ปโยคสมบัติ และ บัญญัติ

 
นิรมิต
วันที่  2 เม.ย. 2556
หมายเลข  22718
อ่าน  1,784

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

ขออนุญาตเรียนถามความสงสัยอีกสองเรื่องดังต่อไปนี้ครับ

ปโยคสมบัตินั้น ความหมายจริงๆ คืออย่างไรครับ คือความเพียรชอบ ที่เป็นกุศล คือ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก จิตเจตสิก วิมังสาเจตสิก ที่เป็นไปในกุศลจิตทั้งหมด หรือ หมายถึง การประกอบกิจการงานต่างๆ มีศิลปวิชาชีพในทางโลก ที่เป็นสภาพธรรมอัน ได้แก่ อธิปติทั้ง 3 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ที่เป็นในอกุศลก็ดี หรือ กุศลก็ดี เป็นเหตุให้ ได้รับกุศลวิบาก เช่น ตราบเท่าที่มีวิชาชีพเป็นนักผสมหัวน้ำหอม ก็มีโอกาสได้รับวิบาก ที่เป็นกลิ่นหอมๆ ตลอด อะไรทำนองนี้

หรืออีกนัยนึงก็คือ ปโยคสมบัติ หมายถึง อธิปติ 4 (หรือ 3) ในกุศลทั้งหมด ส่วนปโยค วิบัติ คือ อธิปติ 3 ที่เป็นในอกุศลทั้งหมด หรือ ปโยคสมบัติคือ อธิปติ 4 (หรือ 3) ที่เป็นทั้งกุศลและอกุศล รวมถึงปกตูปนิสสยปัจจัย ทั้งหมดด้วย โดยนัยเดียวกับปโยควิบัติ


ขอเรียนถามในเรื่องของบัญญัติธรรมดังนี้ครับ

บัญญัตินี้ ที่มีปรากฏแยกไว้เป็นสองอย่าง เข้าใจอย่างนี้ถูกไหมครับ อัตถบัญญัตติ - คือบัญญัติธรรม ที่ละเอียดลึกมาก คือลักษณะที่เป็นบัญญัติเพียงรู้ว่า จะทำอะไรเป็นเรื่องราว โดยไม่ปรากฏลักษณะทั้งนิมิต ทั้งเสียงเป็นคำๆ หรือแม้ตัว อักษร นามบัญญัตติ - คือนิมิต อนุพยัญชนะ และคำพูดเป็นคำๆ ต่างๆ หรือแม้ตัวอักษรที่เรียง กันเป็นประโยคๆ เข้าใจอย่างนี้ถูกหรือไม่ครับ

แล้ว อยากทราบว่า บัญญัตินี้ มีลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมอย่างไรครับ เป็นเจตสิกหรือ เปล่า หรือเป็นเพียงธรรมารมณ์ที่จิตรู้ได้โดยอาศัยปรมัตถธรรมเป็นเหตุปรุงแต่งให้เกิด เท่านั้น ไม่ปรากฏลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ใดๆ เคยได้ยินว่า บัญญัติมีลักษณะเดียว คืออนัตตา เป็นเอกลักษณะ ใช่ไหมครับ เพราะเหตุ ว่าบัญญัติไม่มีตั้งแต่ต้น จึงไม่เกิดและไม่ดับ ไม่เหมือนปรมัตถธรรมที่เกิดดับ คือรูป จิต เจตสิก ที่เป็นไตรลักษณะ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และไม่เหมือนนิพพาน ที่เป็นไตรลักษณะเหมือนกัน แต่เป็น นิจจัง สุขขัง อนัตตา เพราะเหตุว่า นิพพานมี แต่ไม่เกิดไม่ดับ

กราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หากเราย้อนหลับมาที่ ความเข้าใจในเรื่อง ปโยค ว่าคืออะไร ก็จะเข้าใจในประเด็นนี้ ปโยคะ เป็นเหตุหนึ่งที่จะทำให้ได้รับกุศลวิบาก หรือ อกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น การ จะได้รับสิ่งที่ดี ก็คือ จะต้องด้วยเหตุที่ดี คือ ด้วยกุศลกรรมเป็นปัจจัย และจะเป็น ปัจจัยให้ได้รับสิ่งที่ดีได้ มาตัดรอน หรือ อุปถัมภ์ ก็จะต้องเพราะกรรมดีเป็นปัจจัย ไม่ใช่ กรรมไม่ดี หรือ อกุศลจิตเป็นปัจจัยได้เลย เพราะฉะนั้น เราจะต้องย้อนกลับ มาที่ตัวปรมัตถธรรมเสมอ ก็จะเข้าใจถูก การเห็นที่ดี เพราะ กุศลกรรมเป็นปัจจัยใน อดีต และ จะเป็นปัจจัยให้เห็นที่ดีอีก เพิ่มขึ้น กรรมในปัจจุบัน ก็จะต้องเป็นกรรมดี ไม่ใช่ อกุศลจิต เพราะ อกุศลจิตจะเป็นปัจจัยให้เกิดกรรมดีไม่ได้ ซึ่งขัดกับหลัก กรรมโดยตรง เพราะฉะนั้น ปโยคะ หมายถึงความเพียร แต่ ความเพียรใดที่จะทำ ให้เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากได้มากขึ้น ความเพียรนั้น จะต้องเป็นความเพียรชอบ ซึ่ง ในอภิธรรม ที่แสดงถึงความจริง ที่เป็นตัวจริงของสภาพธรรม แสดงถึง ปโยค สมบัติว่า หมายถึง การกระทำกุศลกรรมบถ 10 ประการ ซึ่งขณะที่ทำกุศล มีวิริยะ เจตสิกเกิดร่วมด้วย คือ มีความเพียรเกิดร่วมด้วย เป็นความเพียรชอบ กุศลกรรม ในปัจจุบัยที่ทำ ที่เป็นความเพียรชอบ เป็นปโยคสมบัติ ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล วิบากได้ ครับ แม้หากว่า ผู้ที่ทำงาน ขยันมาก แต่ ไม่ได้ทำกุศลกรรมอะไรเลย ความขยันด้วยโลภะ ด้วยอกุศลจิต ก็จะไม่เป็นปัจจัยให้ได้กุศลวิบากได้เลย เพราะ เหตุ ไม่ตรงกับผล คือ อกุศลจิตย่อมเป็นปัจจัยให้ได้รับ กุศลวิบาก จึงสรุปไดว่า ปโยคสมบัติ จะต้องกลับมาที่องค์ธรรม ปรมัตถธรรมว่าคืออะไร ไม่ใช่เพียงเรื่องราว ที่เป็นการขยันประกอบอาชีพ เพราะถ้าไม่กลับที่ตัวปรมัตถธรรม ก็จะไม่เข้าใจว่า การได้รับกุศลวิบาก ที่เป็นตัวปรมัตถธรรม จะเกิดได้อย่างไร ซึ่ง ปโยคสมบัติ ก็คือ กุศลกรรมที่ทำ มี บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ เป็นต้น ครับ

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 711

บุคคลอื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมเหล่านั้น พึงให้ผลแก่บุคคล ผู้ตั้งอยู่ในปโยควิบัติ. แต่ว่า บุคคลนั้นดำรงอยู่ในปโยคสมบัติ ด้วยกัลยาณ-กรรมอย่างหนึ่ง คือเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น แล้วย่อมยังกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริตทั้งหลายให้เต็ม. ในฐานะเช่นนั้น โอกาสแห่งการให้ผลของอกุศลย่อมไม่มี มีแต่โอกาสของกุศลอย่างเดียวเท่านั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมเหล่านั้นอันปโยคสมบัติห้ามไว้ จึงไม่ให้ผล ด้วยประการฉะนี้.

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 712

บุคคลแม้อื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมนั้นไม่พึงให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในปโยคสมบัติ แต่ว่าบุคคลนั้นตั้งอยู่ในปโยควิบัติแล้ว ย่อม กระทำอกุศลกรรม ๑๐ มีปาณาติบาตเป็นต้น ราชบุรุษทั้งหลายจับผู้ทำกรรม อันหยาบช้านั้นนั่นแหละแสดงต่อพระราชา พระราชาทรงให้กรรมกรณ์ (การทรมานทาง- กาย) เป็นอันมากแล้วก็ให้ฆ่าเสีย. พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมทั้งหลายมากย่อมไม่ อาจให้ผล เพราะความที่ปโยคสมบัติห้ามไว้ แต่ก็ย่อมให้ผลได้เพราะอาศัย ปโยควิบัติ ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.


ประเด็นเรื่องบัญญัติ

อรรถบัญญัติ คือ การบัญญัติคล้อยตามอรรถ คือการรู้ความหมายของสภาพธรรมจากสัณฐานที่ปรากฏทางตา จมูก ลิ้น กาย

นามบัญญัติ เป็นการให้รู้ ความหมายด้วยเสียง คล้อยตามเสียง คล้อยตามชื่อ ตามภาษา มีอีกชื่อหนึ่งว่า สัททบัญญัติ เป็นการแปลจากภาษาที่สมมติขึ้นเพื่อ สื่อสารให้เข้าใจกัน เช่น เมื่อได้ยินเสียงที่เป็นคำว่า “ภูเขา” มีอรรถบัญญัติ คือ รู้ว่าเป็นเสียงคนพูด มีสัททบัญญัติด้วย คือ รู้ความหมายจากคำว่า “ภูเขา” ว่าหมายถึงเนินดินหรือเนินหินที่สูงขึ้นไปในอากาศ แต่ถ้าเป็นชาวต่างประเทศ ที่ไม่รู้ภาษาไทยจะไม่รู้ความหมายของคำว่า “ภูเขา” ก็มีแต่อัตถบัญญัติเท่านั้น ไม่มีสัททบัญญัติ

บัญญัติ ไม่ใช่ จิต เจตสิก รูป ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะ ไม่มีลักษณะให้รู้ เพียง แต่ว่า บัญญัติเป็นอนัตตา โดยนัยที่ว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของ คือ ไม่มีใครที่เป็นบัญญัติ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 2 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 2 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-เบื้องต้น ก็ควรที่จะได้ตั้งต้นว่า สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุปัจจัย และที่น่าพิจารณาคือ ไม่ว่าจะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมในส่วนใด ก็เพื่อ เข้าใจธรรม อย่างในประเด็นที่คุณนิรมิตได้ถาม คือ ปโยคสมบัติและก็กล่าวถึงชื่อธรรม อีกมากมาย ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นธรรมที่มีจริง เพราะเหตุว่า ปโยคสมบัติ เป็นความถึงพร้อม ด้วยความประกอบคือความเพียรในทางที่เป็นกุศล ความเพียรมีจริงๆ เป็นธรรมที่มีจริง และในขณะที่ความเพียรเกิด ก็ไม่ได้เกิดเพียงความเพียรอย่างเดียว มีจิตเกิดร่วมด้วย มีเจตสิกธรรมประการต่างๆ เกิดร่วมด้วย ซึ่งต่างก็ทำกิจหน้าที่ของตน สำหรับความ เพียรในทางที่เป็นกุศล ก็ย่อมแตกต่างไปกับความเพียรที่เป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิง ถ้าเป็นผู้มีความเพียรหมั่นเจริญกุศลอยู่เนืองนิตย์ ไม่กระทำบาปอกุศลกรรม ก็ย่อมเอื้อต่อการที่กุศลกรรมที่เคยทำแล้ว ให้ผลได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้ามี ความเพียรในการกระทำอกุศลกรรม มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น เป็นความเพียร ที่ไม่ดี เป็นความวิบัติ เป็นไปในฝ่ายเสื่อม ก็ย่อมเอื้อต่อการที่อกุศลกรรมที่เคยทำแล้ว ให้ผลได้

การให้ผลของกรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ไม่รู้ว่ากรรมใด จะให้ผล เมื่อใดไม่สามารถที่จะรู้ได้ที่ดีที่สุดแล้ว คือ ไม่ประมาทในการเจริญกุศล ไม่ประมาท กำลังของกิเลส ไม่กระทำอกุศลกรรม โดยประการทั้งปวง

-บัญญัติไม่มีสภาวะ บัญญัติเป็นเพียงเรื่องหรือชื่อของปรมัตถธรรม เพราะมีปรมัตถ- ธรรม จึงมีชื่อ หรือมีคำบัญญัติ เพราะแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีจริงจริงๆ ที่ใครๆ ก็เปลี่ยน แปลงลักษณะของสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่ได้ มีอยู่ ๔ อย่าง ที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม ๔ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ไม่ใช่บัญญัติ บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม บัญญัติไม่มีลักษณะให้รู้ ไม่มีจริง เพราะไม่มีลักษณะ แต่เพราะมีปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง นี้เองจึงมีบัญญัติธรรม ยกตัวอย่างเช่น เพราะมีขันธ์ 5 ซึ่งเป็น สภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย อันได้แก่นามธรรม (จิต และเจตสิก) และรูปธรรม จึงมีการบัญญัติเรียกว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นคนดี เป็นคนไม่ดี เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็สืบเนื่องมาจาก มีสิ่งที่มีจริงที่เป็นปรมัตถธรรม นั่นเอง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 2 เม.ย. 2556

บัญญัติไม่ใช่นามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ไม่มีรูปร่างสัณฐาน บัญญัติไม่เกิดไม่ดับ เป็นเพียงสมมติที่ใช้เรียกชื่อกัน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นิรมิต
วันที่ 2 เม.ย. 2556

กราบขอบพระคุณท่านวิทยากร และขออนุโมทนาครับ

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมเล็กน้อยครับ

ในประเด็นของปโยคสมบัติ-วิบัติ

ไม่ทราบว่า ก็การกระทำกิจการงานต่างๆ ของมนุษย์ ไม่เป็นไปเพื่อให้ได้รับกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากใดๆ ใช่ไหมครับ? ถ้าเช่นนั้น กิจการงานต่างๆ ที่กระทำ ที่โลกนี้ คือมนุษย์โลก ต้องมีการกระทำกิจการงาน และก็ได้ผลเป็นเงินทอง นำไปแสวงหากุศลวิบากต่างๆ เป็นโดยนัยของว่า เพราะวิบากเป็นผลของกุศลที่ไม่ประณีตอย่างสวรรค์ จึงต้องมีการแสวงหา มีการลำบากในการได้มาซึ่งกุศลวิบาก

แต่ไม่ใช่โดยนัยของปโยคสมบัติ ใช่หรือเปล่าครับ?

อยากทราบว่า นิมิต อนุพยัญชนะ เป็นบัญญัติ หรือเป็นปรมัตถธรรมครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 3 เม.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

ปโยคสมบัติ โดยนัยพระสูตร ก็คือ การประกอบอาชีพที่สมควร แต่ ต้องไม่ลืม ปรมัตถธรรม ก็คือ แม้แต่ความเพียรในการประกอบอาชีพ ในขณะนั้นก็มีความเพียร แต่ก็เกิดกุศล ทำดี ในขณะที่เพียรพยายามในการประกอบอาชีพ ย่อมเป็นปัจจัยให้ เกิดกุศลวิบากไ้ด้ดีกว่า แม้บุคคลจะขยันประกอบอาชีพ แต่คดโกง มีความเพียรใน การทำอกุศล ครับ

ส่วน นิมิต อนุพยัญชนะ คือ ส่วนหยาบ และ ส่วนละเอียด ที่เห็นเป็นรูปร่าง สัณฐาน แล้ว เป็น บัญญัติ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นิรมิต
วันที่ 3 เม.ย. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 16 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ