สวดมนต์ ถวายพรพระ

 
หนทางสงบ
วันที่  25 เม.ย. 2556
หมายเลข  22806
อ่าน  1,482

สวัสดีครับ กระผมอยากทราบว่า "ถ้าเราสวดมนต์ ภาวนา แล้วเราจะสามารถอุทิศส่วนบุญและกุศลให้กับพระสงฆ์ที่อาพาธได้หรือไม่ครับ" อยากทราบว่า จะบาปหรือผิดธรรมวินัยทางพระสงฆ์หรือไม่ครับ เนื่องจากหลวงพี่ที่ผมเคารพศรัทธา ท่านมีอาการอาพาธจนถึงขั้นต้องเข้ารักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาล ผมอยากสวดมนต์ให้กับหลวงพี่เพื่อเป็นพลวปัจจัย รักษาให้อาการอาพาธหายเป็นปกติครับ

ขอคำแนะนำด้วยครับ อนุโมทนา สาธุ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 25 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นการศึกษาพระธรรมร่วมกัน ประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะตั้งแต่เกิดมาแล้ว ส่วนใหญ่ก็พูดคำที่ไม่รู้จัก พูดตามๆ กัน แต่เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็ย่อมจะเข้าใจอย่างถูกต้อง พูดคำที่รู้จักด้วยความเข้าใจ ก็ขอเริ่มตั้งแต่ คำว่า สวดมนต์ ภาวนา บุญ กุศล อุทิศส่วนบุญ ดังต่อไปนี้

สวดมนต์ ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา ไม่มีคำว่า สวดมนต์ แต่มีคำว่ามนต์และสาธยาย มนต์มาจากภาษาบาลีว่า มนฺต หมายถึง ปัญญา บางครั้งก็มีคำว่า พุทธมนต์ (พระปัญญาของพระพุทธเจ้า) ด้วย และประการที่สำคัญ คือ มนต์ในทางพระพุทธศาสนาต้องเป็นพระธรรมคำสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเท่านั้น เช่น พระสูตรต่างๆ มีมงคลสูตร รัตนสูตร เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่ฟัง ไม่ศึกษา ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจเลย พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง เป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่สัตว์โลกให้ได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ส่วนคำว่า สาธยาย หมายถึง การกล่าวทบทวนเป็นลำดับด้วยดีถึงพระธรรมคำสอนที่ได้ยินได้ฟัง เพื่อประโยชน์ในการเข้าใจ ไม่ลืม เป็นไปเพื่อขัดเกลาความไม่รู้ ยกตัวอย่าง ในครั้งพุทธกาล กว่าจะได้ฟังพระธรรมนั้น ยากลำบาก เดินทางไปเข้าเฝ้าฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไกลแสนไกล เพื่อที่จะได้ฟัง เมื่อฟังเสร็จแล้วก็เดินทางกลับ ระหว่างนั้นก็มีการระลึกถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง กล่าวทบทวนเพื่อจะได้ไม่ลืม เวลาที่มีการระลึกถึงคำที่ได้ฟัง บ่อยๆ เนืองๆ แล้วไตร่ตรองด้วยความเข้าใจ นี้คือ การสาธยาย ซึ่งไม่ใช่การพูดคำที่ไม่รู้จัก ดังนั้น ควรตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะ พระธรรมนั้น ถ้าจะเข้าใจ ก็ต้องศึกษาด้วยความละเอียด รอบคอบ ไม่ใช่ด้วยการท่องหรือสวด

ภาวนา ไม่ใช่การท่องบ่น คำว่า ภาวนา หมายถึง การอบรมเจริญ การยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ภาวนาจึงไม่ใช่เป็นการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่เป็นการต้องการที่จะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจ แต่เป็นการอบรมเจริญกุศลให้มีขึ้น ให้เจริญยิ่งขึ้น

ในทางพระพุทธศานา แสดงถึงภาวนา ๒ ที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา สมถ ภาวนาเป็นการอบรมความสงบของจิตจนบรรลุฌานขั้นต่างๆ เมื่อฌานไม่เสื่อมตายไปเกิดที่พรหมโลก วิปัสสนาภาวนาเป็นการอบรมปัญญา เมื่อปัญญาเจริญยิ่งขึ้น ย่อมรู้ความจริง คือ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ละกิเลสได้ตามลำดับมรรค สูงสุดคือบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ดับภพชาติไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

ภาวนาทั้งสองอย่างนั้น จะขาดปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ได้เลย

บุญ หมายถึง สภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรกด้วยอำนาจของอกุศลธรรม) จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะไปทำบุญ เพราะบุญอยู่ที่สภาพจิต จิตเป็นกุศลเป็นบุญ (ซึ่งก็สามารถกล่าวโดยโวหารของชาวโลกได้ว่า ผู้นั้นผู้นี้กระทำบุญ) ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตเป็นอกุศลก็ไม่ใช่บุญ

กุศล หมายถึง สภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโรคคือไม่มีกิเลส เป็นสภาพธรรมที่ยังบาปธรรมให้สิ้นไป เป็นสภาพธรรมที่ทำลายกุศล ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ กุศลจิตและเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ยกตัวอย่างขณะที่เป็นกุศล เช่น ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ เป็นต้น ว่าโดยอรรถแล้ว บุญกับกุศล มีอรรถอย่างเดียวกัน มีเพียงพยัญชนะเท่านั้นที่ต่างกัน

อุทิศส่วนบุญ หมายถึง การที่เมื่อตนเองได้เจริญกุศลประการต่างๆ ที่เป็นไปในทานบ้าง ศีลบ้าง การฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาบ้าง เป็นต้น แล้วมีความประสงค์ที่จะให้ผู้อื่นรับรู้และเกิดกุศลจิตอนุโมทนา นี้คือ การอุทิศส่วนบุญ จุดประสงค์ก็เพื่อให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้ กุศลจิตที่อนุโมทนาย่อมเป็นกุศลของผู้อนุโมทนาเอง ไม่ใช่เราหยิบยื่นกุศลของเราให้คนอื่น แต่การที่เราทำกุศลแล้วเป็นเหตุให้คนอื่นที่รู้อนุโมทนายินดีด้วย ขณะใดที่เขาอนุโมทนายินดีด้วย ขณะนั้นก็เป็นกุศลของเขา ซึ่งจะต้องเป็นกุศลจิตของผู้ที่อนุโมทนา

ดังนั้น จึงประมวลจากคำถามได้ว่า เมื่อได้เจริญกุศลแล้ว สามารถอุทิศส่วนกุศลบอกกล่าวเพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ได้ เพื่อประโยชน์ในการเกิดกุศลจิตของผู้ที่รับรู้ จุดประสงค์ของกาอุทิศส่วนกุศลก็เพื่อประโยชน์ในการที่ผู้อื่นเกิดกุศลจิตอนุโมทนาเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่ผู้นั้นจะหายหรือไม่หายจากโรคก็เป็นเรื่องของกรรม และ ในฐานะเป็นคฤหัสถ์ที่จะสามารถดูแลพระภิกษุผู้อาพาธได้ ควรที่จะได้กระทำตามกำลังความสามารถของตนเท่าที่จะเป็นไปได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 25 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับการเกิดโรค อาพาธ นั้น มีเหตุ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุของการเกิดโรคไว้ ๘ อย่าง ดังนี้ครับ โรค ๘ อย่าง คือ อาพาธ....มีน้ำดี (กำเริบ) ๑ อาพาธ....มีเสมหะเป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธ......มีลมเป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธ....ที่เกิดจากโรคดี โรคเสมหะ มาประชุมกัน ๑ อาพาธ....ที่เกิดจากเปลี่ยนฤดู ๑ อาพาธ......ที่เกิดจากการบริหาร (ร่างกาย) ไม่ถูกต้อง ๑ อาพาธ....ที่เกิดจากการพยายาม ๑ อาพาธ....ที่เกิดจากวิบากกรรม ๑

โรคบางอย่างเกิดจากเหตุต่างๆ มากมาย แต่มีเหตุปัจจัยหลัก คือ เรื่องของกรรมเป็นปัจจัย ดังนั้น การที่ใครจะหายป่วยได้ ไม่ใช่โดยการนำกุศลของตนเองไปให้ มีการไปสวดมนต์และนำกุศลไปให้ แต่โรคจะหายได้ก็เพราะกรรมของผู้นั้นเอง ที่อกุศลกรรมไม่ให้ผล และ กุศลกรรมให้ผลแทน ซึ่งการสวดมนต์ ประโยชน์เพื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และ สำคัญที่สุด คือ เกิดกุศลจิตกับตนเอง ไม่ใช่เพื่อการแก้การรักษาโรคของผู้อื่น เพราะไม่เช่นนั้น ก็เป็นความเข้าใจผิดที่สำคัญว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ขจัด ปัดเป่าโรคร้ายต่างๆ ได้ ลืมสภาพธรรมที่คงอยู่กับโลก คือ เรื่องกรรม และ ผลของกรรม ก็ไม่ต่างจากการสะเดาะเคราะห์เลย และ อีกประการหนึ่ง พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อละโรคทางใจ ที่เป็นสาเหตุของโรคทางกาย โรคทางใจที่เกิดตลอดเวลา คือ กิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจ

ดังนั้น ที่ป่วยเพราะอกุศลกรรมให้ผล ที่มีการให้ผลของอกุศลกรรม เพราะมีการทำอกุศล กรรม อกุศลกรรมก็มีเหตุจากการมีกิเลสที่มีในจิตใจ จึงทำให้มีการทำบาปประการต่างๆ อันเป็นสาเหตุของโรคทางกาย

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง อันเกิดจาการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่เป็นภาวนาในพระพุทธศาสนา คือ การอบรมปัญญาให้มีมากขึ้น ภาวนาในที่นี้จึงเป็นไปเพื่อละกิเลสของตนเองเป็นสำคัญ เป็นการรักษาโรคทางใจของตนเอง ไม่ใช่สามารถที่จะรักษาโรคทางกายและทางใจของผู้อื่นเลย

ในสมัยพุทธกาล พระอริยสาวกกล่าวธรรมให้ผู้อื่นฟัง เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจธรรม ไม่ใช่เพื่อให้การรักษาโรค เพราะเมื่อผู้อื่นได้ฟัง ย่อมเกิดปัญญา เกิดกุศลจิต และ กุศลจิตที่เกิดจากความเข้าใจพระธรรมย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดรูปที่ดี ที่เรียกว่าจิตตชรูป เป็นปัจจัยให้โรคทางกายที่ไม่ใช่เกิดจากกรรมดีขึ้นได้ แต่ผู้นั้นจะต้องมีความเข้าใจพระธรรมเป็นสำคัญด้วย ครับ

เพราะความรักที่เป็นโลภะนี้เอง ที่จะทำให้มีความรักตัว รักผู้อื่น อยากให้หายจากโรค แต่ขณะนั้นเอง ก็กำลังป่วยเป็นโรคทางใจอยู่ ที่เป็นกังวล เป็นห่วงเป็นใยในคนใกล้ชิด ที่ต้อง การให้หายจากโรค ควรที่จะเห็นภัย คือ โรคกิเลสของตนเองว่าควรละ กว่าสิ่งอื่น ส่วนผู้ใด จะป่วย หรือ หายหรือไม่นั้น ก็ตามกรรมของผู้อื่น ครับ

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๗๓

๗. โรคสูตร

ว่าด้วยโรค ๒ อย่าง

[๑๕๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้ โรค ๒ อย่างเป็นไฉน คือ โรคกาย ๑ โรคใจ ๑ ปรากฏอยู่ว่า สัตว์ทั้งหลาย ผู้ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๑ ปีก็มี ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๒ ปีก็มี ๓ ปีก็มี ๔ ปี ก็มี ๕ ปีก็มี ๑๐ ปีก็มี ๒๐ ปีก็มี ๓๐ ปีก็มี ๔๐ ปีก็มี ๕๐ ปีก็มี ๑๐๐ ปีก็มี ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีก็มี แต่ว่า ผู้ที่จะยืนยันว่าไม่มีโรคทางใจแม้เพียงเวลาครู่เดียวนั้นหาได้ยากในโลก เว้นแต่พระขีณาสพ (พระอรหันต์)

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
หนทางสงบ
วันที่ 25 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 26 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
หนทางสงบ
วันที่ 26 เม.ย. 2556

คือว่า กรณีหลวงพี่ ภัตตาหารเป็นพิษขอรับ แล้วจะถือเป็นกรรมหรือไม่ขอรับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 26 เม.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

การที่อาหารเป็นพิษแล้วป่วย ก็เกิดจากอาหารเป็นเหตุได้ ในเหตุใกล้ แต่เมื่อกล่าวถึงเหตุ สำคัญแล้ว มีกรรมเป็นปัจจัย เป็นสมุฏฐานของโรค ซึ่งขณะใดที่ปวดเจ็บท้อง ในขณะนั้นอกุศลกรรมให้ผล อันมีกรรมเป็นปัจจัย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 1 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Thanapolb
วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"จุดประสงค์ของการอุทิศส่วนกุศล ก็เพื่อประโยชน์ในการที่ผู้อื่นเกิดกุศลจิตอนุโมทนา เท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น...."

กรณีเราไหว้พระก่อนนอน กล่าวขอขมาพระรัตนตรัย และกล่าวการอุทิศส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้วในวันนี้แก่มารดาบิดาและผู้มีพระคุณ ทั้งปัจจุบันชาติและในอดีตอนันตชาติ แก่ญาติและมิตรทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนเทวดาและอมนุษย์ทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงมีจิตโสมนัสยินดี อนุโมทนาในส่วนกุศลโดยทั่วกันเทอญ....ราก็รู้ว่า ขณะนั้น บิดามารดา ญาติและมิตรทั้งหลายที่มีชีวิตอยู่ ก็ไม่ได้ยินถ้าอยู่ไกล จึงคงไม่อนุโมทนาด้วย แต่ถ้าบุคคลดังกล่าวท่านตายไปแล้วนั้น ถ้าท่านไปเกิดเป็นเทวดาหรืออมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าท่านอยู่แถวนั้นและได้ยิน ท่านก็อาจอนุโมทนาได้ แต่การกล่าวโดยรวม ทั้งบุคคลที่ไม่อาจได้ยินก็ไม่เสียเปล่าอะไรใช่ไหมครับ ถ้าเรามีจิตนึกถึงท่าน และสำนึกบุญคุณของท่านเหล่านั้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

ไม่เสียเปล่าแน่นอน ครับ เพราะกุศลของผู้ที่อุทิศเกิดแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้บางคนจะไม่รับรู้ กุศลก็เป็นของผู้อุทิศเอง แต่ในความเป็นจริง พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลที่ไม่เคยเป็นญาติกันหาได้ยาก ดังนั้นก็มีญาติที่เป็นอมนุษย์มากมาย และก็มีญาติที่ได้รับรู้และอนุโมทนาแน่นอน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 2 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ