จิตตวิปลาส สัญญาวิปลาส

 
นิรมิต
วันที่  3 เม.ย. 2556
หมายเลข  22721
อ่าน  1,477

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

กราบขอเรียนถามปัญหาดังนี้ครับ

พระโสดาบันละทิฏฐิวิปลาสแล้ว ไม่มีความเห็นผิดใดๆ อีกเลยในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม / ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข/ ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง / ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัว ตน แต่ยังมีสัญญาวิปลาส และจิตตวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม และสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข ต่อเมื่อเป็นพระอนาคามี จึงละสัญญาวิปลาส และจิตตวิปลาส ในสิ่งที่ไม่ งาม ว่างาม แต่ยังเหลือวิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุขต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์ จึง ดับวิปลาสทั้งหมดได้ ดังนี้ถูกต้องใช่ไหมครับ

ทีนี้อยากทราบว่า ในสถานการณ์เช่น มีบุคคลกระทำร้ายร่างกาย แล้วเกิดความเห็น ว่า เราควรจะโกรธในบุคคลนี้ หรือเห็นว่าบุคคลนี้ควรจะถูกโกรธ หรือ บุคคลมีรูปร่าง งาม ก็เกิดความเห็นว่า บุคคลนี้ ควรสรรเสริญ ควรชื่นชม ควรติดข้องพอใจ เป็นต้น เป็นเพียงจิตตวิปลาสและสัญญาวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม ในสิ่งที่ทุกข์ ว่าสุข หรือว่ามีทิฏฐิวิปลาสในสองอย่างนี้ด้วยครับ?

แล้วพระโสดาบันยังจะมีความเห็นอย่างนี้ไหม ว่า บุคคลดังนั้นอย่างนั้น ควรถูกโกรธ หรือบุคคลนั้นอย่างนั้น ควรถูกสรรเสริญติดข้องพอใจ หรือความเห็นอย่างนั้น ไม่มี สำหรับพระโสดาบัน เพียงแต่ เมื่อพระโสดาบันจะโกรธ ก็อาศัยได้ปัจจัย โกรธก็เกิดขึ้นขุ่นเคือง หรือเมื่อโลภะจะติดข้อง พอได้เหตุใดปัจจัย โลภะก็เกิดติดข้อง เท่านั้น ไม่ได้มีความเห็นว่า เราควรชอบบุคคลนี้ หรือเราไม่ควร ชอบบุคคลนี้ แล้วจึงชอบ หรือแล้วจึงโกรธ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า พระโสดาบันละทิฏฐิวิปลาสแล้ว ไม่มีความเห็นผิดใดๆ อีกเลยในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม /ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข/ ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง / ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตนแต่ยังมีสัญญาวิปลาส และจิตตวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม และสิ่งที่เป็น ทุกข์ ว่าเป็นสุขต่อเมื่อเป็นพระอนาคามี จึงละสัญญาวิปลาส และจิตตวิปลาส ในสิ่ง ที่ไม่งาม ว่างาม แต่ยังเหลือวิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุขต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์ จึงดับวิปลาสทั้งหมดได้ ดังนี้ถูกต้องใช่ไหมครับ

- ถูกต้อง ครับ พระโสดาบัน ละวิปลาสได้ ๘ ประเภท คือสัญญาวิปลาส ใน ธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑ ในธรรมที่เที่ยง ๑ จิตตวิปลาสในธรรมที่ไม่ใช่ ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑ ในธรรมที่เที่ยง ๑ และ ทิฎฐิวิปลาสในอาการทั้ง ๔ คือ ไม่เกิด ทิฏฐิเจตสิก ความเห็นผิดเลย ไม่มีความวิปลาสด้วยความเห็นผิด ครับ

ทีนี้อยากทราบว่า ในสถานการณ์เช่น มีบุคคลกระทำร้ายร่างกาย แล้วเกิดความ เห็นว่า เราควรจะโกรธในบุคคลนี้ หรือเห็นว่าบุคคลนี้ควรจะถูกโกรธ หรือ บุคคล มีรูปร่างงาม ก็เกิดความเห็นว่า บุคคลนี้ ควรสรรเสริญ ควรชื่นชม ควรติดข้องพอใจ เป็นต้น เป็นเพียงจิตตวิปลาสและสัญญาวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม ในสิ่งที่ทุกข์ ว่าสุข หรือว่ามีทิฏฐิวิปลาสในสองอย่างนี้ด้วยครับ แล้วพระโสดาบันยังจะมีความเห็นอย่างนี้ไหม ว่า บุคคลดังนั้นอย่างนั้น ควรถูกโกรธ หรือบุคคลนั้นอย่างนั้น ควรถูกสรรเสริญติดข้องพอใจ หรือความเห็นอย่างนั้น ไม่มี สำหรับพระโสดาบัน เพียงแต่ เมื่อพระโสดาบันจะโกรธ ก็อาศัยได้ปัจจัย โกรธก็เกิดขึ้นขุ่นเคือง หรือเมื่อโลภะจะติดข้อง พอได้เหตุใดปัจจัย โลภะก็เกิดติดข้อง เท่านั้น ไม่ได้มีความเห็นว่า เราควรชอบบุคคลนี้ หรือเราไม่ควร ชอบบุคคลนี้ แล้วจึงชอบ หรือแล้วจึงโกรธ

- หากว่าเป็นพระโสดาบันแล้ว ย่อมไม่เกิดความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล เลย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ หรือ ในกรณีใดๆ ด้วยเหตุผลที่สามารถดับ ทิฏฐานุสัย ที่เป็นพืชเชื้อของความเห็นผิดได้หมดสิ้น เปรียบเหมือน การทำลายต้นไม้ ที่ทำลาย ทั้งราก รากของต้นไม้ตายหมดสิ้น ไม่ว่าจะเอาน้ำไปรด หรือ ใส่ปุ๋ยอย่างไร ต้นไม้ก็ ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้อีก เพราะ เหตุ คือ รากถูกทำลายหมดสิ้น ครับ เพราะฉะนั้น การคิดนึกด้วยการเห็นเป็นสัตว์ บุคคล และ เป็นตัวบุคคลต่างๆ แม้แต่พระอรหันต์ก็ รู้ว่าเป็นใคร และ คิดนึกเป็นบุคคลต่างๆ ด้วย ขณะที่พระโสดาบัน คิดนกึถึงคนใด ก็คิดนึกเป็นตัวบุคคล เป็นใครเช่นกัน เช่น ด้วยความโกรธนั้น แต่จิตขณะนั้น ไม่ได้ เกิดความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล เพียงแต่อาศัยการคิดนึกในรูปร่างสัณฐาน จำได้ ไม่ใช่ด้วยความเหห็นผิด รู้ว่าเป็นคนนี้ และ โกรธคนนี้ ที่ไม่มีความเห็นผิด และ ขณะที่โกรธ ก็ไม่สามารถเกิดความเห็นผิดได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปุถุชน หรือ ใครก็ตาม ครับ โดยนัยเดียวกัน การเห็นว่าบุคคลนี้ ควรสรรเสริญ ควรติดข้องพอใจ ก็เกิดกุศลจิต ที่มี บัญญัติเป็นอารมณ์ คือ มีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์ได้ โดยไม่ได้มีความยึดถือว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล และขณะที่ติดข้องสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ก็เป็น โลภะที่ไม่ไประกอบด้วยความเห็นผิดก็ได้

เพียงแต่ ติดข้องในบัญญัติที่สมมติว่า เป็นใครก็ได้ พระโสดาบันนจึงเกิดความโกรธ และติดข้อง ด้วยไม่มีความเห็นผิด เพราะกิเลสที่มีอยู่ ติดข้องและโกรธทั้งในบัญญัติและปรมัตถก็ได้ แต่ ไม่มีความ เห็นผิดเกิดขึ้นอีกเลย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 3 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 3 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงแล้ว ธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เกิดขึ้นเป็นไปตาม เหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สำหรับเรื่องของอกุศลธรรม (อกุศลจิตและเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย) เป็นเรื่องของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่โดยแท้ ผู้ที่ไม่ มีอกุศลใดๆ เลยนั้น ก็มีเฉพาะพระอรหันต์เท่านั้น บุคคลเหล่าอื่นนอกนี้ ล้วนมีกิเลสอยู่ ทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นอริยบุคคลขั้นหนึ่งขั้นใดแล้ว กิเลสที่ถูกดับได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นอีก พระโสดาบันก็เช่นเดียวกัน ท่านสามารถดับกิเลสได้ในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ความเห็นผิด ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม ความริษยา ความตระหนี่ พระโสดาบัน ดับความเห็น ผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวนตนได้ ไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดขึ้นเลย แต่พระโสดาบันยังมีกิเลสเหลืออยู่ ยังมีความติดข้องยินดีพอใจ ยังมีความ โกรธ ความขุ่นเคืองใจ แต่ไม่ถึงขั้นที่ล่วงเป็นทุจริตกรรมอันจะเป็นเหตุให้เกิดใน อบายภูมิได้ เพราะท่านดับกิเลสอย่างหยาบได้อย่างหมดสิ้นแล้วนั่นเอง

ในความมี สัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์นั้น พระโสดาบันท่านก็รู้ว่าใครเป็นใคร รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ ตลอดจนพระอริยสาวกทั้งหลาย ก็รู้ว่า ใครเป็นใคร รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้ามั่นคงจริงๆ ว่า พระ โสดาบันดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้แล้ว ที่จะให้ท่านมีความ เห็นผิดว่ามีคน มีสัตว์ จริงๆ นั้นย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไมได้ เพราะท่านดับความเห็น ผิดได้แล้ว นั่นเอง เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่รู้ว่าเป็นสัตว์ บุคคล วัตถุ สิ่งต่างๆ ขณะนั้นมโนทวารวิถีจิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์ จึงรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 3 เม.ย. 2556

พระโสดาบันดับความเห็นผิด ความเห็นผิดนั้นจะไม่มีทางหวนกลับมาอีก พระโสดาบัน ยังมีกิเลสที่ยังดับไม่หมด เช่น ความโกรธ แต่ความโกรธของท่านไม่ล่วงกรรมบถและ ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ท่านไปอบายภูมิ มีแต่ไปภพภูมิที่สูงขึ้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นิรมิต
วันที่ 3 เม.ย. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kinder
วันที่ 6 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 16 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ