เรียนถามความหมายคำว่า ตระหนี่ธาตุ ตระหนี่ขันธ์

 
natural
วันที่  16 เม.ย. 2556
หมายเลข  22767
อ่าน  1,585

เรียน ถามความหมายคำว่า "ตระหนี่ธาตุ" และ "ตระหนี่ขันธ์" จาก ๖๗ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖

[๖๖] คำว่า โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ มีความว่า ความตระหนี่ ๕ ประการ คือ อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ๑ กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุล ๑ ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ๑ วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ ๑ ธรรมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม ๑ ท่านเรียกว่า เววิจฉะ ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ความเป็นผู้ตระหนี่ ความปรารถนาต่างๆ ความเหนียวแน่น ความเป็นผู้มีจิตหดหู่โดยความเป็นจิตเผ็ดร้อน ความที่แห่งจิตอันใครเชื่อไม่ได้เห็นปานนี้ เรียกว่า ความตระหนี่ อีกอย่างหนึ่ง แม้ความตระหนี่ขันธ์ ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ แม้ความตระหนี่ธาตุ ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ

* เพื่อไม่เป็นการรบกวนอ.เผดิม อ.คำปั่น รวมถึงผู้รู้ท่านอื่นมากเกินไป พอจะมีแหล่งข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจความหมายต่างๆ ในพระไตรปิฎกบ้างหรือไม่คะ

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มัจฉริยะ หรือ ความตระหนี่ หมายถึง ความเหนียวแน่น ความหวงแหน ในสมบัติของตน หรือ ปกปิดสมบัติของตนไม่ให้ผู้อื่นรู้ หรือ อยากให้สิ่งที่มีอยู่กับตน หรือ สิ่งที่ดีๆ นั้นมีอยู่กับเราผู้เดียว ไม่อยากให้ผู้อื่นมี เป็นต้น นี่คือลักษณะของความตระหนี่ครับ

มัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ ๕ อย่าง ได้แก่ ๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่อาศัย ๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ตระกูล ๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ๔. วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ คือคำสรรเสริญ ๕. ธรรมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม รวมถึง ความรู้ แต่ในความตระหนี่นั้น ยังมีความละเอียดลึกลงไปอีก

ดังข้อความที่ว่า

อีกอย่างหนึ่ง แม้ความตระหนี่ขันธ์ ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ แม้ความตระหนี่ธาตุ ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ คือ มีทั้ง ความตระหนี่ขันธ์ ความตระหนี่ธาตุ และความตระหนี่อายตนะ ซึ่งความตระหนี่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ยังหมายถึง ความหวงแหนในความเป็นเรา ในความเป็นไปของสภาพธรรมที่สมมติว่าเป็นเรา ที่มาจาก ขันธ์ ธาตุ อายตนะ นั่นเอง คือ ไม่อยากให้ใครเป็นอย่างตน ตระหนี่ในความเป็นเรา เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็น ความตระหนี่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เพราะสภาพธรรมที่เป็น ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก และรูป ที่ประชุมรวมกัน และสมมติว่าเป็นเรา ผู้ที่มีความหวงแหน ตระหนี่อย่างยิ่ง ย่อมไม่อยากแม้ให้ใครเป็นอย่างตน ตระหนี่ในลักษณะรูปร่าง ในความเป็นเรา ในขันธ์เช่นนี้ ในธาตุ ในอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ที่มีลักษณะเช่นนี้ ให้อยู่กับตนเองเท่านั้น ไม่อยากให้คนอื่นเป็นดังเช่นลักษณะรูปร่าง สภาพธรรม ดังเช่นตน ขณะนั้นชื่อว่า มีความตระหนี่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ครับ

ซึ่งก็มีอรรถกถาได้อธิบายให้เข้าใจอย่างละเอียดในประเด็นนี้ คือ ความตระหนี่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ว่าเป็นอย่างไร เชิญอ่าน ครับ

[เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 277

บทว่า ขนฺธมจฺฉริยมฺปิ มจฺฉริยํ ความว่า อุปบัติภพกล่าวคือ เบญจขันธ์ของตนไม่สาธารณะถึงคนอื่นๆ ชื่อว่าความตระหนี่ ความตระหนี่ที่เป็นไปว่า ขอจงเป็นของเราเท่านั้น อย่าเป็นของผู้อื่น ชื่อว่าความตระหนี่ขันธ์. แม้ในความตระหนี่ธาตุและความตระหนี่อายตนะ ก็นัยนี้แหละ.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 16 เม.ย. 2556

และ ท่านอาจารย์สุจืนต์ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมในเรื่องความตระหนี่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ และ ความตระหนี่ในส่วนอื่นๆ เชิญอ่านเพื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้น ครับ

อ.สุจินต์ ข้อความต่อไปมีว่า

ท่านเรียกว่า "เววิจฉะ" ความตระหนี่ กริยาที่ตระหนี่ ความเป็นผู้ตระหนี่ ความปราถนาต่างๆ ความเหนียวแน่น ความเป็นผู้มีใจหดหู่ โดยความเป็นจิตเผ็ดร้อน นี่ก็แสดงลักษณะของมัจฉริยะเจตสิกว่าเกิดกับโทสมูลจิต ซี่งเป็นอกุศลจิต จะไม่เกิดกับโลภมูลจิตและ โมหมูลจิตเลย

ความที่แห่งจิตอันใครเชื่อไม่ได้เห็นปานนี้เรียกว่าความตระหนี่ เวลาเกิดความตระหนี่ขึ้น จริงใจไหมคะ จะต้องมีอาการที่ปิดบัง หรือ ซ่อนเร้นที่ไม่จริงใจ เพราะฉะนั้น ความที่แห่งจิตอันใครเชื่อไม่ได้ เห็นปานนี้ เรียกว่า ความตระหนี่

อีกอย่างหนึ่ง แม้ความตระหนี่ขันธ์ ท่านก็เรียก มัจฉริยะ แมัความตระหนี่ธาตุท่านก็เรียก มัจฉริยะ ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เพราะฉะนั้น ที่ตระหนี่นี่ตระหนี่อะไร ลองคิดดูนะคะ ถ้าไม่ตระหนี่ขันธ์ คือ รูปขันธ์บ้าง เวทนาขันธ์บ้าง สัญญาขันธ์บ้าง สังขารขันธ์บ้าง วิญญาณขันธ์บ้าง ท่านมีความสุขแล้วเห็นคนอื่นทุกข์เดือดร้อน อยากจะให้คนอื่นเขามีความสุขอย่างเรา ขณะนั้นไม่ตระหนี่ในสุขเวทนาใช่ไหมคะ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความสุข และ คนอื่นมีความทุกข์เดิอดร้อน ก็ไม่มีความคิดที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้นให้มีความสุขบ้าง ขณะนั้นก็เป็นการตระหนี่ขันธ์ คือ ตระหนี่สุขเวทนา ไม่ว่าจะเป็นธาตุก็ตาม ในเมื่อไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ บุคคล เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาจริงๆ ในขณะใดที่เกิดความตระหนี่ ก็คือ ตระหนี่ขันธ์ ตระหนี่ธาตุ ตระหนี่อายตนะ นั่นเอง


เพราะฉะนั้น ในความละเอียดของความตระหนี่จึงมีหลากหลายนัย แต่ไม่ว่าจะเป็นความตระหนี่ในลักษณะใด ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เพราะฉะนั้น ความตระหนี่ลักษณะต่างๆ ก็ไม่พ้นจากความตระหนี่ในเพราะมี ขันธ์ ธาตุ อายตนะ หากไม่มีสภาพธรรมเหล่านี้ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และ ไม่มีสภาพธรรมอะไรที่ตระหนี่

แต่ที่ละเอียดลงไปอีก คือ ยังมีความตระหนี่อย่างยิ่ง คือ ความตระหนี่ในความเป็นเราที่หวงแหนติดไว้ ทำให้ยังหวงแหนในความเป็นเรา ก็ทำให้ถูกปิดบังไว้ด้วยกิเลส ซึ่งเป็นปรมตระหนี่ ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์ได้บรรยายไว้น่าฟัง เชิญอ่าน ครับ

อ.สุจินต์ แค่มัจฉริยะ ได้ยินว่าตระหนี่ และได้ยินคำว่าปรมมัจฉริยะ ก็เป็นคำถามอีก เพราะถามให้คิด คิดแล้วเข้าใจ แต่ถ้าไม่คิด คนอื่นเขาพูด เราพูดตาม แต่เราเข้าใจหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ลองคิดดูค่ะ มีใครไม่ใช่ “ปรมมัจฉริยะ” หรือไม่ตระหนี่อย่างยิ่งบ้างไหม กรุณายกมือ แสดงว่าทุกคนตระหนี่อย่างยิ่งใช่ไหมคะ ตระหนี่อะไรอย่างยิ่งคะ ความรักตัว มีอะไรที่จะสละได้ยากเท่ากับความรักตัวบ้าง

เพราะฉะนั้นความรักตัวนี่ตระหนี่อย่างยิ่ง ตระหนี่ความเป็นเรา ไม่อยากให้หมดไปเลย บางคนคิดว่าฟังธรรมกันทำไม กลัวเหลือเกินที่จะหมดกิเลส คิดดูนะคะ กลัวหมดกิเลส ช่างคิดอะไรได้ปานนั้น กิเลสดีนักหรือที่จะเก็บไว้ทุกวันมากๆ โดยไม่รู้สึกตัวด้วย แต่ก็ยังตระหนี่ไว้มาก เหนียวแน่น ไม่ยอมสละหรือละความติดข้องในความเป็นตน

เพราะฉะนั้นธรรมคือเรื่องที่จริง ละเอียดและลึกซึ้ง ที่จะต้องอาศัยการไตร่ตรองของแต่ละบุคคล ไม่ใช่เป็นผู้ฟังแล้วเชื่อ แต่ว่าฟังแล้วเข้าใจ แม้เข้าใจเดี๋ยวก็ลืม เพราะเหตุว่าลืมก็เป็นธรรม เข้าใจก็เป็นธรรม เบื่อก็เป็นธรรม ไม่เบื่อก็เป็นธรรม ศรัทธา สภาพของจิตที่ผ่องใส ไม่มีอกุศล โลภะ โทสะ โมหะ ขณะที่กำลังฟังธรรมด้วยศรัทธาที่จะเข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง ขณะนั้นก็เป็นธรรม แต่พอเห็น เป็นอกุศลแล้ว ฟังไป ดูดอกไม้ไป ก็มีสภาพธรรมที่เกิดดับหลายอย่าง จำแนกออกไปเป็นประเภทต่างๆ ก็คือชีวิตตามความเป็นจริง ทำไมวิชาอื่นศึกษาได้ และก็อยากศึกษามากๆ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ธรรมที่มีจริงๆ และผู้อื่นไม่สามารถสั่งสอนได้เลย มหาวิทยาลัยใดๆ ในโลกก็ไม่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจในความจริงนี้ได้เลย นอกจากพระธรรม พุทธศาสนา คำสอนของผู้ที่ทรงตรัสรู้ตามความเป็นจริง ทำไมไม่สนใจที่จะเข้าใจ ไม่ได้เกิดโทษภัยใดๆ เลยทั้งสิ้นฟังแล้วเจ็บไหมคะ “ปรมมัจฉริยะ” เจ็บไหมคะ ไม่มีใครไปว่าใคร แต่พูดถึงธรรมที่เป็นจริงอย่างนี้ ให้เข้าใจถูกต้อง

เพราะฉะนั้นความเข้าใจไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ได้ทำให้ใครเป็นทุกข์เลย แต่นำมาซึ่งความเห็นที่ถูกต้อง และเห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วยว่า ทุกคำที่ได้ยินได้ฟังเป็นวจีสัจจะ วาจาสัจจะ คำพูดจริง เพราะพูดถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ และพูดถึงความจริงของสิ่งที่มีจริง เพื่อให้เข้าใจความจริงถูกต้องยิ่งขึ้น จนสามารถไม่เป็น “ปรมมัจฉริยะ”

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 16 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 16 เม.ย. 2556

ขอบอมน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่ว่าจะทรงแสดงเรื่องอะไร ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง และสภาพธรรมที่มีจริงก็มีจริงในขณะนี้ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น รวมถึงความตระหนี่ด้วย ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ตราบใดที่ยังไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังมีเหตุปัจจัยให้กิเลสประเภทนี้เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ความหมายของความตระหนี่คือ ไม่อยากให้สมบัติหรือสิ่งที่ตนมีสาธารณะทั่วไปแก่คนอื่น ซึ่งเมื่อได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมไปตามลำดับก็จะเข้าใจได้ว่า มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ความตระหนี่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความตระหนี่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ที่เป็นลาภบ้าง ทรัพย์สมบัติบ้าง ความรู้บ้าง เป็นต้น ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ประมวลเรียกว่าเป็นขันธ์บ้าง อายตนะบ้าง ธาตุบ้าง ทั้งหมดนี้แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 16 เม.ย. 2556

ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน ความตระหนี่ก็ยังมีอยู่ทุกคน มากหรือน้อยตามการสะสม ผู้ที่จะละความตระหนี่ได้ ก็คือ จะต้องอบรมปัญญาจนถึงความเป็นพระโสดาบัน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 17 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาในคำถามเพราะสงสัยอยู่เหมือนกัน ได้รับคำตอบชัดเจนค่ะ

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 17 เม.ย. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 18 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 7 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 27 ส.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ