บาปกรรมเหล่านั้นอันปโยคสมบัติ ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผล

 
ดรุณี
วันที่  3 เม.ย. 2556
หมายเลข  22724
อ่าน  1,235

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 711

บุคคลอื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมเหล่านั้น พึงให้ผลแก่บุคคล ผู้ตั้งอยู่ในปโยควิบัติ. แต่ว่า บุคคลนั้นดำรงอยู่ในปโยคสมบัติ ด้วยกัลยาณ-กรรมอย่างหนึ่ง คือเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น แล้วย่อมยังกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริตทั้งหลายให้เต็ม. ในฐานะเช่นนั้น โอกาสแห่งการให้ผลของอกุศลย่อมไม่มี มีแต่โอกาสของกุศลอย่างเดียวเท่านั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมเหล่านั้นอันปโยคสมบัติห้ามไว้ จึงไม่ให้ผล ด้วยประการฉะนี้.

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 712

บุคคลแม้อื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมนั้นไม่พึงให้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในปโยคสมบัติ แต่ว่าบุคคลนั้นตั้งอยู่ในปโยควิบัติแล้ว ย่อม กระทำอกุศลกรรม ๑๐ มีปาณาติบาตเป็นต้น ราชบุรุษทั้งหลายจับผู้ทำกรรม อันหยาบช้านั้นนั่นแหละแสดงต่อพระราชา พระราชาทรงให้กรรมกรณ์ (การทรมานทางกาย) เป็นอันมากแล้วก็ให้ฆ่าเสีย. พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมทั้งหลายมากย่อมไม่ อาจให้ผล เพราะความที่ปโยคสมบัติห้ามไว้ แต่ก็ย่อมให้ผลได้เพราะอาศัย ปโยควิบัติ ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.

อยากขอคำอธิบายข้อความในพระอภิธรรมปิฎกที่ว่า

"บาปกรรมเหล่านั้นอันปโยคสมบัติ ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผล" ดิฉันคิดว่าคงหมายถึง กรรมมาเบียดเบียนไม่ให้ผลเต็มที่ หรืออาจจะเป็น กรรมมาตัดรอนไม่ให้ผลเลย

ขอช่วยอธิบายขยายความเพิ่มเติม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากข้อความในพระอภิธรรมที่ผู้ถามยกมานั้น ได้แสดงถึง ปโยคสมบัติ และ ปโยควิบัติ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยประการหนึ่งที่จะทำให้ ผลของกุศล หรือผลของ อกุศลกรรมให้ผล

ปโยคะ หมายถึง ความเพียร เมื่อกล่าวโดยนัยอภิธรรม ที่เป็นข้อความที่ยกมา ก็ต้องกลับไปที่ตัวปรมัตถธรรม คือ วิริยเจตสิก ที่เป็นความเพียร ซึ่งวิริยเจตสิก เกิดกับจิตเกือบทุกประเภท คือ เกิดกับจิตที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิตก็ได้ ดังนั้นขณะ ใดที่ทำความดี มี บุญญกิริยาวัตถุ 10 เป็นต้น ขณะนั้น มีความเพียร มีปโยคะแล้ว และเป็นปโยคสมบัติ ขณะที่ทำกุศลกรรม 10 ประการ และขณะใดที่ทำอกุศลกรรม ทำบาปประการต่างๆ ขณะนั้น ก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีความเพียรที่เป็นปโยคะ แต่ เป็นปโยควิบัติ เพราะ เพียรไปในทางอกุศล

ดังนั้น จากข้อความที่ยกมาที่ว่า

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 711

บุคคลอื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมเหล่านั้น พึงให้ผลแก่บุคคล ผู้ตั้งอยู่ในปโยควิบัติ. แต่ว่า บุคคลนั้นดำรงอยู่ในปโยคสมบัติ ด้วยกัลยาณกรรมอย่างหนึ่ง คือเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น แล้วย่อมยังกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริตทั้งหลายให้เต็ม. ในฐานะเช่นนั้น โอกาสแห่งการให้ ผลของอกุศลย่อมไม่มี มีแต่โอกาสของกุศลอย่างเดียวเท่านั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมเหล่านั้นอันปโยคสมบัติห้ามไว้ จึงไม่ให้ผล ด้วยประการฉะนี้.


- หมายถึง ผู้ที่เคยทำบาปไว้มากในอดีตชาติ ควรที่จะต้องได้รับผลของกรรมที่ เคยทำมาในอดีต แต่หากว่า ในชาติปัจจุบัน เป็นผู้ที่ทำกุศลกรรมเนืองนิตย์ คือ มีความเพียรในทางกุศลกรรม เป็นปโยคสมบัติ โอกาสของอกุศลกรรมที่ควรจะให้ ผลก็ไม่ให้ เพราะถูกการทำกุศลกรรมในปัจจุบันห้ามไว้ ไม่ให้ผล ซึ่งการให้ผล ของกรรม ก็มีทั้งที่มาเบียดเบียน หรือ มาตัดรอน ดังนั้น การทำกุศลกรรมในปัจจุบัน ก็อาจมาตัดรอน กรรมที่เป็นอกุศลกรรมให้ผลอยู่ ไม่ให้ผลก็ได้ หรือกุศลกรรมที่ ปัจจุบัน ที่ทำอยู่ทำให้เป็นโอกาสของกุศลกรรมให้ผล แทนที่จะให้ผลของอกุศลกรรม ต่อเนื่อง ก็มาเบียดเบียน ไม่ให้ผลก็ได้ เพราะ การทำความดีในปัจจุบันที่มีกำลัง และเนืองนิตย์ นี่คือ ปโยคสมบัติ คือ การทำความดี ทำกุศลกรรมในปัจจุบัน เป็น ปัจจัยที่ห้ามไม่ให้ผลของอกุศลกรรมในอดีตให้ผล ครับ


และ จากข้อความที่ว่า

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 712

บุคคลแม้อื่นอีกที่มีบาปกรรมมาก บาปกรรมนั้นไม่พึงให้ผลแก่บุคคล ผู้ตั้งอยู่ในปโยคสมบัติ แต่ว่าบุคคลนั้นตั้งอยู่ในปโยควิบัติแล้ว ย่อม กระทำ อกุศลกรรม ๑๐ มีปาณาติบาตเป็นต้น ราชบุรุษทั้งหลายจับผู้ทำกรรม อันหยาบช้านั้นนั่นแหละแสดงต่อพระราชา พระราชาทรงให้กรรมกรณ์ (การทรมานทางกาย) เป็นอันมากแล้วก็ให้ฆ่าเสีย.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบว่า บาปกรรมทั้งหลายมากย่อมไม่ อาจให้ผล เพราะความที่ปโยคสมบัติห้ามไว้ แต่ก็ย่อมให้ผลได้เพราะอาศัย ปโยควิบัติ ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.


- หมายถึง บุคคลที่ทำบาปมามาก ในอดีตชาติ และ ชาติปัจจุบัน ก็ยังทำบาป เป็นประจำอีก คือ เป็นความเพียรที่เป็นไปในอกุศลกรรม เป็นปโยควิบัติ เพราะ อาศัยกรรมไม่ดีในปัจจุบันด้วย จึงทำให้โอกาสของอกุศลกรรมในอดีตมาให้ผล ที่เคยทำไว้ ครับ ซึ่งขณะที่เป็นอกุศลกรรมให้ผลอยู่ ก็อาศัยกรรมไม่ดี ที่ทำใน ปัจจุบัน กรรมนั้นอุปถัมภ์ให้ได้รับอกุศลกรรมต่อเนื่องและรุนแรงมากกว่าเดิมก็ได้ เพราะกรรมที่ไม่ดีที่ทำในปัจุบัน แต่หากว่า เป็นผู้ที่ทำกรรมดีมาในอดีตมามาก ควร ที่จะได้รับผลของกรรมที่ดีในปัจจุบัน แต่เพราะว่าทำบาปมาก ในปัจจุบัน ทำอกุศล กรรมเป็นปัจจุบัน เป็นความเพียรที่ไม่ดี เป็นปโยควิบัติ เพราะอาศัยกรรมที่ไม่ดี ปโยควิบัติ ก็ห้าม กุศลกรรมที่ควรให้ผลในปัจจุบันชาติ อกุศลกรรมในอดีตก็มาให้ ผลแทน ในชาติในอดีตที่ยาวนาน แทนที่จะไดรับกุศลกรรมที่เคยทำไว้ในอดีตชาติ มามากมายครับ ซึ่งอาจตัดรอน กรรมดีที่ให้ผลอยู่ แทนที่ด้วยผลของกุศลกรรมก็ได้ หรือ เบียดเบียนก็ได้ ตามที่ผู้ถามเข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ

จะเห็นนะครับว่า การให้ผลของกรรมมีหลากหลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงการกระทำใน อดีตเท่านั้น การกระทำในปัจจุบันก็สำคัญด้วย ครับ ซึ่งการทำความดี เพราะเป็น ความดี แม้ไม่ขอก็ได้สิ่งที่ดี และ การทำชั่วก็ต้องได้รับผลชั่ว ไม่ว่าจะหลีกหนีไปที่ ไหนก็ไม่พ้น สำคัญที่ชีวิตปัจจุบัน ควรศึกษา อบรมปัญญา เพื่อดับกิเลส อันเป็นเหตุ แห่งการทำกรรม และได้รับทุกข์ และ ดับกิเลสจนหมดสิ้น เพื่อการไม่เกิด ไม่ทุกข์อีก ต่อไป ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pamali
วันที่ 4 เม.ย. 2556
ขอบพระคุณและขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 4 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปโยคสมบัติ หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยการประกอบ คือ ความเพียรในการเจริญ กุศล ทำความดีประการต่างๆ แต่ถ้าเป็นปโยควิบัิิติแล้ว ตรงกันข้ามกับปโยคสมบัติ เพราะเป็นความเพียรที่ไม่ดี เป็นความเพียรที่เป็นไปในการประกอบอกุศลกรรมประการ ต่างๆ เมื่อศึกษาพระธรรม ก็จะเข้าใจว่า ความเพียร เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดร่วม กับกุศล ก็ได้ เกิดร่วมกับ อกุศลก็ได้ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งจะเห็นได้ ว่า เพียรทำดี ก็มี เพียรทำชั่ว ก็มี เป็นธรรมที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถ้ามีความเพียรในการกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็ย่อมจะเอื้ออำนวยต่อการที่อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต มีโอกาสให้ผลได้ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับผู้ที่มีความเพียร ในการเจริญกุศลประการ ต่างๆ ไม่ประมาทในชีวิต ก็ย่อมจะเอื้ออำนวยต่อการที่กุศลกรรมที่กระทำแล้วในอดีต ให้ผลได้ ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

เรื่องกรรม ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เราไม่สามารถรู้ได้ว่า กรรมใดจะให้ผลเมื่อใด ที่ดีที่สุดแล้ว คือ เป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ประมาททั้งกำลังของอกุศล และ ไม่ประมาทใน การเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะกุศลธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง อกุศลธรรม เป็นที่พึ่งไม่ได้ มีแต่จะนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนโดยส่วนเดียว เท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 4 เม.ย. 2556

ปโยคสมบัติ ความเพียรที่เป็นไปในมหากุศล ก็ทำให้เปลี่ยนจากอายุสั้นเป็นอายุยาวได้ เช่น ในสมัยพุทธกาล เด็กคนหนึ่งมีอายุสั้น แต่ได้พบพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรมทำให้เขา อายุยืน ชื่อว่าอายุวัฒนกุมาร ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
natural
วันที่ 4 เม.ย. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
daris
วันที่ 4 เม.ย. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 6 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ดรุณี
วันที่ 7 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ