ทิฏฐิเจตสิกเกิดทางปัญจทวารได้ไหม

 
นิรมิต
วันที่  28 เม.ย. 2556
หมายเลข  22809
อ่าน  1,090

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน ขออนุญาตกราบเรียนถามปัญหาสงสัยดังนี้ครับ เจตสิกเช่น ทิฏฐิเจตสิก วิจิกิจฉาเจตสิก หรืออิสสา มัจฉริยะ เกิดทางปัญจทวารวิถีได้ไหมครับ เพราะถ้าพิจารณาจากลักขณาทิจตุกกะของเจตสิก เช่น ทิฏฐิ วิจิกิจฉา เป็นต้น พิจารณาแล้วคล้ายว่าจะเกิดได้กับอารมณ์ที่เป็นบัญญัติเท่านั้น จึงขอกราบเรียนถามว่า เจตสิกเหล่านี้ เกิดทางปัญจทวารได้หรือไม่ แล้วจะมีลักษณะแบบไหน อย่างไร อนึ่ง แล้วมีจำกัดอีกหรือไม่ครับ ว่าเจตสิกประเภทนี้ๆ เกิดกับปัญจทวารวิถีเท่านั้น เกิดกับมโนทวารวิถีเท่านั้น หรือเกิดกับจิตที่รู้อารมณ์ที่เป็นบัญญัติเท่านั้น เพราะเหตุว่าอย่างวิรตีเจตสิกสาม มี สัมมากัมมันตเจตสิก สัมมาวาจาเจตสิก และสัมมาอาชีวเจตสิก ปรกติก็ไม่เกิดร่วมกัน แต่ในมัคควิถีก็เกิดพร้อมกันทั้งสามดังนี้ จึงสงสัยว่า ถ้าเจตสิกทั่วๆ ไปอื่นๆ ยังมีละเอียดอย่างนี้หรือไม่ ประการใด

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับทิฏฐิเจตสิก ความเห็นผิด เป็นต้น จะต้องมีการคิดนึกเป็นเรื่องราว ว่าเห็นผิดในเรื่องอะไร อันมีสัตว์ บุคคล ที่เป็นเรื่องราวเป็นอารมณ์ ซึ่งบัญญัติเป็นสภาพธรรมที่เกิดทางมโนทวาร และ สามารถเกิดทางปัญจทวารก็ได้ที่มีความเห็นผิด ยึดถือสภาพธรรมที่มีจริง ในขณะนั้นก็ได้ โดยการอาศัยการเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วของสภาพธรรมนั้น ทางมโนทวารและปัญจทวารที่เกิดดับสลับกันต่อกันอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความเห็นผิดแม้ทางปัญจทวารได้ แม้จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ที่เป็นทิฏฐาสวะ ยกตัวอย่างเช่น แม้แต่ความโกรธ ที่สามารถเกิดได้ในสัตว์ บุคคล แต่ความโกรธก็สามารถเกิดได้กับสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์ได้เช่นกัน

ดังนั้น ลักษณะของเจตสิกที่กล่าวมา จึงเป็นการแสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ คิดนึกเป็นเรื่องราวในความเห็นผิดในลักษณะต่างๆ เช่น คิดนึกว่า กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี คิดนึกว่า มีสัตว์ บุคคล มีตัวตน เป็นต้น ส่วนลักษณะของเจตสิกอื่นๆ ก็มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ก็ได้ มีบัญญัติเป็นอารมณ์ก็ได้ ตามสมควรแก่เจตสิกนั้น ครับ อย่างเช่น โลภเจตสิก ที่มีความติดข้อง ก็มีทั้งบัญญัติและปรมัตถ์เป็นอารมณ์ อโมหเจตสิกคือปัญญา ก็มีทั้งปรมัตถ์และบัญญัติเป็นอารมณ์ก็ได้ เป็นต้น ครับ

ขออนุโมทนา อาจารย์อรรณพที่อธิบายให้เข้าใจ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 29 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 29 เม.ย. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 29 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์จริงๆ คือ เข้าใจถูกเห็นถูกว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมที่จะให้สภาพธรรมใดเกิด สภาพธรรมนั้นก็ต้องเกิดทำกิจหน้าที่ จะไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ ธรรมไม่สามารถบังคับบัญชาได้ นี้คือ ความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย รวมถึงสภาพธรรมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม) อิสสา (ความริษยา เห็นคนอื่นได้ดีแล้ว ทนไม่ได้) มัจฉริยะ (ความตระหนี่ ไม่อยากให้สมบัติของตนทั่วไปแก่ผู้อื่น) ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้งหมด ซึ่งตราบใดที่ยังไม่สามารถดับได้ ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยตามการสะสมของแต่ละบุคคล เป็นสิ่งที่ควรจะเข้าใจเพราะมีจริงๆ เกิดขึ้นจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 29 เม.ย. 2556

อกุศลเกิดทางปัญจทวารก็ได้ เช่นเดียวกับกุศลที่เกิดทางปัญจทวารก็ได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 30 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 6 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ