อาหาร ๔

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  7 เม.ย. 2556
หมายเลข  22731
อ่าน  13,318

อาหาร ๔ คือ

๑. กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว

๒. ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ

๓. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา

๔. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ

กวฬิงการาหาร เข้าใจกันอยู่แล้ว

มโนสัญเจตนาหาร อธิบายด้วยเหตุการณ์จริง คือ ชายคนหนึ่งป่วยด้วยโรคร้ายตั้งแต่ลูกชายอายุ ๑๕ ตามอาการป่วยนั้นเขาน่าจะตายได้แล้ว แต่เขาบอกแก่ญาติว่าอยากจะเห็นลูกชายได้บวชเป็นพระก่อนตาย

เขาป่วยจะตายมิตายแหล่อยู่ ๕ ปีเต็ม จนลูกชายอายุครบบวช วันที่ลูกชายบวชเป็นองค์พระ พอบวชเสร็จ เขาก็ตาย

นี่คือ มโนสัญเจตนาหาร คือการมีที่หวังว่าจะได้สมปรารถนา เป็น “อาหาร” หล่อเลี้ยงชีวิตของชายคนนี้อยู่ได้นานถึง ๕ ปี

อยากทราบว่า ผัสสาหาร และ วิญญาณาหาร จะอธิบายด้วยเหตุการณ์ในชีวิตจริง อย่างไร จึงจะเข้าใจได้ง่ายเหมือนเรื่องมโนสัญเจตนาหาร

ขอความกรุณาท่านผู้รู้ด้วยครับ

ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อาหาร โดยศัพท์ หมายถึง นำมา คือ เป็นปัจจัย หรือ นำมาซึ่งผล เพราะฉะนั้น สภาพธรรมอะไรก็ตาม ซึ่งนำมาซึ่งผล หมายถึง อาหาร อาหารจึงไม่ได้ หมายถึงอาหารที่เราบริโภคกันเท่านั้น แต่ อาหารมีความละอียด หลากหลายนัยดังนี้ ครับ

อาหาร มี ๔ ประเภท ดังนี้

๑. กวฬิงการาหาร หมายถึง รูปอาหารที่เป็นคำๆ ที่เราบริโภคเข้าไป ส่วนที่จะเป็นประโยชน์หล่อเลี้ยงร่างกาย อาหารที่เป็นคำๆ นำมาซึ่งโอชารูป

๒. ผัสสาหาร หมายถึง ผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นปัจจัยให้สัมปยุตธรรมเกิดขึ้น นำมาซึ่งเวทนา

๓. มโนสัญเจตนาหาร หมายถึง เจตนาเจตสิกที่เป็นกรรม ทั้งกุศลกรรม และ อกุศลกรรม ย่อมนำมาซึ่งปฏิสนธิวิญญาณ (การเกิด)

๔. วิญญาณาหาร หมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณ ย่อมนำมาซึ่งนามรูป และ อีกนัยหนึ่ง จิตอื่นๆ ที่นำมาซึ่งผล คือ นาม รูป หรือว่า นาม หรือ รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่พ้นจากอาหารปัจจัยที่เป็นวิญญาณาหารด้วย ครับ

ซึ่งจากผู้ถามได้อธิบายในเรื่อง มโนสัญเจตนาหาร ว่า มโนสัญเจตนาหาร คือการมีที่หวังว่าจะได้สมปรารถนา เป็น “อาหาร” หล่อเลี้ยงชีวิตของชายคนนี้อยู่ได้นานถึง ๕ ปี

ในความเป็นจริง มโนสัญเจตนาหาร ไม่ใช่ความหวังที่อยากมีชีวิตอยู่ แต่หมายถึงเจตนาเจตสิกที่เป็นไปในกุศลกรรม และ อกุศลกรรม เพราะย่อมนำมาซึ่งการเกิด ส่วนความหวังที่อยากมีชีวิตอยู่เป็นโลภเจตสิก ที่เป็นความอยาก ความติดข้อง ที่ไม่ใช่เจตนาเจตสิกที่เป็นไปในกุศลกรรม อกุศลกรรมที่เป็น มโนสัญเจตนาหาร ครับ

ส่วน คำถามที่ว่า อยากทราบว่า ผัสสาหาร และ วิญญาณาหาร จะอธิบายด้วยเหตุการณ์ในชีวิตจริงอย่างไร

ผัสสาหาร หมายถึง ผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นปัจจัยให้สัมปยุตธรรมเกิดขึ้น นำมาซึ่งเวทนา ซึ่งในชีวิตประจำวัน ในขณะนี้ ที่มีความรู้สึกประเภทต่างๆ สุข ทุกข์ เฉยๆ เพราะอาศัยการกระทบกันของสภาพธรรม ที่มีผัสสะทำหน้าที่กระทบ เพราะถ้าไม่มีการกระทบกันของรูป คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา และ จักขุปสาทรูป เป็นต้น ก็จะไม่มีการเกิดขึ้นของการเห็น ขณะที่เห็นก็มีความรู้สึกแล้ว ที่เฉยๆ ในขณะที่เห็น และ อาศัยการกระทบ ผัสสะ เกิดขึ้น ก็ทำให้มีการเกิดขึ้นของจิตประเภทต่างๆ ทำให้เกิดความรู้สึกประเภทต่างๆ เพราะอาศัยการกระทบกันของสภาพธรรม ซึ่งในความเป็นจริง การจะเข้าใจผัสสาหารด้วยปัญญาระดับสูง ที่รู้ตัวผัสสะ และด้วยวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่เพียงการอธิบายขั้นคิดนึก จะรู้ตัวผัสสะได้ ครับ

วิญญาณาหาร หมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณ ย่อมนำมาซึ่งนามรูป และอีกนัยหนึ่ง จิตอื่นๆ ที่นำมาซึ่งผล คือ นาม รูป หรือว่า นาม หรือ รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่พ้นจากอาหารปัจจัยที่เป็นวิญญาณาหารด้วย ครับ ซึ่งขณะนี้ ในชีวิตประจำวัน ก็มี วิญญาณ คือ จิตเกิดขึ้น เป็น วิญญาณอาหาร ที่นำมาซึ่งผล คือ นาม และ รูป คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และ รูปที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เกิดความโกรธ จิตที่เป็นโทสะเกิดขึ้น นำมาซึ่งผลเป็นอาหาร คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ที่เป็นเจตสิกที่ไม่ดี คือ โทสเจตสิก และ โมหเจตสิก คือ ความไม่รู้ในขณะนั้น ที่เมื่อโกรธก็ทำอะไรผิด เพราะมีความไม่รู้เกิดร่วมด้วย และนำมาซึ่งผล คือ รูปที่เกิดจากจิตที่โกรธ รูปที่ไม่ดี แสดงถึงลักษณะหน้าตา และ รูปที่ไม่ดีที่เกิดจากความโกรธ ครับ

นี่คือ การอธิบายคร่าวๆ ในชีวิตประจำวันของวิญญาณาหาร ครับ แต่การจะประจักษ์ ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นอาหาร ไม่ใช่ด้วยการคิดนึกเป็นเรื่องราวว่าจะพิจารณาอย่างไร แต่ต้องเป็นปัญญาระดับสูงที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ที่เป็นอาหารแต่ละอย่าง ทั้งวิญญาณาหาร ที่เป็นจิตแต่ละขณะ ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ ซึ่งจะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 7 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 7 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อาหารทั้ง ๔ อย่าง นั้น เป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้ที่เกิดแล้ว และเป็นไปเพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ยังต้องมีการเกิดอยู่ (คือ ยังมีกิเลสอยู่) แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่ตราบใดก็ตามที่ยังมีการเกิด อันมีต้นตอมาจากการที่ยังมีอวิชชา ความไม่รู้อยู่ จึงยังต้องมีอาหาร ๔ อย่างนี้เกิดขึ้นเป็นไป มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

สภาพธรรมที่เป็นอาหารปัจจัย เลี้ยงดู ค้ำจุนธรรมที่เกิดพร้อมกัน มี ๔ ประเภท คือ รูปอาหารอย่างหนึ่ง และ นามอาหาร ๓ ต่างก็เป็นปัจจัยโดยนำมาซึ่งผล ตามสมควรแก่สภาพธรรมนั้นๆ กล่าวคือ

รูปอาหาร ก็นำมาซึ่งกลุ่มรูปที่มีโอชาเป็นที่ ๘

ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ นำมาซึ่งเจตสิกธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย นำมาซึ่งจิต และ นำมาซึ่งรูปที่เกิดจากจิตในขณะนั้น เพราะถ้ากล่าวถึงเจตสิกก็ต้องหมายรวมจิต และเมื่อกล่าวถึงจิตก็ต้องหมายรวมเจตสิกด้วย

มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา ก็คือ เจตนาเจตสิกนั่นเอง นำมาซึ่งภพทั้งหลาย เพราะมีการกระทำที่เป็นกรรมอันเป็นบุญบ้างเป็นบาปบ้าง จึงทำให้มีการเกิดในภพต่างๆ มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป และถ้ากล่าวถึงในขณะที่เกิดพร้อมกัน ก็นำมาซึ่งเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย นำมาซึ่งจิตและรูปที่เกิดจากจิตตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

และ ประการสุดท้าย นามอาหารที่เป็นวิญญาณ คือ วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ ได้แก่จิต ไม่ใช่เฉพาะปฏิสนธิจิตเท่านั้น หมายรวมถึงจิตทุกขณะ ทุกประเภทในขณะที่จิตเกิดขึ้นนำมาซึ่งอะไร ก็นำมาซึ่งเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย นำมาซึ่งรูปที่เกิดจากจิต ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เพราะยกเว้นปฏิสนธิจิต ทวิปัญจวิญญาณ อรูปวิบาก และจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น ที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป (รูปที่เกิดจากจิต)

สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้น แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ในสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้เลย เป็นการปฏิเสธความเป็นตัวตนสัตว์บุคคลอย่างสิ้นเชิง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 7 เม.ย. 2556

มโนสัญเจตนาหาร คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดจากกรรมทำให้เกิดเป็นมุษย์ เป็นเทวดา หรือเกิดในอบายภูมิก็ได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kinder
วันที่ 9 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 9 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 16 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 8 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
gboy
วันที่ 9 มิ.ย. 2556

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
สิริพรรณ
วันที่ 8 พ.ค. 2559

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
peem
วันที่ 4 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
silvergoodservice
วันที่ 15 มี.ค. 2564

สาธุ..

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 15 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ