คนสมัยนี้ทำทาน ด้วยความโลภ จริงไหมครับ
การทำบุญ ทำทาน คือ การละความโลภ ความตระหนี่ ในจิตใจตัวเอง แต่คนสมัยนี้ทำบุญทำทาน เพื่อเพิ่มความโลภและไปสู่การเพิ่มความหลงในจิตใจตัวเอง คนสมัยก่อนเอาข้าวเหนียวปั้นแค่หัวนิ้วโป้งใส่บาตรพระ แต่สมัยนี้ ทำนมกล่อง แกง ข้าว อื่นๆ ใส่จนล้นบาตรเลยทีเดียว เพราะหวังบุญมากๆ ตายไปจะได้สบาย มีอิทธิ บริวาร เกิดใหม่จะรวย แล้วของที่ใส่ไปมากๆ พระท่านฉันมื้อเดียว บางวัด 2 มื้อ แต่ยังไงข้าวของสดก็เหลือบานเบอะ แล้วจะเอาไปทิ้งก็ไม่ถูก ถ้าไม่มีคนรับบริจาคจะทำยังไง ก็บูดเน่าไปหมด เป็นภาระพระท่านอีก พระบางรูปอ้วนฉุเลย จะเดินจะนั่งก็ลำบากไปหมด หรือแม้แต่บุญกฐิน สังฆทาน ก็ทำกันหวังผลหวังบุญมหาศาลกันทั้งนั้นเลย มันก็ไปเพิ่มกิเลสสัตว์โลก ตัวอยาก อยากได้อยากมี พอได้มาก็คิดว่าอันนั้นเป็นของเรา อันนี้เป็นของเราทำมา ก็ไปเพิ่มตัวหลงอีก ว่าเราเป็นเจ้าของมัน อย่างนี้ก็กลายเป็นทุกข์อย่างละเอียดไปอีก แต่เราหลงว่าสุข แต่ก็ไปห้ามเขาไม่ได้ เพราะใครๆ ก็อยากทำบุญทำทาน เพราะไม่ได้ทำผิดอะไร อยากจะสนทนาเรื่องนี้จริงๆ หรือผมเข้าใจผิดอะไร ช่วยเพิ่มเติมด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้ัมีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แต่ละคนมีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ ก็ย่อมมีเหตุให้โลภะเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล เป็นธรรมดาจริงๆ ถ้าได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมแล้ว จะเห็นได้ว่า การเจริญกุศล ก็เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เพราะเหตุว่ามากไปด้วยกิเลส ถ้าไม่ได้รับการขัดเกลาทีละเล็กทีละน้อยในชีวิตประจำวัน จะถึงการหมดสิ้นกิเลสได้อย่างไร เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นคุณของกุศล และ เห็นโทษของอกุศล จึงไม่ละเลยโอกาสสำคัญในการเจริญกุศล ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องใดๆ ก็ตาม เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็ย่อมเป็นโอกาสของการเกิดขึ้นแห่งอกุศล และประการที่สำคัญ ที่กล่าวถึงการทำบุญหรือการเจริญกุศลนั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการให้ทานเพียงอย่างเดียว เพราะบุญ (ความดีที่ชำระจิตให้สะอาด) นั้น มีถึง ๑๐ ประการ ได้แก่
๑. ทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ
๒. ศีล ได้แก่ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน
๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา ๑ และการอบรมให้เกิดปัญญาวิปัสสนาภาวนา ๑
๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ก็เป็นบุญ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่หยาบกระด้างด้วยความถือตัว
๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ไม่เลือกสัตว์ บุคคล ผู้ใดที่อยู่ในสภาพ ที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือให้ความสะดวก ให้ความสบาย ก็ควรจะสงเคราะห์แก่ผู้นั้นแม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต เป็นบุญ
๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้
๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำกุศล เพราะเหตุว่าถ้าเป็นคนพาลไม่สามารถจะอนุโมทนาได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้ทราบการกระทำบุญกุศลของบุคคลอื่น ก็ควรเป็นผู้ที่มีจิตยินดี ชื่นชม อนุโมทนาในกุศลกรรมของบุคคลอื่นที่ตนได้ทราบนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตระหนี่แม้แต่จะชื่นชมยินดีในบุญกุศลของบุคคลอื่น
๘. ธัมมเทศนา การแสดงธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง ไม่ว่าเป็นญาติมิตรสหาย หรือบุคคลใดก็ตามซึ่งสามารถจะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจเหตุผลในพระธรรมวินัย ก็ควรที่จะได้แสดงธรรมแก่บุคคลนั้น
๙. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงก็เป็นบุญ
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่าเป็นกุศลจริงๆ ธรรมใดที่เป็นอกุศล ก็ให้พิจารณากระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมจริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล ไม่ปะปนกุศลธรรมกับอกุศลธรรม
เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญกุศล จึงเป็นสิ่งที่ควรจะสะสมเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ไม่ควรเป็นผู้ประมาท เรื่องของคนอื่น ก็เป็นเรื่องของคนอื่น แต่เรา ควรที่จะได้กระทำกิจที่ควรทำสำหรับตนเองคือ ทำดี และ ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ต่อไป ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้ัมีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
หากเข้าใจความเป็นไปของชีวิต คือ จิตที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ ก็คือ การเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ที่เป็นไปในกุศลบ้าง อกุศลบ้างเป็นธรรมดา และ ไม่มีใคร ไม่มีสัตว์ บุคคล ที่เกิดกุศลจิต เกิดอกุศลจิต เพราะเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา และในความเป็นจริง สัตว์โลกสะสมกิเลสมามาก ทั้ง โลภะ โทสะ โมหะ และ กิเลสอื่นๆ จึงเป็นธรรมดาที่จะเกิดกิเลสประการต่างๆ เป็นธรรมดา แม้แต่การทำกุศล การทำบุญ ก็เป็นธรรมดาอีกเช่นกัน ที่จะทำบุญแล้ว เกิดโลภะ เกิดกิเลส ที่อยากได้บุญ อยากได้ผลของบุญ เป็นต้น เพราะไม่มีอะไรที่โลภะ ความต้องการ ความติดข้อง ที่ไม่สามารถจะไม่ติดข้องได้เลย เว้นเสียแต่สภาพธรรมที่เป็นพระนิพพาน เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อทำกุศล ทำบุญ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ เป็นธรรมดา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในสมัยปัจจุบันเท่านั้น ที่จะทำบุญและเกิดอกุศลต่อ ที่อยากได้ผลของบุญ ติดข้องผลของบุญ เกิดอกุศลประการต่างๆ หลังจากทำบุญแล้ว แม้ในอดีตกาล สมัยพุทธกาล และ ในอนาคต กาล สัตว์โลกก็เป็นดังเช่นนี้ สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ปฐมทานสูตร ที่ว่า
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 472
ทานวรรคที่ ๔
๑. ปฐมทานสูตร
[๑๒๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ
บางคนหวังได้จึงให้ทาน ๑
บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาให้แก่เราแล้ว ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาจักให้ตอบแทน ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่าทานเป็นการดี ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราหุงหากิน ชนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้ ผู้ไม่หุงหากินไม่สมควร ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทานกิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป ๑
บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้แล.
จะเห็นนะครับว่า บางคนให้ทานเพราะหวังอยากได้จึงให้ก็มี และบางคนให้เพราะกลัวจึงให้ก็มี บางคนให้เพราะหวังว่าเขาจะให้คืนกลับมาก็มี บางคนให้ทานแล้วคิดว่าให้แล้วจะมีชื่อเสียงก็มี นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่สมัยปัจจุบัน สภาพธรรมที่เป็นอกุศลก็เกิดขึ้นได้ ทุกยุค ทุกสมัย ตราบใดที่ยังมีกิเลส และ อีกพระสูตรหนึ่ง ที่แสดงถึงความเป็นธรรมดาของสภาพธรรมที่ให้ทานก็ยังเกิดกิเลส เกิดความหวังในการได้รับผลของทานได้เป็นธรรม ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 140
พ. ดูก่อนสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่าตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังมีผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯลฯ ข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงความจริงของจิตใจของสัตว์โลกที่ยังมีกิเลส ย่อมเกิดความหวัง เกิดโลภะ แม้ทำบุญแล้วก็หวังผลบุญได้เป็นธรรมดา นี่คือ ความละเอียดของจิตใจของสัตว์โลกที่มากไปด้วยกิเลส และที่สำคัญที่สุด แม้แต่จะไม่ทำบุญ เราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย ก็เกิดกิเลสเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว ยังหวังที่จะได้ทรัพย์ เกิดอิจฉา ริษยา เกิดกิเลสประการต่างๆ นับไม่ถ้วน แม้จะไม่ได้ทำบุญให้ทานเลย กิเลสก็เกิดเป็นปกติ เป็นธรรมดาของปุถุชน เพราะฉะนั้น ควรอยู่กับกิเลสคนอื่นด้วยความเข้าใจ เข้าใจว่า ทุกคนก็ยังมีและเราก็มีเช่นกัน และเป็นอย่างนั้นได้เช่นกันเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเกิดกุศลจิตที่เข้าใจความจริงของชีวิตแต่ละหนึ่งที่เป็นไปด้วยกิเลส และเข้าใจละเอียดลงไปอีกว่า ไม่มีใคร ไม่มีสัตว์ บุคคล ที่มีกิเลส เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นอกุศลจิตเป็นไปเท่านั้น ไม่มีใคร มีแต่ธรรม การเข้าใจเช่นนี้ประโยชน์ คือ สะสมปัญญา สะสมความเห็นถูกของตนเอง และละคลายกิเลสตนเองเป็นสำคัญ นี่คือ ประโยชน์สูงสุด คือ ประโยชน์ตนที่จะเข้าใจความจริง มีหน้าที่ คือ การฟังพระธรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วยกุศลจิต แม้แต่เรื่องการให้ทานของบุคคลต่างๆ ในลักษณะต่างๆ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
เรียนถามเพิ่มเติมว่า
บางคนให้ทานเพราะนึกว่าทานเป็นการดี ๑
และบางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑
หมายความว่าอย่างไรคะ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
เรียนความเห็นที่ 6 ครับ
บางคนให้ทานเพราะนึกว่าทานเป็นการดี ๑ หมายถึง ให้ทานเพราะรู้ว่ากุศลธรรม คือ การให้ทาน เป็นสิ่งที่ดี และ นำมาซึ่งประโยชน์สุขในผลของทาน และ บัณฑิตทั้งหลายก็สรรเสริญการให้ทานว่าเป็นความดี เมื่อรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดีจึงให้ ครับ
[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 473
บทว่า สาหุ ทาน ความว่า ให้ด้วยคิดว่า ขึ้นชื่อว่าทานยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือ ดี ได้แก่ อันบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว.
และบางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต
เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ
ขออนุโมทนา