เรียนถามว่าศีลและกรรมเกี่ยวข้องกันอย่างไร

 
natural
วันที่  29 เม.ย. 2556
หมายเลข  22820
อ่าน  1,461

จากที่ได้อ่านหนังสือธรรมะเล่มหนึ่ง มีข้อความตอนหนึ่งว่า "ละเจตนาที่ไม่ดีเป็นศีล เจตนาทำดีนี้เป็นกรรรม" จึงอยากเรียนถามความหมายของข้อความนี้และความเกี่ยวข้องกันของคำว่าศีลและกรรม คะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ศีลมีหลากหลายนัย ซึ่ง ศีล หมายถึง ความประพฤติเป็นไปที่เป็นปกติของสัตว์ทั้งหลายประการหนึ่ง ศีล หมายถึง การประพฤติวัตร ปฏิบัติที่ดีงาม ที่เรียกว่า จารีตศีล ประการหนึ่ง และศีลโดยนัยที่เป็นการงดเว้นจากบาป ทางกาย วาจา เป็นวารีตศีล อีกประการหนึ่ง

เพราะฉะนั้น โดยความหมายทั่วไปที่เข้าใจกัน ศีล หมายถึง เจตนาเครื่องงดเว้นจากบาป ทางกาย วาจา เช่น งดเว้นจากการล่วงศีล ๕ คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นต้น

ส่วนกรรม หมายถึง เจตนา เป็นกรรม เจตนาจงใจ ขวนขวาย ในการกระทำทางกาย วาจาและใจ เป็นกรรม เป็นเจตนา เพราะเจตนาเป็นกรรม ซึ่งเจตนาก็มีทั้ง เจตนาที่ดี เกิดกับกุศลจิต ก็เป็นกุศลกรรม ส่วนเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลกรรม ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมทางกาย วาจา และใจ ในฝ่ายดีหรือไม่ดี ซึ่งขณะที่งดเว้นจากบาป ทางกาย วาจา และใจ ที่เป็นศีลโดยนัยหนึ่งนั้น ก็เป็นกรรมด้วย คือ กุศลกรรม ที่งดเว้นจากบาป โดยมีเจตนาที่งดเว้นจากบาปเกิดขึ้นในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น จากคำกล่าวที่ว่า ละเจตนาที่ไม่ดีเป็นศีล เจตนาทำดีนี้เป็นกรรม ข้อความนี้ยังไม่ละเอียดพอ และอาจทำให้เข้าใจผิดได้ เพราะขณะที่งดเว้นจากบาป ทางกาย วาจา และใจ คือ ไม่มีเจตนาทำบาป ในขณะนั้นก็เป็นศีล โดยนัยศีลที่เป็นการงดเว้นทางกาย วาจา แต่ศีลยังมีความหมายอย่างอื่น แม้การประพฤติดีในชีวิตประจำวัน เช่น การช่วยเหลือ บิดา มารดา แม้ไม่ได้งดเว้นจากบาป ก็เป็นศีลในขณะนั้น แม้ไม่ได้ละเจตนาที่ไม่ดี คือ งดเว้นจากบาปทางกาย วาจาก็ตาม และประโยคที่ว่า เจตนาทำดีเป็นกรรม ตามที่กล่าวแล้ว กรรม คือ กุศลกรรม อกุศลกรรม ทางกาย วาจา และใจ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงทำดี จะเป็นกรรมเท่านั้น คือ เป็นกุศลกรรม แม้การงดเว้นจากบาป ที่เป็นศีล ขณะที่ศีลเกิด ก็เป็นกรรมด้วย คือ เป็นกุศลจิตที่เป็นกุศลกรรม ทางกาย วาจา ที่งดเว้นจากบาปในขณะนั้น เพราะฉะนั้นที่ถูกควรกล่าวว่า ละเจตนาที่ไม่ดีเป็นศีล เป็นกุศลกรรม และเจตนาทำดี ทางกาย วาจา ก็เป็นศีลด้วย ที่เป็นจารีตศีล และก็เป็นกุศลกรรมเช่นกัน

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

ศีล

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 29 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์จริงๆ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น เพราะแต่ละคำ ก็ล้วนกล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริง เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่สับสน ไม่ว่าจะได้ยินคำอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญ ก็คือ ได้ยินได้ฟังคำอะไรก็ให้เข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ เป็นการศึกษาธรรมทีละคำ ซึ่งคำที่กล่าวถึงในประเด็นคำถาม คือ ศีลและกรรม ศีลกว้างขวางมาก การงดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ ก็เป็นศีล การประพฤติในสิ่งที่ดีงามก็เป็นศีล และยังมีศีลโดยนัยอื่นๆ อีกด้วย

ในชราสูตร สังยุตตนิกาย สถาควรรค มีข้อความว่า ศีลยังประโยชน์ให้สำเร็จตราบเท่าชรา ก็ทำให้เข้าใจได้ว่า ผู้ที่รักษาศีล คือ ผู้ที่มีความประพฤติที่ดีงาม ทั้งทางกาย ทางวาจา ไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทข้อต่างๆ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท บุคคลผู้ที่มีศีลนั้นไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กก็ดี วัย กลางคนก็ดี วัยชราก็ดี ย่อมเป็นผู้งามตลอดกาลเป็นนิตย์ งามด้วยคุณความดี

จากข้อความที่ว่า "ละเจตนาที่ไม่ดีเป็นศีล เจตนาทำดีนี้เป็นกรรรม" ก็สามารถทำให้เข้าใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเข้าใจอย่างถ่องแท้ละเอียดจริงๆ ก็สามารถอธิบายเพิ่มให้เข้าใจยิ่งขึ้นได้ เพราะการละเว้นเจตนาที่ไม่ดี เป็นศีล ก็โดยนัยที่เป็นการวิรัติ งดเว้นจากทุจริตจากสิ่งที่ไม่ดี ขณะที่วิรัติงดเว้นทุจริตนั้น เป็นกุศล เป็นความดี ไม่ทำให้จิตใจของผู้ที่ละเว้นทุจริตนั้นเดือดร้อนได้เลยแม้แต่น้อย

และประโยคต่อมาคือ เจตนาที่ทำดีนั้นเป็นกรรม ในส่วนนี้ก็ต้องกล่าวเฉพาะกรรมที่เป็นกุศลเท่านั้น เพราะกรรมกว้างขวางมาก ประโยชน์ของการฟัง การศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง และธรรมก็ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่มีจริงทุกขณะ แม้แต่กรรมก็เป็นธรรม ไม่พ้นจากธรรมเลย เพราะกรรมเป็นเจตนาเป็นความจงใจ ตั้งใจ ขวนขวายที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งที่เข้าใจกัน มีทั้งกระทำกรรมดี และกระทำกรรมไม่ดี เป็นเหตุที่จะทำให้ได้รับผลข้างหน้า ตามเหตุตามปัจจัย ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กรรมว่าจะเป็นกรรมอะไร ถ้าทำดี เช่น ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เป็นต้น ก็เป็นกุศลกรรม ถ้าทำไม่ดี ล่วงทุจริตกรรม มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็เป็นอกุศลกรรม ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ครับ

...ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 29 เม.ย. 2556

ศีล หมายถึง ความประพฤติที่ดีงาม ทางกาย วาจา กรรม คือ เจตนาเจตสิก ที่เกิดกับจิตทุกดวง เจตนาที่งดเว้นทุจริตทางกาย วาจา เป็นศีล และ เป็นกุศลกรรม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 29 เม.ย. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 2 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 4 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ