684
อ่าน  1,708

คนทั่วไปเวลาบอกว่าทำบุญ หมายถึงการออกไปให้วัตถุทานหรือปล่อยสัตว์ต่างๆ แต่เท่าที่ทราบคือบุญกุศลมีหลายวิธี เลยอยากทราบว่าคนที่อยู่กับบ้านเฉยๆ จะเจริญบุญกุศลอะไรได้บ้างคะ แล้วกำลังความหนักเบาของบุญกุศลขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ เป็นสภาพธรรมที่ตัดบาปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ทำลายอกุศลธรรม เพราะเหตุว่าในขณะที่เป็นกุศลนั้น อกุศลจะเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ กุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

กุศลธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะที่ให้ทาน ขณะที่งดเว้นจากทุจริต ขณะที่ฟังพระธรรม ขณะที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น (แม้ไม่มีเงินทอง กุศลจิตก็สามารถที่จะเกิดได้) เป็นต้น

ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นกุศล มีมากมายหลายประเภท ซึ่ง กุศล หรือ บุญ มีความหมายเหมือนกัน บุญหรือกุศลเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ดี อันมีสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย และขณะนั้นก็ไม่มีอกุศลที่เป็นโลภะ โทสะและโมหะเกิดขึ้นเลยในขณะที่เป็นบุญครับ

บุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรกด้วยอำนาจของอกุศลธรรม) ขณะที่เป็นบุญ ขณะนั้นจิตสะอาดจากอกุศล คือ โลภะ โทสะ และโมหะ บุญ หรือ สภาพจิตที่ดี ที่เป็นกุศล มีหลายประการ ตามระดับและลักษณะของบุญครับ

บุญกิริยาวัตถุ 10 หมายถึง ที่ตั้งแห่งการกระทำความดี ๑๐ อย่าง หมายถึง กุศลจิตที่มีกำลังจนทำให้มีการกระทำออกมาทางกาย วาจาหรือทางใจ ได้แก่ ...

๑. ทานมัย บุญสำเร็จจากการให้วัตถุเพื่อสงเคราะห์หรือบูชาแก่ผู้อื่น

๒. ศีลมัย บุญสำเร็จจากการงดเว้นจากทุจริต หรือประพฤติสุจริตทางกาย วาจา

๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส (สมถภาวนา) และการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสทั้งปวง (วิปัสสนาภาวนา)

๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน

๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น

๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จจากการให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว

๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จจากการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว

๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จจากการฟังพระสัทธรรม

๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จจากการแสดงพระสัทธรรม

๑๐. ทิฏฐุชุกรรม การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น บุญ หรือ กุศล หากเข้าใจความจริง บุญ กุศล ก็ไม่พ้นจากการเกิดขึ้นของจิต เจตสิกที่ดีงาม จิตเจตสิกที่ดี จึงเรียกว่าเป็นกุศลในขณะนั้น ดังนั้น กุศล หรือ บุญ ที่เป็นจิตที่ดีเกิดขึ้น จิตที่ดีเลือกเกิดเฉพาะตอนอยู่ที่วัดหรือไม่ สามารถเกิดได้ในทุกสถานที่ แม้แต่ที่บ้าน จิตที่ดี ที่เป็นกุศล ก็สามารถเกิดขึ้นได้ บุญกุศลจึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่การให้ทาน การปล่อยสัตว์เท่านั้น แม้ขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่วัด แม้อยู่ที่บ้านเฉยๆ หรือที่ไหนก็ตาม ก็เกิดกุศลจิต คิดช่วยเหลือผู้อื่น ขณะนั้นก็เป็นกุศล เป็นบุญแล้ว แม้ไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้ไปที่วัด หรือขณะที่กำลังอ่านธรรม แล้วเข้าใจพระธรรม ขณะนั้นก็เป็นบุญเป็นกุศล ขณะที่เข้าใจที่ได้อ่านในขณะนั้น ขณะที่งดเว้นจากการพูดไม่ดี ขณะนั้นก็เป็นบุญขั้นศีล ขณะที่อนุโมทนา ยินดีในกุศลของผู้อื่นก็เป็นบุญ ขณะที่อุทิศกุศลให้ผู้อื่นก็เป็นบุญในขณะนั้น และแม้ขณะที่ฟังธรรม เข้าใจธรรม ขณะนั้นก็เป็นบุญ ครับ

จิตที่ดีจึงเกิดขึ้นได้ทุกที่ หากว่ามีความเข้าใจถูก ย่อมไม่เลือกที่จะทำบุญ และย่อมเข้าใจว่า บุญ คือ ขณะจิตที่ดีที่เกิดขึ้น และกุศลอื่นๆ จะเจริญมากขึ้นได้ ก็เพราะอาศัยปัญญา เพราะปัญญาความเห็นถูกที่เกิดขึ้น ย่อมจะทำให้คิดถูก และเจริญกุศลประการอื่นๆ ทุกทาง โดยไม่จำกัดเฉพาะกุศลขั้นทาน และกุศลอื่นๆ ก็ไม่บริสุทธิ์ตราบใดที่ไม่มีปัญญา เพราะปัญญาย่อมทำให้ละกิเลส หมดสิ้นได้ ครับ

และ จากคำถามที่ว่าแล้วกำลังความหนักเบาของบุญกุศลขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง

กำลังความหนักเบาของกุศล หรือ อกุศล ที่เป็นผลของกรรม จะหนักเบา นั้น มีเหตุปัจจัยหลายๆ ประการ ประการแรก คือ

1. กำลังของกุศลจิตและอกุศลจิตขณะทำกรรม หากว่า กุศลจิตผ่องใส ประกอบด้วยปัญญา กุศลจิตมีกำลังก็มีผลมาก แต่ถ้าเป็นกุศลจิตอย่างอ่อน ผลก็น้อย โดยนัยเดียวกัน ถ้าทำบาปด้วยอกุศลจิตที่มีกำลังมากๆ ก็ทำให้บาปมาก ทำบาปด้วยอกุศลที่มีกำลังน้อย ไม่มาก ผลก็น้อย

2. วัตถุที่ทำบุญ หรือ บาป เช่น การให้ทาน ถ้าทำกุศลกับ บุคคล หรือ วัตถุ ที่เลิศ เช่น กับพระพุทธเจ้า ก็มีผลมาก เพราะวัตถุที่บูชามีคุณธรรมมาก แต่ถ้าทำกับสัตว์เดรัจฉาน ก็มีผลน้อย เพราะมีคุณน้อย ครับ โดยนัยเดียวกัน ในฝ่ายอกุศล ถ้าทำบาปกับพระอรหันต์ก็บาปมาก ถ้าทำบาปกับสัตว์เดรัจฉานก็บาปน้อยกว่า แต่ไม่ว่าอย่างไร อกุศลเพียงเล็กน้อยก็ควรเห็นโทษ และ กุศลแม้เพียงเล็กน้อยก็ควรเจริญ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ธนัตถ์กานต์
วันที่ 26 มี.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 26 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นบุญ บุญคือกุศลจิต ขณะใดปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นคือบุญ, ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม สำคัญอยู่ที่ว่ากุศลจิตเกิดขึ้นหรือไม่ในขณะนั้น ฟังพระธรรม ให้ทาน มีเมตตาต่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น ขวนขวายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น ล้วนเป็นบุญทั้งนั้น

บุญกุศลทุกประการ นำมาซึ่งความสุข ไม่ให้ผลที่เป็นทุกข์ใดๆ เลย เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ไม่ควรประมาทว่านิดหน่อย เล็กน้อย หรือไม่ควรประมาทว่าได้กระทำเพียงพอแล้ว แต่ควรที่จะเจริญบ่อยๆ ทำบ่อยๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

บุคคลผู้ที่เห็นโทษของกุศล และเห็นคุณประโยชน์ของบุญกุศล มีปัญญารู้ว่า บุญ เป็นที่พึ่ง นำสุขมาให้ ก็ย่อมจะอบรมเจริญกุศล พร้อมทั้งสะสมกุศลไปเรื่อยๆ ตามกำลัง ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้งในการเจริญกุศล ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ กุศลจึงจะลดน้อยลง เบาบางลง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ประมาท ไม่ได้เจริญกุศลอะไรๆ เลย กุศลย่อมจะเบาบางไม่ได้เลย มีแต่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
sumano
วันที่ 26 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
daris
วันที่ 26 มี.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 26 มี.ค. 2556

ถ้าเหตุปัจจัยพร้อม กุศลก็เกิดได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่วัด หรือ ที่ต่างประเทศ เช่น อยู่ต่างประเทศ เปิดธรรม ฟังเข้าใจก็เป็นกุศล เป็นกุศลขั้นภาวนา ที่สูงกว่าขั้นทาน และ ศีล ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 28 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ดรุณี
วันที่ 28 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pukka
วันที่ 29 มี.ค. 2556

ขอกราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ทิพย์
วันที่ 12 เม.ย. 2556

กราบขอบพระคุณ และอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
peem
วันที่ 10 พ.ค. 2556

ขอขอบคุณและอนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
rrebs10576
วันที่ 12 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
นี่นะใหญ่สุดแล้ว
วันที่ 24 พ.ค. 2556

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ