เรื่องที่ยังจำได้และรู้สึกเคืองขึ้นมา คือการผูกโกรธหรือเปล่าคะ

 
ดรุณี
วันที่  8 เม.ย. 2556
หมายเลข  22735
อ่าน  1,454

บางเรื่องรู้สึกว่าตัวเองให้อภัยเพื่อนไปแล้ว แต่อยู่ว่างๆ นึกถึงเรื่องนั้นขึ้นมาเอง แล้วรู้สึกเคืองขึ้นมา ก็แปลกใจตัวเองว่าทำไมกลับมาเคืองได้อีก เพราะเข้าใจว่าตัวเองน่าจะให้อภัยไปแล้ว แบบนี้ใช่หรือเปล่าคะที่เรียกว่าการผูกโกรธ (อาฆาต)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 8 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โทสะ ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แน่นอนว่าผู้ที่ยังไม่ใช่พระอนาคามี ยังต้องมีความโกรธ เพราะเหตุว่ายังมีเชื้อของความโกรธที่ยังไม่ได้ดับอย่างเด็ดขาด เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ความโกรธก็มีระดับที่ต่างกัน และถึงแม้ว่าจะไม่มาก เป็นเพียงความขุ่นใจ ไม่พอใจเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อย่างนี้ก็เป็นลักษณะของโทสะเช่นเดียวกัน

ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ก็จะเห็นได้ว่าเพียงแค่ขุ่นใจนิดเดียว ก็รู้สึกตัวได้ว่า นั่นคือ ลักษณะของความโกรธแล้ว แม้จะไม่มากถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตทั้งทางกาย และ ทางวาจาก็ตาม

จากประเด็นคำถามนั้น เป็นความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ที่ไม่ถึงขั้นอาฆาตพยาบาทปองร้ายผู้อื่น เพราะไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทำร้าย เบียดเบียนผู้อื่นแต่ประการใด แต่ก็ยังไม่พ้นจากความผูกโกรธอยู่ดี เพราะยังไม่ลืมที่จะโกรธ ความเป็นจริงของสภาพธรรม ใครๆ ก็ปลี่ยนแปลงไม่ได้ แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ เพราะเคยโกรธ ยังมีโความโกรธอยู่ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ความโกรธจะเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน จึงไม่ควรที่จะประมาทกำลังของกิเลสจริงๆ เพราะกิเลสจะมีกำลังกล้าจนถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมได้ ก็มาจากการสะสมทีละเล็กทีละน้อยนี่เอง ธรรมที่ตรงกันข้ามกับความโกรธ ก็คือ เมตตา ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ถ้าเริ่มเห็นโทษของความโกรธ ความขุ่นเคืองใจในผู้อื่น ซึ่งเป็นอกุศลธรรม ก็จะเป็นผู้เริ่มเจริญเมตตา แม้ในขณะนี้ได้

ควรจะได้พิจารณาอยู่เสมอว่า ธรรมฝ่ายดีทุกอย่าง เป็นสิ่งที่อบรมได้ เจริญได้ในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ อบรมไป สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ขาดการฟังพระธรรม เพราะมีการฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ก็ย่อมจะเป็นเหตุปัจจัยให้มีการคิดไตร่ตรองถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง แทนที่จะไปคิดถึงเรื่องอื่นที่เป็นไปในทางฝ่ายที่เป็นอกุศล ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 8 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความผูกโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ภาษาบาลี เรียกว่า อุปนาหะ ซึ่ง ลักษณะของความโกรธ คือ ขณะที่ขุ่นเคือง ไม่พอใจ ในอารมณ์ที่ปรากฎ แต่ เมื่อใดที่เกิดความโกรธเมื่อนึกถึงอารมณ์นั้นอีก นั่นแสดงว่า เป็นความโกรธ ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว แล้วไม่ว่าจะเกิดความโกรธครั้งต่อไป จะมาก หรือ น้อยก็ตาม ก็ชื่อว่า เกิดความโกรธขึ้นอีกในอารมณ์ ในเรื่องนั้นชื่อว่าเป็นความผูกโกรธแล้ว เพราะฉะนั้น ที่ผู้ถามได้เกิดความโกรธเกิดขึ้นอีกในเรื่องที่เคยโกรธ ขณะนั้น เป็นการแสดงถึงลักษณะของความผูกโกรธที่เกิดขึ้นแล้ว ครับ ซึ่งจะขอยกคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ ที่ได้ยกพระไตรปิฎก แสดงถึงลักษณะของความผูกโกรธไว้อย่างชัดเจนว่ามีลักษณะอย่างไรครับ ดังนี้

อ.สุจินต์ ฉะนั้น จึงต้องพิจารณารู้ว่าแม้ความขุ่นใจเพียงเล็กน้อยก็เป็นโทษด้วย เพราะถ้าไม่ใช่ความขุ่นใจเพียงเล็กน้อย แต่เป็นความโกรธบุคคลหนึ่งบุคคลใด ซึ่งเป็นความโกรธที่ไม่ลืม และยังไม่ได้ลดน้อยลงเลย ก็จะทำให้เป็นความผูกโกรธ เป็นทุกข์ในชีวิตของแต่ละท่าน ซึ่งพระธรรมจะอนุเคราะห์ให้พิจารณา เห็นโทษของอกุศลและความโกรธ ซึ่งถ้าไม่เห็นโทษก็จะไม่ขัดเกลาและละคลายเลย ฉะนั้น ผู้มีทุกข์ ควรพิจารณาทุกข์ซึ่งเป็นความโศกเศร้า เสียใจ น้อยใจ กลัดกลุ้ม โกรธเคือง ขุ่นใจ ไม่แช่มชื่น ว่าเป็นลักษณะของโทสะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ประทุษร้ายจิตโดยประการต่างๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้อย่างไรบ้าง และมีความตั้งใจจริงๆ ที่จะขัดเกลาละคลายความโกรธหรือโทสะนั้นแล้วหรือยัง ซึ่งก็จะต้องเห็นโทษและเห็นความละเอียดของความโกรธเสียก่อน

ลักษณะของความโกรธต่างๆ รวมทั้งความผูกโกรธด้วยนั้น ข้อความในสัมโมหวิโนทนี ขุททกวัตถุ วิภังคนิทเทส ได้อธิบายลักษณะของความผูกโกรธว่า บุคคลใดย่อมผูกโกรธไว้ในกาลก่อน ภายหลังความโกรธเกิดขึ้นอีก ดังนี้ ก็ชื่อว่า อุปนาหะ

ความผูกโกรธเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่ควรจะรู้ว่า โกรธใครแล้วยังไม่ลืม ยังโกรธอยู่อีก นี้คือความผูกโกรธ คำว่า "อฏฺฐาปนา" ความตั้งไว้ ได้แก่ การตั้งความโกรธไว้ติดต่อกันของความโกรธอันเกิดขึ้นครั้งแรก (โกรธไม่จบ โกรธครั้งแรกอย่างไร ก็ยังคงตั้งความโกรธไว้ติดต่อกันกับความโกรธอันเกิดขึ้นครั้งแรก)

การตั้งความโกรธไว้ตามปกติ เรียกว่า "การทรงไว้ซึ่งความโกรธ" การตั้งความโกรธไว้บ่อยๆ โดยส่วนทั้งปวง ชื่อว่า "ความดำรงความโกรธไว้" การไม่แสดงความแตกต่างกันแห่งความโกรธหลังกับความโกรธอันเกิดก่อน แล้วทำไว้โดยความเป็นอันเดียวกัน ชื่อว่า "ความสั่งสมความโกรธไว้" คือไม่ลดลงเลย ไม่ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไปนานสักเท่าใด ความสืบต่อความโกรธครั้งหลังกับด้วยความโกรธครั้งแรก ชื่อว่า "ความผูกพันความโกรธไว้" คำว่า "ความยึดมั่นความโกรธ" ได้แก่การทำความโกรธให้มั่นคง (ผูกไว้แล้วทำให้มั่นคง) ด้วยคำว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า ลักษณะนี้ มีความผูกโกรธ เป็นลักษณะ มีความไม่สละคืนซึ่งเวร เป็นรสะ (กิจ) พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกลักษณะนี้ว่า อุปนาหะ ความผูกโกรธดังนี้ อธิบายว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยความโกรธด้วยลักษณะใด ย่อมไม่อาจเพื่อสละเวรชื่อเห็นปานนี้ บุคคลนี้ย่อมติดตามซึ่งความโกรธอื่นๆ อีกด้วยว่า "บุคคลนี้ไม่สมควรพูดกะเราอย่างนี้" ดังนี้ ความโกรธของเขา ย่อมลุกโพลงทีเดียว ราวกะไม้สนอันไฟติดทั่วแล้ว ความโกรธย่อมไม่สะอาด เป็นราวกะหนังหมีอันบุคคลทำความสะอาดอยู่ และเป็นราวกะผ้าเก่าอันเปื้อนด้วยไขมัน


ดังนั้น ความผูกโกรธมีจริง และ เป็นธรรมดาของปุถุชนที่จะเกิดความผูกโกรธได้ เพียงแต่ว่า หนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้องนั้น ไม่ใช่การจะไม่ให้เกิดความผูกโกรธ หากแต่ว่าจะต้องเข้าใจความจริงที่เกิดแล้วว่า เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา แม้ความผูกโกรธก็เป็นธรรม ซึ่งกว่าจะละความผูกโกรธได้ ก็ต้องเห็นโทษของความโกรธ แต่เมื่อยังไม่รู้จักตัวความโกรธ ก็ไม่สามารถที่จะละความโกรธได้ เพราะฉะนั้น หนทางมีอยู่ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมค่อยๆ เห็นโทษของกิเลส แม้แต่ความผูกโกรธ และ สำคัญที่สุด ก็จะรู้จักความโกรธ ความผูกโกรธจริงๆ ว่า ไม่ใช่เราที่ผูกโกรธ หรือ โกรธ แต่เป็นแต่เพียงธรรม ครับ

การละความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ย่อมจะเป็นหนทางการละความโกรธที่ถูกต้องได้จริงๆ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
mon-pat
วันที่ 9 เม.ย. 2556

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนัตถ์กานต์
วันที่ 9 เม.ย. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 9 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 10 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 11 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
rrebs10576
วันที่ 12 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Pure.
วันที่ 12 เม.ย. 2556

เหมาะสำหรับผู้ที่มีโทสะจริตได้อ่าน

อนุโมทนาบุญครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ดรุณี
วันที่ 12 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Boonyavee
วันที่ 12 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ