สภาพระลึกรู้ลักษณะ เห็นการเกิดดับทางอายตนะ คือ อะไร

 
เอื้อมธรรม
วันที่  12 เม.ย. 2556
หมายเลข  22747
อ่าน  2,102

อยากทราบว่า ปกติตามสภาพธรรม ก็จะมีการเกิดดับ ทางอายตนะอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ ก็จะไม่รู้ หรือไม่เห็น ลักษณะที่่เกิดขึ้นในแต่ละขณะๆ แต่เมื่อมีการระลึกรู้ลักษณะที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะๆ ขึ้นมาได้ อยากทราบว่า ลักษณะหรืออาการแบบนี้คืออะไร หรือเรียกภาวะ แบบนี้ว่าอะไร ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 12 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม โดยไม่ปะปนกัน สิ่งที่มีจริงทั้งหมดนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูก ตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้อย่างแท้จริง สำหรับสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย นั้น ไม่มีแม้แต่อย่างเดียวที่เกิดมาแล้ว จะดำรงยั่งยืน เที่ยง ไม่ดับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า สังขาร แม้อย่างหนึ่ง ที่เที่ยง ย่อมไม่มี นี้คือ ความเป็นจริงของสภาพธรรม นามธรรม คือ จิตและเจตสิก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีขณะที่สั้นมาก เพียงแค่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เท่านั้น ส่วนรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ มีอายุที่ยืนยาวกว่าจิต แต่แม้กระนั้น ก็ไม่มีรูปแม้แต่รูปเดียวที่เกิดแล้วเที่ยง ยั่งยืน ไม่ดับ เพราะรูปทุกรูป เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน

สภาพธรรมเกิดดับอยู่ตลอดเวลา และเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงนั้น เป็นเรื่องของความเข้าใจ ถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรม ไม่ใช่การคิดนึก หรือ คาดคะเน ต้องเป็นเรื่องสติและปัญญาพร้อมทั้งโสภณธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อเข้าใจตามความเป็นจริงว่า มีแต่สภาพธรรมแต่ละอย่าง ที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะมีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมไม่สามารถออกไปจากความมืดมิดของอวิชชาได้เลย

ควรที่จะได้ตั้งต้นที่ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ใช่เริ่มต้นที่การเห็นการเกิดดับของสภาพธรรม และคำที่กล่าวก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่าคือ อะไร คือ คำว่า อายตนะ ความหมายของอายตนะ คือ การประชุมกันของธรรมที่มีอยู่ในขณะนั้น ในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทีละขณะ ขณะนี้จึงเป็นอายตนะ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นกิจหน้าที่ของสติสัมปชัญญะ ซึ่งถ้าไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นแล้ว ก็ไม่มีทางถึงตรงนั้นได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เอื้อมธรรม
วันที่ 12 เม.ย. 2556

ขอกราบพระคุณ พี่คำปั่น มากครับ..

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เอื้อมธรรม
วันที่ 12 เม.ย. 2556

ตามที่พี่คำปั่นอธิบาย..

ที่ผมเข้าใจ ก็คือ ภาวะที่ระลึกรู้สภาพธรรมะตามความจริง ไม่ว่าจะเป็นขณะเสียงมากระทบหู สีต่างๆ มากระทบตา แข็งมากระทบกาย เป็นต้น ของแต่ละขณะๆ นั้น เราเรียกว่า "สติสัมปชัญญะ" ใช่มั้ยคับ แล้วถ้าใช่ ตัวที่เป็นสติสัมปชัญญะนี้ ใช่ จิต หรือไม่ ครับ หรือถ้าไม่ใช่จิต เราจะจำกัดความ ของสติสัปชัญญะ ว่าอะไร ครับ

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 12 เม.ย. 2556

เรียน ร่วมสนมนาในความเห็นที่ 4 ครับ

การเจริญสติปัฏฐาน จะต้องมีสติสัมปชัญญะเสมอ คือ มีสติ และ ปัญญา ซึ่งขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นกำลังรู้ สภาวะ มีสติ และ สัมปชัญญะ หรือ ปัญญา ซึ่งผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ ส่วน สติ สัมปชัญญะ ไม่ใช่จิต แต่เป็น เจตสิก คือ สติเจตสิกและ สัมปชัญญะ เป็น ปัญญา เจตสิก ส่วนที่ถามว่า สติ สัมปชัญญะ คือ อย่างไร สติทำหน้าที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรม สัมปชัญญะ ทำหน้าที่รู้ความจริง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Boonyavee
วันที่ 13 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
boonpoj
วันที่ 13 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ประสาน
วันที่ 17 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
orawan.c
วันที่ 12 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ